ไทยเป็นแบบนี้ไหม? เกิดวิกฤติ 'รถติด' หนักในแคนาดา จนพนักงานไม่เข้าออฟฟิศ
เปิดเคสเมืองใหญ่ในแคนาดา เจอ ‘รถติด’ วิกฤติหนัก จนพนักงานไม่อยากเดินทางมาออฟฟิศออฟฟิศ พื้นที่สำนักงานถูกทิ้งร้าง จนอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจใจกลางเมือง
KEY
POINTS
- เปิดเคสวิกฤติจราจรในโตรอนโต แคนาดา ทำให้พนักงาน 64% ไม่อยากเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ ส่งผลให้สำนักงานถูกทิ้งร้าง
- สาเหตุเกิดจากการซ่อมแซมทางด่วน Gardiner ซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางไปออฟฟิศย่านใจกลางเมือง ซึ่งประสบปัญหาล่าช้าอย่างมาก
- ตึกสำนักงานในเมืองโตรอนโต มีพนักงานใช้งานเพียง 67% เมื่อเทียบกับระดับการใช้งานในช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะวันศุกร์มีพนักงานเข้าออฟฟิศเฉลี่ยเพียง 36% สิ่งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจใจกลางเมือง
ไม่นานมานี้ มีรายงานข้อมูลการสำรวจใหม่ระบุว่า สภาพการจราจรในเมืองโตรอนโต (เมืองหลวงทางการเงิน) ในประเทศแคนาดาเข้าขั้นวิกฤติแย่มาก รถติดหนักจนชาวโตรอนโตส่วนใหญ่ต้องเผชิญความยากลำบาก ต้องอดทนต่อการก่อสร้างถนนยาวนานทั้งวันตลอด 24 ชั่วโมง
คณะกรรมการการค้าภูมิภาคโตรอนโตได้จัดทำการสำรวจเกี่ยวกับปัญหารถติดครั้งนี้ขึ้นมา และพบว่า ผู้อยู่อาศัย 64% ไม่เต็มใจที่จะเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก ซึ่งถือเป็นสถิติที่น่าหดหู่ใจ และส่งผลกระทบต่อความพยายามของธนาคารและนายจ้างรายใหญ่รายอื่นๆ ที่ต้องการให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศบ่อยขึ้น
องค์กรธุรกิจต่างๆ ในโตรอนโต กล่าวในแถลงการณ์ว่า ความไม่เต็มใจที่จะเดินทางไปออฟฟิศดังกล่าว อาจนำไปสู่ “อัตราการขาดงานที่สูงขึ้น” และส่งผลให้การมีส่วนร่วมของพนักงานโดยรวมลดลง ซึ่งเวลาการเดินทางที่ไม่แน่นอนนั้น (รถติดจนไม่รู้ว่าจะถึงที่ทำงานกี่โมง) กลายเป็นเพิ่มความเครียดและสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่ผู้เดินทาง
ไจลส์ เกอร์สัน (Giles Gherson) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคณะกรรมการการค้า กล่าวถึงบทสนทนาที่ตนได้พูดคุยกับบรรดาผู้นำธุรกิจในเมือง ได้ความว่า นายจ้างรายใหญ่ที่มีออฟฟิศตั้งอยู่ใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารหลายแห่ง บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น ต้องการให้พนักงานของตนมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน หรือมากกว่านั้น
แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขายังคงลังเลอยู่และยังไม่อยากออกคำสั่ง ก็เพราะพวกเขารู้ดีว่าพนักงานกำลังเผชิญกับการเดินทางไปทำงานที่ยากลำบาก ต้องเจอกับวิกฤติรถติดหนักจนทนไม่ได้อีกต่อไป หากออกคำสั่งบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศในช่วงนี้ ก็อาจรักษาพนักงานเดิมไว้ไม่ได้
การก่อสร้าง-ซ่อมถนนที่เรื้อรัง ทำให้เกิดวิกฤติรถติดสะสมไม่หยุด
เมื่อปีที่แล้ว โตรอนโตได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่ “การจราจรแย่ที่สุด” ในอเมริกาเหนือ จากการจัดอันดับดัชนีการจราจรที่เผยแพร่โดย TomTom บริษัทด้านเทคโนโลยีตำแหน่งที่ตั้ง โดยระบุว่า การเดินทางในเมืองเป็นระยะทาง 6 ไมล์ (หรือประมาณ 9.6 กม.) นั้น ใช้เวลาเฉลี่ย 28 นาที
