จีนจ้างงานพุ่ง 7.4 ล้านตำแหน่ง ธุรกิจพลังงานสะอาดโตแรง อีวี-โซลาร์เซลล์

จีนจ้างงานพุ่ง 7.4 ล้านตำแหน่ง ธุรกิจพลังงานสะอาดโตแรง อีวี-โซลาร์เซลล์

จีนสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชากรได้สูงถึง 7.4 ล้านตำแหน่ง จากการเติบโตด้านพลังงานสะอาด คิดเป็นเกือบ 50% ของยอดตำแหน่งงานทั่วโลก

KEY

POINTS

  • จีนกลายเป็นผู้นำโลกในด้าน “การจ้างงาน” ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และคาดว่าภาคส่วนนี้จะยังคงสร้างงานสร้างอาชีพให้แรงงานจีนได้ต่อเนื่อง
  • โดยเฉพาะในตำแหน่งการผลิต การติดตั้ง และการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม แบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา
  • ยุโรปและบราซิล ก็มีการจ้างงานด้านพลังงานสะอาดจำนวนมาก แต่ยังคงตามหลังจีน โดยมีการจ้างงาน 1.8 ล้านตำแหน่งและ 1.56 ล้านตำแหน่งตามลำดับ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาและอินเดีย 

1-2 ปีมานี้ “จีน” กลายเป็นผู้นำโลกในด้านการ “จ้างงาน” ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และคาดว่าภาคส่วนนี้จะยังคงสร้างงานสร้างอาชีพให้แรงงานชาวจีนต่อไป โดยเฉพาะในตำแหน่งงานด้านการผลิต การติดตั้ง และการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม แบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีการจ้างงานสูง ทำลายสถิติการจ้างงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ 

สำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ประมาณ 7.4 ล้านคน ที่เข้าทำงานในด้านพลังงานหมุนเวียนในปี 2566 คิดเป็น 46% ของจำนวนคนทำงานทั่วโลก ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2565 ที่มีแรงงานจีนทำงานในด้านนี้ 41% ของจำนวนคนทำงานทั่วโลก 

 

การเติบโตของตำแหน่งงานด้านพลังงานหมุนเวียนนั้น แตกต่างกับตำแหน่งงานในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ ที่กำลังดิ้นรนและมีอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นมาก โดยอัตราการว่างงานในเดือนกันยายนของแรงงานกลุ่มอายุ 16-24 ปี (ไม่รวมนักศึกษา) อยู่ที่ 17.6% ตามข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้พบว่าตำแหน่งงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้น ลดลงประมาณ 500,000 ตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2023 ตามที่กลุ่มวิจัยอสังหาริมทรัพย์ Ke Yan Zhi Ku รายงานในเดือนมกราคม

แรงงานจีนที่ไม่ตกงาน เป็นกลุ่มที่มีทักษะการวิจัยและพัฒนา ในสายงานพลังงานสะอาด

“รายงานทางการเงินประจำปีของบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในจีนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด แสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ได้ขยายการจ้างงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดหุ้นจะผันผวนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา” เฉิน ซินยี่ (Shen Xinyi) นักวิจัยและหัวหน้าทีมจากศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) อธิบาย

ปีที่แล้วพบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของการติดตั้งอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมใหม่ทั่วโลก เป็นการติดตั้งโดยบริษัทจากจีน คาดว่าพลังงานสะอาดจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจที่ซบเซาของจีนกลับฟื้นขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่า ธุรกิจในภาคส่วนนี้อาจไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมด เนื่องจากมีขนาดจำกัดเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานโดยรวมที่เพิ่มมากขึ้น

ตามข้อมูลของ IRENA และ ILO ยังระบุอีกว่า เมื่อมองภาพรวมในระดับโลกพบว่า มีการจ้างงานแรงงานด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 16.2 ล้านตำแหน่งในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนที่เติบโตขึ้น 18% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของกำลังการผลิตพลังงานสะอาดและการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 

ด้านยุโรปและบราซิล ก็เป็นอีกภูมิภาคที่มีการจ้างงานด้านพลังงานสะอาดจำนวนมากแต่ยังคงตามหลังจีน โดยมีการจ้างงาน 1.8 ล้านตำแหน่งและ 1.56 ล้านตำแหน่งตามลำดับ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาและอินเดีย โดยมีการจ้างงานเกือบ 1 ล้านตำแหน่ง 

แรงงานจีนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด มีสัดส่วนสูงถึง 50% ของแรงงานด้านนี้จากทั่วโลก

สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) พบว่า มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการจ้างงานทั่วโลกมากถึง 7.2 ล้านตำแหน่งในปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ IRENA และ ILO โดยในจำนวนนี้ 4.6 ล้านตำแหน่งอยู่ในประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเพิ่มแผงโซลาร์เซลล์ 217 กิกะวัตต์ในปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง (50%) ของจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ภาคส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ PV ของจีนสร้างงานได้ราว 5.1 ล้านตำแหน่งในปี 2566 คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงาน PV ทั่วโลก ขณะที่ในภาคส่วนพลังงานลม จีนยังคงครองส่วนแบ่งตลาด โดยสร้างงานร้อยละ 52 จากทั้งหมด 1.5 ล้านตำแหน่งทั่วโลกในปีที่แล้ว ตามมาด้วยสหภาพยุโรปที่ร้อยละ 21 

ฟรานเชสโก ลา คาเมรา (Francesco La Camera) ผู้อำนวยการทั่วไปของ IRENA กล่าวกับ The Post เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า “ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างเร่งขยายห่วงโซ่อุปทานของ PV พลังงานแสงอาทิตย์ของตนเองให้มากขึ้น แต่ก็ยังสู้จีนไม่ได้ เพราะจีนเริ่มต้นผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้มายาวนานก่อนใคร”

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะก้าวนำประเทศอื่นในเรื่องการจ้างงานสูงในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด แต่ก็ยังคงเจออุปสรรค เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของโลก นั่นคือ จีนกำลังเผชิญกับภารกิจอันยากลำบากในการย้ายแรงงานจำนวนมหาศาลจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปยังภาคส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น

แรงงานจากธุรกิจพลังงานดั้งเดิม ที่ไม่ได้พัฒนาทักษะใหม่ อาจตกงานจำนวนมากภายในปี 2578

ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า “คนงานเหมืองถ่านหิน” เกือบครึ่งล้านคนทั่วโลก จะต้องเผชิญกับการ “ว่างงาน” ภายในปี 2578 เนื่องจากเหมืองปิดตัวลงและการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด โดยจีนและอินเดียน่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ตามรายงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร Global Energy Monitor เมื่อปีที่แล้ว 

“การลงทุนด้านการศึกษา ทักษะ และการฝึกอบรม จะช่วยฝึกสกิลใหม่ให้กับคนงานจากภาคส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นหนทางแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำอื่นๆ และเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับบทบาทใหม่ในด้านพลังงานสะอาด สิ่งนี้จำเป็นต้องทำ หากเราต้องการให้คนงานมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการหางานที่ดี และเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะยุติธรรมและยั่งยืน” กิลเบิร์ต เอฟ. ฮุงโบ (Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่ของ ILO กล่าว

จากการวิเคราะห์ของ CREA ในเดือนมกราคม พบว่า พลังงานสะอาดมีส่วนสนับสนุนต่อเศรษฐกิจจีนเป็นมูลค่าสูงถึง 11.4 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 54.22 ล้านล้านบาท) ในปี 2023 หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในปี 2022 โดยภาคส่วนนี้เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ที่ใหญ่ที่สุดในจีนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 และหากไม่มีพลังงานสะอาด GDP ของจีนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้