ทำอย่างไรไทยจึงจะแก้ไขรากลึกของปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน
ในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้ สศช. ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสภาวะของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่ากำลังประสบปัญหาอยู่หลายประการ เช่น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทจนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงขึ้นเป็น 2.79% ของสินเชื่อรวม
สถิติทั้งสองนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนว่ารุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกันแม้ภาวะการมีงานทำได้ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานภาพรวมกลับลดลง โดยสัดส่วนการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตยังเน้นแรงงานที่ไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึง 43.6% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560
หากเราวิเคราะห์ย้อนกลับไปเพื่อหาสาเหตุหลักของปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า รากลึกของปัญหาอยู่ที่ข้อบกพร่องทางการศึกษา เช่น กระจายตัวไปได้ไม่ทั่วถึง คุณภาพและความเข้มข้นไม่ดีพอ หลักสูตรไม่ทันสมัย
ขาดการฝึกทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะการฝึกอบรมให้แก่ SMEs และ Startups (ซึ่งมีจำนวนเป็นอันมากในไทยและขาดประสบการณ์) ขาดการฝึกฝนวิธีและความคล่องแคล่วในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อุปสรรคเหล่านี้ทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่มีความรู้และ/หรือทักษะไม่เพียงพอ จึงก่อให้เกิดแรงกดดันมากขึ้นแก่การหางานทำและปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ปัญหาทางด้านรายได้นี้ย้อนกลับมาทำให้อุปสรรคทางด้านการศึกษามีมากขึ้น เพราะการเข้ารับการศึกษาที่ดีมักทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูง
ผู้ที่ประสบปัญหารายได้ต่ำหรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงเข้าพึ่งสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและเจ้าหนี้นอกระบบ แม้สถาบันการเงินเหล่านี้จะปล่อยสินเชื่อให้บ้าง
โดยเฉพาะกรณีที่มีหลักประกัน แต่ก็มักเข้มงวดในแง่เรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงจากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำหรือขาดหลักประกัน ทั้งนี้ เพื่อชดเชยแก่ความเสี่ยงที่สูงกว่าลูกค้าชั้นดี
ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อและภาระหนี้สินสูงของประชากรที่มีรายได้ต่ำนี้ ก็กลับมาซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรและการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อีกรอบหนึ่ง
ความตกต่ำของทั้งความรู้และทักษะของประชากรนั้น นอกจากจะจำกัดความสามารถและความรอบคอบในการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังสร้างความลังเลใจให้แก่นักลงทุนอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่สถิติการลงทุนภายในประเทศตกต่ำมาหลายปีต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจัยที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ คุณภาพของแรงงาน/ประชากร ทั้งในแง่ความรู้ ทักษะและการใช้เหตุผลที่เหมาะสมในการตัดสินใจ
ดังนั้น ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพครบถ้วนในทุกระดับ (ตั้งแต่ประถม มัธยม อุดมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) จึงเป็นกุญแจสำคัญที่มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างทรัพยากรบุคคลหรือแรงงานที่มีคุณภาพสูง เพราะบุคลากรเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ช่วยผลักดันการเติบโตของระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางและเวลาที่ถูกต้อง
คำถามเดียวที่เหลือในที่นี้คือ เราควรปฏิรูประบบการศึกษาในแง่ใดบ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบการศึกษาของไทย รัฐควรพิจารณาถึงประเด็นต่อไปนี้
1.ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและคล่องตัว
2.เพิ่มคุณภาพของครูให้ตรงกับทิศทางของหลักสูตรแผนใหม่
3.พัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แก่แรงงาน เช่น เข้าใจและสามารถควบคุมเทคโนโลยีได้ดีขึ้น คิดและวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างสมเหตุสมผล และสามารถเสนอทางออกได้ คิดในเชิงนามธรรมและเน้นการสร้างสรรค์
4.ให้ความสำคัญเป็นอันมากแก่มนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพราะการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารระหว่างกันจำเป็นต้องพึ่งมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน นอกจากนั้น การทำงานร่วมกันเป็นทีมยังเป็นสิ่งที่มนุษย์มีเหนือกว่า AI อยู่มาก
5.ย้ำทักษะใหม่ๆ ที่กล่าวข้างต้น โดยให้นักศึกษาออกไปฝึกปฏิบัติงานในตลาดอย่างแท้จริงในทุกหลักสูตร ไม่ใช่แต่เพียง ปวช. หรือ ปวส. เท่านั้น
6.จูงใจให้นักศึกษาคุ้นเคยและสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เพื่อให้อยู่รอด และ/หรือก้าวหน้าไปในตลาดโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง
7.เน้นให้นักศึกษารู้จักหลักของการบริหารจัดการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะทางด้านการเงิน เพื่อที่จะได้จุดสมดุลระหว่างรายรับรายจ่ายอยู่เสมอ ไม่ตกไปเป็นเหยื่อของวงจรวิกฤติทางหนี้สิน
8.การปรับปรุงทักษะแรงงานในหลายแง่มุมนี้ควรอยู่ทั้งในรูป upskill และ reskill แรงงานมือใหม่และมือเก่า
9.ข้อเสนอทั้ง 8 ประการข้างต้นควรกระจายไปใช้ให้ครอบคลุมหลายเขตของประเทศตามความหนาแน่นของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการกระจุกตัวและการคมนาคม
อนึ่ง จุดประสงค์หลักของการปฏิรูประบบการศึกษาดังที่กล่าวข้างต้นคือ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของแรงงานไทย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน
องค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ยืนยันถึงความสำคัญของการศึกษา โดยเปิดเผยว่า “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนจาก “ครอบครัวยากจน” จำนวนมากไม่มีโอกาสเรียนหนังสือสูงกว่าภาคบังคับ
ในกลุ่มครัวเรือนฐานะยากจนที่สุด 20% ของประเทศ มีเยาวชนเพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ น้อยกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนฐานะร่ำรวยที่สุด 20% ของประเทศถึง 6 เท่าตัว
ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาอย่างรอบคอบ (ทั้งในแง่ทิศทางและเวลา) อย่างไม่ล่าช้า ดังที่เสนอข้างต้นจะช่วยแก้ไขปัญหาทางการศึกษาและพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้ยั่งยืนอย่างแน่นอน.