ทุเรียนไทยปีนี้ ลดฮวบ! เพราะแล้งจัด ส่วนทุเรียนเวียดนามมาแรงน่าจับตามอง
ปีนี้ "ทุเรียนไทย" ผลผลิตน้อยลง 50% ขณะที่ "ทุเรียนเวียดนาม" มาแรงในตลาดส่งออกไปจีน ต้องจับตา! ฟังเรื่องจริงจากปากแม่ค้าตลาดสี่มุมเมือง
KEY
POINTS
- ปีนี้ไทยมีผลผลิตทุเรียนน้อยลง 50% สาเหตุมาจากปัจจัยด้านสภาพอากาศแปรปรวนและร้อนจัด ขณะที่ทุเรียนเพื่อนบ้านมาแรงในตลาดส่งออก
- แม่ค้าทุเรียนในตลาดสี่มุมเมืองให้ความเห็นว่า เคยลองชิมทุเรียนเวียดนามดูแล้วพบว่า คุณภาพและรสชาติดีใกล้เคียงทุเรียนไทย หากในอนาคตเวียดนามส่งออกได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไทยก็อาจเสียแชมป์
- ขณะที่ผู้ประกอบการอีกรายมองว่า วัดกันที่คุณภาพมากกว่า เจ้าของสวนทุเรียนไทยยังควบคุมคุณภาพได้ดี รสชาติอร่อย และเชื่อมั่นชาวต่างชาติยังนิยมทุเรียนไทยอยู่
ช่วงนี้เป็นฤดูกาลแห่งราชาผลไม้อย่าง “ทุเรียน” ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็เจอขายอยู่แทบทุกพื้นที่และทุกช่องทาง ถือเป็นช่วงเวลาทองของปีที่ชาวทุเรียนเลิฟเวอร์จะได้ลิ้มรสชาติความอร่อยหอมมันของทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์กันอย่างจุใจ แต่ถ้าใครเป็นแฟนทุเรียนตัวจริงจะทราบว่าปีนี้ทุเรียนไทยมีจำนวนลดน้อยลงมากในท้องตลาดในประเทศ
ขณะที่การส่งออกทุเรียนไปยัง “ตลาดต่างประเทศ” พี่ไทยยืนหนึ่งเป็นแชมป์ส่งออกมาหลายปี โดยเฉพาะการส่งออกสู่ตลาดจีน แต่ล่าสุด..นักวิชาการหลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า ไทยอาจจะเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนเร็วๆ นี้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตทุเรียนส่งออกไปยังตลาดจีนเช่นกัน แถมยังกินส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นทุกที ยิ่งในปีนี้เพื่อนบ้านส่งออกได้มากขึ้น แต่ทุเรียนไทยกลับมีปริมาณน้อยลง ด้วยเหตุจากปัจจัยด้านสภาพอากาศร้อนจัดและเจอภาวะแล้งซ้ำเติม
เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหนในสายตาของ “ผู้ประกอบการ” อย่างพ่อค้าแม่ค้าแผงทุเรียนเจ้าใหญ่ๆ ในท้องตลาด พวกเขาได้รับผลกระทบจากปริมาณทุเรียนที่ลดลงจริงไหม? แล้วมองว่า “ทุเรียนเวียดนาม” จะมาเขย่าบัลลังก์การส่งออกทุเรียนไทยได้หรือไม่? กรุงเทพธุรกิจ ลงพื้นที่ไปยัง “ตลาดสี่มุมเมือง” ตลาดผักผลไม้ที่ขายปลีก-ขายส่งทุเรียนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของไทย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและมุมมองของพวกเขาในประเด็นนี้
แม่ค้าตลาดสี่มุมเมือง เผย เคยชิมทุเรียนเวียดนาม รสชาติดี ถ้าเขาส่งออกได้เยอะ อาจมีโอกาสแซงหน้าไทย
หนึ่งในผู้ประกอบการที่มีการส่งออกทุเรียนไทยไปยังตลาดจีนอย่าง “เมย์ เจ้าของร้านทุเรียนน้องแพรว” ที่ตั้งอยู่ในโซนผลไม้ท้ายรถ 24 ชม. ณ ตลาดสี่มุมเมือง เล่าให้กรุงเทพธุรกิจฟังว่า ทางร้านเป็นแผงรับซื้อทุเรียนจากหลากหลายสวน โดยมีแผงอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ที่เน้นส่งออกทุเรียนไทยไปต่างประเทศ โดยส่งออกไปที่ “ประเทศจีน” เป็นหลัก
ส่วนแผงในตลาดแห่งนี้เน้นขายปลีก-ขายส่งให้ลูกค้าคนไทย สำหรับสายพันธุ์ทุเรียนที่ส่งออก จะมีทั้งทุเรียนหมอนทองและพวงมณี แต่หลักๆ คือหมอนทองเพราะตลาดต่างประเทศลูกค้าจะมีความต้องการสายพันธุ์หมอนทองค่อนข้างสูง
เมย์ แม่ค้าร้านทุเรียนน้องแพรวสี่มุมเมือง
