Gen Z ในแคนาดาตกงานเพียบ! แรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานสูงถึง 211%
เด็กจบใหม่ในแคนาดาเตะฝุ่นเพียบ! หางานยาก เพราะแรงงานต่างชาติราคาถูกเข้ามาแทนที่ สถิติเผย ช่วง 5 ปีมานี้ แรงงานต่างชาติแย่งงานสูงถึง 211%
KEY
POINTS
- Gen Z ในแคนาดา หางานยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตำแหน่งงานในร้านอาหารและร้านค้าปลีก เพราะแรงงานต่างชาติราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาแย่งงาน
- นักเศรษฐศาสตร์ ค้นพบว่านายจ้างในแคนาดาชอบคนงานต่างชาติชั่วคราวมากกว่า เนื่องจากพวกเขายอมทำงานหนักกว่า เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เท่ากับคนท้องถิ่น
- วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าภาครัฐควร สนับสนุนให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างที่แข่งขันได้ ไม่ใช่เน้นจ้างแต่แรงงานค่าจ้างต่ำ
ไม่นานมานี้สำนักงานบลูมเบิร์กรายงานว่า วัยทำงานหนุ่มสาว Gen Z ในประเทศแคนาดา กำลังหางานยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมร้านอาหารและร้านค้าปลีก เพราะ “แรงงานต่างชาติราคาถูก” หลั่งไหลเข้ามาทำงานในธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังการระบาดใหญ่โควิดเป็นต้นมา
ยกตัวอย่างกรณีของ “มิเชลล์ เอซ (Michelle Eze)” บัณฑิตจบใหม่จากสาขานโยบายสาธารณะวัย 22 ปี เล่าว่า หลังเรียนจบเธอก็เริ่มมองหางานอย่างจริงจังในเมืองโตรอนโต ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในแคนาดาเริ่มเพิ่มสูงขึ้น เธอพยายามมองหาตำแหน่งงานสอนหนังสือ และแม้แต่งานบริการในร้านอาหาร เพื่อจะได้มีเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายและเลี้ยงดูพ่อแม่ของเธอ แต่ก็ล้มเหลว
เด็กจบใหม่คนนี้บอกอีกว่า เธอดิ้นรนหางานทุกที่ทุกตำแหน่งแม้จะเป็นงานระดับล่าง แต่ก็ไม่ได้งานเลย นั่นทำให้เธอหมดกำลังใจจนเกิดความรู้สึกว่า “ฉันมีความมุ่งมั่นแต่ทำไมกลับไม่เห็นผลลัพธ์อะไรเลย”
ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ คลาร์ก (Alexander Clarke) หนุ่มวัยรุ่นอายุ 17 ปี ก็ประสบปัญหาเดียวกัน เขาใช้เวลาหลายเดือนในการสมัครงานตามร้านขายของชำ ร้านฟาสต์ฟู้ด และร้านขายเสื้อผ้า แต่ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับจากนายจ้างเลย เขาบอกว่า ทุกวันนี้นายจ้างมองหาคนสูงอายุมากขึ้น คนหนุ่มสาวมีงานทำน้อยลงมาก เห็นได้ชัดในสถานที่ทำงานต่างๆ มักจะเห็นคนทำงานวัยกลางคนทำงานอยู่ในนั้น ไม่ใช่คนในวัยเดียวกับเขา
เด็กจบใหม่หางานยากขึ้นมาก แต่ทำไมยังนำเข้าแรงงานต่างด้าวชั่วคราวหลายแสนคน?
