พนักงาน Productivity ลดลง เมื่อผลเลือกตั้งสหรัฐ 2024 กระทบจิตใจและการทำงาน

พนักงาน Productivity ลดลง เมื่อผลเลือกตั้งสหรัฐ 2024 กระทบจิตใจและการทำงาน

พนักงานอาจมีผลิตภาพแย่ลง เมื่อผลการเลือกตั้งสหรัฐ 2024 กระทบการทำงาน บางคนถูกคุกคาม-เลือกปฏิบัติเพราะเห็นต่างทางการเมือง เหตุที่ได้ ‘ทรัมป์’ เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

KEY

POINTS

  • ผลการเลือกตั้งสหรัฐครั้งล่าสุด ส่งผลกระทบต่อพนักงานสหรัฐได้หลายประการ เช่น การสูญเสีย Productivity, เกิดความขัดแย้ง, ความไม่สุภาพ, ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจ
  • นายจ้างบริษัทต่างๆ ควรผ่อนปรนให้พนักงานลางานช่วงนี้ได้ หากพนักงานต้องการเวลาสักพักเพื่อทำใจ จากผลการเลือกตั้งสหรัฐที่ไม่เป็นดังใจหวัง
  • วิจัยชี้ เมื่อพนักงานถูกโจมตีหรือถูกคุกคามเนื่องจากมุมมองทางการเมืองต่างกัน พวกเขาต้องใช้เวลา 31 นาที จึงจะสามารถ “กลับมาทำงานได้ตามปกติได้”

เลือกตั้งจบ แต่อารมณ์ไม่จบ! ไม่ว่าจะรู้สึกดีใจหรือท้อแท้ใจที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งสหรัฐในปี 2024 อารมณ์เหล่านี้ของพนักงานในสหรัฐอาจกระทบต่อการทำงานมากกว่าที่คิด บรรยากาศในออฟฟิศจะเปลี่ยนไป เพื่อนร่วมงานบางคนแสดงความรู้สึกเดียวกัน แต่บางคนก็รู้สึกตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง หรือบางคนก็ไม่รู้สึกอะไรเลย

ไม่กี่วันก่อนสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ผ่านไปแล้ว และผลการเลือกตั้งจะออกมาแล้วว่า ‘ทรัมป์’ ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย แต่ความรู้สึกแบ่งแยกอันดุเดือดของชาวอเมริกันก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานชาวอเมริกัน นายจ้างตระหนักว่าพนักงานหลายคนอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองที่แข็งกร้าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานที่ทำงานและการวิเคราะห์ของ Burson (บริษัทประชาสัมพันธ์ระดับโลก) ระบุว่า ผลกระทบจากผลการเลือกตั้งสหรัฐครั้งล่าสุดนี้ อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานได้หลายประการ เช่น การสูญเสีย Productivity, เกิดความเป็นปฏิปักษ์ และความไม่สุภาพระหว่างพนักงาน รวมไปถึงอาจส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะหากพนักงานรู้สึกว่าถูกคุกคาม ถูกไล่ออก หรือถูกเลือกปฏิบัติเนื่องมาจากความเห็นต่างทางการเมือง

คริสตี พรูอิตต์-เฮย์นส์ (Christy Pruitt-Haynes) คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก NeuroLeadership Institute (สถาบันที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์การรู้คิด ส่งเสริมความเป็นผู้นำ และเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร) มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความขัดแย้งได้ง่ายในสังคมสหรัฐ ผู้คนรู้สึกว่าตนเองถูกโจมตีจากอีกฝ่ายที่คิดต่างทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสังคมการทำงาน พนักงานบางคนจะมาทำงานด้วยความยิ้มแย้ม ขณะที่บางคนมาทำงานด้วยความเศร้าใจ หลังรู้ผลการเลือกตั้ง

