ข้อดี-ข้อเสีย ทำงานนอกเวลางาน? เมื่อ Gen Z สหรัฐ ขอไม่ประชุมเพราะต้องไปยิม

ข้อดี-ข้อเสีย ทำงานนอกเวลางาน? เมื่อ Gen Z สหรัฐ ขอไม่ประชุมเพราะต้องไปยิม

เราควรทำงานนอกเวลางานไหม? คำถามที่เกิดจากดราม่าวัยทำงาน “Gen Z” ในสหรัฐ ปฏิเสธเข้าประชุม 08.00 น. (ก่อนเวลางาน 09.00 น.) เพราะชนกับคลาสออกกำลังกาย ขณะที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า การทำงานนอกเวลางานอาจทำลายแรงจูงใจของพนักงานได้

Key Points:

  • รายการพอดแคสต์แห่งหนึ่ง พูดคุยเกี่ยวกับพนักงานใหม่ Gen Z คนหนึ่งปฏิเสธการประชุมตอน 08.00 น. (ก่อนเวลางาน) เนื่องจากชนกับคลาสออกกำลังกาย ซึ่งพิธีกรในรายการแสดงความเห็นร้อนแรงว่า นี่เป็นเรื่องบ้าบอมาก
  • ชาวเน็ตทัวร์ลงพิธีกรฉ่ำ! พร้อมโต้ตอบว่า การประชุมนั้นอยู่นอกเวลางาน,  มันไม่สมเหตุสมผลเลย, จะไปประชุมก็ต่อเมื่อได้รับค่าล่วงเวลาเท่านั้น ฯลฯ
  • การทำงานนอกเวลางาน-ทำงานในวันหยุด มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือจะได้ใช้ทักษะการแก้ปัญหา, ทักษะผู้นำ, โชว์ความโดดเด่น ฯลฯ ข้อเสียคือกระทบกับแรงจูงใจในการทำงาน อย่างไรก็ตาม มันมีความซับซ้อนที่ต้องพิจารณาให้ดี

ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันมากมายในโลกการทำงานระหว่างวัยทำงานเจนเนอรชันต่างๆ โดยเฉพาะพนักงานชาว Gen Z ที่มักจะมีแนวคิดและวิถีการทำงานที่แตกต่างจากรุ่นพี่ชาว Gen X - Gen Y ล่าสุด.. เกิดกรณีถกเถียงกันเรื่อง “การเข้าประชุมนอกเวลางาน” ในโลกออนไลน์ฝั่งสหรัฐอเมริกา ชาวเน็ตต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในหัวข้อนี้กันร้อนแรงจนกลายเป็นไวรัล

 

  • ดราม่า Gen Z ไม่เข้าประชุมก่อนเวลางาน ทำได้ไหม?

ต้นเรื่องมาจากรายการพอดแคสต์ ‘Demoted’ ซึ่งมีตอนหนึ่งที่พิธีกร 2 คนได้พูดคุยถึงการทำงานของชาวออฟฟิศกับพนักงานรุ่นใหม่อายุน้อย พวกเขาได้รับข้อความหนึ่งจากทางบ้านที่ส่งเข้ามาปรึกษาปัญหาในรายการ ระบุว่า 

พนักงานใหม่ Gen Z คนหนึ่งในบริษัท ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมตอน 08.00 น. ก่อนเวลางาน เนื่องจากมีการจองคลาสเรียนออกกำลังกายเอาไว้แล้ว”

ด้าน “นาตาลี” พิธีกรหญิงเจ้าของแอคเคาท์ ‘CorporateNatalie’ บน Tiktok ที่มียอดผู้ติดตาม 649,500 คน (ณ 6 ก.พ.67) ได้อ่านข้อความนั้นออกอากาศ และหลังอ่านจบเธอก็แสดงอาการไม่เห็นด้วยอย่างมาก เธอโกรธและบอกว่า พนักงานคนดังกล่าวเพิ่งจะเริ่มงานในบริษัท การปฏิเสธการประชุมเพื่อไปออกกำลังกายนั้นบ้าบอมาก ควรเข้ายิมให้เสร็จตั้งแต่ 06.00-07.00 น. จะดีกว่าไหม? จริงๆ แล้วพนักงานใหม่ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำอย่างนั้นด้วยซ้ำ

 

  • ทัวร์ลงพิธีกร ชาวเน็ตโต้แรง ประชุมนอกเวลางานนั้นไม่สมเหตุสมผล

หลังคลิปพอดแคสต์ดังกล่าวเผยแพร่บนโลกออนไลน์ไม่นาน นาตาลีก็โดนทัวร์ลงฉ่ำ! โดยเฉพาะวัยทำงานชาว Gen Z ต่างออกมาตำหนิความคิดเห็นของเธอพร้อมโต้ตอบกลับ เช่น การประชุมนั้นอยู่นอกเวลางาน ควรเข้าใจด้วย, ทำไมพนักงานควรเข้าประชุมเวลา 08.00 น. ในเมื่อไม่ใช่เวลาเริ่มงานตามปกติ, ประชุมก่อนเวลางานมันไม่สมเหตุสมผลเลย, จะไปประชุมก็ต่อเมื่อได้รับค่าล่วงเวลาเท่านั้น, แค่ตอบว่า ‘ไม่’ ก็ควรจะเพียงพอแล้ว พนักงานไม่ควรต้องมานั่งอธิบายว่าทำไมถึงเข้าประชุมไม่ได้ เป็นต้น

