ไทยจะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เหตุเด็กเกิดน้อยลง แรงงานเดิมขาดทักษะใหม่

ไทยจะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เหตุเด็กเกิดน้อยลง แรงงานเดิมขาดทักษะใหม่

ส่องสถานการณ์ “แรงงานไทย” จากมุมมองของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการบริษัทบลูบิค ที่มองว่าไทยกำลังจะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เหตุเด็กเกิดน้อยลง ส่วนแรงงานเดิมก็ขาดทักษะใหม่

KEY

POINTS

  • เด็กไทยในระดับอุดมศึกษามีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากเด็กเกิดใหม่น้อยลง เด็กในระบบการศึกษาจึงลดลง ส่งผลให้แรงงานในตลาดก็ลดลงตามไปด้วย
  • ขณะเดียวกันก็เกิดสถานการณ์ของหลายๆ บริษัท “ปลดพนักงานออก” เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และมองหาพนักงานที่มีทักษะสูงมากขึ้น
  • ทางรอดของวัยทำงานยุคนี้ ต้องเรียนเสริมเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ให้ตนเอง เช่น สกิลการใช้ AI หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ก็จะทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดงาน

ยุคนี้อาจถึงคราวที่วัยทำงานกลุ่ม White Collar ต้องปรับตัวและ อัปสกิล อย่างจริงจัง เพราะถ้าไม่ปรับก็อาจจะไม่รอด เมื่อตลาดงานเริ่มมองหาแรงงานทักษะสูงมากขึ้น แต่จะรอเด็กรุ่นใหม่จบออกมาก็อาจจะช้าเกินไป อีกทั้งเด็กไทยเกิดใหม่ก็น้อยลง ส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าระบบตลาดแรงงานก็น้อยลงตามไปด้วย 

จากเวทีเสวนา Research and Policy Dialogue #8 หัวข้อ ‘ถอดรหัสอนาคตแรงงานไทย’ จัดขึ้นโดย 101 PUB ร่วมกับ สกสว. เมื่อไม่กี่วันก่อน “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ผู้ให้บริการคำปรึกษาธุรกิจและเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ได้ออกมาแชร์ถึงสถานการณ์ “แรงงานไทย” และความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ไว้ว่า

ภาพที่เห็นชัดในตอนนี้คือ เด็กไทยในระดับอุดมศึกษามีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องมาจากสถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อยลง ทำให้เด็กในระบบการศึกษาลดลง ส่งผลให้แรงงานในตลาดก็ลดลงตามไปด้วย และจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะเมื่อประชากรลดลงก็จะไม่เพียงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

เช็กสถานการณ์แรงงานไทย เด็กเกิดใหม่น้อยลง บางส่วนถูกเลย์ออฟ เพราะองค์กรต้องรัดเข็มขัด

ทั้งที่แรงงานไทยกำลังลดน้อยลงในตลาดงาน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดสถานการณ์ของหลายๆ บริษัท “ปลดพนักงานออก” เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้เหมาะสมกับทิศทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น บางบริษัทมีการควบรวมกิจการ พอควบรวมแล้วต้องจัดโครงสร้างบริษัทใหม่ ทำให้ต้องมีการปลดคนออกจำนวนหนึ่ง ก็ทำให้คนตกงาน หรือบางบริษัทก็ปลดคนอายุมาก 50 ปีขึ้นไปออกไปด้วย 

นี่ยังไม่นับอีกหลายๆ องค์กรที่เริ่มทรานฟอร์มตัวเองไปสู่การเป็น Digital Company มากขึ้น โดยมีนโยบายให้พนักงานทุกคนต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็ปลดออก แถมยังปลดออกไปมากกว่าที่รับคนใหม่เข้ามาทดแทน เช่น ปลดออก 3 คนรับมาใหม่เพียง 1 คน ที่เหลือเน้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

ไทยจะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เหตุเด็กเกิดน้อยลง แรงงานเดิมขาดทักษะใหม่  ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

รวมไปถึงการเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งอีคอมเมิร์ซ ทั้งแพลตฟอร์มเดลิเวอรี หรือแพลตฟอร์มขายห้องพักในโรงแรมต่างๆ ทุกแพลต์ฟอร์มเราใช้บริการของต่างประเทศ แล้วเจ้าของแพลตฟอร์มคิดค่าบริการแพง เจ้าของธุรกิจในไทยก็ได้กำไรน้อย ไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอที่จะเอามาดูแลลูกจ้าง หรือเอามาจ้างแรงงานในธุรกิจของตนเอง บางธุรกิจก็แทบไม่จ้างแรงงานเลย 