เมื่อถามถึงกระแส “ทุเรียนเวียดนาม” ที่รุกเข้ามาตีตลาดจีนจนอาจทำให้ทุเรียนไทยเสียแชมป์การส่งออก เจ้าของร้านให้ความเห็นว่า ตนไม่แน่ใจว่าตอนนี้ทางเวียดนามเขาส่งออกไปมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ เธอเคยลองชิมทุเรียนเวียดนามดูแล้วพบว่า คุณภาพและรสชาติดีใกล้เคียงทุเรียนไทย หากในอนาคตเวียดนามส่งออกได้จำนวนมากกว่า ไทยก็อาจเสียแชมป์ส่งออกทุเรียน
“เนื้อทุเรียนหมอนทองของเวียดนามรสชาติโอเคเลยนะ ถ้าเขาส่งออกได้เยอะขึ้นๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจเสียแชมป์ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ทีนี้มองว่าสิ่งที่ผู้ผลิตทุเรียนจะทำได้คือ ต้องพยายามรักษาคุณภาพให้ดีเข้าไว้ แต่ก็เข้าใจว่าอาจจะทำได้ยากเพราะปัจจัยหลักๆ ในการทำทุเรียนให้คุณภาพดี มันไม่ใช่แค่ชาวสวนที่ดูแลทุเรียนอย่างเดียว แต่สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมมันคือตัวที่มีผลมากๆ ต่อคุณภาพและรสชาติ มันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้” เมย์อธิบาย
แม้ทุเรียนเวียดนามคุณภาพดี แต่พ่อค้าทุเรียน เชื่อมั่นทุเรียนไทยอร่อยกว่า ต่างชาติยังรักทุเรียนไทยอยู่
ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกมุมมองหนึ่งจาก “ต่าย พ่อค้าเจ้าของร้านทุเรียนเจ๊ฟีม” ซึ่งค้าส่งทุเรียนอยู่ในตลาดสี่มุมเมืองเช่นกัน โดยร้านนี้ได้ส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศด้วย โดยส่งออกไปที่ “ลาวและเมียนมา” เป็นหลัก โดยเขามองว่า ทุเรียนเวียดนามจะยังไม่แซงไทยในเร็วๆ นี้ เพราะทุเรียนเวียดนามแตกต่างจากทุเรียนไทย โดยเฉพาะเรื่องรสชาติไม่ได้เหมือนของไทยเป๊ะๆ ขนาดนั้น จึงคิดว่าไทยจะยังไม่เสียแชมป์ส่งออกให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
“ผมมองว่ามันอยู่ที่คุณภาพมากกว่า ทางเจ้าของสวนทุเรียนไทยยังควบคุมคุณภาพได้ดี ได้เต็มเปอร์เซ็นต์มากกว่า หมายความว่า ควบคุมความแก่ของเนื้อทุเรียนได้ดี ทุเรียนแก่จัดแล้วจึงตัดและส่งขาย ทำให้เมื่อทุเรียนสุกก็จะได้รสชาติที่หวานมันอร่อย อีกอย่างคือผมมองว่าชาวต่างชาติก็ยังนิยมทุเรียนไทยอยู่” ต่ายอธิบาย
ร้านทุเรียนเจ๊ฟีมตลาดสี่มุมเมือง
เขาเล่าอีกว่า ตลาดลาวที่เขาส่งออกทุเรียนไทยไปขาย ก็พบว่ามีทุเรียนเวียดนามหรือทุเรียนจากแหล่งอื่นๆ มาขายเหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่ประเทศต่างๆ เมื่อเขาปลูกแล้ว มีผลผลิตแล้ว เขาก็ต้องหาตลาดระบายผลผลิตออกไป มันเป็นกลไกการแข่งขันที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่จุดต่างคือราคาขายที่แตกต่างกันไปตามคุณภาพสินค้า เมื่อมีสินค้าหลากหลายประเภท หลากหลายราคา ก็ถือเป็นตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภค
“ในส่วนของทุเรียนไทย ถามว่าเราได้รับผลกระทบไหม ก็มีบ้างแต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงอะไรมาก ถ้าเจ้าของสวนยังสามารถผลิตทุเรียนคุณภาพดีออกมาได้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมก็มองว่า ทุเรียนไทยก็ยังยืนหนึ่งอยู่ได้ในตลาดการส่งออก” พ่อค้าเจ้าของร้านทุเรียนย้ำชัด
ปีนี้ผลผลิตทุเรียนไทยลดลงจริง ลดไปมากถึง 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
นอกจากนี้เมื่อถามถึงผลผลิตทุเรียนไทยปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน? อย่างไร? เจ้าของแผงขายทุเรียนทุกร้านต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุเรียนไทยปีนี้ผลผลิตน้อยลงกว่าปีที่แล้วมาก!
