โดนบีบให้ลาออก ต้องทำยังไง? ลูกจ้างร้องเรียนขอค่าชดเชยตามกฎหมายได้

โดนบีบให้ลาออก ต้องทำยังไง? ลูกจ้างร้องเรียนขอค่าชดเชยตามกฎหมายได้

โดนบีบให้ลาออก? ลูกจ้างร้องเรียนค่าชดเชยตามกฎหมายได้ เช็กลิสต์ลักษณะที่เข้าข่ายถูกบีบให้ออกจากงาน ที่สร้างความกดดันจนพนักงาน เช่น โยนงานยากๆ ให้, สั่งย้ายสายงานโดยไม่มีเหตุผล, ไม่เลื่อนตำแหน่ง ไม่ขึ้นเงินเดือน ฯลฯ

KEY

POINTS

  • จากกรณีเภสัชกรหนุ่มจบชีวิตตนเอง เหตุเจอความเครียดและความกดดันจากที่ทำงาน หัวหน้างาน Toxic บีบให้ออกจากงานหลายครั้ง แม้เจ้าตัวเคยแจ้งว่ายังไม่อยากลาออก
  • ประเด็นการถูกบีบให้ลาออกจากงาน มีความรุนแรงหลายระดับ หากรุนแรงถึงขั้นโดนบังคับเขียนใบลาออกทั้งที่ลูกจ้างไม่มีเจตนาลาออก จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมลูกจ้างฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้ 
  • ลักษณะที่เข้าข่ายการบีบให้ออกจากงานในรูปแบบอื่นๆ ที่สร้างความกดดันจนพนักงานอยากลาออกเอง เช่น โยนงานยากๆ ให้ทำทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางสำเร็จ, สั่งย้ายสายงานโดยไม่มีเหตุผลเหมาะสม, ไม่เลื่อนตำแหน่ง ไม่ขึ้นเงินเดือน ฯลฯ

คงไม่มีใครอยาก “ลาออก” จากงานถ้าไม่จำเป็นจริงๆ รวมถึงไม่มีใครอยากถูก “เลิกจ้าง” ด้วย เพราะนั่นหมายถึงรายได้หลักจะหายไปแบบไม่มีกำหนดจนกว่าจะได้งานใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้งาน เพราะทุกวันนี้สภาพเศรษฐกิจและตลาดแรงงานผันผวน แต่ขณะเดียวกันกลับเกิดกรณีเภสัชกรหนุ่มจบชีวิตตนเอง เหตุโดนกดดันจากที่ทำงานจนเกิดความเครียดสูง เจอหัวหน้างานบีบให้ลาออกหลายครั้ง ทั้งที่เจ้าตัวเคยแจ้งไปว่ายังไม่อยากออกจากงาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นของการ “ถูกบีบให้ลาออก” นั้น เป็นคนละประเด็นกับการ “ถูกเลิกจ้าง (LayOff)” สำหรับการเลิกจ้างหรือถูกปลดออกนั้น คือ การยุติการจ้างงานของพนักงานโดยไม่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติงานของบุคคลนั้น (ไม่ได้ทำผิดวินัยหรือกฎระเบียบบริษัท) พนักงานอาจถูกเลิกจ้างเมื่อบริษัทตัดสินใจลดต้นทุน หรือบริษัทปิดกิจการ อันเนื่องมาจากความต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 

กรณีการเลิกจ้างมักพบเห็นตัวอย่างของบริษัทเทคฯ ใหญ่ๆ ระดับโลกที่ประกาศ LayOff คนงานหลักร้อยคนหรือหลักพันคนก็มี ซึ่งก็เกิดจากการที่บริษัทต้องการลดต้นทุน กรณีนี้ลูกจ้างต้องได้ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และหากนายจ้างไม่แจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน (ประกาศเลิกจ้างโดยมีผลทันที) แบบนี้จะต้องจ่าย “ค่าตกใจ” ให้ลูกจ้างด้วยถือเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

หากถูกบีบให้ออก ลูกจ้างต้องทำอย่างไร ร้องเรียนทางกฎหมายได้หรือไม่?

แต่สำหรับกรณี “ถูกบีบให้ลาออก” นั้น มักจะเกิดจากเหตุผลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความไม่มีประสิทธิภาพของลูกจ้างเอง แม้จะไม่ได้ทำผิดวินัยหรือผิดกฎระเบียบบริษัทก็ตาม หรืออาจเป็นเพราะถูกกลั่นแกล้ง หรือเกิดปัญหาความขัดแย้งบางอย่างในที่ทำงาน ฯลฯ แต่ก่อนจะฟันธงได้ว่า สิ่งที่ลูกจ้างเผชิญอยู่นั้นเรียกว่าถูกบีบให้ลาออกจริงหรือไม่? ก็ต้องมีการตรวจสอบหรือสอบสวนเบื้องต้นก่อน หากพบว่าลูกจ้างโดนละเมิดจริง หรือหากถึงขึ้นโดนบังคับให้เขียนใบลาออกอย่างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็สามารถแจ้งร้องเรียนตามกฎหมายแรงงานได้ 

โดนบีบให้ลาออก ต้องทำยังไง? ลูกจ้างร้องเรียนขอค่าชดเชยตามกฎหมายได้

ทั้งนี้ มีคำศัพท์เกี่ยวกับ “การออกจากงาน” อีกหลายคำซึ่งมีความหมายแตกต่างกันไป โดยข้อมูลจากธรรมนิติ เว็บไซต์ด้านกฎหมายอธิบายว่า หากเป็นการลาออกโดยสมัครใจลูกจ้างจะไม่ได้ค่าชดเชย ขณะที่การเลิกจ้าง แบ่งแยกย่อยออกเป็น “ให้ออก, ปลดออก, ไล่ออก” ซึ่งการไล่ออกถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงสุด เกิดจากลูกจ้างทำผิดวินัยร้ายแรงจนส่งผลกระทบรุนแรงแก่นายจ้าง (มาตรา 119) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ขณะที่การถูกให้ออกหรือถูกปลดออกจากงาน ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทน 

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายสำคัญเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิ์ของพนักงานทุกคน สำหรับกรณี “การบีบให้ลาออกจากงาน” ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่กฎหมายคุ้มครองเอาไว้ด้วย หากยึดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2548 ที่ระบุว่า.. การสร้างความกดดันหรือหวาดกลัวให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก ทั้งที่ลูกจ้างไม่มีเจตนาลาออก กฎหมายจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งลูกจ้างสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้ 

ลองเช็กลิสต์ 6 ข้อ แบบไหนเรียกเข้าข่ายถูกบีบให้ออกจากงาน?

สำหรับใครที่พบปัญหาในที่ทำงานและสงสัยว่าตนเองกำลังถูกบีบให้ลาออกหรือไม่นั้น จากข้อมูลของ HREX.asia ได้ระบุถึงตัวอย่างลักษณะของนายจ้างหรือหัวหน้างานที่เข้าข่ายบีบให้ลูกจ้างลาออกหรือเรียกว่า Quiet Firing ซึ่งมีหลายวิธีในการกดดันให้พนักงานลาออกจากงาน โดยจะมีอยู่ 6 วิธีที่พบเห็นได้บ่อยเป็นพิเศษในที่ทำงาน ดังนี้ 

1. มอบหมายงานยากๆ กดดันสูง และไม่มีทางสำเร็จ 

นายจ้างจะมอบหมายงานยากๆ ให้ทำ หรือให้ภารกิจที่ใครดูก็รู้ว่าแทบไม่มีทางทำได้สำเร็จ หากพนักงานได้รับมอบหมายหน้าที่แบบนี้เป็นประจำ จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ ไม่อยากทำงาน แล้วตัดสินใจลาออกไปเอง

2. สั่งย้ายให้ไปอยู่สายงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานเดิม

กรณีนี้ใกล้เคียงกับข้างต้น คือหัวหน้างานสั่งย้ายลูกน้องไปอยู่สายงานอื่นหรือแผนกอื่น ซึ่งต้องตรวจสอบดีๆ ก่อน เพราะคำสั่งนี้อาจไม่ได้เป็นเหตุผลว่าต้องการไล่พนักงานออกเสมอไป บริษัทอาจพิจารณาแล้วว่า พนักงานมีศักยภาพในการทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วง แต่หากย้ายไปแล้วชีวิตการงานแย่ลงกว่าเดิม ก็เป็นเหตุให้คิดได้ว่าหัวหน้างานพยายามบีบให้ลูกจ้างลาออก มีพนักงานไม่น้อยที่เมื่อย้ายสายงานไปแล้วอยู่ได้ไม่นาน มักจะตัดสินใจลาออกไปเอง

3. ไม่เลื่อนตำแหน่ง ไม่ขึ้นเงินเดือน

พนักงานทุกคนย่อมอยากเติบโตก้าวหน้าในองค์กรหรือในสายงานที่ทำอยู่ แต่หากทำงานไปหลายปีแล้ว กลับไม่เคยได้เลื่อนตำแหน่ง หรือไม่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เป็นไปได้สูงว่า บริษัทอาจไม่ได้มองเห็นคุณค่าและความสามารถของพนักงานเท่าที่ควร จนพนักงานรู้สึกไร้คุณค่า และทำงานแบบเช้าชามเย็นชามเพราะมองว่าขยันทำงานไปก็ไม่ได้เงินเพิ่ม หรือไม่พวกเขาก็มักจะตัดสินใจลาออกไปเอง

4. โดนทิ้งให้เคว้งมืดแปดด้าน ไม่มีใครสนับสนุน

ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยและพบเห็นได้ง่ายในที่ทำงาน พนักงานบางคนมักถูกโยนงานให้ทำแล้วไม่มีใครมาช่วยซัพพอร์ตหรือให้คำปรึกษาเรื่องงาน แต่กลับปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยว ไม่รับรู้เรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เช่น ไม่ให้เข้าประชุมสำคัญ ไม่มีคนแจ้งข่าวกิจกรรมต่าวๆ ของบริษัท หรือไม่เชิญไปร่วมงานด้วย เพื่อนร่วมงานเลือกจะหนีหน้าเวลาเจอตัว เหล่านี้จะทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้คุณค่า และสุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกไปเอง

โดนบีบให้ลาออก ต้องทำยังไง? ลูกจ้างร้องเรียนขอค่าชดเชยตามกฎหมายได้

5. ไม่รับฟังความคิดเห็นของพนักงาน

แม้จะเป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ดี แต่หากความคิดเห็นนั้นมาจากคนที่หัวหน้างานไม่อยากรับฟัง เป็นไปได้ที่ความเห็นนั้นจะถูกมองผ่าน ไม่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ดันมีคนอื่นเอาไอเดียของเราไปใช้แล้วเคลมว่าเป็นไอเดียของเขาเอง สิ่งนี้ย่อมทำให้พนักงานที่เสนอแนะคนแรกรู้สึกไม่ดี แล้วเลือกลาออกไปอยู่ที่อื่นที่รับฟังความคิดเห็นที่มีประโยชน์มากกว่าแทน

6. มอบหมายงานที่ง่ายเกินไป ไม่มีค่า ไม่เติบโต

บริษัทบางแห่งหรือหัวหน้างานบางคน เลือกที่จะบีบพนักงานให้ออกด้วยการผลักพนักงานไปอยู่ในส่วนงานที่ไม่มีประโยชน์ หรือให้ทำงานง่ายๆ ดูเหมือนจะดีแต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะการทำแบบนี้มีข้อเสียมากกว่า ทำให้พนักงานไม่เกิดการพัฒนา ไม่ได้ทำอะไรที่ท้าทายความสามารถ ไม่มีประโยชน์ต่อองค์กร โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่ตั้งใจทำงานหรือมีผลงานดีแล้วถุกผลักไสออกไปแบบนี้ พวกเขาจะรู้สึกว่าอยู่ไปก็ไม่ได้เก่งขึ้น และเกิดความคิดอยากลาออกไปเอง

ลูกจ้างเช็กและมั่นใจว่าเผชิญกับการถูกบีบให้ออกจริง ต้องรับมืออย่างไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม หากเกิดลักษณะการกระทำต่างๆ ข้างต้นกับลูกจ้าง และมั่นใจว่าตนเองกำลังถูกบีบให้ออก ก่อนอื่น..อย่าเพิ่งรีบชิงลาออกเอง แต่ควรเริ่มจากขอความช่วยเหลือจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของที่ทำงานก่อน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบว่าเข้าข่ายโดนละเมิดและถูกบีบให้ออกจริง ค่อยดำเนินการในขั้นตอนทางกฎหมาย มีคำแนะนำจาก Thepractical ถึงวิธีการจัดการปัญหานี้ในเบื้องต้น ดังนี้ 

1. พูดคุยกับหัวหน้างานแบบตรงๆ ให้ชัดเจน

กำหนดเวลาการประชุมกับเจ้านายหรือหัวหน้าเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ พูดคุยให้ชัดว่าที่บีบเราให้ลาออกนั้น มีเหตุผลอะไร? เปิดใจทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของเจ้านาย หากเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขร่วมกันได้ เช่น ปัญหาด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ก็ให้แก้ไขกันไป แต่หากพบว่าเป็นปัญหาที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร ก็ให้สอบถามถึงตำแหน่งว่างอื่นๆ ในบริษัทที่พอจะสามารถโยกย้ายไปทำได้

2. รู้จักสิทธิของตัวเอง ตรวจสอบสัญญาจ้างงาน

หากรู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ถูกบีบให้ออก ให้รีบตรวจสอบสัญญาจ้างงานและนโยบายของบริษัท เพื่อดูว่าสิ่งที่เจออยู่เข้าข่ายการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากใช่ จะต้องมีสิทธิ์ได้ค่าชดเชย หรือผลประโยชน์อื่นๆ หากคุณรู้สึกว่าสิทธิ์ของคุณถูกละเมิด ให้พิจารณาขอคำแนะนำทางกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริษัท เช่น ฝ่ายบุคคล เป็นต้น

3. เก็บเอกสารและบันทึกข้อความทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง 

ต้องเก็บบันทึกการสนทนาหรืออีเมลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้นโดยละเอียด เพื่อในกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายหรือร้องเรียนกับ HR สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เป็นหลักฐาน อย่าใช้เพียงการบอกเล่าเพราะไม่มีน้ำหนักมากพอ หากปรึกษา HR แล้วและมีการตรวจสอบภายในแล้วว่าคุณถูกละเมิดจริง ก็ให้ดำเนินการต่อทางกฎหมายโดยร้องเรียนไปยังสายด่วนแรงงาน หรือติดต่อศาลแรงงานในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เหล่านี้มักเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและตึงเครียด หากมองว่าปัญหาเหล่านี้สร้างความเครียดมากเกินความจำเป็น ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่พนักงานจะพิจารณาลาออกจากงาน และมองหางานใหม่ อย่างน้อยก็เป็นการปกป้องสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเอง หรือควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อให้ตัวเรามีสติและหาทางออกต่อไปได้