แรงงานไทยเข้าสู่วิกฤติแบบ K-shaped กลุ่มทักษะสูงยิ่งเติบโต กลุ่มทักษะน้อยยิ่งถอยหลัง

จากสถานการณ์ต่างๆ ทั้งหมดข้างต้น ธนา อธิบายว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาและความท้าทายอย่างมากของแรงงานไทย ในเมื่อองค์กร บริษัท และเจ้าของธุรกิจในไทยมีทุนน้อยลง เขาก็จำเป็นต้องปรับลดพนักงานลง ดังนั้น พนักงานที่เขาจะยังเก็บไว้ต้องเป็นพนักงานทักษะสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทได้

ยิ่งในปัจจุบันนายจ้างในตลาดงานก็เร่งปรับตัวตามกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว แรงงานที่เขาอยากได้จึงมักจะเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

แรงงานไทยจึงตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติแบบ K-shaped คือแรงงานถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรงงานทักษะสูงที่มีสกิล Global Citizen เช่น มีทักษะภาษาอังกฤษดี มีทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ใช้งาน AI หรือใช้เครื่องมือ (Tool) ใหม่ๆ ได้ดี กลุ่มนี้จะเติบโตในอาชีพ และต่อยอดพัฒนาทักษะอื่นๆ ขึ้นไปได้อีกเรื่อยๆ (เหมือนหางตัว K ด้านบนที่พุ่งขึ้น) ส่วนแรงงานที่ไม่มีทักษะภาษาอังกฤษ ก็จะไม่สามารถต่อยอดสิ่งใหม่ๆ ได้ สกิลต่างๆ ก็จะตกลงเรื่อยๆ (เหมือนหางตัว K ด้านล่างที่พุ่งลง) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานส่วนใหญ่

สถานการณ์แบบนี้ก็จะไปกระทบกับองค์กรและบริษัทต่างๆ ด้วย เมื่อองค์กรบริษัทอยากได้แรงงานกลุ่มทักษะสูง แต่แรงงานไทยกลุ่มนี้ยังมีจำนวนน้อยอยู่ ก็อาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานได้ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การรีสกิลและอัพสกิลให้แรงงานเดิมก็เป็นสิ่งจำเป็น

ทักษะที่แรงงานไทยทุกกลุ่มควรมีมากที่สุดคือ "ทักษะภาษาอังกฤษ" 

คำถามต่อมาคือ ในมุมของแรงงานเดิมที่เป็นกลุ่มทักษะต่ำ จะปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานในยุคนี้ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเขย่าตำแหน่งงานในหลายๆ สายงาน ในประเด็นนี้ ธนา ให้ความเห็นว่า..

ทักษะที่คนไทยควรมีมากที่สุดก็คือ “ทักษะภาษาอังกฤษ” เพราะเป็นสิ่งที่ทุกๆ ธุรกิจ ทุกๆ อุตสาหกรรมต้องการ เมืองไทยยังขาดแคลนแรงงานที่เก่งภาษาอังกฤษ หากคุณเป็นแรงงานที่มีสกิลอื่นอาจจะกลางๆ แต่ถ้าสกิลภาษาอังกฤษดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ใครภาษาอังกฤษดี มีงานทำแน่ๆ 

การมีทักษะภาษาอังกฤษดี ไม่ใช่แค่จะช่วยในเรื่องการทำงานในออฟฟิศเท่านั้น แต่มันเป็นสกิลที่ทำให้เปิดโลกการเรียนรู้ การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ทั่วโลก สามารถสร้างเครือข่ายหรือคอนเนกชันได้มากกว่าคนอื่น และยิ่งถ้าเป็นคนหนุ่มสาวไฟแรง มีความอดทนสูงในการทำงาน ก็ยิ่งไปได้ไกล ชีวิตการทำงานของแรงงานกลุ่มนี้จะดีมาก เพราะพวกเขาจะพัฒนาตัวเองได้มาก แต่ขณะที่แรงงานไทยอีกกลุ่มที่ไม่มีสกิลทางภาษาอังกฤษ ก็จะไม่มีการพัฒนาทักษะอื่นหรือพัฒนาได้ช้า 