“เจ๊แหม่ม เจ้าของร้านทุเรียนวัฒนผล” จากตลาดแห่งเดียวกันบอกเล่าว่า ทุเรียนไทยปีนี้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง (50%) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และก็จะหมดฤดูกาลเร็วขึ้นกว่าปีที่แล้วด้วย โดยปกติฤดูกาลของทุเรียนฝั่งภาคตะวันออกจะเริ่มช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ไปจนถึงประมาณปลายเดือนมิถุนายน แต่ปีนี้เพียงแค่กลางๆ เดือนพฤษภาคมก็เริ่มจะหมดแล้ว
ปัจจัยหลักมาจากภาวะแล้ง น้ำน้อย อากาศร้อนจัด ทำให้ต้นทุเรียนเมื่อออกดอกมาแล้วจะสลัดดอกทิ้งก่อนที่จะติดผล ทำให้แต่ละต้นมีทุเรียนติดผลน้อยลงกว่าปกติ การออกดอกแล้วติดลูกของต้นทุเรียนนั้น ต้องอาศัยสภาพอากาศเย็นจึงจะติดลูกได้ดี นั่นก็คือช่วงปลายหน้าหนาว
เจ๊แหม่ม เจ้าของร้านทุเรียนวัฒนผล
อีกทั้งเมื่อน้ำแล้ง ไม่มีน้ำมารดต้นทุเรียนได้เพียงพอ ก็จะส่งผลให้ลูกทุเรียนเนื้อฟีบฝ่อ เนื้อไม่แน่น น้ำหนักไม่ได้มาตรฐานก็ต้องคัดทิ้ง ปริมาณผลผลิตทุเรียนแต่ละปีจึงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศล้วนๆ และนั่นก็ส่งผลกระทบต่อแม่ค้าคนกลางอย่างเธอ ทำให้มีสินค้ามาลงแผงขายน้อยลง รายได้ก็ลดลงตามไปด้วย
ขณะที่ ต่าย เจ้าของร้านทุเรียนเจ๊ฟีม และ เมย์ เจ้าของร้านน้องแพรว ก็ให้คำตอบไปในทิศทางเดียวกัน โดยต่ายบอกว่า ทุเรียนจันทบุรีปีนี้รับมาลงแผงได้น้อยลงกว่าเดิม เหตุจากฝนน้อยน้ำแล้ง ราคาทุเรียนเลยดีดตัวแพงขึ้นในบางสายพันธุ์ อีกทั้งเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ช่วงปีหลังๆ มานี้จะมีคนทำสวนทุเรียนมากขึ้น แต่ก็ไม่ช่วยให้ผลผลิตปีนี้เยอะขึ้นเลย เพราะเมื่อภัยแล้งมาเยือน ทุกๆ สวนทุเรียนไม่ว่าจะหน้าใหม่หน้าเก่าก็โดนผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเหมือนกันหมด
ส่วนเมย์บอกว่า ปีนี้ทุเรียนไทยในสวนเมืองจันท์ออกผลผลิตน้อยมาก สาเหตุหลักมาจาก “สภาพอากาศร้อนจัด” ของปีนี้ ทำให้ต้นทุเรียนสลัดดอก ไม่ติดผลหรือติดผลน้อยลง ในอนาคตผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นกว่านี้ เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะสภาพอากาศและความชื้นแต่ละปีแตกต่างกัน คาดการณ์ไม่ได้เลย แต่ที่แน่ๆ ความร้อนกับความแล้งมีผลต่อปริมาณผลผลิตแน่นอน รวมถึงผลไม้อย่างอื่นด้วย
“ทางแผงที่จันทบุรีเขาบอกเห็นชัดเลยว่าทุเรียนไทยออกน้อยลงมาก ขนาดปีที่แล้วที่หลายๆ สวนโดนพายุหนักๆ ยังได้ผลผลิตทุเรียนเยอะกว่าปีนี้ สาเหตุมาจากปีนี้เจอภัยแล้งหนัก น้ำน้อย ฤดูหนาวสั้น ความชื้นในอากาศต่ำ ทำให้ต้นทุเรียนมีปัญหาตั้งแต่ช่วงออกดอก พอดอกทุเรียนออกมาแทนที่จะติดลูก แต่ต้นสลัดดอกทิ้งเพราะแล้ง และอากาศร้อนจัด” เจ้าของร้านบอก