ความยากลำบากของหนุ่มสาวทั้งสองเคสข้างต้น เน้นย้ำถึงปัญหาตลาดแรงงานแคนาดา ที่สะท้อนว่า “งานระดับเริ่มต้น” สำหรับผู้ที่กำลังศีกษาและผู้สำเร็จการศึกษาใหม่นั้น หาได้ยากขึ้นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง แต่ประเทศก็ยังนำเข้าแรงงานต่างด้าวชั่วคราวหลายแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานในภาคอาหารและค้าปลีก
นั่นเป็นปัจจัยที่ยิ่งซ้ำเติมให้อัตราการว่างงานของเด็กรุ่นใหม่ในแคนาดาพุ่งสูงขึ้น มีข้อมูลจากฐานข้อมูลรัฐบาลแคนาดา พบว่าเมื่อ 2 ปีก่อน อัตราการว่างงานของแรงงานอายุ 15 - 24 ปีอยู่ที่ประมาณ 9% แต่ในปัจจุบันอยู่กลับอยู่ที่ 14.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติอายุน้อย ที่เดินทางเข้ามาหางานแคนาดาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 23%
จากการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า จำนวนแรงงานต่างชาติชั่วคราวในอุตสาหกรรมอาหารและค้าปลีกเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนแรงงานต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติให้ทำงานใน 2 ภาคส่วนนี้เพิ่มขึ้น 211% ระหว่างปี 2019 - 2023
การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติอย่างรวดเร็วนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของผู้อพยพเข้าประเทศแคนาดาที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ข้อจำกัดการเดินทางในช่วงโรคระบาดได้คลี่คลายลง ผู้อพยพมาใหม่หลายคนมองว่า งานชั่วคราวเหล่านี้เป็นก้าวหนึ่งในการได้รับสถานะผู้อยู่อาศัยถาวร และนายจ้างจำนวนมากก็อาศัยจังหวะนี้ในการจ้างแรงงานราคาถูก เพื่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงนั้น
คนรุ่นใหม่ในแคนาดาว่างงานเพิ่มขึ้น 50% ในเวลาเพียงสองปี
สถานการณ์นี้อาจบ่อนทำลายตลาดแรงงานในโตรอนโต เมืองใหญ่ที่สุดของแคนาดา ซึ่งมีแรงงานหนุ่มสาวที่พร้อมทำงานอยู่ไม่น้อย แต่ภูมิภาคนี้กลับมีคนรุ่นใหม่ว่างงานมากกว่า 120,000 คน ณ เดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 50% ในเวลาเพียงสองปี ตามข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติแคนาดา
ในมุมมองของ ทิโมธี แลง (Timothy Lang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Youth Employment Services ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ชาวโตรอนโตในการฝึกอบรมและหางาน เขาสังเกตเห็นว่า มีหนุ่มสาวแคนาดาเข้ามาใช้บริการที่นี่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานกลุ่มใหม่หลั่งไหลเข้ามาแย่งงาน น่าเศร้าที่บริษัทบางแห่งรับคนที่มีประสบการณ์มากกว่า เด็กรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจึงไม่มีงานทำ
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และกำลังบานปลายไปเรื่อยๆ ประชาชนกดดันให้ภาครัฐเร่งแก้ไข ทั้งนี้ รัฐบาลของ “นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด” ได้ประกาศยกเลิกมาตรการบางอย่าง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาในช่วงการระบาดใหญ่เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงนั้น) ตัวอย่างเช่น รัฐบาลได้จำกัดจำนวนชั่วโมงที่อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติทำงาน และสัญญาว่าจะบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น กับธุรกิจที่ใช้ระบบโดยมิชอบในการจ้างแรงงานต่างชาติชั่วคราว
ต้นตอปัญหาเรื่องนี้ อาจมาจากกฎระเบียบบางอย่างในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงตลาดแรงงานปัจจุบัน
ภายใต้กฎระเบียบปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ได้รับอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้ แม้ในพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นก็ตาม อีกทั้ง เมื่อปีที่แล้วแคนาดาอนุญาตให้ผู้จ้างงานนำคนงานต่างชาติชั่วคราวเข้ามาได้ประมาณ 240,000 คน ภายใต้โครงการแรงงานต่างด้าวชั่วคราว ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในปี 2562
โดยประมาณ 1 ใน 5 ของตำแหน่งงานเหล่านี้เป็นงานที่พบเห็นได้ทั่วไปในร้านอาหารและร้านค้าปลีก เช่น พ่อครัว, พนักงานเคาน์เตอร์อาหาร, พนักงานแคชเชียร์ ฯลฯ ซึ่งสัดส่วนของงานเหล่านี้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว เครือข่ายร้านอาหารและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นกลุ่มนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้โปรแกรมนี้ในการจ้างพนักงานประเภทนี้
การใช้โปรแกรมนี้อาจไม่เพียงแต่ทำให้วัยทำงานคนรุ่นใหม่ในแคนาดาหางานได้ยากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ค่าจ้างสำหรับตำแหน่งงานระดับเริ่มต้นที่ต้องแข่งขันกับแรงงานต่างชาติถูกกดลงอีกด้วย
ยืนยันจาก คริสโตเฟอร์ วอร์สวิก (Christopher Worswick) หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Carleton ในออตตาวา ค้นพบว่าบริษัทต่างๆ ชอบคนงานต่างชาติชั่วคราวมากกว่า เนื่องจากพวกเขาพยายามทำงานหนักกว่า เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เท่ากับคนท้องถิ่น ซึ่งในแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐให้เงินอุดหนุนกิจกรรมเหล่านั้น ด้วยการอนุญาตให้นายจ้างนำคนงานค่าจ้างต่ำเข้ามาในประเทศ แทนที่จะให้พวกเขาจ่ายค่าจ้างที่แข่งขันได้
“ค่าจ้างควรเพิ่มขึ้นจนกว่าอุปทานแรงงานจะเท่ากับอุปสงค์แรงงาน การขาดแคลนแรงงานควรได้รับการเติมเต็มด้วยการขึ้นค่าจ้าง แต่สิ่งเดียวที่หยุดยั้งการขึ้นค่าจ้าง ก็คือผลกำไรของบริษัท” วอร์สวิก กล่าวทิ้งท้าย