'เป๊ะ' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว

'เป๊ะ' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว

การทำงานหากมีมนุษย์ 'เป๊ะ หรือกลุ่มคน 'Perfectionism' ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนของระบบ เชื่อว่าทุกองค์กรคงต้องการ เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของพนักงาน หรือผู้บริหารชัดเจน ที่ใส่ใจรายละเอียด รอบคอบ มีความรับผิดชอบ นิยมความสมบูรณ์แบบ

Keypoint:

  • การทำงานแบบมนุษย์ 'เป๊ะ' ใช่มีแต่ข้อดีอย่างเดียว เพราะยิ่ง 'เป๊ะ' เป็น Perfectionism มากเกินไปจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีได้
  • ผลเสียที่เกิดจากความเป็น Perfectionism ในการทำงาน นอกจากเรื่องสุขภาพจิตใจ สุขภาพกาย และความเครียดแล้ว ยังส่งผลต่อผู้ร่วมงาน กดดันตัวเองแล้ว ยังอาจจะแผ่ความกดดันนี้ไปสู่เพื่อนร่วมทีม
  • เปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักปล่อยวาง ไม่เปรียบเทียบหรือกดดันตัวเองจนเกินไป มองปัญหาในแง่มุมใหม่ เตรียมแผนสำรอง  รู้จัก การเห็นอกให้เห็นใจ ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

ด้วยความเป็นคน 'เป๊ะ' อย่างที่เรียกว่า 'Perfectionism' ที่นิยมความสมบูรณ์แบบมักจะตามมาด้วยอาการเครียดและกดดันตัวเอง ซึ่งเราทราบดีอยู่แล้วว่าความเครียดส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ

จากการศึกษาของ Dr. Thomas Curran นักจิตวิทยาและอาจารย์จาก University of Bath ประเทศอังกฤษ ได้อธิบายถึงอันตรายของการเป็น Perfectionism ไว้ว่า เป็นต้นกำเนิดของปัญหาทางสุขภาพจิตที่อาจนำไปสู่ ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากการยึดติด นิยมความสมบูรณ์แบบมากเกินไป จนเกิดเป็นความกังวล ความกดดัน ทั้งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมงาน และยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น ไบโพล่า (Bipolar) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาการวิตกกังวลมากเกินไปอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

การทำงานยุคใหม่และอนาคตของการทำงานในปี 2023

งานแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ SAY YES อยากทำงานด้วยมากที่สุด

 

มนุษย์ 'เป๊ะ' ผลเสียต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย

ข้อมูลจาก JobsDB  อธิบายว่า การเป็นกลุ่มคนเป๊ะ หรือperfectionism นอกจากผลเสียทางสุขภาพจิตแล้ว การเป็น Perfectionism ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ด้วย เพราะความเครียดสะสมอาจนำไปสู่การเป็นโรคทางกายต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโรคอันตรายอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

อีกหนึ่งผลเสียที่เกิดจากความเป็น Perfectionism ในการทำงานก็คือ

  • พนักงานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการทำงานมากเกินความจำเป็น เพราะมัวแต่ใส่ใจในรายละเอียดที่ไม่จำเป็นมากเกินไป
  • บางคนอาจจะเป็นคนที่กังวลว่ายังไม่มีความพร้อมในการทำงานมากพอ รอจังหวะที่ใช่ก่อนลงมือทำ จนทำให้พลาดโอกาสดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
  • ส่งผลเสียต่อเพื่อนร่วมงานและลูกน้องที่ทำงานร่วมกันด้วย เพราะพนักงาน Perfectionism ที่ยึดติดความสมบูรณ์แบบ นอกจากจะ กดดัน ตัวเองแล้ว ยังอาจจะแผ่ความกดดันนี้ไปสู่เพื่อนร่วมทีม หรือลูกน้องในทีมให้มีความเครียดไปตาม ๆ กัน
  • ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมของบริษัท ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในภายหลัง

\'เป๊ะ\' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว

 

ปรับวิธีคิด ลดปัญหา ผลเสียต่อสุขภาพ

ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเองที่เป็น Perfectionism นิยมความสมบูรณ์แบบที่มากเกินไป หรืออาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่คุณกำลังทำงานอยู่ด้วยมีแนวโน้มที่เป็นมนุษย์ 'เป๊ะ' มากเกินไปจนทำให้บรรยากาศในที่ทำงานตึงเครียดเกินความจำเป็น และเริ่มส่งผลเสียต่อคุณสามารถรับมือกับปัญหานี้โดยเริ่มพัฒนาจากการ 'ปรับวิธีคิด' โดย

