อดีต ปัจจุบันและอนาคต ของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมและวิธีคิดของสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ค่านิยมทางเพศ คุณค่าทางการทำงาน มุมมองเกี่ยวกับระบบการศึกษา รวมถึงวิธีคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอำนาจของคนในสังคม

การเปลี่ยนแปลงของระบบคิดและคุณค่าทางสังคม เป็นผลจากการขยายตัวของกระแส “วัฒนธรรมคนรุ่นใหม่” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระแสวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่นี้เองได้เปลี่ยนทิศทางของความสัมพันธ์คนในสังคมและได้เปลี่ยนทิศทางทางการเมืองของไทยไปตลอดกาล

สิ่งเหล่านี้นำมาสู่คำถามว่า ผู้ที่ขับเคลื่อนกระแสวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่คือใคร? อะไรเป็นเหตุผลที่คนเหล่านี้หันมาขับเคลื่อนสังคม และขับเคลื่อนการเมือง?

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิด (อีกแล้ว) จึงจะขอหยิบยกเนื้อหาบางส่วนจาก เสวนา “สำรวจภูมิทัศน์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยตอนที่ 3 : คนรุ่นใหม่ไทย ความผันเปลี่ยนในสังคมแปรผัน" (จัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 30 เมษายน 2567)” มาช่วยตอบคำถามเหล่านี้

เริ่มต้นจาก อาจารย์พรรณราย โอสถาภิรัตน์ ซึ่งได้ทำงานวิจัยศึกษาเยาวชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในช่วงปี 2563 พบว่า “ความผิดหวัง” จากประเด็นทางสังคมในแต่ละด้าน เป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้เยาวชนเหล่านี้อยากเรียกร้องทางการเมือง

อดีต ปัจจุบันและอนาคต ของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวัง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูง ปัญหาโลกรวน คุณภาพการศึกษา ระบบอำนาจนิยม เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ

โดยเยาวชนเหล่านี้มองว่าปัญหาในแต่ละด้านนั้นสามารถแก้ไขผ่านกลไกทางการเมืองได้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผลักดันให้เยาวชนเหล่านี้หันมาผลักดันเรียกร้องให้ภาคการเมืองให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากขึ้น 

นอกจากนี้ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ได้ขยายประเด็น “ความผิดหวัง” ที่เกิดขึ้นในความคิดของคนรุ่นใหม่ โดยชี้ว่าความผิดหวังอาจมองได้จากหลายมุม เช่น ความผิดหวังนี้อาจจะเกิดจากเงื่อนไขของอายุ หรือความผิดหวังนี้เกิดจากสถานการณ์บริบทของยุคที่ทำให้คนรุ่นนี้รู้สึกผิดหวังร่วมกันอย่างเป็นพิเศษ 

โดยการกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นสถานการณ์แห่งยุคที่เกี่ยวข้องกับความผิดหวังนี้ เนื่องจากเมืองในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ลักษณะสังคมเมืองคือสังคมที่สมาชิกแต่ละคนต่างมีความเป็นปัจเจกสูง

คนที่พบเจอหรือคนที่อาศัยอยู่ใกล้กันอาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกัน คนเมืองจึงมีลักษณะเป็นกลุ่มคนที่มีทุนทางสังคมที่ต่ำ คนจำนวนมากที่เกิดในยุคนี้จึงเติบโตและใช้ชีวิตภายใต้บริบทสังคมแบบเมือง ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับครอบครัวหรือคนในหมู่บ้าน

อดีต ปัจจุบันและอนาคต ของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่

เมื่อเกิดเหตุภัยความเสี่ยงคนเมืองมีแนวโน้มสูงที่ต้องรับมือกับภัยความเสี่ยงด้วยตัวเอง ไม่มีกลไกเครือข่ายสังคมมารองรับ ความไม่มั่นคงในชีวิตที่สูงขึ้นโดยขาดกลไกที่ช่วยรองรับอาจจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกผิดหวังต่อสถานการณ์ในสังคมของคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ อาจารย์พรรณรายยังกล่าวเสริมอีกว่า การเติบโตของโลกดิจิทัลส่งผลให้กระแสความผิดหวังของคนรุ่นใหม่มีพลังทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจาก

1. โลกออนไลน์ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ โดยโลกออนไลน์ได้ทำให้การรวมกลุ่มม็อบทางการเมืองในกรุงเทพฯ เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง และสร้างแรงผลักดันแรงจูงใจให้คนในต่างจังหวัดอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

