เปิดบทเพลงพิธีเปิด ‘โอลิมปิก 2024’ สะท้อนมหานครแห่งความรัก ศิลปะ และการแสดง
ส่องไฮไลต์เพลงในพิธีเปิด “โอลิมปิก 2024” ที่สะท้อนภาพการเป็นมหานครแห่งความรัก ศิลปะ การแสดง และประวัติศาสตร์ ของกรุงปารีส ฝรั่งเศส ผ่านเสียงร้องของ “ซีลีน ดีออน” “เลดี้กาก้า” และศิลปินดังอีกมากมาย
“โอลิมปิก 2024” นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้จัดพิธีเปิดในสนามกีฬา แต่ไปเปิดใน “แม่น้ำแซน” แม่น้ำสายหลักของเมือง ขบวนนักกีฬาแต่ละประเทศล่องเรือผ่านแม่น้ำด้วยระยะทาง 3.7 ไมล์ ผ่านสถานที่สำคัญของกรุงปารีส ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากในพิธีเปิดครั้งนี้คือ โชว์และเพลงประกอบการแสดงที่ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี ไม่ให้เสียชื่อมหานครแห่งความรัก ศิลปะ และการแสดง
พิธีเริ่มต้นด้วยการเริ่มจุดไฟคบเพลิงสนามกีฬาสตาดเดอฟร็องส์ สนามกีฬาแห่งชาติของฝรั่งเศส จากนั้นเพลงชาติฝรั่งเศส “La Marseillaise” ที่ถูกบรรเลงด้วยฟลูตก็ดังขึ้น ตามมาด้วยเพลง “The Phantom of the Opera” เพลงประกอบละครเวทีสุดคลาสิกชื่อเดียวกับ จากบทประพันธ์ของนักเขียนชาวฝรั่งเศส จะดังกระหึ่มขึ้น
ทันทีที่เรือของนักกีฬาผู้ลี้ภัยเริ่มล่องในแม่น้ำแซนต่อหน้าผู้ชมนับแสนคน “ซิมโฟนีหมายเลข 9” ผลงานของ “อันโตญีน ดโวฌาก” ก็ถูกบรรเลงขึ้น โดยเพลงนี้มักรู้จักกันในชื่อ “ซิมโฟนีโลกใหม่” (New World Symphony) ซึ่งถือว่าเหมาะกับเรื่องราวของนักกีฬาผู้ลี้ภัย อีกทั้งยังถือว่าเป็นหนึ่งในซิมโฟนีที่คนรู้จักมากที่สุดในโลกอีกด้วย
จากนั้นถึงคราวของ “เลดี้กาก้า” ศิลปินระดับโลก ได้ขึ้นแสดงเพลง “Mon Truc en Plumes” ของ “ซีซี ฌองแมร์” นักบัลเล่ต์และนักแสดงชาวฝรั่งเศส ที่บริเวณริมแม่น้ำแซน โดยกาก้าปรากฏตัวชุดชุดรัดรูปสีดำ ถุงมือยาวสีดำ และสวมเครื่องประดับศีรษะที่มีขนนก พร้อมด้วยการแสดงคาบาเร่ต์สไตล์ปารีส ที่มีขนนกสีชมพูรูปหัวใจ เหมือนกับที่ฌองแมร์เคยแสดงเอาไว้
ดนตรีที่บรรเลงในการแสดงริมแม่น้ำท้ังหมดนั้นได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์โดย เฟลิเชียน บรุต นักหีบเพลงชื่อดัง ซึ่งเริ่มต้นโชว์บัลเลต์ด้วยเพลง “Can Can” ของ “ฌากส์ ออฟเฟนบาค” คีตกวีชาวฝรั่งเศส ในโชว์นี้กีโยม ดิออป ครูใหญ่ของปารีสบัลเลต์ ได้ร่วมเต้นบัลเลต์ด้วย
อีกหนึ่งไฮไลต์ของโชว์ในครั้งนี้ คือ พระนางมารี อองตัวเนตต์ ในเวอร์ชันหัวขาดปรากฎขึ้นหลังจากเพลง “Do You Hear The People Sing?” จากภาพยนตร์เรื่อง “Les Misérables” ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของประชาชน จนนำมาสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเพลง “Ça Ira” เพลงที่ได้รับนิยมในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ถูกนำมาโชว์ด้วย โดยวงเฮฟวีเมทัลอย่าง “Gojira”
ขณะที่ “อายา นากามูระ” ศิลปินชาวฝรั่งเศส-มาลี แสดงเพลง “Pookie” และ “Djadja” บนสะพานปงต์เดซาร์ ที่เชื่อมสำนักราชบัณฑิตสถานฝรั่งเศสกับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ นากามูระกำลังได้รับความนิยมทั้งในฝรั่งเศสและระดับโลก โดยเธอมีเพลงติดท็อป 10 บนชาร์ตเพลงของฝรั่งเศสถึง 25 เพลง
ยังมีกองทัพนักแสดงและศิลปินในสาขาการแสดงต่าง ๆ มาร่วมโชว์ในพิธีเปิดกีฬาครั้งสำคัญนี้อีก ไม่ว่าจะเป็น แอ็กเซลล์ แซงต์-ซีเรล ขับร้องเพลงชาติฝรั่งเศสอันอย่างทรงพลังบนหลังคากร็องปาแล สถาปัตยกรรมเรือนแก้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ส่วน ยาคุบ ยูเซฟ ออร์ลินสกี้ นักแสดงโอเปราชาวโปแลนด์ แสดงเพลง “Viens, Hymen” ที่ผสานดนตรีสไตล์บาโรกเข้ากับการเต้นเบรกแดนซ์ ทางด้านศิลปินดูโออย่าง จูเลียต อาร์มาเน็ต และโซเฟียน ปามาร์ต แสดงเพลง “Imagine” ของ จอห์น เลนนอน บนแพที่มีเปียโนที่กำลังเผาไหม้ มีไฟลุกโชนอยู่กลางแม่น้ำแซน ซึ่งโชว์นี้มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองโลกไร้พรมแดนและสร้างสันติภาพให้แก่โลก
สำหรับเพลง Imagine ถูกนำมาแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิกมาแล้วหลายครั้ง จนแทบจะเป็นหนึ่งในโชว์ที่ต้องมีในทุกปี อย่างเช่นในปีโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวศิลปินจากทั่วโลกร่วมกันร้องเพลงนี้ และก่อนหน้านั้นก็เคยถูกใช้ในปี 2012 ที่กรุงลอนดอน และโอลิมปิก 1996 ที่แอตแลนตา สตีวี วอนเดอร์ก็ได้ร้องเพลงนี้ เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดใน Centennial Olympic Park
ปิดท้ายพิธีเปิดโอลิมปิกด้วยการปรากฏตัวของนักร้องชื่อดังระดับโลกอย่าง “เซลีน ดิออน” ที่นำเพลง “L'Hymne à l'amour” ของ “อีดิธ ปิยัฟ” นักร้องผู้เป็นตำนานฝรั่งเศส โดยการแสดงครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาจับไมค์ร้องเพลงต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรก หลังจากที่เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคคนแข็ง” หรือ “SPS” (Stiff Person Syndrome) เมื่อปี 2022
ดิออนบอกกับนิตยสาร Vogue France ในเดือนเมษายนว่าโรคนี้ “ยังคงอยู่ในตัวฉันและจะอยู่ตลอดไป” โดยปัจจุบันเธอต้องเข้าทำการกายภาพ 5 วันต่อสัปดาห์
เซลีน ดิออนในชุดราตรีสีขาว ยืนขับร้องเพลงอยู่บนระเบียงหอไอเฟล ที่ถูกประดับด้วยห่วงโอลิมปิก ต่อหน้าผู้ชมมากกว่า 300,000 คน รวมถึงนักกีฬาจากทั่วโลกประมาณ 6,800 คน นับเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่และสมศักดิ์ศรี
สำหรับเพลง L'Hymne à l'amour ปิยัฟ แต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ความรักของเธอกับ “มาร์เซล เซอร์ดาน” นักมวยแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวท ซึ่งทั้งคู่พบกันระหว่างที่ปิยัฟทัวร์คอนเสิร์ตในสหรัฐเมื่อปี 1948 แต่แล้วความรักของทั้งคู่ก็จบลงด้วยความเศร้า เมื่อเซอร์ดานเสียชีวิต จากเหตุการณ์เครื่องบินตกในปี 1949 ขณะที่กำลังเดินทางไปหาปิยัฟที่สหรัฐ ตามคำขอของเธอ หลังจากโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นทำให้ปิยัฟจมอยู่กับความเศร้าโศกและความรู้สึกผิดเรื่อยมา
L'Hymne à l'amour มีความหมายว่าสดุดีแห่งรัก เสียงขับร้องอันทรงพลังของดิออนจากระเบียงหอไอเฟล ถือเพื่อเป็นการยกย่องเมืองแห่งความรักและความหลงใหลในชีวิตของกรุงปารีสได้อย่างสมบูรณ์แบบ
สำหรับผู้ที่รับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดนตรีในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในครั้งนี้ คือ วิกเตอร์ เลอ มาสน์ นักแต่งเพลง นักร้อง และนักดนตรีชาวฝรั่งเศส โดยคาดว่าจะมีนักดนตรีประมาณ 600 คนเข้าร่วม นอกจากนี้เขายังได้รับหน้าที่ให้เรียบเรียงเพลงชาติฝรั่งเศสเวอร์ชันใหม่อีกด้วย
ที่มา: Classic FM, NPR, Olympics