‘โยเร’ ลัทธิจากญี่ปุ่น เชื่อว่าส่งพลังแห่งแสงผ่านฝ่ามือ รักษาได้ทั้งกายใจ
“ลัทธิโยเร” มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นก่อนจะขยายตัวไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แต่สิ่งที่ทำให้สังคมตั้งคำถามก็คือความเชื่อที่ว่าสามารถปล่อย “แสงทิพย์” จากฝ่ามือเพื่อรักษาโรคร้ายได้ และยังเก็บเงินค่าทำกิจกรรมอีกด้วย ?
Key Points:
- “โยเร” คือลัทธิที่มีต้นกำเนิดในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1935 โดยการนำลัทธิชินโต, ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และหลักจริยธรรมสากล มาหลอมรวมกัน
- นอกจากแนวคิดทั่วไปในเรื่องการทำความดีแล้ว โยเรยังเชื่อว่าฝ่ามือของคนที่ฝึกฝนไปจนถึงระดับสูงสามารถปล่อย “แสงทิพย์” เพื่อรักษาโรคร้ายให้กับผู้อื่นได้
- สาวกบางคนมองว่าการปล่อยแสงทิพย์สามารถช่วยได้หลายอย่าง ทำให้ยามเจ็บป่วยจึงปฏิเสธการรักษาแผนปัจจุบัน ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามถึงการ “จ่ายเงิน” เพื่อเข้าร่วมโยเรอีกด้วย
ชื่อของ “โยเร” หรือ “ลัทธิโยเร” ได้รับการพูดถึงในเมืองไทยอีกครั้ง หลังเกิดเหตุสัตวแพทย์หญิงทำอัตวิบากกรรมพร้อมลูกสาวในบ้านพักด้วยไซยาไนด์ เมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปสู่วงกว้างทำให้สามีของผู้เสียชีวิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภรรยาได้เข้าร่วม “ลัทธิโยเร”
เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวว่า แม่นั่งเฝ้าศพลูกอยู่ในบ้านพักนานกว่า 4 วัน เมื่อประมาณเดือน พ.ค. 2021 เพราะเชื่อว่าลูกจะฟื้นคืนชีพ และสิ่งที่ทำให้หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับ “ลัทธิโยเร” ก็เพราะเจ้าหน้าที่พบบทสวดและคำสอนของลัทธิดังกล่าวอยู่ในห้อง
แม้ว่าเหตุการณ์ทั้ง 2 ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีความเกี่ยวข้องกับลัทธิโยเรมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า “โยเร” คืออะไรกันแน่ ? เป็นลัทธิหรือว่าศาสนา และเข้ามาสู่ประเทศไทยได้อย่างไร
- “ลัทธิ” กับ “ศาสนา” อาจคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับลัทธิโยเร ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แท้จริงแล้ว “ลัทธิ” และ “ศาสนา” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้จะยึดโยงกับความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์เหมือนกันก็ตาม โดย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เคยอธิบายไว้ ดังนี้
ลัทธิ หมายถึง ความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นความเชื่อที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เป็นเรื่องของความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมีกลุ่มชน มีการก่อตั้งเป็นลัทธิแห่งความเชื่อนั้นๆ
ศาสนา หมายถึง คำสั่งสอน ซึ่งเป็นคำสั่งสอนจากความคิด หรือความเชื่อของผู้ใดผู้หนึ่ง แล้วแสดงหรือถ่ายทอดส่งต่อแนวคิดนั้น จนมีผู้ศรัทธาต่อคำสอนเหล่านั้น มีการจดทะเบียนขึ้นเป็นศาสนาตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด และมีองค์ประกอบของความเป็นศาสนาครบถ้วน
อ่านข่าว :
- “ลัทธิโยเร” ความเชื่อในพลังแห่งแสง รักษาโรคภัยได้ ?
