กอดงานไว้แน่นๆ สถิติเผยแรงงานไทย ไตรมาส 2/2567 ยังว่างงาน 430,000 คน

กอดงานไว้แน่นๆ สถิติเผยแรงงานไทย ไตรมาส 2/2567 ยังว่างงาน 430,000 คน

มนุษย์เงินเดือนที่มีงานทำ กอดงานไว้แน่นๆ ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจแรงงานไทยไตรมาส 2/2567 พบ ยังว่างงานสูงต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งจำนวน 1 ใน 4 ของแรงงานกลุ่มที่ว่างงานนั้น มีสาเหตุจากบริษัทปิดกิจการ-โดนเลย์ออฟ

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับภาวะการทำงานของประชากรไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ซึ่งในภาพรวมพบว่าแรงงานไทยมีอัตราการจ้างงานลดลง และอัตราการว่างเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่น่ากังวลคือ อัตราการว่างงานส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทปิดกิจการ (15%) รวมถึงโดนเลย์ออฟ (11.7%) รวมๆ แล้วก็ประมาณ 25% ของจำนวนแรงงานที่ว่างงานทั้งหมด 

เปิดสถิติการว่างงานของแรงงานไทย ไตรมาส 2/2567 ยังสูงต่อเนื่อง

สำหรับสถิติภาคแรงงานโดยรวมในไทยมีข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

- ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 40.18 ล้านคน 
- เป็นผู้มีงานทำ 39.50 ล้านคน 
- เป็นผู้ว่างงานประมาณ 0.43 ล้านคน (430,000 คน) 
- เป็นผู้รอฤดูกาล 0.25 ล้านคน 
- เป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.99 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนชรา ผู้ป่วยหรือพิการจนไม่สามารถทำงานได้ แม่บ้าน ผู้ที่ยังเรียนหนังสือ)

โดยเฉพาะในส่วนของจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2567 มีทั้งสิ้น 4.29 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.19 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาส 1 พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.1%

กอดงานไว้แน่นๆ สถิติเผยแรงงานไทย ไตรมาส 2/2567 ยังว่างงาน 430,000 คน

อัตราการจ้างงานบางสายงานในไตรมาส 2/2567 ก็ลดลงเช่นกัน

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบการมีงานทำในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2567 กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2566) พบว่า การจ้างงานลดลง 0.18 ล้านคน (จาก 39.68 ล้านคน เป็น 39.50 ล้านคน) หรือคิดเป็น 0.5% อัตราการมีงานทำ ลดลงเป็น 66.8% จากเดิม 67.0% ในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2567

ในส่วนของการจ้างงานโดยรวมที่ลดลง 0.5% นั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า เป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 1.5% (จาก 28.04 ล้านคน เป็น 28.45 ล้านคน) ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม ลดลง 5.1% (จาก 11.64 ล้านคน เป็น 11.05 ล้านคน)

กอดงานไว้แน่นๆ สถิติเผยแรงงานไทย ไตรมาส 2/2567 ยังว่างงาน 430,000 คน

ในขณะที่จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของลูกจ้างภาคเอกชน มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเท่ากับ 46.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็น 9.32 ชม./วัน (คำนวณจากวันทำงาน 5 วัน/สัปดาห์) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2567 ซึ่งอยู่ที่ 44.0 ชั่วโมง/สัปดาห์ ชี้ให้เห็นว่าการจ้างงานในภาคเอกชน พนักงานหรือลูกจ้าง Work Hard มากขึ้นว่าไตรมาสที่ผ่านมาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

กอดงานไว้แน่นๆ สถิติเผยแรงงานไทย ไตรมาส 2/2567 ยังว่างงาน 430,000 คน

นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังให้ข้อมูลด้านประสบการณ์การทำงานของแรงงานไทยด้วย โดยพบว่า ผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2567 นั้น 
- เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.85 แสนคน 
- เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 2.44 แสนคน 

แรงงานบางส่วนที่ว่างงาน (ประมาณ 25%) เกิดจากถูกเลิกจ้าง-ปิดกิจการ 

โดยในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนแต่ปัจจุบันเป็นผู้ว่างงานนั้น พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในสายงานภาคการบริการและการค้า จำนวนมากถึง 122,000 คน คิดเป็น 65.9% ขณะที่ผู้ว่างงานสายการผลิตมีจำนวน 51,000 คน คิดเป็น 27.6% โดยเหตุผลที่ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ออกจากงานหรือกลายเป็นผู้ว่างงาน ได้แก่ 

- ลาออกเอง 57.20%
- เลิก/หยุด/ปิดกิจการ  15.07% 
- หมดสัญญาจ้าง 14.33%
- ถูกให้ออก/ไล่ออก/ปลดออก 11.70%
- อื่นๆ (หมดฤดูกาล, ปัญหาสุขภาพ) 1.14% 

กอดงานไว้แน่นๆ สถิติเผยแรงงานไทย ไตรมาส 2/2567 ยังว่างงาน 430,000 คน

ถัดมาในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน จะเป็นวัยเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี มากกว่าวัยผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป (คิดเป็น 76.6% และ 23.4% ตามลำดับ)

แรงงานอีกกลุ่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ “แรงงานผู้เสมือนว่างงาน” หรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้แม้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ซึ่งอาจส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน โดยในไตรมาส 2 พ.ศ. 2567 พบว่ามีผู้เสมือนว่างงานจำนวน 1.98 ล้านคน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2566)

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น เมื่อแรงงานในระบบว่างงานมากขึ้น ก็อาจสะท้อนถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลงของแรงงาน พูดง่ายๆ ก็คือคนตกงานคือคนที่รายได้หดหาย กำลังจ่ายน้อยลง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ น่าจับตามองต่อไปว่านอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินดิจิทัลแล้ว ภาครัฐบาลจะมีมาตรการอื่นๆ มาแก้ไข ปัญหาแรงงานว่างงาน ในระยะยาวอย่างไร