ในเมื่อสถานการณ์แรงงานเป็นแบบนี้ ประเทศไทยจะพัฒนาแรงงานให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานยุคใหม่ได้อย่างไร ธนา ตอบว่า 

“ถ้าถามเรื่องการพัฒนาแรงงานไทย ผมว่าต้องคุยเรื่องทุนควบคู่กันไปด้วย องค์กรหรือธุรกิจต้องมีทุนเพียงพอที่จะจ้างงานแรงงานไทยให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องแพลตฟอร์มออนไลน์ เราต้องปรับตัวด้วยการอาจหาพาร์ทเนอร์ที่มีความแข็งแกร่งด้านการทำแพลตฟอร์มในไทย แล้วจับมือกันทำธุรกิจกัน” 

การดึงทุนต่างชาติมาลงในไทย จะช่วยแรงงานไทยให้มีงานทำมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตัวแรงงานเองก็ต้องเพิ่มทักษะให้ตนเองด้วย

นอกจากนี้ ธนา ยังมีคำแนะนำถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยภาพรวมในระยะสั้นไว้ด้วยว่า ประเทศเล็กๆ อย่างไทย อาจต้องใช้กลยุทธ์ “ยืนบนไหล่ยักษ์” มันเป็นกลยุทธ์ที่คนตัวเล็กจะเอาตัวรอดได้ คือ แทนที่ไทยจะไปทำแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาแข่งเจ้าตลาด แต่เราอาจจะต้องนำสินค้าเราเข้าไปขายในแพลตฟอร์มนั้น พยายามเข้าใจกระบวนการการทำงานของแพลตฟอร์ม แล้วก็เรียนรู้เรื่องพวกนี้ให้ได้มากที่สุด 

อีกอย่างคือ รัฐบาลต้องดึงทุนต่างชาติมาลงทุนในไทยให้มากขึ้น มันเป็นเกมเดียวที่จะช่วยเรื่องตลาดทุนในไทยได้ ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ผ่านมาในอดีตเขาก็ทำแบบนี้มาก่อน ดังนั้น ถ้าไทยดึงทุนต่างชาติมาลงได้ มันก็จะเกิดข้อดีต่อตลาดแรงงาน คือ มีการจ้างแรงงานไทยมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้บางอย่างระหว่างบริษัทต่างชาติกับแรงงานไทย 

“ยกตัวอย่าง หากวันหนึ่งไทยสามารถเป็น “Hub ของรถยนตร์ EV” ของภูมิภาคนี้ได้จริงๆ ก็จะเกิดการจ้างงานแรงงานในวงการนี้เพิ่มขึ้นได้ หรือในแวดวงท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่เราโดนแพลตฟอร์มจองห้องพักของต่างชาติเข้ามาให้บริการเหล่านี้ในไทย ก็ดึงเม็ดเงินเราไปแล้ว 30% ของมาร์จิ้น ตลาดแรงงานในแวดวงการท่องเที่ยวของไทยก็จะเหลือแต่แรงงานราคาถูกโดยธรรมชาติ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ถึงจะดึงทุนต่างประเทศเข้ามาจ้างแรงงานไทยได้มากขึ้น อันนี้ผมมองในระยะสั้นนะ เป็นสิ่งที่เราน่าจะทำได้”  

ส่วนในมุมของตัวแรงงานเอง ธนา มองว่าเนื่องจากทุกวันนี้โลกการทำงาน-การจ้างงาน เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ยิ่งมี AI เข้ามา ทุกอย่างก็ไปข้างหน้าเร็วขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น แรงงานหรือวัยทำงานจะต้องใช้การศึกษานอกโรงเรียนเข้ามาเสริม เพื่อเพิ่มทักษะและฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ให้ตนเอง เช่น เพิ่มสกิลการใช้ AI หรือสกิลเทคโนโลยีอื่นๆ ให้มากขึ้น แม้จะโดนเลย์ออฟออกไป แม้อายุจะเยอะแล้ว แต่ถ้าคุณมีทักษะใหม่ๆ บวกกับประสบการณ์การทำงานมานาน บวกกับมีทักษะภาวะผู้นำ เชื่อว่าคุณก็จะไปต่อได้รอดแน่นอน