คณะกรรมการการค้าขององค์กรต่างๆ ในเมืองโตรอนโต ได้จัดทำการสำรวจทางออนไลน์จากประชาชน 1,000 คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคโตรอนโต ในเดือนมิถุนายน 2567 โดยบริษัท Ipsos พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 86% ชี้ว่ามีวิกฤติการจราจรเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จริง
โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 3 ใน 4 ที่ระบุว่า พวกเขาจะสนับสนุนการก่อสร้างถนนตลอด 24 ชั่วโมงหากจะช่วยให้ถนนในโตรอนโตสะอาดขึ้นเร็วขึ้น ศาลากลางเมืองกำลังดำเนินการตามกลยุทธ์ เพื่อเร่งซ่อมแซมทางด่วน Gardiner ซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำหรับผู้ขับขี่ที่ประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้าอย่างมาก แต่ก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการดำเนินการดังกล่าว
นอกจากนี้ ระบบขนส่งมวลชนของโตรอนโตที่ “สร้างไม่เสร็จและทรัพยากรไม่เพียงพอ” ยังบังคับให้ผู้โดยสารต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวและส่งผลต่อปัญหาการจราจรอีกด้วย อีกทั้งการก่อสร้างรถไฟใต้ดินสายใหม่ยังทำให้ทางแยกสำคัญในตัวเมืองต้องปิดลง โดยไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะให้ยานพาหนะ รถยนต์ และคนเดินเท้าเปลี่ยนเส้นทางผ่านเส้นทางเหล่านั้นอีกครั้งเมื่อใด
เมื่อพนักงานไม่เดินทางเข้าออฟฟิศ ส่งผลให้สำนักงานถูกทิ้งร้างกระทบเศรษฐกิจใจกลางเมือง
ใจกลางเมืองโตรอนโตเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งของแคนาดา รวมถึงบริษัทประกันภัยและบริษัทที่ปรึกษาอีกหลายแห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีพนักงานทำงานอยู่จำนวนมาก โดยพนักงานออฟฟิศคิดเป็นเกือบ 70% ของพนักงานทั้งหมด 600,000 คนในตัวเมืองโตรอนโต อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะนำพนักงานด้านการเงินเหล่านี้กลับเข้าไปในตึกสำนักงานของเมืองยังคงไม่แน่นอน
ปริมาณผู้สัญจรไปมาในวันธรรมดาโดยเฉลี่ย บนตึกสำนักงานในเมืองโตรอนโตในเดือนมิถุนายน 2567 ยังคงอยู่ที่เพียง 67% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนจะมีการล็อกดาวน์ตอนเกิดการระบาดใหญ่โควิด-19 ตามรายงานของ Strategic Regional Research Alliance ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสมาคมพัฒนาธุรกิจในตัวเมือง บางวันมีอัตราเข้าใช้พื้นที่สำนักงานต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันศุกร์มีอัตราเข้าใช้งานตึกออฟฟิศเฉลี่ยเพียง 36% เมื่อเทียบกับการใช้งานออฟฟิศในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
มีข้อมูลจากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE (เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้) ระบุว่า ในไตรมาสสองของปี 2567 พบอัตราพื้นที่สำนักงานว่างในใจกลางเมืองโตรอนโตอยู่ที่ 18.1% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เมื่อผู้คนเข้าออฟฟิศน้อยลง จึงคาดการณ์กันว่าอาจทำให้เศรษฐกิจใจกลางเมืองเงียบเหงาซบเซาลงตามไปด้วย