Gen Z ขอ 'ลาออก' หากต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ชอบทำงานจากที่ไหนก็ได้มากกว่า

Gen Z ขอ 'ลาออก' หากต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ชอบทำงานจากที่ไหนก็ได้มากกว่า

“ทำงานระยะไกล (Remote work)” จากที่ไหนก็ได้ คืองานในฝันของชาว Gen Z บางคนถึงขั้น “ลาออก” หากบริษัทให้เข้าออฟฟิศทุกวัน เหตุเพราะอึดอัดกับวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวที่เพิ่มความเครียดให้ชีวิต

Key Points: 

  • การเข้างานในออฟฟิศแบบ “Nine to Five” (เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น) กลายเป็นหนึ่งในประสบการณ์ชีวิตที่แสนอึดอัดใจของชาว Gen Z บางคนเลือก "ลาออก" เพื่อมองหางานแบบ “Remote work” แทน
  • คลิปให้คำแนะนำในหัวข้อ “Remote work” และคำค้นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กำลังได้รับความสนใจอย่างมากบน TikTok โดยมียอดการรับชมมากกว่า 2,900 ล้านครั้ง
  • Gen Y (Millennials) หลายคนก็กำลังชั่งน้ำหนักในประเด็นนี้เช่นกัน โดยพวกเขาออกมาร่วมแชร์ความเห็นระหว่างข้อดี-ข้อเสีย ของการทำงานในออฟฟิศเช่นกัน

โลกของ “งานประจำ” ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ต้องเข้างานออฟฟิศแบบ “Nine to Five” (เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น) กลายเป็นหนึ่งในประสบการณ์ชีวิตทำงานที่วัยทำงานชาว Gen Z รู้สึกอึดอัดใจ โดยพวกเขาส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม First jobber ที่เพิ่งเข้าสู่โลกการทำงานได้ไม่นานหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย 

บางคนยังคงทำงานนั้นต่อไป แต่มักจะมาระบายความรู้สึกหงุดหงิดจากการทำงานรูปแบบดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เป็นจำนวนมาก ในขณะที่บางคนเลือกที่จะ “ลาออก” หลังทำงานไปได้ไม่นาน เมื่อพบว่าวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้นๆ กำหนดให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ และเลือกที่จะหางานอื่นที่ตอบโจทย์ความอิสระ เสรีภาพ และควบคุมสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้มากกว่า

 

  • How to find remote jobs? กลายเป็นไวรัลบน TikTok ที่ชาว Gen Z ร่วมแชร์ความเห็น

สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า ในหมู่คน Gen Z มีการถกเถียงและแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “Remote work” หรือคำค้นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระยะไกลบน TikTok ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยพบว่ามียอดดูคลิปในหัวข้อเหล่านั้น (หลายคลิปรวมๆ กัน) บน TikTok มากกว่า 2,900 ล้านครั้ง โดยเนื้อหาในคลิปมีตั้งแต่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ "การหางานแบบระยะไกล (How to find remote jobs?)" ไปจนถึงคลิปตลกล้อเลียนชีวิตการทำงานของชาวเจนซี

ที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่น Gen Z เท่านั้นที่มองหางานลักษณะดังกล่าว แต่คนรุ่น Gen Y (Millennials) หลายคนก็กำลังชั่งน้ำหนักในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยพวกเขาออกมาร่วมแชร์ความเห็นระหว่างข้อดี-ข้อเสีย ของการทำงานในออฟฟิศ ในฐานะเป็นคนรุ่นที่เคยผ่านการทำงานทั้ง 2 รูปแบบมาแล้ว (ทั้งช่วงก่อนโควิดและขณะที่เกิดวิกฤติโควิด-19)

*หมายเหตุ: Gen Z คือคนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1997-2012 หรือมีอายุระหว่าง 11-26 ปี (ณ ปี 2023) ส่วนคนรุ่น Millennials คนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1981-1996 หรือมีอายุระหว่าง 27-42 ปี (ณ ปี 2023); อ้างอิงจาก Beresford Research

Gen Z ขอ \'ลาออก\' หากต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ชอบทำงานจากที่ไหนก็ได้มากกว่า

 

  • ฝ่ายเห็นด้วย VS ฝ่ายไม่เห็นด้วย กับการเข้างานออฟฟิศทุกวัน ต่างก็มีเหตุผลไปคนละแบบ

ยกตัวอย่าง TikToker วัย 27 ปีคนหนึ่ง ออกมาแชร์ว่าตัวเขาทำงานในบริษัท Tech และมองว่าการทำงานในออฟฟิศก็มีข้อดีไม่น้อย มันจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ทักษะทางสังคมและการสื่อสารให้ชาว Gen Z รวมถึงจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาทักษะงานจากเพื่อนร่วมงาน มีส่วนร่วมในโปรเจกต์สำคัญที่ต้องสื่อสารแบบต่อหน้า สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้างานระดับสูง ส่งผลให้มีศักยภาพในการเลื่อนตำแหน่ง-การขึ้นเงินเดือน ดังนั้นคนที่ไม่อยากเข้าออฟฟิศควรคิดใหม่อีกทีเกี่ยวกับจุดยืนของการทำงานบริษัท

ขณะที่ TikToker ชาวมิลเลนเนียลอีกคนสะท้อนความคิดเห็นว่า ที่บางคนบอกว่าหากชาว Gen Z ไม่เข้าออฟฟิศแล้วจะพลาดโอกาสดีๆ ในชีวิตการทำงานนั้น ไม่จริงทั้งหมด เพราะวัฒนธรรมองค์กรแบบเข้าออฟฟิศทุกวัน อาจเป็นอุปสรรคทางสังคมที่น่าอึดอัดใจ และเป็นบ่อเกิดความสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างบุคคลกับเพื่อนร่วมงาน เช่น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์และการนินทา เขาสรุปด้วยว่า ประโยชน์อย่างเดียวของ “การทำงานในออฟฟิศ” ก็คือ การทำให้คุณรู้สึกซาบซึ้งเมื่อคุณได้ทำงานจากที่บ้าน

 

  • แม้ความเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็จุดประเด็นให้เกิดการปรับตัวของวัฒนธรรมองค์กร

อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตที่เข้ามาแสดงความเห็นต่อหัวข้อดังกล่าวใน TikTok แบ่งเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเข้างานในออฟฟิศ และ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการทำงานจากทางไกล ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีจำนวนใกล้เคียงกัน บางคนบอกว่าการเข้าออฟฟิศช่วยต่อยอดในสายอาชีพ บางคนก็ว่าการเข้าออฟฟิศนั้นเพิ่มความเครียดและปัญหาทางการเงินในเรื่องค่าเดินทาง ฯลฯ 

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้คนรุ่นเจน X และเจน Y เริ่มเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของคนรุ่น Gen Z มากขึ้น โดยวัยทำงานรุ่นใหญ่บางส่วนเชื่อว่า บริษัทต่างๆ ควรปรับสู่การทำงานแบบ Hybrid คือให้มีวันที่เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ3-4วันต่อสัปดาห์ และมีบางวันที่ให้ทำงานที่บ้านได้ เพื่อให้คนทุกรุ่นในองค์กรสามารถทำงานในวัฒนธรรมผสมผสานแบบเดียวกัน นำไปสู่การทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น