ย้อนดูหลักเกณฑ์ ลูกจ้างประสบภัยน้ำท่วม ไปทำงานไม่ได้ ไม่นับว่าขาดงาน

ย้อนดูหลักเกณฑ์ ลูกจ้างประสบภัยน้ำท่วม ไปทำงานไม่ได้ ไม่นับว่าขาดงาน

ย้อนดูหลักเกณฑ์การดูแลลูกจ้างกรณีประสบเหตุ "น้ำท่วม" จนไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุไว้ชัด ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่นับว่าขาดงาน ทั้งลูกจ้างนายจ้างต้องสื่อสารกันให้เข้าใจ

เหตุอุทกภัยน้ำท่วม 2567 กินเวลายาวนานกว่าที่คาดคิด สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนคนไทยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องแถบภาคเหนืออย่างเชียงราย เชียงใหม่ ที่ก่อนหน้านี้น้ำท่วมลดลงแล้ว แต่พอเจอฝนตกระลอกใหม่เข้ามาซ้ำเติม ก็ทำให้พื้นที่เดิมๆ กลับมาท่วมซ้ำอีก หลายคนหมดเนื้อหมดตัว ขาดงาน ขาดรายได้ 

สำหรับในกรณีลูกจ้างที่ประสบเหตุภัยพิบัติน้ำท่วม หรือบ้านเรือนถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถออกไปทำงานได้ มีหลายคนสงสัยว่ากรณีนี้ลางานได้หรือไม่? จะเป็นการขาดงาน ถูกหักเงินเดือน หรือถูกเลิกจ้างหรือเปล่า? ..คำตอบคือ สามารถลางานได้ โดยไม่นับว่าเป็นการขาดงาน

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลจาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่เคยกล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ในปี 2564 ซึ่งในปีนั้นประเทศไทยก็ประสบเหตุอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่เช่นกัน โดยระบุไว้ชัดเจนว่า 

"กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่ประสบภาวะน้ำท่วม จากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้เพราะประสบภาวะน้ำท่วม ไม่ถือเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ หากนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย" 

ทั้งนี้ มีรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ลูกจ้างหลายคนกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม จนส่งผลให้ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางไปทำงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้างได้ตามปกตินั้น ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง จึงไม่ถือว่าลูกจ้างขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ 

นายจ้างจะนำมาเป็นเหตุลงโทษวินัย หรือออกหนังสือเตือน หรือเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ หากนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย 

แต่ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ประสบเหตุอุทกภัยและไม่สามารถไปทำงานได้ ควรมีการแจ้งให้นายจ้างหรือหัวหน้างานทราบทันที เพื่อให้นายจ้างได้จัดเตรียมลูกจ้างอื่นทำงานแทน หรือบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของนายจ้างด้วย

จากสถานการณ์การประสบภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการหลายแห่ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งและการเลิกจ้าง การแก้ไขปัญหาแรงงานในภาวะเช่นนี้ สมควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสงบสุขด้านแรงงาน ซึ่งระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขดังกล่าว

 

--------------------------

อ้างอิง: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน