วิเคราะห์สาเหตุ 'แฮร์ริส' แพ้เลือกตั้งสหรัฐ ให้กับ ทรัมป์ ผิดพลาดตรงไหน?

วิเคราะห์สาเหตุ 'แฮร์ริส' แพ้เลือกตั้งสหรัฐ ให้กับ ทรัมป์ ผิดพลาดตรงไหน?

อัลจาซีราวิเคราะห์สาเหตุ ทำไมรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส แพ้เลือกตั้งสหรัฐให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดแฮร์ริสมีเวลาเตรียมตัวน้อย และสูญเสียฐานเสียงจากคนหลายกลุ่ม

ผลการเลือกตั้งสหรัฐอย่างไม่เป็นทางการล่าสุดบ่งชี้ว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะรองปธน.คามาลา แฮร์ริส และเตรียมขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐ

ที่น่าสงสัยคือ แล้วแฮร์ริสพลาดตรงจุดใด การหาเสียงขอเธอผิดพลาดอย่างไร จนทำให้พรรครีพับลิกันของทรัมป์ชนะแบบแลนสไลด์ ด้วยคะแนนเสียงที่ห่างกับพรรคเดโมแครตมากสุดในรอบ 36 ปี อัลจาซีราวิเคราะห์ไว้ดังนี้

เหลือเวลาเตรียมตัวไม่มาก

หลังจากผลงานการดีเบตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับทรัมป์ เมื่อเดือนมิ.ย. ไปได้ไม่สวย จนทำให้ไบเดนต้องถอนตัวออกจากการเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ปธน.ของพรรคเดโมแครต แฮร์ริสจึงเหลือเวลาเตรียมตัวและรณรงค์หาเสียงเพียง 4 เดือน แม้จะมีการเรียกรองให้มีกระบวนการเลือกแคนดิเดตคนใหม่ แต่สมาชิกคนสำคัญของพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่ รวมถึงอดีตปธน.บารัก โอบามา และภรรยาของเขา ออกมาสนับสนุนแฮร์ริสอย่างรวดเร็ว

ในที่สุดแฮร์ริสก็ได้รับเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น นั่นหมายความว่าแฮร์ริสไม่เคยผ่านการบททดสอบการแข่งขันกับผู้สมัครชิงตำแหน่งปธน.คนอื่น ๆ ภายในพรรคเดโมแครตเลย

สลัดนโยบายไบเดนไม่พ้น?

รองปธน.พยายามแยกนโยบายของตนเองออกจากนโยบายของไบเดน โดยให้คำมั่นว่าเธอได้ “พลิกไปหน้าใหม่” และ “จะไม่ย้อนกลับไป” แต่เมื่อมีคนสัมภาษณ์หรือถามแฮร์ริสในรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับไบเดนโนมิกซ์ (Bidenomics) หรือ นโยบายเศรษฐกิจไบเดน เธอกลับแยกความแตกต่างนโยบายของเธอกับประธานาธิบดีไม่ได้ 

จากการสัมภาษณ์ในรายการ The View เมื่อเดือนธ.ค. พิธีกรได้ถามว่าเธอมีอะไรที่จะทำแตกต่างไปจากไบเดนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ แฮร์ริสตอบว่า "ยังคิดไม่ออก ก็ฉันเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาล" 

วลี “ยังคิดไม่ออก” กลายเป็นวลีที่ทีมหาเสียงของทรัมป์ใช้ในการโฆษณาเพื่อบรรยายถึงแฮร์ริส ในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากไบเดน

นอกจากนี้แฮร์ริสยังสูญเสียฐานเสียงในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตมานานเมื่อเทียบกับตอนที่ไบเดนเป็นแคนดิเดตสมัยแรก

ส่วนความสามารถของทรัมป์ในการแย่งฐานเสียงจากแฮร์ริส พร้อมกับดึงฐานเสียงเหล่านั้นเข้ามาสู่กลุ่มที่เห็นด้วยกับวลีหาเสียง Make America Great Again (MAGA) ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ

สูญฐานเสียงอเมริกันเชื้อสายอาหรับ-คนมุสลิม

แฮร์ริสสูญเสียฐานเสียงคนอเมริกันเชื้อสายอาหรับ และผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงชาวมุสลิม เพราะการสนับสนุนการทำสงครามอิสราเอลในกาซาและเลบานอนของรัฐบาลไบเดน และยังส่งผลให้เกิดแคมเปญ Abandon Harris ที่ได้รับการรับรองมาจาก "จิล สไตน์" แคนดิเดตจากพรรคกรีน

ตามข้อมูลของ Council on American-Islamic Relations (CAIR) กลุ่มสนับสนุนชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ระบุว่า ในช่วงก่อนเลือกตั้ง สไตน์ได้รับความนิยมจากชาวมุสลิม 42% รองลงมาเป็นแฮร์ริส 41% และทรัมป์ได้ 10%

ขณะที่ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในเมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับอาศัยอยู่หนาแน่น ระบุว่า ในวันเลือกตั้ง ทรัมป์ครองสัดส่วนคะแนนเสียงมากที่สุด โดยมีคนลงคะแนนเสียงเลือกทรัมป์ 47% รองลงมาเป็นแฮร์ริส 28% และสไตน์ได้ไป 22%

