Just this once ... แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวใหญ่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ คือการส่งตัว “นายชนินทร์ เย็นสุดใจ” จากดูไบมากรุงเทพฯ ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในคดีทุจริตในการบริหารจัดการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK
คดีทุจริตนี้มีผู้เสียหายทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้จำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท ขณะนี้นายชนินทร์ถูกควบคุมตัวไว้รอกระบวนการพิพากษาเพื่อทราบความจริงกันต่อไป
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของ Professor Clayton Christensen ชื่อ How will you measure your life? ซึ่งน่าจะพากย์ไทยได้ว่า คุณวัดความสำเร็จของชีวิตของคุณอย่างไร
ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในงานเลี้ยงรุ่นของท่าน ว่าเมื่อห้าปีแรกหลังจบการศึกษา ทุกๆ คนดูดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หลายคนแต่งงานกับคู่สมรสที่สวยหล่อกว่าตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าเพื่อนบางคนทยอยหายไปจากงานเลี้ยงรุ่น
ต่อมาก็ทราบภายหลังว่า เบื้องหลังความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้น หลายคนประสบปัญหาในครอบครัว บางคนไม่ได้เจอลูกมาหลายปี และในงานเลี้ยงรุ่นปีที่สามสิบสภาพของปัญหากลับแย่ลง และหนึ่งในเพื่อนคนดังในรุ่นก็คือ Jeffrey Skilling ซึ่งติดคุกในคดีทุจริตในการบริหารบริษัท Enron ที่เขาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
หนังสือเล่มนี้ถือกำเนิดมาจากชั่วโมงสุดท้ายของวิชาการบริหาร ที่ Professor Christensen ชวนนักศึกษาถกกันว่าจะนำทฤษฎีบริหารธุรกิจมาอธิบายตัวอย่างชีวิตเหล่านั้น ผู้บริหาร ศิษย์เก่าดีเด่น รวมทั้งพวกเราด้วย ได้อย่างไร?
ในชั่วโมงนั้น เขาตั้งคำถามสามคำถามซึ่งได้กลายมาเป็นโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ ผมขอใช้ภาษาที่ดัดแปลงมาจากฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ OMG ดังนี้ครับ
ฉันจะแน่ใจได้อย่างไรว่า
- ฉันจะประสบความสำเร็จและมีความสุขในอาชีพการงาน
- ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ลูกๆ และญาติมิตร จะเป็นแหล่งแห่งความสุขที่ยั่งยืน
- ฉันจะดำเนินชีวิตด้วยความสัตย์ซื่อ และอยู่ห่างไกลจากคุกตาราง
ผมชอบวิธีนำการคิดใคร่ครวญของผู้เขียนมาก และเห็นด้วยว่า พวกเราทุกคนควรจะได้ถามคำถามทั้งสามนี้ในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินชีวิตของเรา เพราะเรามีชีวิตเดียว ... แต่อย่าลืมว่า พวกบริษัทต่างๆ เขาก็มีกลยุทธ์ที่ดี แต่หลายๆ บริษัทก็ลงเอยด้วยความล้มเหลว ... แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่สำคัญของความล้มเหลวเหล่านั้น ...
