เทรนด์ทำงาน Slasher โตแรงในฮ่องกง หนุ่มสาวอยากทำงานหลายอาชีพอย่างอิสระ

เทรนด์ทำงาน Slasher โตแรงในฮ่องกง หนุ่มสาวอยากทำงานหลายอาชีพอย่างอิสระ

คนรุ่นใหม่ไม่พอใจแค่อาชีพเดียว เทรนด์ทำงาน ‘Slasher’ กำลังเติบโตแรงในกลุ่มหนุ่มสาวชาวฮ่องกง พวกเขาไม่ชื่นชอบการทำงานประจำ แต่อยากทำงานอิสระอย่างยืดหยุ่นและทำหลากหลายอาชีพที่ชอบไปพร้อมๆ กันได้

KEY

POINTS

  • คนๆ เดียวแต่ทำหลายอาชีพ กลายเป็นเทรนด์ทำงานที่คนรุ่นใหม่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งเรียกกันว่า “Slasher” หรือบุคคลที่ทำงานหลายอาชีพ มีที่มาจากใช้เครื่องหมาย '/' เพื่ออธิบายตำแหน่งงานในหลากหลายบทบาทของคนๆ เดียว
  • สัดส่วนของผู้ที่ทำงานแบบ Slasher ยังคงสูงกว่า 70% ในฮ่องกง นับตั้งแต่มีการสำรวจเรื่องนี้เพิ่มเข้าไปในตัวบ่งชี้คุณค่าเยาวชนประจำปีตั้งแต่ปี 2019
  • หนุ่มฮ่องกงคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นทั้งบล็อกเกอร์/ครูสอนกลอง/ผู้ตัดต่อวิดีโออิสระ เขาทำงานทั้งหมดนี้ไปพร้อมกัน ซึ่งสามารถหารายได้ได้ประมาณ 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (ประมาณ 88,000 บาทต่อเดือน)

ชีวิตการทำงานยุคใหม่อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “งานประจำ” หรือ “งานฟรีแลนซ์” อีกต่อไป สมัยนี้ใครๆ ก็ทำงานหลายอาชีพควบคู่กันไป แน่นอนว่าปัจจัยด้านค่าครองชีพที่พุ่งสูง และรายได้ต่ำ(จากอาชีพเดียว) เป็นสาเหตุหลักให้วัยทำงานต้องดิ้นรนมองหางานอาชีพที่สองหรือสามเพิ่มเติม แต่นอกเหนือจากเหตุผลนี้แล้ว ยังพบว่าการที่คนๆ เดียวแต่ทำหลายอาชีพนั้นยังเป็นเทรนด์ทำงานที่คนรุ่นใหม่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งเรียกกันว่า “Slasher” 

คำว่า Slasher ถูกนิยามว่าหมายถึง บุคคลที่ทำงานหลายอาชีพหลายสายงาน แทนที่จะทำงานประจำอยู่ในตำแหน่งเดียว โดยคำเรียกนี้มาจากใช้เครื่องหมายทับ '/' เพื่ออธิบายตำแหน่งงานในหลากหลายบทบาทของคนๆ เดียว ทั้งนี้ การทำงานแบบสแลเชอร์แตกต่างจากการทำงานฟรีแลนซ์ เพราะฟรีแลนซ์ทำงานประเภทเดียวแต่ทำให้กับลูกค้าหลายราย 

ลักษณะการทำงานรูปแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นในสังคมการทำงาน แต่มีมานานสิบกว่าปีแล้ว โดยพบว่ามีการกล่าวถึงรูปแบบงานนี้ในหนังสือที่ชื่อว่า “One person/Multiple careers: A New Model for Work/Life Success” ตีพิมพ์ในปี 2007 เขียนโดย มาร์ซี อัลโบเฮอร์ (Marci Alboher) ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานหลายอาชีพเช่นกัน เธอเป็นทั้ง “นักเขียนชาวอเมริกัน/วิทยากรสาธารณะ/ผู้นำองค์กรไม่แสวงหากำไร”

คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงนิยมเป็น Slasher พบมีสัดส่วนสูงถึง 70% ภายใน 5 ปี

ล่าสุดมีรายงานจาก South China Morning Post ระบุว่า การทำอาชีพหลายอย่างผสมผสานกันแบบนี้ กำลังได้รับความนิยมในหมู่หนุ่มสาวชาวฮ่องกงคนรุ่นใหม่ฮ่องกงรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่พวกเขาเป็นแรงงานที่มีความสามารถหลากหลาย จึงสามารถทำงานในหลายๆ บทบาทอาชีพที่แตกต่างกันได้

จากการสำรวจของสหพันธ์กลุ่มเยาวชนฮ่องกง ที่ได้สำรวจวัยทำงาน จำนวน 525 คนที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 39 ปี เมื่อปี 2565 พบว่า เกือบ 4 ใน 5 ของพวกเขา เห็นด้วยว่าบุคคลคนหนึ่งสามารถทำงานหลายงานในเวลาเดียวกันได้ อีกทั้ง สัดส่วนของผู้ที่ทำงานแบบ Multiple careers หรือ Slasher ดังกล่าว ยังคงอยู่สูงกว่า 70% นับตั้งแต่มีการสำรวจเรื่องนี้เพิ่มเข้าไปในตัวบ่งชี้คุณค่าเยาวชนประจำปีตั้งแต่ปี 2019

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลจากการศึกษาเรื่องการจ้างงานเยาวชนโดยกลุ่มวิจัย MWYO (องค์กร Think Tank ที่เน้นทำวิจัยกับกลุ่มเยาวชนฮ่องกง เพื่อรับฟังความเห็นของพวกเขาและถ่ายทอดเข้าสู่นโยบาย) ในเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุระหว่าง 18 - 34 ปี 85.2% มีงานทำเต็มเวลา ในขณะที่ 14.8% ทำงานนอกเวลาหรือเป็นอาชีพอิสระ

แองเจลา ยัง ทักมัน (Angela Yung Tak-man) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MWYO บอกว่า ไม่แปลกใจหากคนหนุ่มสาวจะพิจารณาประกอบอาชีพเป็น Slasher มากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะจากข้อมูลพื้นฐานด้านสำมะโนประชากรของฮ่องกง แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ปัจจุบันจำนวนพนักงานพาร์ทไทม์ในฮ่องกงเพิ่มขึ้น บวกกับผลสำรวจที่บ่งชี้ว่าคนหนุ่มสาวเลือกงานพาร์ทไทม์หรืออาชีพอิสระเพื่อหารายได้และความยืดหยุ่นที่มากขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นตรงกับช่วงที่ฮ่องกงกำลังเผชิญ “ปัญหาขาดแคลนแรงงาน” 

เปิดเคส Slasher ชาวฮ่องกง ทำงานเที่ยงวัน-ตี4 รายได้กว่า 8 หมื่นบาท

หนึ่งในวัยทำงานชาวฮ่องกงที่เลือกทำงานแบบ Slasher ก็คือ ‘ไมค์ โจว อี้ไหว’ (Mike Chow Yik-wai) วัย 32 ปี เขาอธิบายตัวเองว่าเป็น “บล็อกเกอร์/ครูสอนกลอง/ผู้ตัดต่อวิดีโออิสระ” โดยช่องของเขาบน YouTube มีผู้ติดตามช่อง มากกว่า 27,000 คน เป็นช่องที่ถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ที่สนุกสนานของเขาระหว่างการกินอาหารอร่อย การซื้อสินค้าอนิเมะล่าสุด และการเดินทางท่องเที่ยว

เทรนด์ทำงาน Slasher โตแรงในฮ่องกง หนุ่มสาวอยากทำงานหลายอาชีพอย่างอิสระ Mike Chow Yik-wai ภาพจาก South China Morning Post

เขาเคยทำงานประจำเป็น “เสมียน” ในปี 2017 ต่อมาเขาตัดสินใจเริ่มทำอาชีพเสริมเป็น “ครูสอนตีกลอง” ในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อทำในสิ่งที่เขาชอบและหารายได้เสริม หลังจากนั้นไม่นานเขาพบว่าอาชีพครูสอนตีกลองทำรายได้ดี ในปีถัดมา เขาลาออกจากงานประจำมารับงานสอนเต็มตัว และมีเวลาว่างมากขึ้น เขาจึงหางานอื่นๆ ที่เขาสนใจทำเพิ่มเติมด้วย นั่นคือการขายสินค้าอนิเมะ และการทำช่องยูทูป

เขาเล่าว่าแต่ละวัน เขาเริ่มทำงานตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงตีสี่ โดยตารางงานโดยทั่วไปของเขาคือ เขาตื่นนอนตอนเที่ยง จากนั้นเริ่มตรวจเช็กการขายสินค้าและทำเอกสารต่างๆ ถัดมาเวลา 15.00 น. เขาจะไปที่ร้านขายดนตรีหรือเช่าสตูดิโอเพื่อสอนกลองให้กับเด็กๆ วัยรุ่น และผู้ใหญ่ โดยมักจะเรียนติดต่อกันจนถึง 20.00 น. จากนั้นก็จะเป็นเวลาพักผ่อน ใช้เวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว หรือถ่ายคลิปเอาไว้สำหรับช่อง YouTube ต่อมาในเวลา 23.00 น. เขาจะเริ่มงานตัดต่อวิดีโอและทำต่อไปจนถึงตี 4 ก่อนจะเข้านอน

“อาจฟังดูเหนื่อยมาก แต่ถ้าผมต้องเลือกระหว่างเวลาทำงานแบบเดิม (ตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 18.00 น.) กับการจัดเวลาของตัวเองได้ ผมก็ขอเลือกงานที่ผมสามารถควบคุมตารางเวลาของตัวเองมากกว่า การเป็น Slasher ไม่มีใครคอยจับตาดูคุณ ไม่มีใครคอยจี้งาน ไม่มีเจ้านายมาสั่งให้ทำโน่นนั่นนี่ แต่การทำงานแบบนี้ต้องมีวินัย ถ้าขยันก็ได้เงินเยอะ ถ้าหยุดทำงาน รายได้ของคุณก็จะหายไปด้วย” เขากล่าว

โดยปกติแล้ว เขาจะทำงานตามตารางงานข้างต้นเป็นเวลา 4 วันต่อสัปดาห์ แล้วใช้เวลาที่เหลือในการเตรียมสอนตีกลอง ค้นคว้าไอเดียวิดีโอ พบปะเพื่อนฝูง หรือพักผ่อนคนเดียว 

โจวบอกว่าเขาหารายได้ได้ประมาณ 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (ประมาณ 88,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยช่อง YouTube ของเขาสร้างรายได้ประมาณหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน เขารู้ว่าเพื่อนของเขาหลายคนน่าจะมีรายได้มากกว่ามาก จากการทำงานประจำในอาชีพเดียวกัน แต่เขาก็ไม่เสียใจเลย เพราะเขารู้สึกมีความสุขในการทำงานแบบนี้ 5 ปี ดีกว่าไปทำงานประจำเป็น 10 ปี 

จากครูสอนประจำ ลาออกมาเป็น Slasher ทำ 4 อาชีพไปพร้อมกัน

อีกหนึ่งเคสที่น่าสนใจคือ ‘ไซอัน ลี่ เสอหยาน’ (Cyan Li Sze-yan) เธอเคยทำงานประจำเป็นครูอนุบาลในปี 2020 แต่ทำไปสักพักเธอเริ่มรู้สึกเครียดและกดดันจากที่ทำงาน ต่อมาเธอได้ไปเข้าคอร์สเรียนการบำบัดด้วยเสียง ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ชอบในที่สุด เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ปัจจุบันหญิงวัย 28 ปีผู้นี้เป็น “ผู้ประกอบการ/ครูอนุบาลพาร์ทไทม์/ครูสอนโยคะ/ผู้ฝึกร้องเพลง” 

เทรนด์ทำงาน Slasher โตแรงในฮ่องกง หนุ่มสาวอยากทำงานหลายอาชีพอย่างอิสระ Cyan Li Sze-yan ภาพจาก South China Morning Post

โดยเธอทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยเสียงเพลง ภายใต้ชื่อบริษัท Soul Healer HK ซึ่งจัดเวิร์กช็อปต่างๆ มากมาย เช่น การสอนร้องเพลง การทำสมาธิด้วยเสียงบำบัด และกิจกรรมหัตถกรรม เธอบอกว่า “สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเป็น Slasher ก็คือ คุณสามารถเริ่มต้นอาชีพใหม่ หรือเปลี่ยนอาชีพเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่ยังคงทำอาชีพเดิมของคุณต่อไปได้” 

อย่างไรก็ตาม เธอเคยประสบปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอน ในช่วงสามเดือนแรกของการลาออกจากงานปรจำ เมื่อธุรกิจของเธอแทบไม่มีรายได้เลย เธอเคยคิดที่จะปิดบริษัทชั่วคราว แต่เธอก็สามารถปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ จนในที่สุดก็ฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้