  • ลองมองภาพรวมของงาน มากกว่าที่จะมองเพียงแค่ข้อผิดพลาด และดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะไม่ได้ส่งผลต่องานโดยรวมเท่าไหร่นัก
  • แทนที่จะกดดันตัวเองและทีมให้ต้องทำในสิ่งที่ถูกตลอดเวลา ก็ลองคิดว่าทุกอย่างย่อมเกิดข้อผิดพลาดกันได้ และทุกปัญหามีทางออกเสมอ
  • มองปัญหาในแง่มุมใหม่ ว่าเรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง และเราจะนำสิ่งนี้ไปพัฒนาต่ออย่างไรได้บ้าง
  • เตรียมแผนสำรองไว้คอยรับมือความผิดพลาดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
  • ลอง ตั้งเป้าหมาย เล็ก ๆ ง่าย ๆ ในระหว่างการทำโปรเจค แทนที่จะมุ่งไปที่เป้าหมายใหญ่เมื่องานสำเร็จทีเดียว วิธีนี้จะช่วยให้คุณและทีมได้ชื่นชมกับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดการทำงาน และยังเป็นการเติมกำลังใจชั้นดีอีกด้วย
  • รู้จัก การเห็นอกให้เห็นใจ ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะสิ่งนี้จะช่วยลดความแข็งกระด้าง รวมถึงอารมณ์หงุดหงิด กดดัน และความตึงเครียดที่เกิดจากการยึดติดในความเพอร์เฟกต์ได้

\'เป๊ะ\' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว

การเป็น Perfectionism ถ้าได้รับการพัฒนาจนอยู่ในระดับที่พอดีแล้ว นอกจากจะเป็นที่ต้องการของบริษัทมากมาย ยังดีต่อใจของตัวเอง ที่จะสามารถใช้ชีวิตทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวได้อย่างมีความสุข สุขภาพกายก็แข็งแรง พร้อมรับความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกของการทำงานได้เสมอ

นอกจากผลกระทบด้านอารมณ์และสุขภาพจิตแล้ว ความเป็นมนุษย์ Perfectionist ยังมีผลกระทบในการทำงานได้ด้วย Alice Boyes (2020) ได้ยกตัวอย่างปัญหาในการทำงานที่มักเกิดกับกลุ่มคนพวก Perfectionism ดังนี้

1. ไม่ยอมจัดลำดับความสำคัญ

มนุษย์สมบูรณ์แบบต้องการทำงานทุกชิ้นให้ดีที่สุด ต้องการควบคุมและมักไม่ปล่อยวางรายละเอียดที่แม้ไม่สำคัญ ดังนั้นจึงเป็นการยากมากหากจะให้คนกลุ่มนี้จัดลำดับความสำคัญและเลือกทุ่มให้เฉพาะงานที่สำคัญจริง ๆ

2. หมกมุ่นอยู่กับการสร้างผลงานที่ดีที่สุดมากเกินไป

แม้งานชิ้นเล็ก ๆ มนุษย์แบบ Perfectionism ก็ไม่สามารถปล่อยวาง รีบ ๆ ทำให้จบ ๆ ไปได้ พวกเขาคาดหวังผลงานที่เป็นเลิศ จึงมักเกิดภาวะวิตกกังวลสูง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไปจนถึงภาวะที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง (Imposter Syndrome)

3. กลัวความล้มเหลว

ด้วยความคาดหวังให้ทุกอย่างดีที่สุด แต่หากโครงการไหนที่ดูยิ่งใหญ่ พวกเขาจะเริ่มต้นได้ยากมาก เพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีอย่างที่คิดฝันไว้ จึงมีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งสูงมาก

\'เป๊ะ\' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว

สัญญาณบ่งบอกเข้าข่ายบุคลิกภาพแบบ Perfectionism

มีนักวิชาการและตำราจากหลากหลายแหล่งที่อธิบายพฤติกรรมหรือลักษณะของบุคลิกภาพแบบ Perfectionism แต่ Antony & Swinson (2009) บอกว่ามักมี 3 ข้อนี้ร่วมด้วยเสมอ คือ

1. ตั้งมาตรฐานในเรื่องต่าง ๆ ไว้สูงลิ่ว จนทำได้ยากหรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้ เช่น ตั้งเป้าปีหน้าให้ตัวเองมีรายรับที่สูงกว่าปัจจุบัน 20 เท่า

2. คาดหวังผลงานของตัวเองไว้สูงจนกลายเป็นบั่นทอนมากกว่าจะส่งเสริมให้มีผลงานที่ดี

3. มักมีประเด็นด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะหมดไฟ (Burnout) ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง (Imposter Syndrome)

นอกจากนั้นยังมีสัญญาณอื่น ๆ ให้ได้สังเกตตัวเองหรือคนอื่นอีก เช่น

4. มักเข้มงวดกับตัวเองและคนอื่น ๆ แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น หัวหน้างานที่หงุดหงิดกับลูกน้องที่พิมพ์คำผิดแม้หนึ่งจุดบนสไลด์ ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมลูกน้องนำเสนอได้ดี หรือนักเรียนที่ยังรู้สึกไม่พอใจในตัวเองแม้จะได้คะแนนสูงสุดของห้อง เป็นต้น