เมย์ยอมรับว่าการที่ผลผลิตทุเรียนไทยปีนี้ลดลง ส่งผลกระทบต่อร้านของเธอโดยตรง เพราะหาทุเรียนมาลงแผงขายได้น้อยลง ทำให้รายได้ลดลง แต่มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิมหรือแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างลูกจ้าง ค่าเช่าแผง ค่าขนส่ง ฯลฯ เป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อๆ กันมา แต่ในเมื่ออาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก ตัวเธอจึงยังมีใจสู้และทำอาชีพค้าขายทุเรียนต่อไป
เปิดโปรโมชันทุเรียน ราคาไม่แรง แถมมีโปรนาทีทองในงาน “ทุเรียน Expo สี่มุมเมือง 2024”
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ชื่นชอบความหอมอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน และอยากกินทุเรียนคุณภาพดีในราคาไม่แรงจนเกินไป สามารถแวะไปช้อปได้จากทั้ง 3 ร้านข้างต้น โดยร้านน้องแพรวมีจำหน่ายทั้งทุเรียนหมอนทอง ชะนี ก้านยาว และทุเรียนเบญจพรรณ (ทุเรียนโบราณ) เช่น พวงมณี กระจิบ กำปั่นขาว ฯลฯ ส่วนร้านวัฒนผลมีจำหน่ายทุเรียนชะนี หมอนทอง ก้านยาว นกกระจิบ พวงมณี ขณะที่ร้านเจ๊ฟีม ช่วงนี้เน้นขายทุเรียนหมอนทองจากจันทบุรีเป็นหลัก นอกจากนั้นก็มีชะนี นกกระจิบ ก้านยาว เป็นต้น มีหลากหลายราคา ตั้งแต่ประมาณ 160-350 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ถ้าอยากฟินและได้กินของดีราคาถูกมากกว่านั้นไปอีก แนะนำให้ไปที่งาน “ทุเรียน Expo สี่มุมเมือง 2024” ณ ตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21-26 พ.ค. 2567 นักท่องเที่ยวจะได้เลือกซื้อทุเรียนราคาไม่แรง ที่ส่งตรงมาจากสวน วางเรียงรายเป็นภูเขาทุเรียนในแผงค้าต่างๆ ที่มีให้เลือกช้อปมากถึง 100,000 ลูก ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ยอดนิยมอย่าง ก้านยาว หมอนทอง ชะนี พวงมณี นกกระจิบ กระดุม หรือจะเป็นสายพันธุ์โบราณเฉพาะถิ่น เช่น ป่าละอู หลงลับแล-หลินลับแล ภูเขาไฟศรีสะเกษ ย่ำมะหวาด ทองลินจง จันทบุรี กบสุวรรณ เป็นต้น
นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี ได้เล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่จะสร้างประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยวที่รักผลไม้ไทย ได้เข้ามาเที่ยวชมและชิมผลไม้คุณภาพดีในตลาดสี่มุมเมืองรูปโฉมใหม่ ที่ทั้งสะอาดและมีการจัดระบบใหม่ในมาตรฐานระดับสากล โดยที่นี่เป็นแหล่งรวมและจำหน่ายสินค้าการเกษตร ทั้งอาหาร ผัก และผลไม้ไทยมากมาย
โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ด้านรสชาติ ถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบผลไม้ (Fruit Lover) เป็นการสร้างโอกาสให้เหล่าคนรักทุเรียนได้มาเที่ยว ชิม ช้อป อย่างจุใจ สอดคล้องกับนโยบาย Thailand Soft Power ในด้านอาหาร
