วัยทำงาน 53% โดนหลอก สมัครงานไว้แบบหนึ่ง แต่เริ่มงานจริงกลับให้ทำอีกอย่าง

วัยทำงาน 53% โดนหลอก สมัครงานไว้แบบหนึ่ง แต่เริ่มงานจริงกลับให้ทำอีกอย่าง

คนไทยเคยโดนไหม? วัยทำงาน 53% โดนหลอก-ถูกนายจ้างล่อลวง บอกรายละเอียดงานไม่หมด คนหางานเขียนใบสมัครงานไว้แบบหนึ่ง แต่พอเริ่มงานจริงบริษัทกลับให้ทำงานอีกอย่างที่ไม่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก

KEY

POINTS

  • พนักงานในสหรัฐฯ กว่าครึ่งหนึ่งหรือ 53% เผชิญกับการ “ถูกล่อลวงและให้ทำงานที่ไม่ได้ตกลงกันไว้” ในระหว่างกระบวนการจ้างงานใหม่
  • พนักงานราว 42% บอกว่า เงินเดือนที่บริษัทโฆษณาไว้ในใบประกาศรับสมัครงานตอนแรก มีการเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการสัมภาษณ์หลายรอบ
  • การถูกหลอกล่อในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เป็นประสบการณ์ที่น่าหงุดหงิดสำหรับผู้สมัครงาน และยังแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวประการหนึ่งในกระบวนการจ้างงานในปัจจุบัน

ท่ามกลางตลาดงานที่มีการแข่งขันสูงในยุคนี้ ผู้สมัครงานต่างเหนื่อยล้ากับการแข่งขันแย่งงานกันเอง ไหนจะต้องต่อสู้กับระบบ AI ที่อาจเข้ามาทดแทนแรงงานบางกลุ่ม รวมถึงกรณีพนักงานที่ทำงานระยะไกล ถูกบังคับให้กลับเข้าออฟฟิศ ทำให้พนักงานจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะหางานใหม่ แต่บางครั้งการสมัครงานใหม่ก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เพราะต้องเผชิญกับการถูกล่อลวงสารพัด บางเคสพอเข้าไปทำงานแล้วกลับพบว่า งานนั้นไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

ไม่นานมานี้มีข้อมูลสุดอึ้งจากสำนักข่าว CNBC รายงานอ้างถึงผลสำรวจใหม่ของ Greenhouse ระบุว่า พนักงานในสหรัฐฯ กว่าครึ่งหนึ่งหรือ 53% เผชิญกับการ “ถูกล่อลวงและให้ทำงานที่ไม่ได้ตกลงกันไว้” จากบริษัทต่างๆ ในระหว่างกระบวนการจ้างงานใหม่ โดยความรับผิดชอบในงานที่ระบุไว้บนใบประกาศรับสมัครงาน หรือในระหว่างการสัมภาษณ์นั้น “แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ” กับตอนที่พนักงานเริ่มเข้าไปทำงานจริงๆ  

หมายความว่า บริษัทไม่มีความโปร่งใสในการชี้แจง Job Description (JD) หรือรายละเอียดของงานให้แก่ผู้สมัครงานได้ทราบทั้งหมดอย่างบริสุทธิ์ใจตั้งแต่แรก แต่ตั้งใจล่อลวงให้เข้ามาทำงานก่อนแล้วก็ค่อยบอก JD งานจริงๆ ทีหลัง

โดยผลสำรวจของ Greenhouse ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจ้างงานออนไลน์ดังกล่าว ได้สำรวจความเห็นของพนักงานทั่วโลก 2,900 คน รวมถึงค้นพบข้อมูลมุมอื่นๆ อีกว่า ผู้หางานในสหรัฐฯ ราว 42% บอกว่า เงินเดือนที่บริษัทโฆษณาไว้ในใบประกาศรับสมัครงานตอนแรก มีการเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการสัมภาษณ์หลายรอบ (ถูกกดเงินเดือน) แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างต้องเปิดเผยช่วงเงินเดือนให้ผู้สมัครงานทราบก็ตาม

เปิดเคสพนักงานรุ่นใหม่ โดนล่อใจด้วยข้อเสนอ “การทำงานทางไกล” แบบปลอมๆ

ยกตัวอย่างเคสของ ‘อเล็กซิส เบิร์ด’ (Alexis Byrd) พนักงานสาววัย 29 ปี ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่แล้วเธอได้เริ่มงานใหม่ ในตำแหน่งทรัพยากรบุคคลของสายงานโลจิสติกส์ ซึ่งเธอรู้สึกตื่นเต้นมาก เธอมาสมัครงานนี้เพราะเป็นตำแหน่งงานที่เธอสามารถทำงานจากทางไกลได้ 

หลังจากผ่านการสัมภาษณ์งานและบริษัทตกลงรับเธอเข้าทำงานแล้ว เธอถูกขอให้เดินทางไปทำงานที่สำนักงานในช่วงสัปดาห์แรกทุกวันก่อนเพื่อการปฐมนิเทศ ซึ่งเบิร์ดคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ที่สำนักงานเธอได้รับการต้อนรับด้วยดอกไม้และเพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่สามของการทำงาน ผู้จัดการของเธอแจ้งว่า เธอจะต้องเดินทางเข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ ไม่เพียงเท่านั้น เบิร์ดยังต้องขับรถไปยังสถานที่ทำงานอีกสองแห่งของบริษัท สัปดาห์ละสองครั้ง ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลาขับรถเพิ่มขึ้นประมาณสองชั่วโมงเทียบกับการเดินทางไปออฟฟิศสาขาหลักตามปกติ ซึ่งเธอถึงขั้นบอกว่า “เรื่องนี้มันบ้ามาก ฉันรู้สึกแย่เกินกว่าจะรับได้”

เบิร์ดพยายามหารือข้อตกลงการทำงานระยะไกลกับผู้จัดการของเธอเพื่อให้ชัดเจนขึ้น แต่ผู้จัดการกลับบอกเธอว่า “บางครั้งสิ่งต่างๆ และวิธีทำงานมีการเปลี่ยนแปลงไป และคุณต้องมีความยืดหยุ่น” เบิร์ดบอกว่าคำพูดเหล่านี้มันเหมือนกับการปัดความรับผิดชอบ

เบิร์ดทนทำงานอยู่ที่นี่ได้สองเดือนเต็มๆ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดี เธอชอบเพื่อนร่วมงานและมองเห็นตัวเองเติบโตที่นั่นได้ แต่ในใจลึกๆ เธอยังคงรู้สึกแย่ที่โดนหลอกให้คว้าโอกาสนี้ไว้ โดยเฉพาะเมื่อเราเองเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความต้องการงานที่ยืดหยุ่น แต่กลับโดนบริษัทสวนกลับแบบนี้ อีกทั้ง หน้าที่ความรับผิดชอบในงานก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ผู้จัดการให้เธอทำงานหลายอย่างมากกว่าที่ตกลงกันไว้ ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจลาออกไป

ทำไมบริษัทหลายแห่งจึงล่อลวงผู้สมัครงานด้วยกลวิธีแบบนี้? 

การถูกหลอกล่อในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เป็นประสบการณ์ที่น่าหงุดหงิดสำหรับผู้สมัครงาน และยังแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวประการหนึ่งในกระบวนการจ้างงานในปัจจุบัน ‘จอน สโตรส’ (Jon Stross) ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Greenhouse ย้ำให้เห็นภาพชัดขึ้น เขาบอกอีกว่า ส่วนใหญ่แล้วประสบการณ์เหล่านี้บ่งบอกว่า เส้นทางการหางานใหม่ในยุคนี้ช่างยากลำบาก ทีมงานผู้รับสมัครงานหลายองค์กรนิยมใช้กลวิธีเหล่านี้ซึ่งส่อถึงเจตนาที่ไม่ดี

“สิ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ เมื่อบริษัทต่างๆ เร่งรีบในการรับสมัครพนักงานใหม่ พวกเขามักจะหยิบคำอธิบายรายละเอียดงานจากตำแหน่งงานเก่าๆ เอากลับมาใช้ซึ่งมันไม่อัปเดต หรืออาจค้นหาทางออนไลน์แล้วก๊อปปี้ JD งานของบริษัทอื่นเอามาใช้ ซึ่งมันย่อมผิดพลาด” สโตรส แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

เมื่อพวกเขาเริ่มสัมภาษณ์ผู้สมัครจริงๆ ทีมงานเองก็เพิ่งจะมาเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่จริงๆ ในช่วงท้ายของการรับสมัคร (เช่น ทักษะที่ต้องการจริงๆ เป็นแบบใด, รายละเอียดงานและขอบเขตงานเป็นอย่างไร) ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่บริษัทเริ่มจ้างงาน JD ของงานนั้นก็จะเปลี่ยนไปจากที่ประกาศรับสมัครตอนแรก ซึ่งเหตุการณ์อะไรทำนองนี้เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลสิ้นดี 

บริษัทมีอำนาจกดพนักงาน? เปลี่ยน JD งานแบบไหนก็ได้ตามใจชอบ

ซาฮารา ไพน์ส (Sahara Pynes) หุ้นส่วนด้านแรงงานและการจ้างงานที่ Fox Rothschild LLP ในลอสแองเจลิส สะท้อนมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า โดยทั่วไปแล้ว นายจ้างมักจะเปลี่ยนขอบเขตของงานในระหว่างขั้นตอนการสัมภาษณ์ หรือแม้แต่หลังจากการรับคนเข้าทำงานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมาก เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ เช่น Amazon, Dell และ Walmart ได้เข้มงวดนโยบาย RTO ของตนมากขึ้น โดยบางครั้งกำหนดให้พนักงานที่ทำงานจากระยะไกลต้องย้ายสถานที่ทำงานหรือหากไม่ทำตามก็จะถูกไล่ออก

“โดยทั่วไปแล้ว รายละเอียดงานส่วนใหญ่บริษัทจะปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ ผู้สมัครงานควรรับรู้ว่า เงื่อนไขการจ้างงานของคุณอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยอาจมีหรือไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพนักงานว่าต้องการทำงานภายใต้เงื่อนไขเหล่านั้นหรือไม่” ไพน์ส อธิบาย

อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครคนใดก็ตามพบว่าตัวเองถูกเปลี่ยนรายละเอียดงานแตกต่างจากดิมไปอย่างมาก (เช่นในกรณีของเบิร์ดสาววัย 29 ปีข้างต้น) และเปลี่ยนทันทีภายในไม่กี่วัน นั่นดูเหมือนจะเป็นการบิดเบือนและหลอกลวงของจริง และถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จ้างงานคุณ ทั้งนี้ ผู้สมัครงานอาจมีสิทธิเรียกร้องได้ หากบริษัทเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนของคุณกะทันหัน (เช่น จำนวนเงินที่คุณจะได้รับเป็นค่าคอมมิชชันและโบนัส) โดยไม่แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร 

เปิดวิธีรับมือกับการสัมภาษณ์งานแบบล่อลวง

สโตรสบอกว่า การป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้โดนล่อลวงขณะสัมภาษณ์งาน คือ การถามคำถามให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ตลอดกระบวนการรับสมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นการ “ขอคำชี้แจงเกี่ยวกับงานที่ทำ” หรือถามคำถามว่า ตำแหน่งงานนี้นายจ้างคาดหวังอะไรจากพนักงาน หรือนายจ้างวางเป้าหมายไว้อย่างไรเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นคำถามที่ดีที่แสดงถึงความสนใจของคุณและช่วยให้คุณได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผู้สมัครต้องเชื่อสัญชาตญาณของตนเอง หากรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการสมัครงาน 'เวสตัน เดวิส' (Weston Davis) วัย 35 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด SEO ในซานฟรานซิสโก แชร์ประสบการณ์ของเขาเอง ในช่วงที่เขาสมัครงานด้านการตลาดและการสื่อสารเมื่อต้นปีนี้ 

เขาเล่าว่า เขาได้รับอีเมลยืนยันการสัมภาษณ์งาน แต่ก็สังเกตเห็นว่าคำอธิบายรายละเอียดงานที่มีอยู่ในเอกสารที่แนบมาให้นั้น “แตกต่าง” จากเอกสารที่เขาเคยกรอกใบสมัครไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งนั่นทำให้เขากังวล แต่อย่างไรก็ตาม เขาเลือกที่จะไปสัมภาษณ์งานโดยระมัดระวังตัว ในที่สุดก็พบว่า ตำแหน่งที่นายจ้างกำลังสัมภาษณ์เขาอยู่คือตำแหน่งบริการลูกค้าในฝ่ายขาย ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งด้านการตลาดและการสื่อสาร ซึ่งเขาขอปฏิเสธงานนี้ทันที

เดวิสบอกอีกว่า “หากบริษัทเปลี่ยนตำแหน่งงาน หรือเปลี่ยนรายละเอียดงานของคุณ คุณสามารถไปสัมภาษณ์งานเพื่อสอบถามเรื่องนั้นให้แน่ชัดมากขึ้นได้ แต่ท้ายที่สุด หากพบว่ามันไม่ใช่งานที่คุณต้องการแต่แรก อย่าลังเลที่จะปฏิเสธมันไปตรงๆ นี่ไม่ใช่สัญญาณเตือนปกติ แต่เป็นสัญญาณเตือนที่รุนแรง” นอกจากนี้ เขายังเตือนผู้หางานให้ตระหนักถึงการหลอกลวงงานและสถานการณ์อื่นๆ ที่หลอกล่อคนที่มีสถานการณ์ทางการเงินที่ไม่มั่นคง

ขณะที่ เบิร์ด แนะนำว่า ตอนสัมภาษณ์ให้สอบถามทุกอย่างให้เคลียร์มากที่สุด หากพบว่ามีจุดไหนในส่วนความรับผิดชอบของงานที่ขัดแย้งหรือแตกต่างจากที่พูดคุยกันในตอนแรก ให้ขอคำชี้แจงจากผู้สัมภาษณ์ว่าเหตุใดสิ่งต่างๆ จึงเปลี่ยนไป และหากคุณเผลอตอบรับเข้าทำงานไปแล้ว และเริ่มทำงานในช่วงแรกแล้ว แต่กลับเจอที่หลังว่าลักษณะงานมันไม่ใช่อย่างที่คุยกันไว้ ก็ควรขอนัด HR เพื่อพูดคุยปรับความคาดหวังในงานใหม่ และพิจารณาค่าตอบแทนใหม่อีกครั้ง หรืออาจต่อรองเวลาพักร้อนเพิ่มเติมหรือตารางเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น