'Toxic Parents' อยู่อย่างไร เมื่อบ้านไม่ใช่ Safe Zone

'Toxic Parents' อยู่อย่างไร เมื่อบ้านไม่ใช่ Safe Zone

รู้ทันและเข้าใจ "Toxic Parents" เมื่อบ้านไม่ใช่ "เซฟโซน" และพ่อแม่ไม่ค่อย "เซฟใจ" พร้อมแนะวิธีรับมือ และอยู่อย่างไรในแบบที่ไม่ทอดทิ้ง และยังสามารถทำหน้าที่ของลูกที่ดีได้โดยไม่ทำร้ายหัวใจตัวเองมากเกินไป

เคยไหม..ที่รู้สึกว่าอยู่ใกล้พ่อแม่แล้วไม่มีความสุข ยิ่งโตยิ่งอยากถอยห่าง แม้จะพยายามคิดบวก หรือสื่อสารกับพ่อแม่ดีๆ แล้ว แต่หลายครั้งกลับถูกบั่นทอนให้รู้สึกผิดอยู่เรื่อยๆ ทำให้บ้านที่เปรียบเสมือน "วิมาน" แปรเปลี่ยนไปเป็น "วิมานหนาม" ที่ใช้คำพูดทิ่มแทงกัน เกิดเป็นความวิตกกังวลที่ลูกหลายคนดิ้นไม่หลุด นำไปสู่ความเครียดและหนักสุดถึงขั้น "ซึมเศร้า" ตามมา

"พ่อแม่" ไม่ได้ดีต่อใจเหมือนกันทุกคน

ในยุคที่เราต่างพยายามพาตัวเองออกจากคนเป็นพิษ หรือ Toxic People และหวังว่าบ้านจะเป็น "เซฟโซน" ที่ดี แต่ก็อาจไม่ใช่สำหรับทุกคน ไม่แปลกที่ลูกจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับ Toxic Parents จนต้องออกมาโพสต์ระบายความทุกข์จากบ่วงพันธนาการความรักและความคาดหวังของพ่อแม่ที่สร้าง "ความกดดัน" และ "ความเจ็บปวด" ในใจลูกบางคน จนเป็นการทำร้ายและทำลายชีวิตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และเจ้าของเพจที่ให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยงลูก สะท้อนปัญหา "Toxic Parents" ในสังคมไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านคำนิยมที่เขียนให้กับหนังสือ "มูฟออนชีวิต ถอนพิษพ่อแม่เผด็จการ : Toxic Parents" คุณหมอบอกว่า พ่อแม่ในบ้านเราไม่ได้ร้ายกาจถึงขั้นเป็นพิษในเชิงพยาธิสภาพทางจิต เพียงแต่วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกส่วนใหญ่มองว่า "ลูกที่ดี" ต้องกตัญญูโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้ออ้าง และไม่มีข้อยกเว้น ได้เงินมาต้องให้แม่ ลูกจะได้มีความสุขความเจริญ แต่ถ้าเมื่อไรให้เงินน้อย ลูกไม่มาหา ลูกเห็นคู่สมรสสำคัญกว่า นั่นเท่ากับลูกทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์ ตามมาด้วยสูตรที่ พ่อแม่เป็นพิษ มักจะทำเหมือนกัน นั่นก็คือ ทำให้ลูกรู้สึกผิด ซึ่งส่วนนี้เองที่สร้าง "แผลใจ" ให้กับลูกไปทั้งชีวิต และหลายคนต้องไปจบด้วยการเข้าพบจิตแพทย์

ความเป็นแม่กับ "Toxic Parents"

Toxic Parents มีระดับและความรุนแรงที่แตกต่างกันในแต่ละครอบครัว ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดกับผู้เป็นแม่มากกว่า เห็นได้จากหลายๆ เคสของ "ศ.พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาครอบครัว และเจ้าของเพจ "ปั้นใหม่ โดยอาจารย์หมออุมาพร" ที่แบ่งปันให้ฟังว่า ลูกๆ ที่มาพบหมอส่วนมากมีปัญหากับแม่มากกว่าพ่อ โดยเฉพาะลูกสาวกับแม่ ซึ่งความเป็นพิษหลักๆ เกิดจากแม่ที่พยายามควบคุมลูกให้อยู่ภายใต้ความรู้สึกและความคาดหวังของตัวเอง หรือแม่ที่มีความคิดหรือการมองโลกในเชิงลบ และลูกเป็นส่วนที่โคลนนิ่งมาจากแม่ อย่างแม่ชื่อนิ่มก็จะคาดหวังให้ลูกเป็นนิ่ม 2 เป็นต้น

"ลูกหลายคนถูกแม่ที่มีมุมมองความเชื่อ หรือความคาดหวังบางอย่าง ทำให้เชื่อว่าแม่คือผู้ที่หวังดีที่สุด แม่คือผู้ที่รู้ดีที่สุด หรือ Mother Knows Best แต่พอเริ่มโตขึ้น เริ่มคิดวิเคราะห์เองได้ว่า สิ่งที่แม่พูดไม่ได้ถูกต้องทุกเรื่อง ทำให้บางคนค่อยๆ ถอยห่าง ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่มาหาหมอ เป็นลูกที่โตแล้ว มีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มแยกแยะได้ว่าสิ่งที่แม่บอกไม่ได้ถูกทุกอย่าง ซึ่งลูกกลุ่มนี้พอรู้ตัว หลายคนมาพบหมอเพราะอยู่กับแม่แล้วไม่มีความสุข ในขณะที่ลูกอีกกลุ่มยอมเสียสละตัวเองเพราะคิดว่านี่คือหน้าที่ของลูกที่ดี ไม่กล้าปฏิเสธแม่ เพราะอยากให้แม่มีความสุข แต่ผลลัพธ์ก็คือ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แม้ในมุมหนึ่งจะรู้สึกว่า ฉันก็เป็นลูกที่ดีของแม่นะ แต่ลึกๆ แล้วไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง และเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะซึมเศร้า ได้"

