เชี่ยวชาญผิดทาง ยิ่งขยันผลงานยิ่งแย่
ทำงานไปนานๆ ย่อมมีความเชี่ยวชาญเกิดขึ้น ซึ่งความเชี่ยวชาญนั้นควรจะนำไปสู่ผลงานที่ดีกว่าเดิม แต่พบเจอกันบ่อยๆ ว่าทำงานไปด้วยความเชี่ยวชาญที่ตนเองมีอยู่ แต่ผลงานกลับไม่ได้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
หากยิ่งเชี่ยวชาญ แล้วผลงานกลับยิ่งแย่ แสดงว่ามีความเชี่ยวชาญผิดทิศผิดทางไปจากที่ควรจะมี เป็นความเชี่ยวชาญผิดทางที่สะสมขึ้นมาจากความเคยชินแบบผิดๆ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนไม่เก่ง
คนเก่งมากมายที่มีความเคยชินแบบผิดๆ นี้ติดตัวไปจากประสบการณ์การทำงาน ทำให้ได้งานที่ไร้ประสิทธิผล ทั้งที่เป็นคนเก่ง
ความเชี่ยวชาญผิดทางเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ แล้วมาจากการขาดความตระหนักว่าวิธีที่ตนเองใช้ในการทำงานอยู่นั้นมีข้อบกพร่องอยู่ในหลายขั้นตอน
ที่ไม่ตระหนักนั้นอาจมาจากการที่ต้องทำงานในเรื่องที่ตนเองไม่มีทักษะเพียงพอ แล้วพอทำไปนานวันก็หลงว่าเก่งในเรื่องนั้นแล้ว กลายเป็นความเก่งที่ผิดทิศผิดทาง ยิ่งทำมาก ยิ่งส่งผลเสียต่อผลิตภาพขององค์กร
ผนวกเข้ากับความกลัวการสูญเสียบทบาทสำคัญในองค์กร จึงพยายามควบคุมวิธีทำงานของตนไว้ในรูปแบบเดิมๆ ไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยนใดๆ เกิดขึ้น แม้จะรู้ว่ายังมีส่วนบกพร่องก็ตาม ทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครมาทดแทนตนเองได้
วิธีทำงานที่ถูกต้องนั้น ใครๆ ก็ทำตามได้ หากได้รับการฝึกหัดที่เพียงพอ แต่งานเดียวกันที่มีวิธีทำงานถูกบ้างผิดบ้างนั้น ถ่ายทอดให้คนอื่นทำต่อไม่ได้ เพราะคนอื่นทำแล้วจะงงว่าขั้นตอนไหนที่ถูกเป็นอย่างไร ที่ผิดเป็นอย่างไร
การพิจารณาความดีความชอบที่ไม่มีหลักการที่ชัดเจน ส่งเสริมให้เกิดความเชี่ยวชาญผิดทางได้ หากไปทำให้เชื่อกันว่าความดีความชอบมากจากการที่ได้ทำ (Output) มากกว่าที่จะพิจารณาความดีความชอบจากการได้ผล (Outcome)
ทำมากได้ความดีความชอบเยอะ โดยไม่คำนึงเลยว่าที่ทำไปมากมายนั้น ได้ผลตรงกับที่คาดหวังวางแผนไว้มากน้อยเพียงใด แค่ขยันทำ ตำแหน่งก็เพิ่มขึ้นแล้ว กลายเป็นตำแหน่งสูงขึ้น ความเชี่ยวชาญก็ยิ่งผิดทางไปมากขึ้นอีก
การจัดการทรัพยากรที่ต้องใช้ในการงานที่ไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ ส่งเสริมให้มีข้อแก้ตัวในการใช้วิธีการทำงานที่บกพร่องในบางขั้นตอน เมื่อทำไปจนเคยชิน วันหน้าแม้ว่าจะมีการจัดการทรัพยากรเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม หนทางในการทำงานก็จะยังเป็นเหมือนเดิมที่ทำมาจนเคยชิน ความเชี่ยวชาญผิดทางก็ยังคงผิดทางกันต่อไป
ยิ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากเท่าใด โอกาสที่จะเกิดความเชี่ยวชาญผิดทาง เกิดความเคยชินในทางผิดๆ ก็จะยิ่งมีมากขึ้น ถ้าเริ่มมีการใช้ AI มาช่วยจัดการการสั่งซื้อวัตถุดิบสำหรับการผลิตสักพัก คนที่เคยทำงานจัดการการสั่งซื้อจะเชี่ยวชาญการใช้ AI เพื่อการนี้มากขึ้น
คือยกบทบาททั้งหมดไปให้ AI แต่ละเลยไม่ใส่ใจว่าที่จัดการสั่งซื้อไปนั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ใส่ใจอีกต่อไปว่ามีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เชี่ยวชาญการใช้ซอฟต์แวร์ AI แต่ไม่เชี่ยวชาญการจัดการสั่งซื้อ
ที่แย่ลงไปอีกคือ เมื่อความเชี่ยวชาญผิดทางไปผสมเข้ากับการมีอัตตาสูง จากความสำเร็จครึ่งๆ กลางๆ ที่ได้ทำขึ้นมา เกิดสำคัญผิดว่าเก่งแล้ว เชี่ยวชาญมากแล้ว จนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจผิดๆ โดยไม่ใส่ใจคำทักท้วง จากเพื่อนร่วมงาน จนส่งผลเสียหายกับความร่วมมือในการทำงาน บางครั้งอาจนำไปสู่การสูญเสียลูกค้าเดิม ต้องแสวงหาลูกค้าใหม่ทดแทนไม่รู้จบสิ้น
ผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิผลจากการทำงานโดยใช้ความเชี่ยวชาญผิดทาง และการตัดสินใจผิดพลาดจากการมีอัตตาสูง มักส่งผลกระทบกับความคงอยู่และความผูกพันของลูกค้า พบเจอแต่ลูกค้าขาจร หาขาประจำไม่ได้จากการทำงานโดยใช้ความเชี่ยวชาญผิดทางโดยคนทำงานที่มีอัตตาสูง
ถ้าใครมีทีมงานอัตตาสูงที่เชี่ยวชาญผิดทาง คงหงุดหงิดกับการงานอยู่มากทีเดียว การจัดทำแผนการทำงาน โดยระบุเป้าหมายผลลัพธ์ที่แน่ชัด เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้การทำงานร่วมกับผู้คนแบบนี้เป็นไปได้อย่างได้ผล โดยไม่ต้องมาปวดหัวกับการแก้ตัวเมื่อผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามที่กำหนดไว้
สื่อสารกันให้ชัดเจนว่างานไหนต้องการผลลัพธ์อะไร สำหรับใคร ทำงานเสร็จแล้วอย่าลืมให้ความเห็นด้วยว่าตรงไหนของงานที่ทำได้ผล ตรงไหนที่ได้ทำแค่นั้น ไม่ได้ผลแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าปล่อยวางกับคนแบบนี้ไปบ้าง ถ้าไปตามแก้ทุกเรื่อง ชีวิตการงานจะน่าเวทนายิ่งนัก.