สำหรับ โยเร หรือ ลัทธิโยเร (บางแหล่งข้อมูลก็อ้างว่าเป็นศาสนา) ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1935 ก่อตั้งโดย โมกิจิ โอกาดะ (Mokichi Okada) หรือที่เหล่าสาวกเรียกกันว่า “ท่านเมชุซามะ” แปลว่า “ท่านแห่งแสง”
โดยความเชื่อแบบฉบับโยเรนั้น เกิดจากการผสมผสานของ ลัทธิชินโต, ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และหลักจริยธรรมสากล ซึ่งคำว่า “โย” แปลว่า “ชำระล้าง” และคำว่า “เร” แปลว่า “จิตวิญญาณ” จึงมีความหมายโดยรวมว่า “การชำระล้างจิตวิญญาณ”
แนวปฏิบัติของลัทธิโยเรหากดูเพียงผิวเผินก็คล้ายกับลัทธิและศาสนาอื่นๆ เช่น การทำความดี หรือการทำสมาธิ แต่สิ่งที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปก็คือ ต้องชักชวนให้ลูกหลานเข้ามาร่วมเป็นสาวก
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า “แสงจากฝ่ามือ” สามารถรักษาอาการป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ ที่สาวกทุกคนก็สามารถทำได้เมื่อเข้ารับการฝึกฝนเป็นประจำ หากมีพลังที่แข็งแกร่งก็อาจรักษามะเร็งและเอดส์ได้ด้วย และในจุดนี้เองที่ทำให้บางคนเริ่มมองว่าลัทธิโยเรอาจทำให้เกิดปัญหาในสังคมตามมา จนสื่อญี่ปุ่นเคยออกข่าวเตือนถึงอันตรายของลัทธิมาแล้ว โดยอ้างว่าคำสอนหลายอย่างเข้าข่าย “ล้างสมอง”
เพราะการที่จะฝึกฝนจนสามารถปล่อยแสงทิพย์ออกจากฝ่ามือได้นั้น สาวกจำเป็นจะต้องผ่านพิธีกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่การสมัครเป็นสมาชิกพร้อมจ่ายเงินแรกเข้าประมาณ 100 บาท การรับพระ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 - 3,000 บาท และเข้าอบรมอีกประมาณ 3 วัน จึงจะได้สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์มา นั่นก็คือ “เหรียญโยเร” โดยสาวกทุกคนต้องสวมใส่ไว้ตลอดเพื่อแสดงออกถึงความศรัทธา แต่ถึงแม้จะได้เหรียญมาแล้วก็ยังต้องเสียค่าสมาชิกรายปีอีกประมาณ 150 บาท
โดยโมกิจิ โอกาดะ เคยอ้างว่าเขาเป็นผู้ได้รับวิวรณ์จากพระผู้เป็นเจ้า เลยใช้พลังแห่งแสงของพระเจ้าได้ ซึ่งนอกจากรักษาโรคได้แล้ว ยังขับไล่ความยากจน และชำระล้างจิตใจผู้อื่นให้บริสุทธิ์สะอาดได้อีกด้วย
ด้วยความเชื่อที่ว่าแสงทิพย์ที่ออกมาจากฝ่ามือนั้นสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ทำให้สาวกหลายคนเมื่อมีอาการป่วยมักไม่ยอมไปหาหมอแผนปัจจุบัน จนทำให้อาการแย่ลงและเสียชีวิตในที่สุด
- เมื่อลัทธิโยเร เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
หลังจากลัทธิโยเรเกิดขึ้นก็เริ่มขยายตัวออกไปหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งเริ่มเข้ามาช่วงปี 1968 โดย “คาซูโอะ วาคุกามิ” (อ้างอิงชื่อตาม มูลนิธิ คาซูโอะ-ซูรุ วาคุกามิ) และคณะ เข้ามาเผยแผ่คำสอนและตั้งรกรากในไทย หลังจากนั้นก็จดทะเบียนในชื่อ “มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา” ทำให้ลัทธิโยเรเริ่มเผยแผ่ความเชื่อให้กับลูกหลานเกษตรกร อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ จนเริ่มมีสาวกศรัทธาเลื่อมใสเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าตอนนั้นจะได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรศาสนาย่อยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ในปี 1970 ก็ถูกเพิกถอนสถานะไป ซึ่งหลังจากนั้นมูลนิธิก็ยังคงปฏิบัติกิจกรรมตามเดิม เพิ่มเติมคือขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย และสระบุรี โดยบางสาขาก็ยังดำเนินกิจกรรมมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน “ลัทธิโยเร” ในประเทศไทยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ซ.สีฟ้า ถ.พหลโยธิน กทม. แต่ที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงลัทธิดังกล่าวในแง่มุมที่ไม่ดีนักตามสื่อออนไลน์ เช่น คนในครอบครัวหลังจากเข้าร่วมลัทธิก็เปลี่ยนไป ไม่ใช้เวลากับครอบครัวและทุ่มเทเงินให้ลัทธิเป็นจำนวนมาก จนกระทบต่อชีวิตส่วนตัวทั้งของตนเองและคนรอบข้าง ทำให้สังคมเกิดคำถามว่าแท้จริงแล้วลัทธิโยเรคืออะไร
- ฝ่ามือปล่อยพลัง รักษาโรคได้ หรือเป็นเพียงอุปาทาน ?
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า คนที่ศรัทธา “ลัทธิโยเร” ส่วนมากเชื่อว่าการปล่อยแสงทิพย์ออกจากฝ่ามือสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ทำให้พวกเขาปฏิเสธการแพทย์ในปัจจุบันจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดคำถามตามมาว่า “แสงทิพย์” คืออะไร โดยหนึ่งในผู้ที่นำเรื่องนี้มาพิสูจน์ก็คือ เคนจิ ยามาโมโตะ (Kenji Yamamoto) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยคิวชู
โดยเคนจิได้ขอให้อาสาสมัคร 170 คน มานั่งด้านหน้าของบรรดาสาวกลัทธิโยเร หลังจากนั้นให้สาวกเอามือไปอังใกล้ๆ กับส่วนต่างๆ ของร่างกายอาสาสมัคร โดยไม่ได้สัมผัส เช่น คอ บ่า และไหล่ ประมาณ 15 นาทีในทุกวัน
หลังจากนั้นเคนจิพบว่าบริเวณต่างๆ ตามร่างกายอาสาสมัครที่สาวกนำมือไปไว้ใกล้ๆ นั้น มีอุณหภูมิและการไหลเวียนโลหิตเปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากอะไร และเขาก็ยังตั้งคำถามต่อไปว่าการใช้พลังแห่งฝ่ามือนี้สุดท้ายแล้วจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือไม่
ปัจจุบัน “ลัทธิโยเร” มีผู้ศรัทธาอยู่มากมายทั่วโลก และมีศูนย์ประสานงานมากถึง 18 แห่งในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ข้อมูลจาก The Spirit ระบุว่าสื่อมวลชนพยายามเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในศูนย์ประสานงานสาขาหนึ่งที่อเมริกา หลังมีข่าวลือเกี่ยวกับลัทธิออกมามากมาย แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนยอมให้ข้อมูล โดยพูดเพียงสั้นๆว่า “เราเป็นองค์กรทางจิตวิญญาณ”
นอกจากนี้ลัทธิโยเรยังจัดอยู่ในรายชื่อ “นิกาย” ที่น่าสงสัยของรัฐสภาฝรั่งเศสอีกด้วย
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่า “โยเร” จะเป็น “ลัทธิ” “นิกาย” หรือว่า “ศาสนา” แต่ก็มีผู้คนศรัทธาเลื่อมใส ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องผิดนัก เพราะก็ถือว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าหากมีเรื่องที่ “เกินพอดี” และกระทบกับชีวิตประจำวันของตัวเองและคนรอบข้าง ก็อาจจะต้องพาตัวเองออกมาจากจุดนั้น และคนรอบข้างก็ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ตัวที่ไปเข้าลัทธิด้วย โดยเฉพาะเรื่องการรักษาสุขภาพและสถานะการเงิน
อ้างอิงข้อมูล : The Spirit, Best Review Asia, Nation tv, Research Outreach และ Unseen Japan