มหาเศรษฐีพันล้าน ริชาร์ด แบรนสัน เผย ทำสิ่งไม่คุ้นเคยก็ประสบความสำเร็จได้
‘ทำสิ่งที่รู้จริง’ อาจเป็นแนวคิดที่แย่ เมื่อธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ ‘ริชาร์ด แบรนสัน’ มหาเศรษฐีพันล้าน ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยมาก่อน
KEY
POINTS
- ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีพันล้านชาวอังกฤษ เจ้าของอาณาจักร Virgin Group มองว่าแนวคิด “ทำสิ่งที่คุณรู้ดี” เป็นคำแนะนำด้านอาชีพที่แย่ที่สุด
- ตลอดเส้นทางการทำธุรกิจของแบรนสัน เขาพบว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ อยู่ในอุตสาหกรรมที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
- แบรนสันเผย 3 หลักเกณฑ์ในการเลือกทำธุรกิจ ได้แก่ สามารถสร้างสิ่งนี้ในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมได้หรือไม่, สิ่งที่จะทำนี้สร้างความแตกต่างให้โลกได้หรือไม่, ผลของการทำสิ่งนี้จะสร้างความภูมิใจได้หรือไม่
เป็นปกติของนักธุรกิจหน้าใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จ มักจะศึกษาเส้นทางความสำเร็จของนักธุรกิจรุ่นพี่ผู้โด่งดังในวงการต่างๆ หรือไม่ก็ขอคำแนะนำหรือแนวทางการทำธุรกิจจากคนเก่งๆ เหล่านั้นเพื่อนำมาเป็นไอเดียหรือแรง ซึ่งคำแนะนำพื้นฐานทั่วไปมักจะบอกให้ “ทำสิ่งที่คนเองรู้ดีที่สุด” ก็จะคว้าความสำเร็จมาได้ แต่รู้หรือไม่? ไม่ใช่นักธุรกิจทุกคนที่มองว่านี่เป็นคำแนะนำที่ฉลาด
สำหรับ ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) มหาเศรษฐีระดับพันล้านชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของอาณาจักร Virgin Group (เจ้าของธุรกิจกว่า 400 บริษัทใน 30 ประเทศทั่วโลก) เขามองว่าแนวคิด “ทำสิ่งที่คุณรู้ดี” เป็นคำแนะนำด้านอาชีพที่แย่ที่สุดที่หลายคนเคยพูดกับเขา
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อาจไม่ได้มาจาก ‘สิ่งที่ตนรู้ดี’ เสมอไป
ตลอดเส้นทางการทำธุรกิจของแบรนสัน เขาฝ่าฟันอุปสรรคด้วยการเลือกทำธุรกิจที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาถนัด เขาได้เปิดเผยถึงประเด็นนี้ผ่านรายการพอดแคสต์ Work Life with Adam Grant เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผานมา ซึ่งมีบางช่วงบางตอนเขาเล่าว่า “ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ของผม อยู่ในอุตสาหกรรมที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย”
ริชาร์ด แบรนสัน ปัจจุบันมีทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามรายงานของนิตยสาร Forbes เขาสร้างอาชีพและความมั่งคั่งขึ้นมาจากกลุ่มบริษัท Virgin Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนและโฮลดิ้ง กลุ่มบริษัทนี้เริ่มต้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Virgin Records ธุรกิจขายแผ่นเสียงและต่อยอดไปสู่ค่ายเพลงชื่อดังในอังกฤษ
แม้ว่าต่อมาในปี 1992 แบรนสันจะขายธุรกิจค่ายเพลงออกจากมือไปในราคาเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันเขาก็พัฒนา Virgin Group ไปสู่อีกหลากหลายธุรกิจในแวดวงต่างๆ ตั้งแต่สายการบิน โรงแรม ไปจนถึงธุรกิจสื่อ และการบินอวกาศ (Virgin Galactic)
การทำงานหรือทำธุรกิจในสิ่งเดียวที่คุ้นเคย อาจติดกับดักองค์ความรู้เดิมๆ
อดัม แกรนต์ (Adam Grant) เจ้าของรายการพอดแคสต์ผู้ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาองค์กรจาก Wharton กล่าวเสริมว่า การสำรวจโครงการและงานในสาขาใหม่ๆ เป็นเรื่องชาญฉลาด ผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเดิมอุตสาหกรรมเดียวที่คุ้นเคยมายาวนาน บางครั้งก็พัฒนาต่อยอดไม่ได้เพราะเกิดการ “ยึดติดกับองค์ความรู้เดิมๆ”
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อพนักงานและนักวิชาการมีความเชี่ยวชาญในสายงานตัวเองมากขึ้น พวกเขาอาจสูญเสียความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา การปรับตัว และการสร้างสรรค์ไอเดีย ตามการวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ที่ตีพิมพ์ในปี 2010
“ในทางกลับกัน เมื่อคุณยังใหม่ต่ออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง คุณจะสามารถมองเห็นภาพรวมจากมุมมองภายนอก ซึ่งนั่นทำให้คุณมีความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่ถือเป็นจุดท้าทายได้มากกว่าคนใน” แกรนต์อธิบาย
ริชาร์ด แบรนสัน ไม่ได้มองว่าตนเองเป็น ‘นักธุรกิจ’ แต่เป็นผู้สร้างสรรค์งานที่ตนภูมิใจ
แบรนสันไม่ชอบที่ตนเองถูกจำกัดด้วยแนวคิดแบบเดิมๆ หรือถูกให้ “คำจำกัดความ” ที่คนส่วนใหญ่เรียกเขาว่า “นักธุรกิจ” เขารู้สึกว่าการถูกแนะนำตัวว่าเป็นมหาเศรษฐีเป็นเรื่องน่ารังเกียจ และแทนที่จะมองว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ เขากลับนิยามตัวเองว่าเป็น “คนที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองภูมิใจได้” เขากล่าวกับสำนักข่าว CNBC เมื่อเดือนที่แล้ว
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เขามุ่งเน้นไปที่คุณภาพของไอเดีย มากกว่าเน้นไปที่ศักยภาพในการสร้างรายได้ ธุรกิจที่เขาทำหรือโครงการต่างๆ หลายโครงการของเขาจะไม่เกิดขึ้นเลย หากเขารับฟังนักบัญชีหรือคิดเรื่องทำเงินมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการทำธุรกิจในสไตล์ของแบรนสัน ย่อมต้องแลกมากับความเสี่ยงสูงอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น Virgin Galactic บริษัทการบินอวกาศของเขามีต้นทุนสูงมาก ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานและระงับเที่ยวบินพาณิชย์ชั่วคราว หลังจากที่ประสบภาวะขาดทุน 502 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
“หากผมเป็นนักธุรกิจทั่วไป ผมคงไม่มีวันตัดสินใจไปลุยธุรกิจด้านอวกาศ” แบรนสันบอก ทั้งนี้เขายังได้เปิดเผยถึงหลักการตัดสินใจว่า การที่เขาจะเลือกลงทุนทำธุรกิจในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งนั้น เขาจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 อย่าง ได้แก่
1. เขาสามารถสร้างสิ่งนี้ในเวอร์ชันที่ดีกว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่
2. การผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาในเวอร์ชันของเขา จะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโลกได้หรือไม่
3. ผลลัพธ์ของการทำสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนภาคภูมิใจได้หรือไม่
หากเขาสามารถตอบตัวเองได้ทั้งสามข้อนี้แล้ว เขาก็เลือกที่จะเสี่ยงและตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจใหม่ๆ แม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่เขาไม่คุ้นเคยหรือไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลยก็ตาม