เข็มกลัดทีมชาติไทย ใคร ๆ ก็อยากได้ ไอเท็มฮิตใน ‘โอลิมปิก 2024’

เข็มกลัดทีมชาติไทย ใคร ๆ ก็อยากได้ ไอเท็มฮิตใน ‘โอลิมปิก 2024’

“เข็มกลัดทีมชาติไทย” เป็นหนึ่งในไอเท็มสุดฮิตใน “โอลิมปิก 2024” ซอฟต์พาวเวอร์ที่คนทั่วโลกต่างอยากได้มาครอบครอง

โอลิมปิก 2024” เป็นมหกรรมการกีฬาที่คนทั่วโลกได้มารวมตัวกัน แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของนักกีฬาทุกคนก็คือการเข้าแข่งขันเพื่อคว้าเหรียญทองและถูกจารึกชื่อว่าเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลก ขณะเดียวกันโอลิมปิกก็เป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬาทั่วโลก ให้ได้ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม 

กิจกรรมหนึ่งที่ฮอตฮิตในหมู่นักกีฬาและสต๊าฟ จนกลายเป็นวัฒนธรรม คือการแลก “เข็มกลัด” ของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นของที่ระลึกตัวแทนของความสัมพันธ์ โดยคณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละประเทศจะใช้โอกาสนี้ทำเข็มกลัดที่ระลึกมอบให้นักกีฬาและทีมงานเพื่อนำไปแลกกับตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ 

เข็มกลัดทีมชาติไทย” เป็นหนึ่งในไอเท็มสุดฮิต ที่คนทั่วโลกต่างอยากได้ ขนาดที่ “เซเรนา วิลเลียมส์” อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก และเป็นนักสะสมเข็มกลัดโอลิมปิกตัวยง ก็ยังต้องหาแลกมาไว้ครอบครอง 

“เข็มกลัดของไทยเป็นหนึ่งในสิ่งที่ฉันไม่มีวันเอาไปแลกต่อ ของเกาหลีเหนือที่ฉันได้มาตอนแข่งที่ริโอก็เช่นกัน” วิลเลียมส์ให้สัมภาษณ์กับ SportSkeeda

 

สำหรับ เข็มกลัดของประเทศไทย เป็นรูปตราสัญลักษณ์ “คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย” ที่มีช้างเผือกบรรทุกพระมหาพิชัยมงกุฎบนอุณาโลมอยู่บนหลัง ยืนอยู่บนตราสัญลักษณ์โอลิมปิกวงกลม 5 ห่วง

ที่มาของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ต้องย้อนกลับไปในช่วงระหว่าง ที่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการขอให้ (IOC) คณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศรับรองอย่างเป็นทางการอยู่นั้น คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้นำเรื่อง ขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ อันเป็นการดำเนินเรื่องให้สอดคล้องกับนานาประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข จึงได้มีหนังสือทูลท่านราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อไป 

“ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยท่านราชเลขานุการในพระองค์ได้เชิญกระแสรับสั่งมา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2492 พร้อมนี้ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามลายพระหัตถ์ของท่านราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2494 นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ฯ ซึ่งตราสัญลักษณ์คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ฯ ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้”

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ระบุว่า การแลกเข็มกลัดมีมาตั้งแต่สมัยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 1896 ตอนนั้นประเทศต่าง ๆ ใช้สัญลักษณ์ที่ทำจากกระดาษแข็ง เพื่อระบุตัวนักกีฬา ผู้ตัดสิน และเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากที่แข่งขันเสร็จแล้วทุกคนก็จะมารวมตัวกันที่หมู่บ้านโอลิมปิกเพื่อแลกเปลี่ยนเข็มกลัดกัน 

หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนาเรื่อยมา จากกระดาษแข็งมาเป็นเข็มกลัดในปัจจุบัน ในการแข่งขันแต่ละครั้ง ประเทศเจ้าภาพก็จะจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกรูปแบบต่าง ๆ ออกมาจำหน่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมชมการแข่งขันได้ซื้อไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเจ้าภาพได้อีกด้วย

นอกจากนี้ คนดังบางคนที่เข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกก็จัดทำเข็มกลัดมาแลกกับนักกีฬาด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น “สนูป ด็อกก์” แร็ปเปอร์ชื่อดังที่เป็นหนึ่งในผู้ถือคบเพลิงโอลิมปิก 2024 ก็ได้จัดทำเข็มกลัด เป็นรูปตัวเขาพ่นควันที่ลักษณะเหมือนกับห่วงโอลิมปิก โดยฉากหลังเป็นหอไอเฟล พร้อมมีคำว่าปารีสอยู่

เข็มกลัดทีมชาติไทย ใคร ๆ ก็อยากได้ ไอเท็มฮิตใน ‘โอลิมปิก 2024’

รูปภาพจาก อินสตาแกรมของ โคโค่ กอฟฟ์ นักเทนนิสหญิงทีมชาติสหรัฐ

ขณะที่ “เทนทิส - พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” เจ้าของเหรียญทองกีฬาเทควันโด รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม  ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้นำเอาเข็มกลัดของไทยไปแลกกับเพื่อน ๆ นักกีฬาทั่วโลกด้วยเช่นกัน


ที่มา: OlympicPeopleSportskeeda