ไม่เพียงเท่านั้น ในงานยังมีกิจกรรมและโปรโมชันทุเรียนอีกมากมาย ประกอบด้วยการประกวดสายพันธุ์ทุเรียน การแข่งขันปอกทุเรียน การแข่งขันกินทุเรียน โชว์ทุเรียนพันธุ์หายาก กิจกรรม Workshop สอนวิธีเคาะทุเรียนและปอกทุเรียนจากแชมป์ปอกระดับประเทศ ส่วนไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ก็คือ “โปรโมชันนาทีทอง ทุเรียนพูละ 5 บาท ลูกละ 99 บาท” จัดโปรทุกวันตลอดการจัดงาน
อีกทั้งเมื่อซื้อสินค้าภายในงานครบ 500 บาท รับคูปองส่วนลด 50 บาท และยังสามาถเลือกซื้อทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ในรูปแบบขายปลีกได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง บอกได้คำเดียวว่าคนรักทุเรียนต้องปักหมุดไว้เลย!
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
รู้หรือไม่?
แม่ค้าพ่อค้าในตลาดสี่มุมเมืองมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีสังเกตความแตกต่างของทุเรียนเนื้อดีแก่จัดกับทุเรียนอ่อน รวมถึงวิธีเลือกทุเรียนดิบกับทุเรียนสุกพร้อมทานมาฝากผู้บริโภคกันด้วย ดังนี้
- ทุเรียนที่แก่จัดคือผลทุเรียนที่มีอายุ 110 วันเต็ม
ทุเรียนแบบนี้เรียกว่าทุเรียนเต็มเปอร์เซ็นต์ เนื้อฟู แน่น เต็มพู และมีรสชาติอร่อย แต่ถ้าตัดก่อนที่จะครบกำหนดวัน จะเป็นทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนไม่เต็มเปอร์เซ็นต์ แม้จะบ่มจนสุกได้เหมือนกันแต่รสชาติจะไม่ดีเท่าทุเรียนแก่จัด
- วิธีแยกแยะทุเรียนอ่อนและทุเรียนแก่จัด
ให้ดูตรงสีร่องหนามทุเรียน ถ้าร่องหนามยังมีสีเขียวสดใสอยู่ แปลว่าเป็นทุเรียนอ่อน แต่ถ้าร่องหนามเป็นสีน้ำตาลเข้ม สีเปลือกเป็นสีน้ำตาลทั่วทั้งลูกแล้วแบบนี้คือทุเรียนแก่จัดเนื้อดี
- วิธีการแยกแยะทุเรียนดิบกับทุเรียนสุก
ให้สังเกตด้วยการใช้ไม้เคาะฟังเสียงหากเคาะแล้วเสียงแน่นๆ หนักๆ แปลว่าทุเรียนดิบอยู่ยังไม่พร้อมแกะกิน แต่ถ้าเคาะแล้วมีเสียงโกร่งๆ มากกว่าแน่น แปลว่าทุเรียนเริ่มสุกแล้ว
- ทุเรียนกำปั่นขาว แม้แก่จัดและสุกแล้วเนื้อก็ยังมีสีขาวครีม
ทุเรียนโบราณบางสายพันธุ์อย่าง "กำปั่นขาว" แม้จะแก่จัด เนื้อเต็มเปอร์เซนต์และสุกพร้อมทานแล้ว แต่สีของเนื้อจะไม่เหลืองจัด แต่ออกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวครีม หากไม่เชี่ยวชาญก็จะคิดว่าเป็นทุเรียนอ่อน แต่ไม่ใช่ เป็นสีธรรมชาติของทุเรียนสายพันธุ์นี้ ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองนนท์แต่ตอนนี้ที่จันทบุรีก็ปลูกได้เช่นกัน จุดเด่นคือเนื้อละเอียด เนียน หวานอร่อย กลิ่นไม่ฉุนรุนแรง