เปิดประวัติ 'วันจักรี 2567 ' 6 เมษายน ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์
เปิดประวัติและความสำคัญ "วันจักรี 2567" 6 เมษายน ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกแห่ง "ราชวงศ์จักรี" พร้อมย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญวันก่อตั้ง "มหาจักรีบรมราชวงศ์"
วันจักรี หรือ วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ "วันจักรี 2567" ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี
ซึ่งในปีนี้ "วันจักรี" ตรงกับ วันเสาร์ ที่ 6 เมษายน 2567 รัฐบาลประกาศเป็น วันหยุดราชการ และ วันหยุดธนาคาร โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 (วันจักรี) วันอาทิตย์ที่ 7 และ วันจันทร์ที่ 8 เมษายน (วันหยุดชดเชยวันจักรี) โดยวันหยุดจักรีจะหยุดยาว 3 วันรวดกันเลย
ประวัติวันจักรี และ ความสำคัญของวันจักรี
วันจักรี เป็นวันแห่งการรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงเป็น ปฐมบรมราชวงศ์จักรี พระองค์เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี ทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
โดยวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง
และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ
จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า "วันจักรี"
ย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญวันก่อตั้ง "มหาจักรีบรมราชวงศ์"
ย้อนกลับไปในช่วงสิ้นสุดสมัยธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว จากนั้นไม่นานพระองค์ก็ทรงพระราชกรณียกิจอันสำคัญในการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรี มาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัด พิธียกเสาหลักเมือง ที่ “กรุงเทพมหานคร” รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ขึ้น
พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก
โดยมีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ
น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”
ที่มาของชื่อ "จักรี" และ สัญลักษณ์ประจำราชวงศ์
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่า “จักรี” นี้ พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระแสงจักร และ พระแสงตรี ไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็น สัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน