วาระแห่งชาติ บริหารคนต่างเจนเนอเรชั่น | ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วงวงศ์ญาติ
เปิด "4 คุณลักษณะของผู้นำ" ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนความหลากหลายด้าน Generation ในที่ทำงานเพื่อให้ "คนต่างเจน" ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และนำบริษัทไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสนั่งคุยกับผู้นำองค์กรหลายท่านอย่างลงลึกเกี่ยวกับการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม หรือ DEI อันเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่ สำหรับประเด็นเรื่องความหลากหลายที่มีการพูดถึงมากที่สุดใจตอนนี้คือเรื่อง Generation
ทำไมเด็กสมัยนี้ต้องขอสัมภาษณ์หลังเลิกงาน? ทำไมบริษัทต้องให้เข้าไปสัมภาษณ์ที่ออฟฟิศ? ทำไมทำงานแค่ 3 ปีอยากเป็น CEO? ทำไมยังโปรโมทไม่ได้ถ้าพี่ยังไม่ได้โปรโมท? คำถามมากมายที่ตอบยังไงก็ไม่ถูกใจคนที่เติบโตมาจากสมัย ประสบการณ์และทัศนคติต่อการทำงานที่แตกต่าง
เพราะนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราเห็นคนต่างเจน มากถึง 5 เจนอยู่ร่วมกันในองค์กร การบริหารคนต่างเจนจึงถือเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ Baby Boomers ไปจนถึง Generation Z ความหลากหลายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของความเป็นผู้นำ ความสามารถในการจัดการและบูรณาการจุดแข็งของคนรุ่นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้กลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับผู้นำที่ต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่กลมกลืน มีประสิทธิผล และผลักดันนวัตกรรม
4 คุณลักษณะสำคัญของผู้นำที่ผนึกพลังคนหลากหลาย Generation มีดังนี้
1. เลิกคิดจะไปเปลี่ยนแปลงคนต่างเจน
จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำที่จะผนึกพลังคนหลากหลายเจนที่มีประสิทธิภาพ คือเลิกคิดจะไปเปลี่ยนแปลงคนต่างเจน แต่ต้องการทำความเข้าใจคุณลักษณะเฉพาะ ค่านิยม ทัศนคติ และความชอบในการทำงานของแต่ละรุ่น ตัวอย่างเช่น Baby Boomers เป็นที่ให้ความสำคัญต่อจรรยาบรรณในการทำงานและความภักดีต่อนายจ้าง ในขณะที่ Generation X ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และ Generation Z เจนใหม่ล่าสุดที่เข้าสู่ตลาดแรงงานที่ให้คุณค่าต่อความหมาย คุณค่าแท้จริงของการทำงาน เทคโนโลยี และความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นการตระหนักถึงความแตกต่างเหล่านี้ทำให้ผู้นำสามารถปรับแนวทางของตนและนโยบายองค์กรได้ ทำให้มั่นใจว่าสมาชิกในทีมแต่ละคนรู้สึกมีคุณค่า เข้าใจ และมีแรงบันดาลใจ
2. ก้าวข้ามทัศนคติการมองคนแต่ละเจนแบบเหมารวม
แนวทางความเป็นผู้นำที่ผนึกพลังคนต่างเจนให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของพนักงานแต่ละคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ ก้าวข้ามทัศนคติแบบเหมารวม เช่น คำว่า “เด็กสมัยนี้” “คนสมัยพี่” และส่งเสริมการไม่แบ่งแยกและความเท่าเทียมโดยตระหนักถึงจุดแข็งและศักยภาพส่วนบุคคลของสมาชิกในทีม ส่งเสริมความเสมอภาค ไม่ว่าการโอกาสในพัฒนา การยอมรับ หรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผู้นำที่สามารถลดอคติที่เกี่ยวข้องกับอายุจะสามารถสร้างทีมที่เหนียวแน่นมากขึ้น
3. ใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายอันเป็นเครื่องมือสำคัญเชื่อมโยงคนต่างเจน
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นรากฐานที่สำคัญของการเป็นผู้นำทุกยุคสมัย และยิ่งทวีความสำคัญในการบริหารคนต่างเจนเพราะการสื่อสารช่วยปิดช่องว่างและเข้าถึงคนต่างเจน ผู้นำต้องรู้จักใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย ตั้งแต่รายงานที่เป็นทางการ อีเมล ไปจนถึงการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีทางโซเชียลแพลตฟอร์มที่พนักงานอายุรุ่นใหม่ชื่นชอบ นอกจากนี้ การส่งเสริมโครงการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (one-on-one) เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างคนต่างเจนยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นและส่งเสริมความเคารพและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
4. เต็มใจทดลองรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น
การจัดการทำงานให้มีความยืดหยุ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับผู้นำที่จะดึงดูดคนต่างเจน ผู้นำต้องเข้าใจว่าสิ่งที่จูงใจคนแต่ละเจนไม่เหมือนกัน การทำงานแบบมีลำดับชั้นที่ชัดเจนอาจจะดึงดูดคน Baby Boomer หรือ Generation X ในขณะที่การจัดให้สภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้อิสระ เปิดโอกาสให้ร่วมระดมสมองคิด ทำงานร่วมกันอาจจะจูงใจ Generation Y และ Generation Z มากกว่า ผู้นำที่สามารถปรับตัวโดยการเต็มใจที่จะทดลองใช้นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น และเปิดรับข้อเสนอแนะ จะสามารถสร้างสถานที่ทำงานที่ครอบคลุมคนหลากหลายเจนมากขึ้น
โดยสรุป ความเป็นผู้นำที่ส่งเสริมความหลากหลายด้าน Generation ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ผู้นำที่สามารถปลดล็อกมุมมองและประสบการณ์ ขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันจึงจะสามารถสร้างความสำเร็จในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น