‘เปรต’ เป็นผีหรืออสุรกาย? มีหลายรูปลักษณ์ ไม่ใช่แค่สูงเท่าต้นตาล
เปิดจักรวาล “เปรต” ที่ไม่ได้มีแค่ตัวสูงเท่าต้นตาล แต่ยังมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามกรรมที่เคยก่อ มีทั้งปากเป็นหมู กลายเป็นก้อนเนื้อ หรือมีไฟลุกตามตัว ชวนรู้จักเปรตที่มีรูปลักษณ์แปลกประหลาดแบบอื่นๆ ซึ่ง เปรตทุกชนิดล้วนเคยกระทำบาปหนักตอนเป็นมนุษย์
Key Points:
- เปรตไม่ได้อยู่ในนรก แต่อยู่ใน “ภูมิเปรต” แม้จะต้องถูกลงโทษเพื่อชดใช้กรรม แต่ก็ยังได้รับการผ่อนปรนอยู่บ้าง ต่างกับสัตว์นรกที่ต้องรับโทษตลอดเวลา
- แม้จะมีความเชื่อว่าเปรตเป็น “ผี” แต่บางตำราก็อ้างว่าเป็น “อสุรกาย” หรืออาจจะไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
- “เปรต” มีหลายประเภท ไม่ได้มีแค่ผอม สูง ปากเท่ารูเข็มเท่านั้น แต่ยังมีเปรตที่มีหน้าตาแปลกประหลาด และคอยลงโทษตัวเองอีกด้วย
“ตัวผอม สูงเท่าต้นตาล ปากเท่ารูเข็ม มือใหญ่เท่าใบลาน พูดไม่ได้เลยต้องส่งเสียงร้องวี้ดๆ” คือนิยามของ “เปรต” ที่หลายคนคุ้นเคยโดยเฉพาะคนไทย เพราะเป็นเรื่องเล่าที่ถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาทุกยุคทุกสมัย
ทำให้สังคมไทยมีความสัมพันธ์กับคำว่าเปรตอย่างใกล้ชิดในเชิงวัฒนธรรม เช่น เปรียบเทียบคนที่มีตัวสูงกว่าคนอื่นว่า สูงเหมือนเปรต หรือใช้เรียกคนที่ผอมโซว่า ผอมเหมือนเปรต อดอยากเหมือนเปรต และบางภูมิภาคยังใช้เป็นคำชมด้วย เช่น สวยเหมือนเปรต หรือ อยู่ดีเหมือนเปรต
นอกจากนี้เปรตยังมีความข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นด้วย เช่น ประเพณีชิงเปรตซึ่งเป็นประเพณีสำคัญในวันสารทเดือนสิบของคนไทยภาคใต้ เป็นต้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษรวมถึงส่งผลบุญให้เปรตด้วยเชื่อว่าจะช่วยบรรเทากรรมหนักให้เบาลงได้ และยังมีการนำเครื่องเซ่นไหว้ตั้งที่ร้านเปรต (ลักษณะคล้ายเสาสูง มีที่วางอาหารด้านบน)
แต่รู้หรือไม่ ? แท้จริงแล้ว “เปรต” มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของกรรมที่เคยก่อไว้ นอกจากนี้ ตามความเชื่อของคนไทยบางส่วนเรียกเปรตว่าเป็น “ผี” แต่บางตำราก็อธิบายว่าเป็น “อสุรกาย” ซึ่งครั้งนี้กรุงเทพธุรกิจจะพาไปเปิด “จักรวาลเปรต” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และคืออะไรกันแน่
- “เปรต” แท้จริงแล้วคืออะไร เป็นอสุรกายหรือเป็นผี ?
คำว่า “เปรต” มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต แต่ของไทยนั้นมาจากคำว่า “เปต” ของภาษาบาลีซึ่งรับมาจากประเทศอินเดียอีกที
เปรตอาศัยอยู่ใน “เปตติวิสยภูมิ” หรือ “ภูมิเปรต” ซึ่งเป็นโลกของเปรต อยู่ห่างไกลจากความสุข ไม่มีสถานที่อยู่แบบเฉพาะเจาะจง ข้อมูลจากนิตยสารสารคดีตอนหนึ่งระบุว่า ตามตำนานเล่าว่าในป่าหิมพานต์ มีเมืองที่อยู่เหนือนรกขึ้นมาซึ่งเป็นที่อยู่ของเปรตทั้งหลาย หมายความว่าเปรตถูกแยกออกจากภูมินรก
นอกจากนี้ข้อมูลของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อธิบายว่าในความเชื่อของคนไทย “เปรต” ก็คือ “ผี” ชนิดหนึ่ง ทำให้เรียกกันว่า “ผีเปรต” เช่นเดียวกับ ผีกระสือ ผีกระหัง ผีปอบ แต่ความจริงทั้งหมดที่กล่าวมาจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับเปรต
สำหรับความหมายของเปรตตามภาษาสันสกฤต แบ่งได้ดังนี้
1. ผู้จากโลกนี้ไปแล้ว หรือคนที่ตายไปแล้ว เป็นวิญญาณชนิดหนึ่ง
2. ผู้ห่างไกลจากความสุข เป็นอสุรกายที่ทำกรรมเอาไว้จึงต้องมารับผลกรรมด้วยความทุกข์ทรมาน ซึ่งแต่ละตนจะมีรูปร่างหน้าตาต่างกันไปตามกรรมที่เคยทำไว้
- ทำความรู้จัก “ภูมิเปรต” หรือโลกของเปรตทั้งหลาย
ในศาสนาพุทธจัดภพภูมิให้สรรพสัตว์ที่ยังมีกิเลสอยู่และต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ ทั้งหมด 31 ภพภูมิ เรียกว่า วัฏสงสาร 31 ภพภูมิ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. กามาวจรภูมิ เป็นภูมิของผู้ยังแสวงหาความสุขจาก รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัสที่น่าพอใจ
2. รูปาวจรภูมิ เป็นภูมิของผู้ที่มีภาวะจิตสงบ มีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก
3. อรูปาวจรภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของผู้เจริญสมาธิถึงขั้นสูงสุด
สำหรับ “ภูมิเปรต” อยู่ใน “อบายภูมิ 4” เป็นภูมิย่อยของกามาวจรภูมิ มีไว้เพื่อลงโทษผู้ที่ทำบาป แบ่งเป็น นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน (เดรัจฉาน) เมื่อมาเกิดในภูมิเปรตแล้วจะถูกลงโทษให้ทุกข์ทรมานอยู่เกือบตลอดเวลา แต่มีการผ่อนปรนบ้างเล็กน้อย
ตัวอย่างเช่น เปรตปากเท่ารูเข็มที่กินอะไรไม่ได้จึงมีแต่ความหิวโหย ก็ผ่อนปรนให้ออกไปหาอาหารกินบ้างเล็กน้อย แม้จะเป็นผู้มีบาปหนัก แต่ก็ยังน้อยกว่าสัตว์ที่เกิดในนรกที่จะโดนลงโทษตลอดเวลา
แม้ว่า “เปรต” จะมีเวลาพักจากการรับโทษ แต่ก็ต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัสเป็นร้อยเป็นพันปี บางตนก็ต้องอยู่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์
- เปรตมีหลายประเภท ไม่ได้มีแค่สูงเท่าต้นตาล และบางตนก็รูปร่างน่าประหลาดจนคาดไม่ถึง
เบื้องต้นเปรตแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. เปรตที่มาจากโลกมนุษย์ เป็นคนที่ทำกรรมไม่หนักถึงขั้นที่ว่าจะต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก แต่ก็ยังมีกรรมหนักบางอย่างอยู่ ดังนั้น เมื่อคนเหล่านี้ตายแล้วก็จะไปเกิดเป็นเปรตทันที และ 2. เปรตที่มาจากนรก เป็นผู้ที่ทำกรรมหนักแม้ชดใช้กรรมในนรกมาแล้วก็ยังไม่หมดกรรม เพราะมีเศษกรรมติดอยู่ต้องมาเกิดเป็นเปรตเพื่อใช้กรรมต่อ
นอกจากนี้เปรตยังมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันและไม่ได้มีแค่เปรตหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวเท่านั้น แต่เปรตที่หน้าตาดูดีก็มี?
โดยตามคำนิยามในพระไตรปิฎก มีบางช่วงบางตอนที่บอกเล่าถึงเปรตที่มีความแปลกประหลาดกว่าปกติ แต่อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ได้แก่
เปรตปากหมู (สุกรเปตวัตถุ) เป็นเปรตที่มีปากเหมือนหมู แต่มีร่างกายเป็นทองเปล่งประกาย เพราะชาติก่อนเป็นผู้สำรวมกายแต่ไม่สำรวมวาจา เรียกว่าทำบาปด้วยปาก
เปรตปากเน่า มีร่างกายสวยงามดั่งทองคำ แต่ปากเหม็นและมีหนอนอยู่ในปาก เนื่องจากชาติก่อนแม้เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ชอบพูดจาส่อเสียดและโกหก
เปรตเศษบาป มาจากสัตว์นรกที่ยังชดใช้กรรมไม่หมด ต้องมาชดใช้ต่อในภูมิเปรต เช่น เปรตชิ้นเนื้อ ที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า มีนกต่างๆ รุมจิก จนร้องออกมาด้วยความเจ็บปวด เนื่องจากตอนเป็นมนุษย์มีอาชีพฆ่าวัว, เปรตก้อนเนื้อ มีชะตากรรมเดียวกันกับเปรตชิ้นเนื้อ แต่ที่เป็นก้อนเพราะตอนเป็นมนุษย์มีอาชีพฆ่านก, เปรตไม่มีผิวหนัง มีลักษณะเป็นมนุษย์แต่ไม่มีผิวหนัง ลอยไปมาอยู่บนฟ้าและมีนกรุมจิก เนื่องจากชาติก่อนมีอาชีพฆ่าแกะเพื่อถลกหนังไปขาย
เปรตถูกไฟไหม้ แต่งกายคล้ายพระห่มจีวรแต่มีเปลวไฟเผาไหม้ตัวเองตลอดเวลา เนื่องจากชาติก่อนบวชเป็นพระ แต่ทำผิดพระวินัยหลายอย่างทำให้ต้องมาเกิดเป็นเปรตชดใช้กรรม
กลุ่มเปรตกอบแกลบ มีทั้งหมด 4 ตน ตนแรกเอาแกลบข้าวสาลีที่มีไฟลุกโชนโปรยใส่หัวตนเอง เพราะในชาติก่อนเป็นพ่อค้าขี้โกง ตนที่สองเอาค้อนเหล็กทุบหัวตนเองจนแตก เพราะชาติที่แล้วทำร้ายมารดา ตนที่สามเป็นผู้หญิงกินเนื้อส่วนหลังและเลือดของตนเอง เพราะชาติก่อนแอบกินเนื้อแล้วโกหกและไม่ยอมรับผิด ตนสุดท้ายนั่งกินของสกปรก เนื่องจากชาติก่อนเป็นคนขี้งก เวลามีคนมาขออะไรชอบโกหกว่าไม่มีให้
เปรตโดนค้อน 60,000 ลูกตกใส่หัว เนื่องจากชาติก่อนเคยหมั่นไส้พระเลยดีดก้อนกรวดใส่ศีรษะพระ ทำให้ต้องเกิดมาเป็นเปรตที่มีค้อนเหล็กตกใส่หัวถึง 60,000 ลูก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเปรตที่มีความหลากหลายแตกต่างไปจากที่เราเคยรับรู้มาก่อน แต่สิ่งที่เหล่าเปรตมีเหมือนกันก็คือ ชาติที่แล้วล้วนแต่เป็น “คนบาป” ก่อกรรมทำเข็ญกับทั้งคนและสัตว์ ทำให้เมื่อตายไปแล้วต้องชดใช้กรรมด้วยความทรมานในรูปแบบของ “เปรต”
สุดท้ายแล้วแม้จะยังมีข้อถกเถียงกันในหลายตำราว่าเปรตคือผีหรืออสุรกาย หรือแท้จริงแล้วเป็นอย่างอื่น และยังไม่สามารถพิสูจน์เรื่องราวต่างๆ ของเปรตได้ แต่ก็เป็นหนึ่งในกุศโลบายที่อยากให้คนทำแต่ความดีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
อ้างอิงข้อมูล : นิตยสารสารคดี, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎก, GotoKnow, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ กรมประชาสัมพันธ์