เธอไม่มีความตั้งใจที่จะกลับไปทำงานเต็มเวลา เธอชอบที่จะได้ทำงานกับเด็กๆ ต่อไป นั่นคือยังคงรับงานสอนอิสระให้เด็กอนุบาล ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานด้านการดูแลสุขภาพที่เธอหลงใหล นี่คือรูปแบบการทำงานที่เธอต้องการทำจริงๆ ในชีวิตนี้

เทรนด์ทำงานแบบ Slasher มาแรง ภาครัฐควรมีมาตรการดูแลเพื่อดึงแรงงานกลุ่มนี้เข้าตลาดงาน

แองเจลา จาก MWYO ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า รูปแบบการทำงานแบบ Slasher นั้น ไม่ใช่เรื่องสนุกเสมอไป และยังมีข้อเสียหลายประการ เช่น ความไม่มั่นคงด้านรายได้และไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพของวัยทำงาน (เทียบกับผู้ที่ทำงานประจำ) อีกทั้งยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานและสวัสดิการด้านวันลาพักร้อน สวัสดิการเลิกจ้าง หรือเงินค่าจ้างล่วงเวลา

แต่อย่างไรก็ตาม แองเจลายอมรับว่า เทรนด์ Slasher มีแนวโน้มว่าจะยังอยู่ต่อไปในโลกการทำงานยุคใหม่ ความท้าทายอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะสามารถดึงผู้ที่มีความสามารถหลากหลายเหล่านี้ ให้สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกงได้อย่างไร 

ภาครัฐจะต้องมองเห็นความต้องการของแรงงานกลุ่มด้วย หากอยากดึงพวกเขาเข้าระบบเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เช่น อาจกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การคุ้มครองทางกฎหมายที่ดีขึ้นสำหรับแรงงานกลุ่ม Slasher ช่องทางการศึกษา หรือแม้แต่แผนการอุดหนุนบริษัทที่จ้างคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้เป็นพนักงานพาร์ทไทม์

เทรนด์ทำงาน Slasher โตแรงในฮ่องกง หนุ่มสาวอยากทำงานหลายอาชีพอย่างอิสระ

เธอบอกอีกว่า นายจ้างต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำความเข้าใจความต้องการที่หลากหลายของแรงงานรุ่นใหม่ เพื่อที่พวกเขาจะได้พัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมงานด้วยมากขึ้น และรักษาพวกเขาเอาไว้ได้ ซึ่งจะช่วยให้นายจ้างวางแผนกำลังคนและพัฒนาธุรกิจได้ดีขึ้น

นายจ้างเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด บางบริษัทมอบความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่

ยกตัวอย่างผู้ประกอบการขนส่งอย่าง Citybus ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อสองปีก่อน ประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถ และมีแต่แรงงานสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมามีการปรับปรุงนโยบายการจ้างงานใหม่ เน้นจ้างพนักงานขับรถแบบสัญญาครึ่งวัน โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่กำลังมองหางานที่มั่นคงและใช้เวลาทำงานสั้นลง เช่น พนักงานตัดกระดาษและแม่บ้าน

ล่าสุดทางบริษัทได้เปิดตัวสัญญาจ้างฉบับใหม่ กำหนดให้พนักงานขับรถบัสหยุดงานได้ 2 วันติดต่อกันหลังจากทำงาน 3 วันติดต่อกัน เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ โดย โรเจอร์ หว่อง ไวยิป (Roger Wong Wai-yip) ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบุคลากรและวัฒนธรรมของบริษัท เล่าว่า แผนการจ้างงานแบบใหม่นี้จัดทำขึ้นเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่

สัญญาครึ่งวันส่งผลให้มีการจ้างงานพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 300 คน และมีผู้สมัครงานในสัญญาว่าจ้างประเภทสามวันต่อสัปดาห์มากกว่า 500 คน โดยส่วนใหญ่มีอายุราวๆ  35 ปีหรือน้อยกว่านั้น ผลตอบรับที่ดีครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เริ่มมองอาชีพในอุตสาหกรรมนี้ว่าเป็น “ลักษณะงานที่ทันสมัยและสดใหม่มากขึ้น” พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัททำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบัสและผู้ควบคุมดูแลรถบัส

ทั้งนี้ บริษัทยังคงหารือกับพนักงานเรื่องรูปแบบการทำงานใหม่ และเปิดรับแนวคิดจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น เนื่องจากอายุเฉลี่ยของพนักงานมีอายุน้อยลง