อยากเปลี่ยนนัยน์ตาเป็นสีเขียวถาวร ทำได้ไม่ยากด้วยงบ 400,000 บาท
ด้วยความที่ “ตาสีเขียว” เป็นสีที่หายากและมีความแปลกตาโดดเด่น ทำให้บางคนอยากจะมีตาสีนี้บ้าง แม้ที่ผ่านมาจะมีคอนแทคเลนส์สีให้เลือกมากมาย แต่ปัจจุบัน “การเปลี่ยนสีตาถาวร” ก็เริ่มได้รับความนิยมเช่นกัน
“ตาสีเขียว” ตามธรรมชาติเรียกได้ว่าเป็นสีตาที่หายากมาก เพราะมีเพียงแค่ 2% ของประชากรโลกเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความพิเศษอยู่ที่การเปลี่ยนสีของตาตามแสงที่แวดล้อม เรียกว่า “Chameleon Effect” ตาสีเขียวนั้นเกิดจากปริมาณเม็ดสี Melanin และ Lipochrome ที่ม่านตา ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน (อ้างอิงข้อมูลจากทวิตเตอร์ของ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ประจำ Life center และศูนย์ผิวหนัง รพ. สมิติเวช สุขุมวิท)
แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นสีตาหายากและมีเสน่ห์ ทำให้ตาสีเขียวเป็นที่ต้องการของใครหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่น ทำให้มีการผลิตคอนแทคเลนส์สีเขียวหลากหลายเฉดออกมาวางจำหน่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่ถ้าอยากมีตาสีเขียวแบบถาวรก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยเทคนิคการเปลี่ยนสีตาถาวร หรือ Keratopigmentation (KPT) ซึ่งได้รับความนิยมมานานกว่า 10 ปีในแถบยุโรป และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอเมริกา แต่ยังมีคลินิกเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ได้รับการอนุญาตให้ทำได้ และส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในมหานครนิวยอร์ก การเปลี่ยนสีตาถาวรมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 391,620 บาท อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 1 ต.ค. 2567) ใช้เวลาทำประมาณ 20 นาที
แม้เทคนิคการเปลี่ยนสีตาแบบ “KPT” เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในตอนนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นวิธีเดียวที่สถาบันจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AAO) รับรอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย 100% เพราะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ รวมถึงยังไม่ทราบผลข้างเคียงระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การทำ KPT จะใช้เลเซอร์เจาะกระจกตาแล้วฝังเม็ดสีเข้าไป ทำให้เปลี่ยนสีตาได้ตามต้องการ หนึ่งในจักษุแพทย์ที่ใช้เทคนิคนี้ในการเปลี่ยนสีตาให้กับผู้เข้ารับบริการคือ อเล็กซานเดอร์ มอฟโชวิช (Alexander Movshovich) จักษุแพทย์ชาวรัสเซียที่เข้ามาทำงานในสหรัฐ ซึ่งงานหลักของเขาไม่ใช่การเปลี่ยนสีตาให้กับผู้ที่ต้องการ แต่เป็นการรักษาปัญหาเกี่ยวกับสายตาทั่วไป เช่น การทำเลสิก
อเล็กซานเดอร์ เรียนจบเฉพาะทางในสาขาจักษุวิทยา และสาขาโรคจอประสาทตาและการผ่าตัด หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกปฏิบัติการผ่าตัดจอประสาทตา โรคต้อกระจกและโรคอื่นๆ ที่ซับซ้อน ซึ่งเขาบอกว่า “ชีวิตของผมเกี่ยวข้องกับการวิจัย” เพราะหลังจากทำการวิจัยมานานถึง 30 ปี เขาก็เริ่มสนใจที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ และหลังจากเขาได้ยินเรื่องของศัลยแพทย์จอประสาทตาชื่อ ฟรานซิส เฟอร์รารี (Francis Ferrari) ที่กำลังศึกษาเทคนิคใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับการเปลี่ยนสีตาในฝรั่งเศส ในปี 2019 ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเปิดคลินิกที่ให้บริการด้านการเปลี่ยนสีตาด้วย
ไอริส (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนสีตาเปิดเผยกับนิตยสาร allure ว่า แม้ว่าจะรู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนสีตาในครั้งนี้ แต่ด้วยความที่ชื่นชอบความสวยงามและมองว่ามีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างคุ้มหากเทียบกับระยะเวลาและผลลัพธ์ของสีตาที่ต้องการจึงตัดสินใจทำเพราะเธอใส่คอนแทคเลนส์สีมาเป็นเวลานานและเบื่อที่ต้องใส่ทุกวัน โดยเธอเลือกสีตาแบบสุนัขพันธุ์อลาสกัน ฮัสกี้ เพราะต้องการสีตาที่โดดเด่นมองเห็นได้จากระยะไกล
แม้ปัจจุบันการเปลี่ยนสีตาจะมีความทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังมีการโต้แย้งจากกลุ่มแพทย์ด้วยกันเองเช่นกัน จากการสังเกตผลกระทบในระยะยาวของ KTP หลังจากการศึกษาในสัตว์ทดลองและผู้ป่วยเป็นเวลาประมาณ 11 ปี ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ เช่น British Journal of Ophthalmology ระบุว่าจากการเก็บกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 204 มีอัตราภาวะแทรกซ้อน 12% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการไวต่อแสงและสีจางลงจากผลเดิม และในการศึกษาผู้ป่วย 40 รายในเวลาต่อมา พบว่าประมาณหนึ่งในสามมีอาการแพ้แสง ทำให้อเล็กซานเดอร์ออกมาโต้แย้งว่า KTP ไม่ทำให้ตาบอด และภาวะแทรกซ้อนนั้นไม่ได้แตกต่างจากที่เกิดจากการทำเลสิกมากนัก แถมผู้ป่วยของเขา 97% ก็มีความพึงพอใจกับผลลัพธ์ของการเปลี่ยนสีตาถาวร
ทั้งนี้ผลจากการ “เปลี่ยนสีตาถาวร” สีที่ได้ก็จะขึ้นอยู่กับสีตาเดิมและความเชี่ยวชาญของแพทย์ และแม้ว่า “KTP” จะเป็นเทคนิคที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันนี้ แต่ก็ถือว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวตามมา ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนสีตาจึงควรศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้านทั้งจากงานวิชาการและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อประกอบการตัดสินใจเพราะดวงตาของเรามีเพียงคู่เดียว
อ้างอิงข้อมูล : allure