ศ.พญ.อุมาพร ยังเผยในมุมของคนเป็นพ่อแม่ด้วยว่า พ่อแม่ทุกคนไม่ได้อยากทำตัวเป็นพิษกับลูก แต่ด้วยความรักและความหวังดีที่มากเกินไป ทำให้หลายคนกลายเป็นพ่อแม่ที่คาดหวังและกดดันจนเป็นพิษต่อลูกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นอยากให้ลองพิจารณากันดูว่ามีสารพิษเหล่านี้กันอยู่บ้างหรือเปล่า จากนั้นค่อยๆ แก้ไขดู เพราะสารพิษพวกนี้ นอกจากลูกจะไม่มีความสุขแล้ว ตัวพ่อแม่เองก็ไม่มีความสุขด้วยเหมือนกัน หรือบางคนอาจคิดว่ามันเป็นความสุข แต่เอาเข้าจริงแล้วอาจกำลัง "หลอกตัวเอง" อยู่ก็เป็นได้

How to รับมือพ่อแม่ Toxic

การรับมือกับ Toxic Parents ถือเป็นเรื่องยากและท้าทายสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะลูกในวัยทำงานที่ต้องเผชิญแรงกดดันและข้อเรียกร้องจากพ่อแม่ทั้งเรื่องการเงินและเวลา แม้บางคนจะแยกออกไปมีครอบครัวแล้วก็ไม่สามารถดิ้นหลุดจากพ่อแม่ได้ แล้วจะอยู่อย่างไรในแบบที่ไม่ทอดทิ้ง และยังทำหน้าที่ของลูกที่ดีได้ ลองนำวิธีเหล่านี้ไปพิจารณาและปรับใช้ในครอบครัวกันดู

  • เข้าใจพ่อแม่ : ก่อนอื่นอยากให้ลูกๆ ทำความเข้าใจว่า ในพ่อแม่หลายคนที่เป็นพิษนั้น เบื้องหลังอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ อาจมาจากสารเคมีในร่างกายที่ไม่เหมือนเดิมเมื่อเข้าสู่ วัยทอง บวกกับความเสื่อมของสุขภาพตามวัย และการใช้ชีวิตที่ไม่คล่องตัว ทำให้เกิดความเศร้า เครียด หรือหงุดหงิดได้ง่าย ดังนั้น การทะเลาะหรือมีปากเสียงกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง พวกเขาอาจไม่ได้มีเจตนาก็เป็นได้  
  • คาดหวังให้น้อยลง : หากพ่อแม่เข้ามาควบคุมทั้งในด้านอารมณ์ มุมมอง ความเชื่อ และความคาดหวังต่างๆ ลองลดความคาดหวังลงว่า พ่อแม่จะต้องเข้าใจในสิ่งที่พูดหรืออธิบาย พ่อแม่จะไม่บ่น ไม่หงุดหงิดอารมณ์เสียในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะเราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ และไม่ใช่ทุกคนที่จะรับฟังลูก
  • เว้นระยะห่าง : เมื่อรู้สึกว่าเป็นทุกข์เพราะพ่อแม่จนรับไม่ไหว การเว้นระยะห่างเป็นวิธีที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้ เช่น เลือกรับโทรศัพท์ในบางครั้ง หรือลดช่วงเวลาในการคุยโทรศัพท์ และพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นที่ชวนทะเลาะ ไม่ลงรายละเอียด หรือแสดงความคิดเห็น ส่วนลูกๆ ที่มีครอบครัวแล้ว จากที่เคยไปเยี่ยมวันเว้นวัน ลองเปลี่ยนมาเป็นอาทิตย์ละครั้ง เป็นต้น 
  • มีขอบเขตชัดเจน : พื้นที่ส่วนตัว มีความสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว ลูกๆ ที่อยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ ควรพูดคุยขอบเขตให้ชัดเจนว่า แม่ไม่ควรมารื้อค้นของในห้อง หรือถ้าจะเข้ามาในห้อง ควรเคาะประตูก่อน เป็นต้น
  • เซฟใจตัวเอง : พ่อแม่ที่เป็นพิษ มักจะส่งต่อความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในตัวเองให้กับลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าฉันไม่ดีพอ หรือบกพร่องในตัวเอง เกิดเป็นความห่อเหี่ยวใจ เข้าไปหาแล้วรู้สึกจิตตก ไม่มีความสุข ดังนั้นจงเชื่อมั่นและบอกกับตัวเองว่า เราโตมาดีพอแล้ว เราดีในแบบของเรา และหาพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองบ้าง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยบำบัดใจให้มีสุขภาพจิตที่ดีเพื่อดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า

สุดท้ายนี้ แม้จะทราบกันดีถึงผลร้ายของ "Toxic Parents" ที่ส่งผลต่อลูกในรูปแบบต่างๆ แต่วิธีแก้อาจไม่ใช่การบอกให้พ่อกับแม่ต้องแก้ปัญหาแบบไหน อาจเป็นเราในฐานะลูกมากกว่าที่จะอยู่ร่วมกับพ่อแม่อย่างไรด้วยความเข้าใจ และมอง "ความกตัญญู" ในมุมใหม่ด้วย "สติ" โดยไม่ทำร้ายใจตัวเองมากเกินไป

ข้อมูลอ้างอิง :