วังวนเศรษฐกิจไทยในปัญหาเชิงโครงสร้าง | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

วังวนเศรษฐกิจไทยในปัญหาเชิงโครงสร้าง | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

ภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เศรษฐกิจไทยก็ค่อย ๆ ฟื้นฟูจนสามารถกลับเข้าสู่สถานการณ์ที่เป็นปกติแล้ว

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านพ้นสภาวะวิกฤตระยะสั้นมาได้แล้ว แต่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกลับเผชิญกับวิกฤตเชิงโครงสร้าง ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยมีอนาคตที่ไม่สดใสมากนัก

วิกฤตเชิงโครงสร้างที่สามารถเห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และมีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำและมีความเหลื่อมล้ำสูงนั้นอาจมีนัยว่าคนจำนวนมากในประเทศนี้ (โดยเฉพาะคนรายได้น้อย) มีโอกาสน้อยลงที่จะสามารถลืมตาอ้าปากยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นได้

ในงานนี้ผู้เขียนในฐานะ ผู้สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิด (อีกแล้ว) จึงจะขอหยิบยกเนื้อหาบางส่วนจาก เสวนา “สำรวจภูมิทัศน์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยตอนที่ 2 : เศรษฐกิจไทย ปัญหาเก่าในวิกฤตใหม่" (จัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 26 มีนาคม 2567)”

เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า สถานการณ์วิกฤตเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร? สาเหตุน่าจะเกิดจากอะไร? และเราจะมีความหวังในการออกจากปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ได้หรือไม่?

เริ่มต้นจากสถานการณ์วิกฤตเชิงโครงสร้าง จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำนั้น ทุกภาคส่วนในสังคมต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างเมื่อหลายทศวรรษก่อนอีกแล้ว

โดยอัตราการเติบโตในปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 2% ต่อปี ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนที่โตอยู่ที่ประมาณ 5-8% ต่อปี

อัตราการเติบโตที่ต่ำแตกต่างจากยุคก่อนหน้าอย่างชัดเจนเช่นนี้เอง ที่ภาคการเมืองมองว่าประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ!!

วังวนเศรษฐกิจไทยในปัญหาเชิงโครงสร้าง | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

ในด้านความเหลื่อมล้ำนั้น อาจารย์ชญานี (ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์) ชี้ว่าถึงแม้ในภาพใหญ่อัตราความยากจนและอัตราความเหลื่อมล้ำของไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยยังมีประเด็นที่น่ากังวลในหลายมิติ ได้แก่ 

1. กลุ่มรายได้น้อยมักจะกระจุกตัวอยู่พื้นที่ชนบท หรืออยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (หรืออยู่ในทั้งคู่) โดยมักมีการศึกษาต่ำ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการ 

2. สัดส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มยากจนโตเร็วกว่ากลุ่มอื่น (โดยเฉพาะในภาคเกษตร) ในอนาคตสังคมไทยมีแนวโน้มจะเต็มไปด้วยประชากรที่แก่และจน 

3. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ส่งผ่านมาสู่รุ่นลูกมากขึ้น (โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย) ส่งผลให้การเลื่อนฐานะทางชนชั้นของคนรุ่นลูกยากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้า และมีความเหลื่อมล้ำสูง เป็นผลมาจาก 1. ระบบเศรษฐกิจที่มีทุนผูกขาด 2. ภาครัฐขาดศักยภาพในการจัดการปัญหา

ในส่วนของภาครัฐนั้น อาจารย์แบ๊งค์ (ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ) ชี้ว่าภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับการสร้างการเจริญเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด โดยเมื่อดูจากแผนภาครัฐที่มักให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” “ความสามารถในการแข่งขัน” และ “การพัฒนาอย่างทั่วถึง” แต่ที่ผ่านมา 

วังวนเศรษฐกิจไทยในปัญหาเชิงโครงสร้าง | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

1. ภาครัฐขาดกลไกที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนตามแผน เช่น การส่งเสริมการลงทุน มีเพียง 38% ของมูลค่าการลงทุนเท่านั้นที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ งบประมาณเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันก็ถูกใช้ไปลงทุนกับการสร้างถนนเป็นส่วนมาก 

2. ภาครัฐไม่สามารถเชื่อม FDI ให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการจ้างงานที่มีคุณภาพได้ โดยการลงทุนจากต่างประเทศในไทยยังใช้ซัพพลายเยอร์สัญชาติไทยในสัดส่วนที่ต่ำ นอกจากนี้ลักษณะตลาดแรงงานไทยยังเน้นจ้างงานวุฒิการศึกษาต่ำ ซึ่งมักจ่ายค่าจ้างต่ำ

 3. ขาดกลไกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยภาคเกษตรยังมีสัดส่วนที่สูงอยู่ ทั้งที่ภาคเกษตรสร้างมูลค่าต่ำ 

อาจารย์แบ๊งค์ มีคำแนะนำว่าภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโตช้าและเหลื่อมล้ำสูงโดย 

1. ต้องสร้างยุทธศาสตร์ Good Job Economy โดยเน้นให้เติบโตด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มีรายได้มั่นคง และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 

วังวนเศรษฐกิจไทยในปัญหาเชิงโครงสร้าง | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

2. ต้องสร้างกลยุทธ์แบบ Mission Oriented เอาความท้าทายมากำหนดยุทธศาสตร์ และผลักดันให้องคาพยพทั้งหมดดำเนินการภายใต้เป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการขยับและขยายพร้อมกันทีเดียวหลายสัดส่วน โดยส่งเสริมทรัพยากรอย่างเหมาะสม และสร้างกรอบเวลา 

3. ต้องยกระดับขีดความสามารถภาครัฐด้วย

 กล่าวโดยสรุปปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยทั้งการเจริญเติบโตที่ต่ำและเหลื่อมล้ำสูงเป็นผลมาจาก โครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจุกตัว และความไร้ศักยภาพของภาครัฐ ซึ่งหากภาครัฐสามารถ 

1. เป็นอิสระจากการควบคุมโดยกลุ่มทุน และสร้างกลไกการกำกับควบคุมป้องกันอำนาจเหนือตลาดได้ 

2. ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ตอบโจทย์เป้าหมาย (Mission) ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่าง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างงานที่ดี และเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไว้ด้วยกันได้ 

ประเทศไทยก็อาจจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างได้ในระยะยาว.