เพื่อที่เราจะหลีกเลี่ยงความล้มเหลวเหล่านั้น ผมขอหยิบสองสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน
ประการแรก คือ การเพ่งความสำเร็จในอาชีพการงาน จนละเลยการดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งนี้เพราะความสำเร็จในอาชีพการงานนั้นเห็นได้ชัด การได้ทำงานในบริษัทใหญ่ ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ มีรายได้มหาศาล รถประจำตำแหน่งคันโต เป็นเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จที่เห็นได้ง่าย เป็นที่ยกย่องชื่นชมในสังคม แต่กลับกัน การเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดี เป็นสามีที่ซื่อสัตย์ เป็นแม่บ้านที่ดูแลครอบครัว ไม่มีดัชนีชี้วัดให้ใครได้เห็นได้ชื่นชม
ดังนั้น เหล่าคนเก่งมากมายจึงถูกดึงดูดให้ทุ่มเทเวลาทุ่มเทพลังชีวิตไปสร้างความสำเร็จในอาชีพการงานก่อน ส่วนเรื่องครอบครัวนั้น สำคัญก็จริง แต่ยังไม่เร่งด่วน รอไปก่อนก็ได้ outsource ไปให้คนอื่นดูแลก่อนก็ได้ ให้เงินไปใช้ให้สบายก่อนก็ได้ ส่วนทรัพยากรที่จำกัดที่สุดซึ่งคือเวลานั้น เอาไปใส่ไว้กับอาชีพการงาน
แต่อนิจจา หลายคนที่พอก้าวไปบนแท่นแห่งความสำเร็จในการงานการเงิน แล้วเหลียวกลับมามองครอบครัว กลับพบว่าสายไปเสียแล้ว เด็กน้อยเหล่านั้นโตขึ้นมาในแบบหนึ่งที่ไม่ใช่แบบที่เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับเขา เขามีความเป็นตัวของตัวเองดี แต่ว่ากลับขาดความใกล้ชิดสนิทสนมที่เรากำลังโหยหา
ในแง่ทฤษฎีบริหารธุรกิจ เราอาจ outsource กิจกรรมบางอย่างออกไปเพื่อได้ต้นทุนที่ต่ำลง และไม่ต้องอาศัยทุนมาก จะได้มี ROE Return on Equity ที่สูงๆ แต่การทำอย่างนั้นต้องไม่ลืมสองเรื่องคือ เราต้องรักษากิจกรรมหลักของธุรกิจไว้ภายในองค์กร ไม่อย่างนั้นวันหนึ่งบริษัทจะกลวงโบ๋เพราะขาดกำลังการผลิตที่สำคัญที่สุด
การดูแลครอบครัวเป็นกิจกรรมหลักของชีวิต อย่าพลาดในการตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญในเวลาที่ดูเหมือนจะไม่เร่งด่วน อย่า outsource หน้าที่การดูแลครอบครัวออกไป ...หากเราได้ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี ครอบครัวจะเป็นแหล่งแห่งสันติสุขให้เราเข้ามาพักพิง เป็นแหล่งที่ให้เรากลับเข้ามาเติมพลังเพื่อออกไปทำหน้าที่ในโลกของอาชีพการงานได้อย่างเปี่ยมพลังและยั่งยืน
ประการที่สอง คือ การถูกมารล่อลวงให้ทำสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ผิด ... แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว ผู้เขียนพูดถึงเพื่อนๆ ของเขาซึ่งเป็นคนเก่งคนดีตั้งแต่สมัยเรียน แต่กลับมาลงเอยด้วยความผิดพลาดทางจริยธรรมอย่างรุนแรง ว่ามิได้มาจากการตัดสินใจในเรื่องใหญ่เพียงครั้งเดียว แต่มักจะเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ที่ “ดูเหมือนจะไม่ผิด”
ผู้เขียนยกเรื่องของ Nick Leeson ซึ่งเป็นเทรดเดอร์ (Trader) ดาวรุ่งในวัยยี่สิบหกปี ที่ได้ทำให้ Barings ธนาคารเก่าแก่ของอังกฤษล้มละลายเมื่อปี 1995 โดยพบว่าเขาได้ซุกซ่อนการขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์
เขาเล่าให้ BBC ฟังว่า แรงจูงใจของเขาคือความสำเร็จ ไม่ใช่ความร่ำรวย แต่คือการถูกมองว่าประสบความสำเร็จต่อไป ดังนั้น เมื่อมีความผิดพลาดจากการเทรดครั้งหนึ่ง ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จของเขา เขาจึงเลือกที่จะปกปิดการขาดทุนครั้งนั้นเอาไว้ และก้าวแรกของการตัดสินใจนั้นได้นำไปสู่ก้าวต่อๆ ไปที่เขาถลำลึกจนไปถึงคุกในสิงคโปร์
ผู้เขียนได้สรุปไว้ว่า พวกเราหลายๆ คนโน้มน้าวตัวเองให้เชื่อว่า เราสามารถฝ่าฝืนกฎส่วนตัวของเรา “เพียงครั้งนี้ครั้งเดียว” ในความคิดของเรา เราสามารถให้เหตุผลสำหรับการตัดสินใจเล็กๆ นั้น โดยไม่รู้ว่าการตัดสินใจเล็กๆ นั้นได้หันเหชีวิตไปสู่ถนนแห่งหายนะของตัวเองและองค์กรที่เขารัก ...
อย่าเชื่อ ว่า Just this once ความผิดเล็กน้อยเพียงครั้งเดียวนั้นรับได้ เพราะความผิดใหญ่ล้วนเกิดจากความไม่สมควรเล็กน้อยครั้งแรกที่เรายอมให้เกิดขึ้นทั้งนั้น.