งานสร้างสรรค์ ควรทำตอนไหนดี เช้าหรือกลางคืน?
ทำงานสร้างสรรค์ ทำงานยาก ตอนเช้าหรืออดหลับอดนอนทำงานจะดีกว่ากัน มีตัวอย่างคนดังที่ชอบทำงานกลางค่ำกลางคืน ไม่น้อยไปกว่าคนที่ตื่นก่อนรุ่งอรุณมาทำงาน
Mark Zuckerberg เป็นคนทำงานตอนดึก คล้ายๆ กับพฤติกรรมของคนที่มีพื้นฐานเป็นโปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่ นักวิทยาศาสตร์สำคัญของโลกสองท่าน คือ Albert Einstein และ Marie Curie ไม่หลับไม่นอน ทำงานสร้างสรรค์ในช่วงกลางคืน
ในขณะที่ซีอีโอของแอปเปิลตื่นมาทำงานตั้งแต่ตีห้า อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ Michelle Obama จะใช้เวลาเช้าตรู่ในการวางแผนกลยุทธ์
งานวิจัยจาก Imperial College London พบว่าการทำงานสร้างสรรค์ในช่วงค่ำคืน จะมีระดับการสร้างสรรค์สูงกว่าการทำงานเดียวกันในช่วงเช้า โดยวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนเกือบสามหมื่นคน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยทีมนี้ได้เตือนว่า คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าจะทำงานสร้างสรรค์จะทำได้ดีในช่วงเวลาไหน ขึ้นกับนาฬิกาชีวภาพของแต่ละคน ไม่ได้มีอะไรรับรองว่าทำตามเวลาที่เขาทำได้ดีแล้วเราจะทำได้ดีตามไปด้วย
ถ้าเป็นงานประจำ ที่ทำกันจนคุ้นเคยจะทำตอนไหนได้ดีที่สุด คำตอบคือทำในเวลาที่รู้สึกว่าขยัน อย่าทำตอนรู้สึกขี้เกียจเท่านั้น ถ้าเป็นงานสร้างสรรค์ที่ต้องการสมาธิในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ ต้องรู้จักเลือกเวลาที่เหมาะกับตนเอง
จะเลือกเวลาใดในการทำงานสร้างสรรค์ ให้สังเกตย้อนหลังไปสักหนึ่งสัปดาห์ว่า ช่วงเวลาใดที่รู้สึกมีพลังมากที่สุด ลองสังเกตดูว่าทำงานได้ดีในช่วงค่ำคืนที่หลุดพ้นมาจากงานประจำและภาระครอบครัวแล้ว หรือทำงานได้ดีในช่วงเช้าก่อนที่จะต้องลุยภารกิจประจำในวันนั้น
ถ้าเลือกได้แล้วให้จัดสภาพแวดล้อมสำหรับทำงานให้แยกเป็นสัดส่วน ห่างจากการรบกวนใดๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่อย่าทำงานบนที่นอนเด็ดขาด ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการคิดสร้างสรรค์บอกไว้ว่า ถ้าจะคิดอะไรที่ซับซ้อน อย่าคิดในที่ที่เราใช้พักผ่อนเป็นประจำ เพราะจะโน้มน้าวให้เราอยากพักผ่อน มากกว่าที่จะพยายามคิด
อย่าตั้งเป้าหมายของงานคิดสร้างสรรค์ที่เกินเลยกว่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อเทียบกับบริบทรอบตัว คนเรามีแนวโน้มที่จะประมาณการเกินไปจากที่เป็นไปได้จริงในเรื่องปริมาณงานที่จะทำ โดยมักไปเทียบกับปริมาณงานประจำที่ทำมาแล้วจนคุ้นเคย
หนึ่งชั่วโมงอาจทำได้สามสี่งานประจำ แต่หนึ่งชั่วโมงได้งานสร้างสรรค์สักงานสองงานก็วิเศษแล้ว หากตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณที่เกินความเป็นไปได้ จะสร้างแรงกดดันให้ต้องลดทอนคุณภาพเพื่อแลกกับความสำเร็จ
การคิดเรื่องซับซ้อนจะมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นไปตามเวลาที่เรามีให้กับงานนั้น เราจะหมดเวลามากขึ้นไปกับความพยายามในการทำให้งานนั้นสมบูรณ์แบบ
แนะนำให้กำหนดกรอบเวลาไว้เลยว่าจะทำงานนั้นภายในเวลาเท่าใด หลายคนที่ละเลยการกำหนดกรอบเวลาสำหรับงานที่ทำ มักจะกลายเป็นนกฮูกไปเลย คือทำงานจนไม่ได้หลับได้นอน ซึ่งส่งผลทางลบกับทั้งระดับความคิดสร้างสรรค์ที่ได้ และสุขภาพของตนเองที่เสื่อมถอยจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
งานวิจัยแทบทุกสำนักยืนยันตรงกันว่า เราจะคิดวิเคราะห์ได้ดี ต่อเมื่อมีเวลาหลับนอนเพียงพอ ระหว่าง เจ็ดถึงเก้าชั่วโมง ซึ่งไปอธิบายได้ว่าทำไมเด็กๆ ที่ขยันไม่หลับไม่นอนท่องตำราไปสอบ PISA จึงมีคะแนนต่ำกว่าที่ควรจะได้เมื่อเทียบกับที่เด็กๆ ทุ่มเทไป เพราะเป็นการสอบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ ไม่ใช่การจดจำ
งานยากมักยึดให้เราจดจ้องอยู่กับงานนั้น จนลืมเวลาว่านานแค่ไหนแล้ว แนะนำว่าให้หยุดพักเป็นระยะๆ แม้แต่อัจฉริยะอย่าง Einstein ยังใช้วิธีทำงานสลับกับการงีบสั้นๆเป็นระยะๆ อย่าทำงานที่ต้องคิดสร้างสรรค์ต่อเนื่องไปนานๆ เพราะระดับการสร้างสรรค์จะลดลงอย่างมาก เมื่อเราเริ่มอ่อนล้าจากการทำงาน
ถ้าทำได้ ควรผ่อนคลายสักนิดหลังจากทำงานสร้างสรรค์ใดๆ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจมีความพร้อมสำหรับการพักผ่อน ทำงานเสร็จอย่าเพิ่งรีบนอน หาอะไรที่ทำให้สบายใจทำไปก่อนสักสี่สิบห้านาทีก่อนจะนอน หรือก่อนจะกลับไปทำงานประจำ
ทำผิดเวลางานจะยากและยืดเยื้อจนทำไม่สำเร็จ ทำถูกเวลางานจะลื่นไหล คิดได้อย่างรอบคอบและสร้างสรรค์อย่างได้ผล.