รวมไปถึงผู้ใช้ชื่อแอคเคาท์ Tiktok ว่า Alexandre Evidente วัยทำงานชาว Gen Z อีกคนที่ได้ออกมาโพสต์คลิปตอบโต้ดุเดือดเช่นกันว่า ก็ถ้ามีความชัดเจนเรื่องเวลางานตั้งแต่แรกในตอนสัมภาษณ์งานอยู่แล้วว่า เวลาทำงานในตำแหน่งนี้อยู่ระหว่าง 09.00 - 17.00 น. นั่นก็คือเวลาที่พนักงานจะรับผิดชอบเรื่องาน แต่นอกเหนือเวลานั้น พนักงานก็มีภาระผูกพันอื่นๆ ในชีวิตที่ต้องทำเช่นกัน

จริงๆ แล้ว การจัดสรรเวลาเพื่อมาเข้าร่วมประชุม 08.00 น. (ก่อนเวลาเริ่มงาน) เชื่อว่าทุกคนทำได้หากได้รับการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ แต่ไม่สามารถทำได้หากได้รับแจ้งเพียงหนึ่งวันก่อนหน้า อีกทั้งหากต้องการให้พนักงานเข้าประชุมจริงๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทก็ควรจ่ายค่าคลาสยิมคืนให้ หรือจ่ายเงินล่วงเวลา 1 ชั่วโมง หรือไม่ก็อนุญาตให้เลิกงานก่อนเวลาปกติได้ 1 ชั่วโมง 

ด้านนาตาลีก็ออกมาชี้แจงอีกครั้งว่า สิ่งที่เธอพูดในรายการเป็นเพียงความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งเธอได้แชร์ข้อมูลเพิ่มเติมจากบุคคลทางบ้านผู้ส่งข้อความเข้ามาในรายการด้วยว่า กรณีดังกล่าวเป็นของพนักงานชั่วคราวแบบไตรมาส ไม่ใช่พนักงานแบบงานประจำ แต่เพื่อให้ชัดเจน เธอคิดว่าหากพนักงานไม่ได้รับค่าจ้างล่วงเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องทำงานนั้น ถ้าเวลาเข้างานประจำคือ 09.00-17.00 น. กรุณาอย่าทำงานนอกเวลาดังกล่าว เพราะไม่ได้รับการชดเชยและนั่นก็ไม่คุ้มค่า

 

  • เปิดข้อดี-ข้อเสีย ทำงานนอกเวลางาน ต้องพิจารณาดีๆ ก่อนตัดสินใจ

ไม่ใช่แค่เรื่องความคุ้มค่าหรือไม่เท่านั้น แต่การทำงานนอกเวลาอาจส่งผลเสียระยะยาวต่อพนักงานด้วย ยืนยันจากงานวิจัยของ London School of Economics and Political Science (LSE) ที่ชี้ว่า การทำงานนอกเวลางาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานก่อนเวลาเข้างาน หลังเลิกงาน หรือในวันหยุดสุดสัปดาห์-วันหยุดนักขัตฤกษ์ ล้วนแต่เป็นการทำงานที่ผิดปกติ ซึ่งจะบ่อนทำลายแรงจูงใจภายในของวัยทำงาน

เนื่องจากโดยปกติแล้วช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลางาน สมองและจิตใจของเราจะเข้ารหัสว่าเวลานั้นเป็นเวลาพักผ่อน และเราควรพักผ่อนจริงๆ แต่ถ้าเอาเวลานั้นมาทำงาน มันอาจทำให้รู้สึกได้ทันทีว่างานที่ทำอยู่สนุกน้อยลง โดยมีงานวิจัยอีก 2 ชิ้นที่ค้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างในการทดลองทำงานในวันหยุด รายงานว่าพวกเขารู้สึกสนุกกับงานน้อยลง 15% และอีกชิ้นรายงานว่าเพลิดเพลินกับงานน้อยลง 9%

ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่าการค้นพบนี้อาจมีนัยสำคัญต่อแรงจูงใจและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน แรงจูงใจจากภายในเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของความเพียรพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นอาสาสมัคร เป็นต้น 

แต่ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง “การทำงานวันหยุด” ก็มีข้อดีบางอย่างเช่นกัน โดยบทความ The Benefits of Working on a Holiday ของ Forbes อธิบายไว้ว่า การทำงานในวันหยุดเป็นโอกาสที่จะแสดงถึงความอดทน ได้ใช้ทักษะการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โชว์ทักษะความเป็นผู้นำ และได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการแสดงความสามารถที่โดดเด่นออกมา รวมถึงช่วยให้สามารถบริหารจัดการงานต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เคลียร์งานบางส่วนออกไป ทำให้วันธรรมดายุ่งน้อยลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม "จอยซ์ มาร์เตอร์" นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา กล่าวว่า การตัดสินใจทำงานก่อนหรือหลังเวลาทำการโดยไม่ได้รับค่าจ้างนั้น มีความซับซ้อนและควรพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้ว่าการสละเวลาเพิ่มจะมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น การแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและความมุ่งมั่น แต่สิ่งสำคัญคือต้องชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ดังกล่าวกับข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานด้วย