5. ลงรายละเอียดกับแต่ละงานเพื่อให้ได้งานที่เป๊ะ จนกระทั่งมักส่งงานช้าเกินกำหนด

6. เจ้าระเบียบและรักสะอาด โดยมักหงุดหงิดเวลาที่มีคนอื่นมาทำให้ความเป็นระเบียบหายไป และบางครั้งอาจมีพฤติกรรมแบบย้ำคิดย้ำทำในเรื่องความสะอาด

7. มักหงุดหงิดเมื่อบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างดี

8. บางครั้งพะวงอยู่กับการจัดวางสิ่งของให้เท่า ๆ กัน เป็นเส้นตรง หรือมีช่องว่างห่างเท่า ๆ กัน หรือต้องออกมาให้สวยงามที่สุด

9. ตรวจสอบคำผิดเวลาที่พิมพ์เอกสาร ซึ่งใช้เวลานานจนอาจส่งล่าช้า

10. ผัดวันประกันพรุ่งจนส่งงานล่าช้าเนื่องจากมีความกลัวและกังวลจนคิดมาก กว่าจะเริ่มในแต่ละงาน

รวมทั้ง บางครั้งคนที่เป็น Perfectionism อาจจะหมกมุ่นอยู่กับความสมบูรณ์แบบในบางเรื่อง เช่น เสื้อผ้าหน้าผม หรือการพูดนำเสนอของตัวเอง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คุณอาจจะไม่ต้องรอให้ตัวเองมีอาการครบทุกข้อถึงจะมั่นใจได้ว่าตนเองเข้าข่ายมีบุคลิกภาพแบบPerfectionism แต่หากเริ่มรู้สึกว่าบางนิสัยหรือพฤติกรรมด้านบนนี้เริ่มรบกวนชีวิต หรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา นั่นคือสัญญาณว่าต้องรีบหาวิธีเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยด่วน

\'เป๊ะ\' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว

จัดการความเครียด ลดความเป็นมนุษย์เป๊ะ

หากต้องการทำงานโดยใช้ข้อดีของการเป็นมนุษย์เป๊ะ 'เครียดไหม?'ตอบได้ง่าย ๆ เลยว่า 'เครียด' และทำให้เกิดความเครียดในหลายระดับ ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความเครียด

หากเราแปรรูปความเครียดไปเป็นความท้าทายและเป้าหมายเพื่อเอาชนะ นับว่าเป็นการใช้ความเครียดเป็นแรงผลักดันที่ดี และหากใส่ส่วนประกอบข้อดีของ Perfectionism ลงไป ก็ทำได้แน่นอน เพียงแต่แนะนำว่าควรแก้นิสัยที่มากเกินพอดีเหล่านี้ ให้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดเสียใหม่ ให้ยอมรับว่าไม่มีใครบนโลกนี้ที่จะเพอร์เฟ็กต์ คนเราสามารถผิดพลาดกันได้ ไม่จำเป็นต้องดีพร้อมไปทุกกระเบียดนิ้ว แค่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดก็พอ โดยอาจค่อย ๆ ปรับตัวด้วย 4 วิธีนี้

1.  เปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักปล่อยวาง ไม่เปรียบเทียบหรือกดดันตัวเองจนเกินไป คล้ายกับการนำธรรมะเข้าข่มจิตใจ ค่อย ๆ ปล่อยวาง ยอมรับพื้นฐานและความเป็นไปของโลก

2.ทุกครั้งที่เกิดข้อผิดพลาด จากที่เคยเอาแต่โทษตัวเอง จนลุกลามสร้างความเครียดให้กับคนรอบข้าง ควรพูดคุยกับคนสนิทเพื่อระบายออกไป และเริ่มรับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ลืมที่จะให้อภัยตัวเอง แล้วนำมุมมองของคนอื่นมาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

3.อะไรที่พลาดสามารถแก้ไขได้ เตรียมแผนสำรองไว้เสมอ เมื่อเราปล่อยวางจากความกดดันแล้วก็ถึงเวลาต้องยอมรับว่า ใคร ๆ ก็พลาดกันได้ ไม่มีใครที่ดีพร้อม 100% แต่เมื่อทำผิดแล้วต้องแก้ไข ไม่หนีปัญหา

4.ใช้ความกดดันและจัดการความเครียดให้เป็นเส้นชัย ด้วยคติ “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” แต่เราจะพุ่งไปหามันอย่างฉลาด หากเป็นหัวหน้าทีม ก็เป็นโอกาสดีที่จะใช้ความเป๊ะกับการทำงานกับทีม ช่วยกันทำงาน ช่วยตรวจสอบคุณภาพงาน แล้วก็อย่าลืมที่จะให้กำลังใจลูกน้องล่ะ

5.ไม่ลืมที่จะมองหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัว เพราะทำงานด้วยความสมบูรณ์แบบ ส่วนใหญ่จะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ จนบางคนอาจไร้ความสุขในการทำงาน ลองเว้นวรรคสักนิด มองหาไอเดียความสุขในที่ทำงาน หรือกิจกรรมสนุก ๆ หลังเลิกงาน ไป hangout กับเพื่อนร่วมงานบ้างก็เป็นความคิดที่ดี

อ้างอิง: JobsDB ,  iSTONG Mental healt