การงาน ไปได้เพราะก้าวใกล้ | บวร ปภัสราทร
การงาน ควรก้าวยาว ด้วย What-How-Why สลับกับก้าวสั้นด้วย Exception ถ้าต้องการให้เดินไปถึงที่หมายปลายทางได้แน่ๆ
ถ้าเดินไปตามธารน้ำตก โดยก้าวยาวๆ ไปตลอดทาง ส่วนใหญ่ไม่น่าจะไปถึงปลายทางที่อยากจะไป หกล้มหกลุกกันไปเสียก่อน เพราะพื้นที่ตามทางที่เดินบางทีก็สูง บางทีก็ต่ำ ถ้าเอาแต่ก้าวยาว หวังว่าก้าวไปแล้วแต่ละก้าวจะไปไกล ไม่รู้จักปรับก้าวให้สั้นลงตามสภาพกระแสน้ำและพื้นที่ การเดินทางจะสุ่มเสี่ยงมากๆ พลาดท่าอาจบาดเจ็บที่ทำให้เดินทางต่อไปได้ยากขึ้น
ในทำนองเดียวกันกับการงาน เรามักเดินการงานกันตามกรอบความคิด What-How-Why คือเรารู้ What คือก่อนทำงานรู้ว่า เราจะต้องทำงานอะไร เรารู้ How ว่าจะทำงานนั้นได้ต้องมีขั้นตอนเป็นอย่างไร ใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้าง ต้องการซัพพลายเออร์จากที่ไหนบ้าง พร้อมกับที่เรารู้ Why คือทำไมเราต้องทำงานนั้น ทำไมขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามนั้น
ถ้าไม่รู้ Why จะทำงานได้เทียบเท่ากับหุ่นยนต์ คือโปรแกรมมาให้ทำอะไรก็ทำไปตามนั้น วันไหนมีอะไรสักอย่างที่ผิดไปจากที่โปรแกรมไว้ก็หยุดทำงาน ไปต่อไม่ได้ What-How-Why สร้างประสิทธิผลกับการงานในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
ถ้าวันนี้ใครยังทำงานโดยไม่มีกรอบ What-How-Why แนะนำว่า ลองทบทวนดูหน่อยว่าการงานเรามีคำตอบตามกรอบนี้อย่างไรบ้าง ลองแล้วน่าจะได้ผลงานที่ตรงใจเจ้านายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม What-How-Why เปรียบเทียบได้กับเดินก้าวยาวๆ ซึ่งถ้าก้าวยาวๆ บนทางราบเรียบ ก็คงเดินทางไปได้รวดเร็วกว่าเดินก้าวสั้นๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าหนทางไม่ได้สะดวกสบายไปตลอดทาง บางช่วงย่อมต้องปรับก้าวไกล ให้เป็นก้าวใกล้บ้าง เพื่อให้เดินทางไปได้ตลอดรอดฝั่ง
นอกจากรู้ What-How-Why แล้ว ยังต้องรู้ Exception เพราะมีหลายครั้งหลายโอกาสที่ต้องทำบางอย่าง ที่จริงๆ แล้วก็ตอบตัวเองไม่ได้ว่าที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นงานอะไรกันแน่ ไปฝึกเป็น รปภ. แต่อีท่าไหนไม่ทราบต้องไปฝึกซักผ้า ตอบไม่ได้ว่าถ้าซักผ้าเก่งๆ แล้ว จะเป็น รปภ.ที่ดีขึ้นได้อย่างไร แถมวิธีซักผ้า แทนที่จะใช้เครื่องซักผ้าจะได้เสร็จเร็วและสะอาดกว่า กลับให้เอาน้ำใส่กะละมัง ซักไปทีละตัวสองตัว จนกระทั่งอธิบายขั้นตอนวิธีทำงานนั้นอย่างมีตรรกะไม่ได้
การงานที่เป็น Exception ทำนองนี้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นการงานที่มีรูปแบบการบริหารที่ไม่ชัดเจน อำนาจในการสั่งการไปรวมศูนย์อยู่ที่ผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง เป็นการงานที่ไม่มีกฎกติกาที่แน่ชัด ขอบเขตอำนาจในการจัดการก็บอกไม่ได้ว่ามีแค่ไหน
คล้ายๆ การงานในยุคสังคมชนเผ่าสมัยโบราณ ที่อยู่กันไปตามอำนาจของหัวหน้าเผ่า ถ้ารู้ตัวว่าทำงานอยู่ในสภาพชนเผ่า มากกว่าสภาพองค์กร รู้จัก Exception ไว้ว่าเมื่อไหร่จะต้องเลิก What-How-Why
ตระหนักไว้เสมอว่า Exception เป็นธรรมเนียมของสภาพการทำงานแบบนี้ อย่าพยายามหาคำอธิบายและตรรกะว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น แต่ให้ก้าวสั้นให้ผ่านหน้างานนั้นไปก่อน เพื่อที่จะได้กลับมาก้าวยาวในงานที่เปิดช่องให้ทำได้ต่อไป
รู้ Exception คือรู้จักเลือกเน้น What-How-Why ไปตามหน้างานที่พบเจอ แทนที่จะเดินหน้าตามกรอบ What-How-Why ไปจนครบ ถ้าเป็นงานฉุกเฉินให้เน้นไปที่ What คือต้องทำอะไรไปก่อน เพื่อทุเลาผลที่เกิดจากเหตุฉุกเฉินนั้น คิดอะไรได้เฉพาะหน้าที่พอจะมั่นใจว่าน่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ก็ทำไปก่อน อย่ามัวแต่มาวิเคราะห์อัลกอริธึมว่าขั้นตอนนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
วงการรับมือภาวะฉุกเฉินสอนกันมานานแล้วว่า จะรับมือเหตุฉุกเฉินให้ได้ผล ต้องมีการวางแผนและฝึกฝนจนกลายเป็นการปฏิบัติโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ให้มุ่งไปที่ Why คือทำไมต้องทำเรื่องนั้น ทำไมต้องทำเช่นนั้น จะได้ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้ผล
ควรก้าวยาว ด้วย What-How-Why สลับกับก้าวสั้นด้วย Exception ถ้าต้องการให้เดินไปถึงที่หมายปลายทางได้แน่ๆ