คนผิวดำหันเลือกทรัมป์

กลุ่มคนผิวดำที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง เป็นกลุ่มที่ทุ่มเทให้กับพรรคเดโมแครตมากที่สุด ตั้งแต่การเลือกตั้งในสมัยแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ในปี 2475

ความคาดหวังว่าคนผิวสีจะสนับสนุนเธอนั้นสูงมาก เพราะแฮร์ริสเป็นลูกครึ่ง มีเชื้อสายแอฟริกันและอินเดียนอเมริกัน แต่เธอต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย

เมื่อปีก่อนแกลลัพโพลเผยว่า สัดส่วนผู้ใหญ่ผิวดำในสหรัฐที่พิจารณาโหวตให้เดโมแครตลดลงจาก 77% ในปี 2563 สู่ระดับ 66%

ส่วนในการเลือกตั้งล่าสุด คนผิวดำสนับสนุนทรัมป์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่การเลือกตั้งในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2543

ตามข้อมูลเอ็กซิตโพลจาก Associated Press ระบุว่า ทรัมป์ได้ฐานเสียงคนผิวดำ 20% ขณะที่ในปี 2563 ได้รับคะแนนเสียงที่ระดับ 13% และปี 2559 ได้เพียง 8% เท่านั้น

ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐสวิงสเตตที่แข่งขันดุเดือดมากในปีนี้ แฮร์ริสเสียเสียงสนับสนุนจากคนผิวดำไป 3% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2563 โดยได้รับเสียงสนับสนุน 89% ลดลงจาก 92% ในสมัยไบเดน ส่วนในรัฐนี้ทรัมป์ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 10% ขณะที่ในปี 2563 ได้ 7%

ในรัฐวิสคอนซิน คนผิวดำสนับสนุนแฮร์ริสลดลง 15% เหลือ 77% จากระดับ 92% ในสมัยไบเดน ขณะที่ทรัมป์ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น 8% จากการเลือกตั้งครั้งก่อน สู่ระดับ 21% ในครั้งนี้

อาดอลฟัส เบลค์ ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวินทรอปในรัฐเซาท์แคโรไลนา บอกว่า ความไม่พอใจเห็นได้ชัดมากขึ้นในกลุ่มคนผิวดำ ซึ่งมีมุมมองต่อพรรครีพับลิกันที่แตกต่างไป และมีต้องการอยากรู้เกี่ยวกับทรัมป์มากขึ้น แม้ทรัมป์มีเชื้อชาติที่แตกต่างจากพวกเขาก็ตาม

ลาตินกังวลประเด็นเศรษฐกิจ

แฮร์ริสยังสูญเสียฐานเสียงชาวลาตินอีกด้วย โดยเอ็กซิตโพลเผยว่า ชาวลาตินสนับสนุนทรัมป์เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2563

สำหรับชาวลาตินแล้ว เศรษฐกิจคือหนึ่งในประเด็นที่พวกเขากังวล และหลายคนมองว่าเศรษฐกิจตกต่ำภายใต้การบริหารของไบเดนและแฮร์ริส

จากผลสำรวจของเอพี พบว่า ชาวลาตินที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ มักกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และค่าที่อยู่อาศัยสูงขึ้น มากกว่าประเด็นอื่นๆ

ผู้หญิงกังวลเศรษฐกิจมากกว่าสิทธิทำแท้ง

ผู้หญิงที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ที่เป็นส่วนสำคัญในการหาเสียงของแฮร์ริส แสดงการสนับสนุนแฮร์ริสอย่างล้นหลามในวันเลือกตั้ง และแฮร์ริสก็มีคะแนนทรัมป์ในประเด็นสิทธิการทำแท้งมากถึง 20% 

แต่โพลเผยว่าแฮร์ริสรักษาฐานเสียงผู้หญิงไว้ได้ 54% ลดลงจากสมัยไบเดน ที่รักษาฐานเสียงผู้หญิงไว้ได้ 57%

ส่วนผลสำรวจก่อนเลือกตั้งและผลสำรวจหลังเลือกตั้ง ต่างแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในสหรัฐ มองว่าประเด็นเงินเฟ้อและความกังวลอื่นๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด และสำคัญมากกว่าสิทธิการทำแท้งมาก

แพ้ราบคาบในรัฐสวิงสเตต

รัฐ “blue wall” หรือรัฐที่มักลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเดโมแครต ซึ่งได้แก่ รัฐมิชิแกน รัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐวิสคอนซิน ต่างเปลี่ยนไปสนับสนุนรีพับลิกันอย่างไม่คาดคิดในศึกเลือกตั้งปีนี้ และทำให้ทรัมป์มีชัยเหนือแฮร์ริส

ทรัมป์เอาชนะแฮร์ริสไปได้อย่างเฉียดฉิวในรัฐมิชิแกนด้วยคะแนนห่าง 1.4% ส่วนรัฐเพนซิลเวเนียทรัมป์ชนะด้วยคะแนนห่าง 3% ขณะที่รัฐวิสคอนซินทรัมป์ชนะด้วยคะแนนทิ้งห่างเพียง 1% เท่านั้น

แต่สามรัฐนี้ไม่ใช่รัฐสวิงสเตตที่ทรัมป์ชนะเพียงอย่างเดียว เพราะผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่า ทรัมป์อาจชนะรัฐสวิงสเตตทุกรัฐ และโกยเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งได้ 93 เสียง

 

อ้างอิง: Al Jazeera