เปิดวิธีเยียวยาตัวเองไม่ให้ ‘หมดไฟ’ ก่อนหยุด ‘ปีใหม่’
ใคร ๆ ก็อยากหยุด “ปีใหม่” เปิดวิธีรับมือ “ภาวะหมดไฟ” ในช่วงปลายปี ที่ต้องเร่งทำงานเสร็จให้ทันก่อนช่วงหยุดยาว
“คริสต์มาส” และ หยุดยาว “ปีใหม่” ใกล้เข้ามาถึงทุกขณะ บางคนเริ่มวางแผนท่องเที่ยวใช้เวลาแห่งความสุขอยู่กับคนที่รัก แต่หลายคนยังคงต้องเร่งทำงานจนหัวฟู เพื่อเสร็จให้ทันก่อนหยุดยาว แต่ก็เจอสารพัดปัญหาทั้งลูกค้าอยากให้แก้โน้นแก้นี่ หรือบางทีต้องทำงานแทนรุ่นพี่ในออฟฟิศที่ทิ้งระเบิดเอาไว้ให้แต่ตัวเองขอลาหยุดยาวไปเที่ยวแล้ว
ขณะที่ปีใหม่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น เป็นวันหยุดยาวที่ทุกคนจะได้พักผ่อนหลังทำงานหนักมาทั้งปี เมื่องานยังประเดประดัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะรู้สึกเหนื่อยล้าและหมดไฟได้ง่าย เมื่อต้องทำงานในช่วงเวลาแห่งความสุขนี้
- หมดไฟและความเครียดเป็นปัญหาหลักขององค์กร
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” (Burnout) เกิดขึ้นจากความเครียดจากการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน จนสะสมเป็นความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกเบื่อหน่าย ขาดความสุขในการทำงาน ไม่อยากลุกขึ้นมาทำงาน ขาดแรงจูงใจการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงจะรู้ว่าทำงานปลายปีได้เงินเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อยากทำงานขึ้นเลย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง เพราะทำส่ง ๆ ให้มันเสร็จ ๆ ไป
ถึงผลการสำรวจจาก Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาจะบอกว่า ความเครียดของพนักงานในสหรัฐในปีนี้จะลดต่ำลงจากช่วงยุคโควิดแล้ว แต่เกือบ 30% ของพนักงานก็ยังรู้สึกว่าตัวเองหมดไฟอยู่บ่อย ๆ ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายุคก่อนโควิดอยู่ดี
ส่วนฝั่งแรงงานในสหราชอาณาจักรก็มีอัตราการลาป่วยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเป็น 7.8 วัน ซึ่งสถาบันชาร์เตอร์ดแห่งการพัฒนาและบุคลากร (CIPD) เปิดเผยว่า “ความเครียด” เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานขาดงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ขณะที่ International SOS บริษัทจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและความมั่นคงระบุ ผู้เชี่ยวชาญกว่า 80% ชี้ภาวะหมดไฟจะเป็นปัญหาหลักในการทำงาน แต่มีเพียง 41% เท่านั้น ที่รู้สึกว่าองค์กรของตนมีความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหานี้
- แค่ถามก็ช่วยลดความเครียดได้
MindGym ธุรกิจฝึกอบรมจิตใจ ประมาณการว่าในปี 2023 บริษัททั่วโลกทุ่มเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ ไปกับการจัดโครงการต่าง ๆ เพื่อทำให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น การทำเวิร์กช็อป การทำแอปพลิเคชันทำสมาธิ สายด่วนให้คำปรึกษา ทั้งนี้ MindGym ได้เตือนว่าการทุ่มเงินจำนวนมากอาจเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้ หากบริษัทให้สำคัญกับการแก้อาการหมดไฟ มากกว่าจะไปจัดการกับสาเหตุของปัญหา อีกทั้งนโยบายของบริษัทอาจทำให้สถานการณ์ของแต่ละบุคคลแย่ลงไปอีก
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผู้บริหารและหัวหน้างานจำเป็นต้องมี “ทักษะด้านอารมณ์” ที่เหมาะสม โดยดร.แคทเธอรีน โอไรลีย์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ International SOS แนะนำว่า หัวหน้าสามารถช่วยคนในทีมมีความเครียดลดลงได้ด้วยการคำถามง่าย ๆ เช่น “สบายดีไหม” “โอเคหรือเปล่า” ให้เป็นกิจวัตร ซึ่งคำถามนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวและซัพพอร์ตอยู่เสมอ
การฝึกอบรมและทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงานกลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่ทำรายได้มหาศาล แต่ถ้าหากหัวหน้างานไม่เข้าใจถึงปัญหาภาวะหมดไฟ และไม่มีความเห็นอกเห็นใจกัน ดังนั้นต่อให้จะทำกี่โครงการก็อาจจะได้ไม่มีผลได้ดีเท่ากับการที่หัวหน้างานเอาใจใส่พนักงานมากขึ้น ซึ่งเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการไม่ส่งไลน์ถามเรื่องงานในช่วงวันหยุดปีใหม่ ก็เพียงพอแล้ว
- หลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟช่วงปีใหม่
หากคุณจำเป็นต้องทำงานในช่วงปีใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟ โซฟี สก็อตต์ และ กอร์ดอน ปาร์คเกอร์ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดมแห่งออสเตรเลียแนะนำให้จัดลำดับความสำคัญของงานที่ทำ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง มุ่งเน้นไปที่การมอง "ภาพรวม" หาข้อดีของงาน รวมถึงการบริหารเวลา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมงานได้ ประสิทธิภาพการทำงานกลับคืนมา และลดความเสี่ยงที่จะมีงานล้นมือ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1) จัดลำดับความสำคัญของงาน โดยการแบ่งงานออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.เร่งด่วนและสำคัญ 2.สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน 3.เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ 4.ไม่เร่งด่วนหรือสำคัญ วิธีนี้จะช่วยให้เห็นว่างานใดต้องจัดการก่อนเป็นอันดับแรก และเอาชนะความคิดที่ว่า “ทุกเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน”
2) ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ แบ่งกระบวนการทำงานออกเป็นงานย่อย ๆ และกำหนดตารางงานที่ต้องทำให้สำเร็จในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกหนักใจที่จะต้องทำให้สำเร็จในทีเดียว รวมถึงจัดกลุ่มงานที่คล้ายกันไว้ด้วยกัน พร้อมจัดเวลาทำงานไว้ในคราเดียว เช่น ตอบอีเมลที่ค้างไว้ให้หมดในเวลาเดียวกัน แทนที่จะตอบอีเมลแค่ฉบับเดียวแล้วหันไปทำอย่างอื่นต่อ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาไปในตัว
วิธีการนี้สามารถปรับใช้กับการเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน รวมถึงสามารถใช้แอปพลิเคชันมาช่วยกำหนดเวลางาน กำหนดเวลา และการนัดหมายได้ด้วย
3) จัดการสิ่งรบกวนสมาธิ มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าผู้คนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากไม่มีสิ่งรบกวน ดังนั้นเวลาทำงานควรเอาสิ่งรบกวนที่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพการทำงานและการบริหารเวลาให้เหลือน้อยที่สุด เช่น สมาร์ทโฟน
4) หยุดพัก ไม่ควรทำงานติดกันเป็นเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้คุณเหนื่อยล้าเกินไป และอาจเกิดความท้อแท้ได้ การหยุดพักระหว่างวันช่วยเพิ่มสมาธิ ความเป็นอยู่ที่ดี แถมช่วยให้ทำงานเสร็จได้มากขึ้น
5) แบ่งงานให้คนอื่น ไม่ว่าคุณจะทำงานอยู่ที่ใด คุณไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกอย่าง ลองแจกจ่ายงานให้คนในทีมบ้าง หรือปล่อยให้ AI และเครื่องมือต่าง ๆ ช่วยทุ่นแรงคุณบ้าง
ที่มา: Financial Times, The Conversation