อาหารไทยในซีรีส์ ทำไมไม่ปัง | ปณิดา ส่งเสริม
ปีที่แล้ว TasteAtlas เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลอาหารจัด 100 อันดับอาหารที่ดีที่สุดของโลก โดยให้อาหารไทยอยู่ในลำดับที่ 17 ในขณะที่ 100 เมนูที่ดีที่สุดของโลก อาหารไทยติดอันดับหลายรายการ เช่น ผัดกะเพรา อันดับที่ 3 ข้าวซอย อันดับที่ 6 พะแนง อันดับที่ 10 และต้มข่าไก่ อันดับที่ 15
ที่จริงอาหารไทยติดอันดับเมนูที่ดีที่สุดในโลกมาแล้วหลายครั้ง ทั้งต้มยำกุ้ง ผัดไทย ของหวานอย่างข้าวเหนียวมะม่วงที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวว่าเป็นเมนูห้ามพลาดหากมาเที่ยวเมืองไทย แต่เหตุใดอาหารไทยเหล่านี้กลับไม่มีการนำเสนอที่น่าสนใจในซีนละครหรือซีรีส์ของไทยเท่าที่ควร
หากย้อนดูละครไทยหลายๆ เรื่องจะพบว่าฉากกินอาหารส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่บนโต๊ะอย่างสวยหรู มีอาหารมากมายหลายอย่าง แต่เรื่องแล้วเรื่องเล่า ไม่ได้มีการนำเสนออาหารบนโต๊ะให้น่าสนใจไปพร้อมกับบทละครหรือการกินที่จริงจัง
กลับเป็นว่าฉากบนโต๊ะอาหารมักจะเป็นฉากปะทะอารมณ์ของคนในครอบครัว แม่ผัวลูกสะใภ้ หรือแม้แต่การเหยียดหยามระหว่างตัวละคร และจบด้วยการแยกย้ายโดยทิ้งฉากโต๊ะอาหารไว้เป็นแบ็คกราวน์เท่านั้น
มีละครไทยเพียงไม่กี่เรื่องที่ดำเนินเนื้อเรื่องได้น่าติดตาม เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และเกิดผลกระทบแรงๆ ต่อเมนูอาหารไทย อย่างละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ถือว่าเป็นละครอีกเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เกิดกระแส “หมูโสร่ง” ว่าอาหารโบราณชนิดนี้คืออะไร ปัจจุบันยังหาได้หรือไม่ จนนำไปสู่การทำคลิปวิดีโอสอนวิธีการทำเมนูนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ละครเรื่องหลังๆ ที่ตามมาก็ไม่ค่อยได้นำเสนอและเลี้ยงกระแสในด้านนี้ต่อเท่าใดนัก
เมื่อเทียบกับซีรีส์เกาหลี บ่อยครั้งมากที่จะเห็นการกินอย่างจริงจัง กินอย่างเอร็ดอร่อยของตัวละคร จนแฟนซีรีส์รู้สึกหิวและอยากกินตามไปด้วย แม้แต่ฉากกิน “จาจังมยอน” จากเรื่อง Wonderful World ได้กลายเป็นไวรัลที่ถูกพูดถึงและแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก เพิ่มยอดขายให้จาจังมยอนในหลายๆ พื้นที่ของคนดูซีรีส์
หรือแม้แต่วลี “อยากลองกินไก่ทอดคู่กับเบียร์ เหมือนในซีรีส์เกาหลี” ซึ่งเป็นฉากกินข้าวดูหนังที่บ้านธรรมดา กลับกลายเป็นจุดขายและเผยแพร่วัฒนธรรมการกินอาหารของเกาหลีได้อย่างกว้างขวาง
ย้อนกลับไปในปี 2003 ซีรีส์ทำอาหารอย่าง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้และภาคเอกชนในขณะนั้น กวาดเรตติ้งในประเทศสูงสุดถึง 57.8 % และภายหลังถูกนำไปฉายในอีกกว่า 91 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมหลากหลายช่วงวัย ทำให้วงการอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย นับเป็นใบเบิกทางในการที่จะทำให้ผู้คนรู้จักและทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะได้สอดแทรกวัฒนธรรมการกินอาหาร การแต่งกาย และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญไว้
หรือแม้แต่ซีรีส์ดังอย่าง King The Land ในปี 2023 ที่ยกกองถ่ายมายังประเทศไทย และนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญหลายๆ แห่ง รวมถึงร้านอาหารที่ทำให้ผู้ชมถึงกับไปตามรอยอย่างร้านก๋วยจั๊บญวณ จนร้านต้องขึ้นป้าย “ตามรอยซีรีส์ดัง KING THE LAND”
ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นรายการของเกาหลีแท้ๆ แต่เหมือนแคมเปญโปรโมทการท่องเที่ยวไทย ซึ่งหากละครไทยได้นำเสนอแบบนี้บ้างคงจะดีไม่น้อย
กลับมาดูซีรีส์ไทย อาจเป็นเพราะว่าละครไทยส่วนใหญ่ถ่ายทำกันอยู่เพียงแค่ในสตูดิโอ ขาดการสอดแทรกร้านค้าร้านอาหารท้องถิ่นที่จับต้องหรือไปตามรอยได้ ขาดการนำเสนอการกินอาหารแบบจริงจัง เช่น การซูมจานอาหารให้น่าสนใจ หรือยังขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงให้ทำหน้าที่ที่กว้างไกลมากกว่าความบันเทิง
จึงน่าจะวิเคราะห์ว่าบทละครไทยพลาดโอกาสอะไรไปในการนำเสนอ หรือว่ายังพอใจที่จะวนเวียนอยู่แต่กับบทประพันธ์ชิงรักหักสวาท และหลงลืมชีวิตประจำวันเล็กน้อยที่สอดแทรกวัฒนธรรมเข้าไปในซีนละครได้
ธุรกิจบันเทิงสามารถส่งออกเป็นสินค้าสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้หากได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากภาครัฐ และมีแนวทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางรากฐานการส่งออกวัฒนธรรม การสอดแทรกความเป็นไทยไม่ว่าจะเป็นอาหาร สถานที่ ร้านเด็ดร้านดัง เพื่อให้ผู้ชมอยากไปตามรอย รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เช่น
กระทรวงวัฒนธรรม เข้ามาดูเรื่องเนื้อหาทางวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ดูแลสินค้าของไทยที่จะนำเสนอทั้งสินค้าบริโภคและการบริการต่าง ๆ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดแคมเปญโปรโมทการท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ในการถ่ายทำละคร และดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและร่วมกันโปรโมทให้เป็นกระแส
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากคนในประเทศและต่างประเทศ และไม่ใช่แค่สนับสนุน ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ควรผลักดันอย่างต่อเนื่องให้ผู้ผลิตละครส่งออกวัฒนธรรมของไทยสู่สายตาชาวโลกได้อย่างแยบยล.