ย้อนเส้นทาง STARK ในมือของ ‘ชนินทร์’ ก่อนกลายเป็นมหากาพย์กลโกงครั้งใหญ่

ย้อนเส้นทาง STARK ในมือของ ‘ชนินทร์’ ก่อนกลายเป็นมหากาพย์กลโกงครั้งใหญ่

ย้อนเส้นทาง STARK ในมือของ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” และพวก บนความเสียหายระดับ “หมื่นล้าน” ก่อนลามกลายเป็นมหากาพย์กลโกงครั้งใหญ่ จนสั่นสะเทือน “ศรัทธา” นักลงทุนในตลาดทุนไทย

หากย้อนดูข่าวใหญ่ที่สุดใน “วงการตลาดทุนไทย” ในปีที่ผ่านมา และเป็นเรื่องราวที่ผู้คนที่คร่ำหวอดในตลาดหุ้นต่างขวัญผวาไปตามกัน คงต้องยกให้การทุจริตมโหราฬของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK รู้หรือไม่ว่า บริษัทนี้เคยมีมูลค่าสูงสุดถึง “ระดับ 60,000 ล้านบาท” แถมเคยถูกจัดให้อยู่ในดัชนี SET100 หรือก็คือบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย 100 อันดับแรกด้วย

นอกจากนั้น STARK ยังกู้ยืมเงินมาจากทั้งธนาคาร และผู้ซื้อหุ้นกู้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ให้ยืมระดับหมื่นล้านบาท

“จุดเริ่มต้น” มหากาพย์กลโกงครั้งใหญ่ของ STARK เกิดขึ้นเมื่อบริษัท Phelps Dodge บริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้า สัญชาติอเมริกัน ตัดสินใจขายธุรกิจในไทยที่ประสบปัญหา โดยผู้ที่มารับซื้อต่อก็คือ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA ด้วยมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท

แต่เบื้องลึกของการเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตสายไฟฟ้า ก็มาจากผู้ช่วยคนสำคัญ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ที่เป็นผู้กุมบังเหียนดีลดังกล่าว จากอดีตเป็นอดีตผู้บริหาร “โรงพยาบาลพญาไท” ที่มีประสบการณ์ในการเข้าซื้อกิจการ และเป็นคนที่คอยช่วยเหลือ “วนรัชต์” ในการเดินเกมทางธุรกิจ

จากธุรกิจของ Phelps Dodge ในไทย ประสบปัญหาขาดทุนหนัก แต่หลังจากที่ “วนรัชต์” เข้าไปซื้อกิจการได้เพียงไม่กี่ปี บริษัทก็เริ่ม “พลิกกำไร” จนในปี 2562 “วนรัชต์” ตัดสินใจนำ Phelps Dodge เข้าตลาดหุ้นไทย แต่ไม่ใช่การเข้าด้วยท่าปกติทั่วไป ที่เราคุ้นเคยกันแบบ IPO แต่จะเป็นการเข้าตลาดหุ้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Reverse Takeover หรืออีกคำหนึ่งที่อาจจะคุ้นหูกว่านั้น ก็คือ Backdoor Listin

และสารตั้งต้นก็คือ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM โดยให้ SMM เข้าไปซื้อกิจการ Phelps Dodge จากเดิมที่ SMM ซึ่งทำธุรกิจสื่อนั้น ไม่ได้มีเงินสดมากพอที่จะเข้าไปซื้อกิจการของ Phelps Dodge ดังนั้น SMM จึงต้องออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับกลุ่มของ “วนรัชต์” คิดเป็นมูลค่า 12,900 ล้านบาท ส่งผลให้ “กลุ่มวนรัชต์” กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SMM ทันที

หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ “กลุ่มวนรัชต์” ก็จัดการ ขายกิจการเดิมของบริษัท SMM ออกไป และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก SMM มาเป็นบริษัท STARK แทน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในช่วงแรกที่เข้าตลาด STARK ก็ดูเหมือนธุรกิจที่ดำเนินการเป็นปกติ ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะเกิดการฉ้อโกงอะไร จนกระทั่งปลายปี 2565 บริษัทได้เสนอขาย “หุ้นเพิ่มทุน” แก่สถาบันการเงินหลายแห่ง คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อบริษัท LEONI Kabel และ LEONIsche

ทว่า ชนวนเหตุนี้เองที่ก่อพายุลูกใหญ่ ที่เป็นจุดกำเนิดเรื่องราวของ STARK ที่เริ่มส่งสัญญาณร้ายขึ้น ! เพราะหลังจากที่ STARK ได้รับเงินเพิ่มทุนครบแล้ว ผู้บริหารของ STARK กลับยกเลิกดีล... และให้เหตุผลว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน LEONI จนอาจส่งผลกระทบกับสถานะทางการเงินของบริษัท

และแล้วอยู่ๆ ราคาหุ้น STARK ร่วงโดยนักลงทุนไม่รู้สาเหตุ ก่อนสารพัดข่าวร้ายจะเริ่มทะลักออกมาแบบไม่ให้นักลงทุนตั้งตัวและไม่คาดคิดว่าหุ้นที่สร้างภาพสวยหรูจะมีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ภายในองค์กรมากมาย และเรื่องราวดังกล่าวเริ่มบานปลายมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่งงบการเงินไม่ได้ !! คือ ชนวนก่อความสงสัย เหตุใดทำไมบริษัทที่มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง มีกองทุนถือหุ้น ถึงส่งงบการเงินตามกำหนดไม่ได้ และขอเลื่อนมาเรื่อยๆ จนกระทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องขึ้นเครื่องหมาย “SP” พักการซื้อขายชั่วคราว ตามาด้วยกระแสข่าวไม่ดีเกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทก็ถูกขุดคุ้ยออกมาไม่ขาดสาย

เรื่องยังไม่จบลงเพียงแค่นั้นโดยในช่วงเวลาที่หุ้นถูกพักการซื้อขายเป็นเวลา 3 เดือน ก็มีรายงานว่า “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ประธานกรรมการบริษัท พร้อมกับผู้บริหารอีกหลายคนต้องลาออกไป โดยมี “วนรัชต์” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รับตำแหน่งเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน พร้อมกับออกมายอมรับว่า บริษัทอาจมีการฉ้อโกงทางบัญชีเกิดขึ้น

ต่อมาบริษัทแจ้งว่าได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อติดตามทรัพย์สินของบริษัทคืน รวมถึงบริษัทได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ซึ่งนั่นก็แปลว่า บริษัทยอมรับแล้วว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นที่มีความเสียหายจำนวนมากเกิดขึ้นกับบริษัท...

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ออกหมายเรียกผู้ต้องหาคดี STARK ได้แก่ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” และ “ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ” ให้มารับทราบข้อกล่าวหา นัดหมายวันที่ 6-7 ก.ค. 2566 ที่กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากพบพยานหลักฐานมีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชี และได้รับผลประโยชน์

และต่อมา ก.ล.ต. ส่งเรื่องให้ DSI กล่าวโทษ กลุ่มอดีตผู้บริหาร STARK รวม 10 ราย ซึ่งรวมถึง “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK ในช่วงปี 2564–2565 เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง อีกทั้งได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

ภายในวันเดียวกันนี้ DSI ออกหมายจับ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” หลังพบการข่าวรายงานหลบหนีออกนอกประเทศ พร้อมกันนี้ฟาก ก.ล.ต. ก็มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และห้ามมิให้ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 15 วัน

ก่อนที่ DSI เปิดเผยความคืบหน้าคดีโดยพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีในบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส ของนายชนินทร์ เย็นสุดใจซึ่งมีวงเงินเหลือเท่ากับ 220 ล้านบาท เป็นการอายัดเพิ่มเติมจากเคยอายัดที่ดิน 2 แปลง และบ้าน 1 หลังแล้ว

พร้อม ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ต่อ DSI กรณีขายหุ้นของ STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน พร้อมได้ส่งรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมทั้งมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก ปปง. ว่า “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” โยกย้ายเงินไปอยู่ที่อังกฤษอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท

และคำถามที่นักลงทุนสงสัยและต้องการคำตอบที่ชัดเจนต่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินของบริษัทไหลออกไปทางไหน และยังมีเงินอยู่จริงไหม รวมทั้งกระแสข่าวที่ว่าผู้บริการชุดเก่าหอบเงินหนีไปต่างประเทศนั้นจริงไหม ! น่าจะใกล้ได้ข้อเฉลยทุกความสงสัยแล้ว หลังมีรายงานข่าวว่า DSI กำลังนำตัวผู้ต้องหาคนสำคัญ STARK กลับถึงไทยพรุ่งนี้ !