จับตา 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2567
NARIT ชวนจับตา 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามตลอดปี 2567 เริ่มต้นด้วยปรากฏการณ์ Super Sun "โลกใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี" ระยะห่างประมาณ 147 ล้านกิโลเมตร ในวันที่ 3 มกราคม 2567
ประเดิมปีใหม่ 2567 กันด้วย 10 ประเด็นดาราศาสตร์ ที่น่าจับตามองตลอดปี จะมีหัวข้ออะไรบ้างนั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เผยแพร่ผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า
- 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2567
เริ่มด้วยไฮไลต์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ตลอดปี 2567 ได้แก่ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี Micro Full Moon ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 (วันมาฆบูชา) , ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี Super Full Moon ในวันที่ 17 ตลาคม 2567 , ดาวเสาร์ใกล้โลก ในวันที่ 8 กันยายน 2567 ,ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ในวันที่ 8 ธันวาคม 2567
ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
- ครั้งที่ 1 ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลาประมาณ 03.09-04.27 น. สามารถมองเห็นได้ทั่วไทย
- ครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 02.19-03.00 น. สามารถมองเห็นในไทยบางส่วน เฉพาะประเทศไทยตอนบน
ดาวเคียงเดือน
- 8 กุมภาพันธ์ 2567 : ดาวอังคาร ดาวศุกร์ เคียงดวงจันทร์
- 8 มีนาคม 2567 : ดาวอังคาร ดาวศุกร์ เคียงดวงจันทร์
- 6 - 7 เมษายน 2567 : ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ เคียงดวงจันทร์
ดาวเคราะห์ชุมนุม
- 27 มกราคม 2567 : ดาวพุธเคียงดาวอังคาร
- 23 กุมภาพันธ์ 2567 : ดาวศุกร์เคียงดาวอังคาร
- 22 มีนาคม 2567 : ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์
- 11 เมษายน 2567 : ดาวอังคารเคียงดาวเสาร์
- 14 สิงหาคม 2567 : ดาวอังคารเคียงดาวพฤหัสบดี
ต่อด้วยการเกาะกระแสดาราศาสตร์โลกที่หลายชาติเตรียมปล่อยยานสำรวจอวกาศกัน ทั้งดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อย และดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี
ด้านประเทศไทยมีข่าวดี เพราะเรากำลังจะมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุน้องใหม่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร เพื่อศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ และยีออเดซี ที่เชียงใหม่ และสงขลา เตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชันดูดาวฝีมือคนไทย ในชื่อ “NAPA” ให้ใช้กัน และยังมีลุ้นปล่อยดาวเทียมฝีมือคนไทย
NARITCube-1 พร้อมเผยโฉมดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1 ที่จะประกอบขึ้นที่ clean room ของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
นอกจากนี้ ไทยยังจับมือจีนร่วมพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ไปสำรวจดวงจันทร์กับภารกิจ “ฉางเอ๋อ 7” ในขณะเดียวกันก็มีนวัตกรรมใหม่ “ฐานกล้องโทรทรรศน์ติดตามวัตถุท้องฟ้าฝีมือคนไทย” ที่จะช่วยให้การเก็บข้อมูลงานวิจัยดาราศาสตร์ได้สะดวกและแม่นยำขึ้น ด้านงานวิจัยเด่นปีนี้ เป็นเรื่องของงานวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ที่บูรณาการความรู้ดาราศาสตร์ร่วมแก้ปัญหาระดับชาติ “ศึกษาต้นตอฝุ่น PM2.5”
สุดท้ายกับ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” Amazing Dark Sky in Thailand ชวนมาขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ปลุกกระแสท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ และปักหมุดหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน แห่งที่ 5 ของไทย ที่เริ่มก่อสร้างแล้วที่จังหวัดพิษณุโลก
“ดาราศาสตร์” ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของ “ดวงดาว” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการองค์ความรู้ทุกแขนงมาเพื่อศึกษา ค้นหา ไขความลับเรื่องราวที่ยังคงเป็นปริศนา และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มี “มนุษย์” หรือพวกเราทุกคนนั่นเอง
โดยในวันนี้ 3 มกราคม 2567 เกิดปรากฏการณ์ “Super Sun” หรือ โลกใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี ระยะห่างประมาณ 147 ล้านกิโลเมตร
ทั้งนี้ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นวงรีและดวงอาทิตย์ไม่ได้อยู่ตรงศูนย์กลางวงรีพอดี ดังนั้นมี 2 ตำแหน่งที่โลกจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดและไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบ 1 ปี จุดที่ใกล้ที่สุด เรียกว่า Perihelion และจุดที่ไกลที่สุด เรียกว่า Aphelion
ในวันนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นตอนเวลา 06.41 น. และตกเวลา 18.02 น. ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จุดนี้หลายคนในเมืองไทยมักสับสนและเข้าใจผิดว่าฤดูหนาวเป็นเพราะโลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์ แต่ที่จริงแล้วตรงกันข้าม ฤดูหนาวของประเทศไทยโลกจะอยู่ในจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่มากสุด ดังนั้น ฤดูหนาวไม่ได้เกิดเพราะโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุด และฤดูร้อนไม่ได้เกิดเพราะโลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
อ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)