2. โลกออนไลน์ได้สร้าง เทมเพลต (Template) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงความคิดคนในสังคม เช่น มีม (Meme) ที่เป็นกลไกที่ทำให้ผู้เสพย์เข้าใจความคิดที่ตรงกัน หรือ ระบบการสร้างบ้านศิลปิน ที่ใช้เป็นกลไกในการสร้างมีส่วนร่วมขับเคลื่อนผลักดันทางการเมือง

ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ (โดยเฉพาะในทางการเมือง) มักถูกผูกโยงกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา แต่ในความเป็นจริงกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มคนอายุน้อยเองก็มีความหลากหลายและมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นใหม่แบบนักเรียนนักศึกษา

โดยคุณสรัช สินธุประมา  ชี้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและหันไปสร้างฐานะของตัวเองโดยไม่พึ่งพาวุฒิการศึกษา ซึ่งกลุ่มนี้ก็มีวิธีคิด มีวัฒนธรรมแตกต่างออกไป โดยจะขอนิยามคนกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มวัยรุ่นสร้างตัว”

อดีต ปัจจุบันและอนาคต ของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่

โดยกลุ่มวัยรุ่นสร้างตัวจำนวนหนึ่งเลือกตัดสินใจออกจากระบบการศึกษา และแสวงหาวิธีสร้างอัตลักษณ์ สร้างฐานะทางเศรษฐกิจเองโดยไม่พึ่งใบปริญญา ซึ่งภายใต้การเติบโตของโลกดิจิทัลส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีช่องทางในการสร้างรายได้ สร้างตัวตน สร้างอัตลักษณ์ที่มากขึ้น เช่น กลุ่มทรงซ้อ ทรงเอ แม่ออนิว ฯลฯ

โดยเป้าหมายหรือคุณค่าที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญคือเรื่องของ การสร้างตัว ดูแลครอบครัวได้ แต่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางสังคมในมิติอื่น ๆ เหมือนที่กระแสคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากนัก

ทั้งนี้ การที่คนกลุ่มนี้เติบโตบนเส้นทางที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบที่สังคมให้คุณค่ามากนัก ทำให้คนกลุ่มนี้มีความขัดแย้งและแปลกแยกจากคนในในครอบครัว เนื่องจากคนรุ่นพ่อแม่ของคนกลุ่มนี้ยังให้ความสำคัญกับค่านิยมคุณค่าแบบเก่าที่เชื่อว่าการศึกษาคือสูตรสำเร็จของอนาคตชีวิตที่ดี

การที่คนกลุ่มนี้เชื่อว่าสามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งระบบการศึกษา ทำให้เกิดความขัดแย้งในระดับครัวเรือน อันนำไปสู่ปัญหาโรคซึมเศร้าของกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด

อดีต ปัจจุบันและอนาคต ของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่

โดยสรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เยาวชนที่เติบโตมาในปัจจุบันเริ่มประสบกับภาวะ “ความผิดหวัง” ต่อสังคมที่พวกเขาเติบโตมา เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลลดต้นทุนในการรวมกลุ่มทางการเมือง

ส่งผลให้เยาวชนเหล่านี้หันมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมืองมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งภายใต้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีดิจิทัลได้ผลักดันให้เยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไร้ตัวตนในสังคมได้รับโอกาสในการตั้งตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น และสามารถขึ้นมามีตัวตนทางสังคมได้

ทั้งนี้สิ่งปัญหาสำคัญที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญคือ การไม่ได้รับการยอมรับจากค่านิยมและวัฒนธรรมแบบขนบส่งผลให้เกิดปัญหาความเครียดและซึมเศร้าของคนกลุ่มนี้

ทั้งนี้ ไม่ว่าคนรุ่นใหม่จะใช้แนวทางแบบใดในการรับมือต่อความผิดหวังต่อระบบปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพื่อกดดันให้เกิดการแก้ไข หรือ การสร้างตัวตนแบบใหม่ที่แตกต่างออกไปจากต้นแบบที่สังคมคาดหวัง

ซึ่งทั้งสองแนวทางเป็นไปได้ที่จะสร้างแรงกระทบกระทั่งต่อโครงสร้างทางสังคมเดิม ดังนั้น ผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่ในสังคมควรมีทัศนคติที่เปิดกว้างเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบสังคมที่เหมาะสมต่อการชีวิตในอนาคตของพวกเขา ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยสร้างความสมานฉันท์ในสังคมได้เห็นผลมากกว่าการบังคับใช้อำนาจเพื่อเก็บกดและทัดทานการเปลี่ยนแปลงนี้ไว้.