ทำไมทั้งโลกเรียก ‘ชา’ แค่ 2 แบบ แต่ไม่ว่าจะ Cha หรือ Tea ก็ล้วนมีที่มาจากจีน

ทำไมทั้งโลกเรียก ‘ชา’ แค่ 2 แบบ แต่ไม่ว่าจะ Cha หรือ Tea ก็ล้วนมีที่มาจากจีน

รู้หรือไม่ ? คนทั้งโลกเรียกมี “คำศัพท์” ใช้เรียก “ชา” เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั้งโลก อยู่ 2 คำ ชื่อ  ชา (Cha หรือ Char) และ ที (Tea) โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนทั้งคู่ และมีที่มาที่แตกต่างกัน จนมีคำกล่าวว่า “Tea if by sea, Cha if by land”

ชา” เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มไม่กี่ชนิดที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่เชื่อหรือไม่ ในโลกที่มีภาษานับหมื่นนับพันกลับมี “คำศัพท์” ที่ใช้เรียกเครื่องดื่มนี้อยู่ 2 คำเท่านั้น คือ ชา (Cha หรือ Char) และ ที (Tea) ซึ่งทั้ง 2 คำมีรากมาจากภาษาจีน แต่ต่างกันที่เส้นทางการได้รับเรื่องดื่มชนิดนี้ 

Tea if by sea, Cha if by land” เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงที่มีของการเรียกชาในแต่ละประเทศได้อย่างดี โดยประเทศที่เรียกชาว่า “Tea” จะเป็นประเทศที่ได้รับชาผ่านจากพ่อค้าชาวดัตช์ที่ขนส่งสินค้าผ่านทางทะเลกลับไปยุโรป ส่วนประเทศที่เรียกชาว่า “Cha” แสดงว่าประเทศนั้นรับชามาจาก “เส้นทางสายไหม” ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางบก

  • Cha มาจากทางบก

สำหรับ คำว่า Cha () เป็นคำในตระกูลภาษาแบบจีน (Sinitic) สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศจีน และคำนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วเอเชียกลาง จนกลายเป็นคำว่า "Chay" (چای) ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเป็นมาจากการซื้อขายชาเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน ผ่าน "เส้นทางสายไหม​" เส้นทางการค้าที่เชื่อมโลกฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน 

ชาวตะวันออกกลางต่างเรียกชาว่าชาทั่วภูมิภาค เช่น ภาษาอาหรับออกเสียงว่า Shay (شاي) ภาษาตุรกีและอาเซอร์ไบจาน เรียกว่า çay ส่วนในกลุ่มประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตก็ใช้คำว่า ชา เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น รัสเซียก็เรียกว่า Chay (чай) ในอุซเบกิสถานเรียกว่า choy ส่วนคีร์กีซสถานอ่านว่า chai (чай) ด้านทาจิกิสถานเรียกว่า choy (чой) 

รวมไปถึงยูเครน จอร์เจีย อาร์เมเนีย ลามไปถึงประเทศทางยุโรปตะวันออก เช่น บัลแกเรีย มาซิโดเนีย เซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวะเกีย สโลเวเนีย สาธารณรัฐเช็ก บอสเนีย ล้วนมีคำเรียกชาที่มีรากศัพท์มาจาก cha ทั้งสิ้น 

คำว่าชานี้ขยายอาณาเขตไปถึง พื้นที่ตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกา และกลายมาเป็น chai ในภาษาสวาฮิลี ภาษาที่ใช้โดยทั่วไปในแอฟริกาตะวันออกและพื้นที่รอบ ๆ ขณะที่ชาวโซมาเลียเรียกว่า shaah 

คำว่าชายังแพร่ขยายมายังฝั่งตะวันออกไกล คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น (お茶) และภาษาเกาหลี (차) ที่แปลว่าชาก็มีพื้นฐานมาจาก cha ของจีน รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไทยก็เรียกชา ลาวเรียกว่า ຊາ ขณะที่ภาษาตากาล็อกและกะปัมปังกันของฟิลิปปินส์เรียกว่า tsaá และ cha คล้ายกับเวียดนามที่เรียกว่า trà

รากศัพท์ชานี้ยังส่งต่อไปถึงผู้ใช้ภาษาต่าง ๆ ในเอเชียใต้ ทั้งในภาษาอูรดู อัสสัม เบงกาลี คุชราต กันนาดา ปัญจาบ มราฐี โอริยา และสินธี ด้วยเช่นกัน

ทำไมทั้งโลกเรียก ‘ชา’ แค่ 2 แบบ แต่ไม่ว่าจะ Cha หรือ Tea ก็ล้วนมีที่มาจากจีน

  • Tea มาจากทางทะเล

คำว่า Tea นั้นมีรากศัพท์มาจาก “te” ซึ่งเป็นคำในภาษาฮกเกี้ยน ของชาวจีนในมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลชายฝั่งทะเลที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยมณฑลฝูเจี้ยนและเกาะไต้หวันเป็นท่าเรือหลักของชาวดัตช์ในเอเชียตะวันออกตั้งอยู่ ดังนั้นเมื่อพ่อค้าชาวดัตช์จากบริษัท Dutch East India Company ค้าขายชากับคนในพื้นที่ จึงทำให้พวกเขานำคำนี้ไปเผยแพร่ให้แก่คู่ค้าตามทะเลจีนใต้ ลงมายังมหาสมุทรอินเดีย ผ่านเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ศรีลังกา จากนั้นล่องเรือลงใต้ผ่านแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้ เพื่อมุ่งหน้ากลับยุโรป ดังนั้นหลายพื้นที่ในแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันตกจึงมีคำศัพท์เรียกชาที่มีรากมาจาก tea 

ไปจนถึงยุโรปทางฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี โปแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ลิทัวเนีย สเปน เป็นต้น 

เมื่อประเทศยุโรปออกล่าอาณานิคมก็จะนำภาษาและวัฒนธรรมของตนเองไปเผยแพร่ ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ก็มีคำศัพท์ที่แปลว่าชาจากรากศัพท์คำว่า te ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ

แม้ชาวดัตช์จะมีบทบาทสำคัญในฐานะพ่อค้าชารายใหญ่ผู้เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชียในศตวรรษที่ 17 แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ประเทศแรกที่มาเยือนทวีปเอเชีย โดยชาวโปรตุเกสเดินทางมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อไต้หวันไว้ว่า “เกาะฟอร์โมซา” แต่ไม่ได้ยึดครองเป็นอาณานิคม และเดินทางไปทำการค้าขายที่มาเก๊า ซึ่งใช้คำว่า Cha เพราะฉะนั้นโปรตุเกสจึงแทบจะเป็นประเทศเดียวในยุโรปตะวันตกที่เรียกชาว่า chá 

อย่างไรก็ตาม บางภาษามีคำเรียกชาเป็นของตนเอง ซึ่งมาจากคนท้องถิ่นใช้เรียกสิ่งนั้นจากสถานที่ที่ชาขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้อ้างอิงมาจากชาติอื่น เช่น ในภาษาพม่า เรียกว่า ละแพ่ด (လက်ဖက်)

ขณะที่ในภาษาอังกฤษแบบบริติช มีการใช้คำว่า “cha” หรือ “char” เป็นคำสแลงมีความหมายว่า ชา เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการออกเสียงคำว่าชาแบบจีนกวางตุ้ง ส่วนสาเหตุที่บางที่มีสะกดว่า char เพราะว่า -ar เป็นวิธีแทนหน่วยเสียง /ɑː/ ในภาษาอังกฤษแบบบริติช

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าชนชาติใดเป็นผู้คิดค้นการดื่มชาเป็นที่แรก แต่การดื่มชาก็ได้ไปแทรกซึมอยู่ในทุกวัฒนธรรมทั้งชาติตะวันออกและตะวันตก เห็นได้จากประเพณีการชงชาของญี่ปุ่น การจิบชายามบ่ายของอังกฤษ การดื่มชาสืบต่อเนื่องกันมาเป็นพันปีของจีน ชาไทยเย็นที่เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย นอกจากนี้ชายังเป็นตัวแทนของเครื่องดื่มและภาษาที่เชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกันนับตั้งแต่สมัยยุคแห่งการสำรวจ 


ที่มา: Quartzศิลปวัฒนธรรม