นายจ้างควรให้พื้นที่ “ทำใจ” แก่พนักงานที่ผิดหวังรุนแรงจากผลการเลือกตั้งสหรัฐ

วิธีการแก้ไขเรื่องนี้ พรูอิตต์-เฮย์นส์ แนะนำว่า นายจ้างบริษัทต่างๆ ควรจะผ่อนปรนให้พนักงานลางานในช่วงนี้ได้ หากพนักงานต้องการเวลาสักพักเพื่อทำใจจากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นดังที่หวัง ซึ่งบริษัทหลายแห่งก็เข้าอกเข้าใจพนักงานในเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยมอบทางเลือกในการทำงานจากที่บ้าน หรือปรับกำหนดเวลาส่งงานให้ขยายออกไปได้ พร้อมระบุว่า “หากพนักงานจำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านในอีก 2-3 วันหรือสัปดาห์ข้างหน้า ก็สามารถทำได้” 

ไมเคิล แม็กอาฟี (Michael McAfee) ซีอีโอของ PolicyLink ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและเศรษฐกิจให้แก่ชาวอเมริกัน บอกว่า เขาคาดหวังว่าวัยทำงานชาวอเมริกันจะมีความเป็นมืออาชีพ และทุ่มเทให้กับภารกิจการงานของทีม แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่บางคนผิดหวังรุนแรงจนทำงานไม่ไหว 

เขาแจ้งให้พนักงานของเขาทราบว่า “หากจำเป็นต้องลาในช่วงนี้ ก็ให้ลาได้” และเขาสนับสนุนให้พนักงานใช้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับวันลา เพื่อหยุดงานไป “ฟื้นฟูสภาพจิตใจ” ให้ดีเพื่อปรับสู่สภาพจิตใจที่เหมาะสมในการทำงานต่อไปได้ เพราะหลังการเลือกตั้งสหรัฐครั้งนี้ ยังคงมีผู้คนอีกเกือบ 100 ล้านคน ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เอาชีวิตรอดในการทำงานยุคนี้

พรูอิตต์-เฮย์นส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่พนักงานรู้สึกว่าตนเองถูกปฏิบัติไม่ดีจากผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง สามารถพบเห็นได้หลากหลายรูปแบบในที่ทำงาน เช่น โดนพูดจาเหยียดหยาม-ทำร้ายจิตใจ, โดนล้อว่าเป็นผู้สนับสนุนผู้แพ้การเลือกตั้ง, เมื่อแสดงความเสียใจต่อผลการเลือกตั้ง ก็โดนอีกฝ่ายหาว่าแสร้งทำเกินเหตุ, ถูกเอาเปรียบเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง (เมื่อไม่ได้อยู่ฝ่ายการเมืองฝ่ายเดียวกับผู้จัดการ) ฯลฯ

ความเสี่ยงจากการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุผลทางการเมือง อาจเกิดขึ้นได้บ่อยในที่ทำงาน

จอห์นนี เทย์เลอร์ (Johnny Taylor) หัวหน้าสมาคมการจัดการทรัพยากรบุคคล SHRM ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า นายจ้างอาจต้องสูญเสีย Productivity ขององค์กรบางส่วนไปในสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งก่อน เมื่อทรัมป์คว้าชัยชนะมาได้อย่างน่าตกตะลึงในปี 2016 

การสูญเสีย Productivity อาจเกิดต่อเนื่องในระยะยาว หากนายจ้างไม่ดูแลพนักงานให้สามารถรับมือเรื่องผลการเลือกตั้งให้ได้ โดยเขาแนะนำว่า ผู้นำบริษัทจะต้องเป็นแบบอย่างของความสุภาพในที่ทำงานอย่างจริงจัง และกำหนดขอบเขตให้ชัดว่า หากพนักงานไม่เห็นด้วยกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ก็ห้ามแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่ออีกฝ่ายเด็ดขาด 

จากการสำรวจนายจ้างและลูกจ้างในภาคเอกชน เกี่ยวกับความขัดแย้งเนื่องจากความเห็นต่างทางการเมืองในที่ทำงาน ของบริษัท Burson พบว่า ผู้นำระดับสูงถึง 38% ตระหนักถึงกรณีที่พนักงานในองค์กรของตน ประสบกับการปฏิบัติที่ไม่ดีในที่ทำงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับมุมมองทางการเมืองหรือการเลือกตั้งสหรัฐ

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจาก SHRM พบว่า เมื่อพนักงานถูกโจมตีหรือถูกคุกคามเนื่องจากมุมมองทางการเมืองต่างกัน พนักงานต้องใช้เวลา 31 นาที จึงจะสามารถ “กลับมาทำงานได้ตามปกติได้” สิ่งนี้อาจทำให้นายจ้างต้องสูญเสียต้นทุนด้าน Productivity เพิ่มขึ้น (กรณีนี้พบเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงาน 10 คนหรือน้อยกว่านั้น)

เทย์เลอร์ บอกอีกว่า นายจ้างควรคำนึงถึงสุขภาพจิตของพนักงานเมื่อพวกเขารู้สึกว่าถูกรังแก หรือถูกกีดกันในการเติบโตก้าวหน้า เนื่องมาจากความเห็นต่างด้านการเมืองในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาถูกรังแกด้วยการบีบให้ลาออก แต่ยังไม่สามารถลาออกจากงานได้ในตอนนี้

นายจ้างหรือผู้นำต้องควบคุมให้พนักงานคุยเรื่องการเมืองกันอย่างสุภาพ

“ไม่ว่าจะชอบหรือเกลียดผลการเลือกตั้งสหรัฐครั้งนี้ก็ตาม สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ผู้คนจะตอบสนองต่อผลการเลือกตั้งอย่างแข็งกร้าว (เช่น พูดจาเสียดสีกันในออฟฟิศหรือในกลุ่มแชทของที่ทำงาน) ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นจะทำให้ ‘ความสามารถในการคิดอย่างมีตรรกะและการคิดเชิงกลยุทธ์ในการทำงานลดลง’ อีกทั้งความสามารถในการควบคุมอารมณ์ก็จะลดลงด้วย” พรูอิตต์-เฮย์นส์ ย้ำให้เห็นภาพชัดเจน

หากเกิดสิ่งนี้ขึ้นในที่ทำงานย่อมส่งผลเสียต่อองค์กรแน่ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นายจ้างหรือผู้นำองค์กร ต้องพยายามร่วมกันในการเตือนพนักงานว่าไม่ควรแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ในที่ทำงาน ในฐานะผู้นำพวกเขาต้องเข้ามา Take Action ในออฟฟิศในช่วงเวลาอันเปราะบางแบบนี้

“แนะนำว่าให้มองโลกในแง่ดีและยอมรับความรู้สึกของผู้อื่น พูดตรงๆ ว่า หลังจากผลการเลือกตั้งออกมา บางคนรู้สึกตื่นเต้น แต่บางคนก็รู้สึกกลัวและเสียใจ แต่เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ในฐานะองค์กร จะต้องก้าวไปข้างหน้าต่อไปในแบบที่เคยทำมาตลอด” พรูอิตต์-เฮย์นส์ ย้ำ ขณะที่ผู้นำก็ต้องตรวจสอบตัวเองด้วยเช่นกัน องค์กรควรรักษาความเป็นกลางอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น ซีอีโอ ผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้าแผนก ควรละทิ้งความคิดเห็นส่วนตัวของตนในเรื่องการเมือง

ส่วน แอชลีย์ เฮิร์ด (Ashley Herd) ผู้ก่อตั้ง ManagerMethod แสดงมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า ควรส่งเสริมสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการเมื่อมาทำงาน นั่นคือ ความสงบ ความมั่นคง และความเคารพกันและกัน ผู้นำองค์กรต้องทำให้พนักงานรู้ว่า เมื่อมาทำงาน ทุกคนต้องการบางอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือการได้รับความเคารพในฐานะปัจเจกบุคคล และเราต้องทำงานร่วมกัน

สิ่งที่คนทำงานทุกคนต่างก็ไม่ต้องการและไม่อยากพบเจอก็คือ การที่มีใครสักคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับฝ่ายเรา เข้ามาพูดจาเสียดสีหรือเยาะเย้ยใส่หน้ากัน ไม่ว่าพวกเขาจะโหวตให้ใครในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม