พ้นตำแหน่งไป ‘กลัวคนไม่เคารพ’ เปิดวิธีเตรียมใจ คนตำแหน่งใหญ่พร้อมเกษียณ

พ้นตำแหน่งไป ‘กลัวคนไม่เคารพ’ เปิดวิธีเตรียมใจ คนตำแหน่งใหญ่พร้อมเกษียณ

มากกว่าปัญหาการเงินคือ ‘กลัวคนไม่เคารพ’ เรื่องใหญ่วัยใกล้เกษียณ นักจิตวิทยาเผยวิธีเตรียมใจให้พร้อมเกษียณจริงๆ 

KEY

POINTS

  • หากอยากมีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบาย-พึงพอใจ นอกจากต้องมี “เงินเก็บที่เพียงพอ” แล้ว ควรหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ว่า “คุณจะเป็นใครได้หากไม่มีงานทำ?”
  • นักจิตวิทยาเผย คนใกล้เกษียณส่วนใหญ่มักจะวิตกกังวล และไม่กล้าเกษียณ แม้การเงินจะพร้อมแล้ว เพราะกลัวไม่มีคนเคารพ ไม่ถูกยอมรับ เมื่อตำแหน่งงานที่เคยมี หายไปจากชีวิต
  • วิธีแก้ไขคือ ให้ลองนึกถึง “ลักษณะนิสัยของคุณก่อนเกษียณ” ที่คุณอยากจะสืบทอดต่อไปในชีวิตหลังเกษียณ ในทางจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า “การเชื่อมโยงตัวตน” 

อยากกอดตำแหน่ง-ชื่อเสียง ไว้บนบ่าตลอดไป? บางครั้งวัยทำงานที่มีตำแหน่งงานสูงๆ อายุงานยาวนาน ก็มักมีปัญหา “วิกฤติการมีตัวตน (Identity Crisis)” ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพจิตได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะในช่วงใกล้เกษียณอายุ ถือเป็นช่วงที่พนักงานต้องตัดสินใจว่าจะลาออกตอนไหน ต้องเตรียมตัวอย่างไร และกังวลว่าชีวิตหลังจากนี้ที่ไม่ได้สวมหมวกตำแหน่งใหญ่โต จะเป็นอย่างไร? 

เทเรซา เอ็ม. อมาบิเล (Teresa M. Amabile) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารธุรกิจแห่ง Edsel Bryant Ford (ปริญญาเอกจิตวิทยา) ร่วมกับ ทีมวิจัยของ Harvard Business School ใช้เวลา 10 ปีในการศึกษาผู้เกษียณอายุในหัวข้อ “วิธีการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตหลังเกษียณที่ราบรื่นและน่าพอใจ” เธอค้นพบว่า คนใกล้เกษียณส่วนใหญ่มักจะวิตกกังวล และไม่กล้าเกษียณแม้การเงินจะพร้อมแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีความใกล้ชิดกับงานของตน

หากคุณต้องการที่จะก้าวสู่ชีวิตเกษียณที่สุขสบายได้อย่างราบรื่น นอกจากต้องคำถึงสิ่งสำคัญอย่าง “เงินเก็บที่เพียงพอ” และการวางแผนการเงินที่ดีแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งที่คนใกล้เกษียณ หรือคนอยากเกษียณก่อนกำหนด ควรหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ นั่นคือ “คุณจะเป็นใคร หากไม่มีงานทำ?” ..นี่คือคำแนะนำที่ดีที่สุดของศาสตราจารย์เทเรซา 

ตอบตัวเองอย่างซื่อตรง คุณคิดว่างานเป็นแค่ “สิ่งที่คุณทำ” หรือเป็น “ตัวตนของคุณ” ? 

แม้แต่คนที่ไม่คิดว่าตนเองมีความใกล้ชิดกับงานของตนมาตลอดอาชีพการงานอันยาวนาน ก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติตัวตนได้ ยกตัวอย่างเคสของ “ไอรีน” หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยครั้งนี้ ก่อนที่จะเกษียณอายุเธอชอบงานสายงานเทคโนโลยีของตนเองมาก เธอสนุกกับทีมงานและเคารพบริษัทของเธอ งานของเธอไม่ได้มีอิทธิพลต่อการกำหนดตัวตนของเธอ แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ใช้เวลาถึงสี่ปี กว่าจะตัดสินใจลาออกอย่างเป็นทางการ

หลังจากทำงานมายาวนานและมีความมั่นคงทางการเงินแล้ว ครั้งหนึ่งไอรีนเคยถามตัวเองว่า “ทำไมถึงไม่เกษียณสักทีล่ะ” และเธอได้คำตอบว่า “คนอื่นๆ มักจะเคารพเราในขณะที่ยังทำงานในตำแหน่งนี้อยู่ (ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน มีตำแหน่งระดับสูง) แต่ถ้าเกษียณไปแล้ว ก็อาจจะไม่มีใครเคารพเราอีกต่อไป”

นั่นทำให้เธอพบว่า ตัวตนของ “ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน” มีความสำคัญกับเธอมากกว่าที่คิด และหลังจากเกษียณก็ไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นใคร เมื่อไม่มีตำแหน่งงานที่ให้คุณค่านั้น ..แล้ววัยทำงานจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

ศาสตราจารย์เทเรซา แนะนำให้วัยทำงานเริ่มต้นด้วยการถามตัวเองว่า “งานของฉันเป็นแค่สิ่งที่ฉันทำ (หาเงินเลี้ยงชีพ)” หรือ “งานของฉันคือตัวตนของฉัน” มากกว่ากัน?  หากคำตอบที่ตรงไปตรงมาของคุณคือ งานของคุณคือตัวตนของคุณ นั่นแสดงให้เห็นว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเกษียณของคุณซับซ้อนขึ้น และช่วงเวลาหลังเกษียณจากงานชีวิตอาจไม่ราบรื่นนัก 

เปิดวิธีเตรียมใจ พร้อมเชื่อมโยงตัวตนใหม่หลังเกษียณอายุ

แต่เรื่องนี้แก้ไขได้ โดยให้คุณระบุอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของคุณ พร้อมทั้งความต้องการ ค่านิยม เป้าหมาย และความชอบที่สำคัญที่สุดของคุณ ทั้งในแง่ของชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในแง่ของชีวิตที่คุณจินตนาการ (หรือปรารถนา) ว่าอยากจะเป็นในอนาคตอันใกล้นี้ 

ยกตัวอย่างเช่น คนๆ หนึ่งอาจระบุอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของตนเองว่า “เป็นผู้นำ” “ความเป็นมิตร” “เป็นแม่” “เป็นโค้ช” “ความฟิตของร่างกาย” “ความเป็นเพื่อน” และ “กิจกรรมที่มีความหมาย” เป็นต้น ทั้งนี้ คีย์สำคัญคือให้ลองนึกถึง “ลักษณะนิสัยของคุณก่อนเกษียณ” ที่คุณอยากจะสืบทอดต่อไปในชีวิตหลังเกษียณ ในทางจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า “การเชื่อมโยงตัวตน” 

เคสหนึ่งที่น่าสนใจคือ วิกเตอร์ อดีตผู้บริหารบริษัท ในฐานะ “ผู้นำ” ที่กำลังจะเกษียณอายุงาน เขาเชื่อมโยงหมวกของ “ผู้นำ” ในโลกการทำงานเดิมเข้ากับผู้อื่นในโลกหลังเกษียณได้อย่างน่าพอใจอย่างยิ่ง ด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผู้นำในโบสถ์” ของชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ หลังจากออกจากตำแหน่งผู้บริหารบริษัทได้ไม่นาน

“ตัวตนหลังเกษียณอายุ” อาจซ่อนอยู่ในขณะทำงาน แต่เราไม่สังเกตเห็น

ขณะที่ เจย์ กลุ่มตัวอย่างผู้ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยชิ้นนี้อีกคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน เขาบอกว่างานของเขากลายเป็นตัวตนของเขาด้วย ตลอดอาชีพการงานที่ยาวนานของเขา เขาไม่เคยค้นพบเลยว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นใคร การค้นพบตัวตนใหม่ กลายเป็นโครงการเกษียณอายุครั้งใหญ่ของเขา 

เจย์ได้ฟื้นคืนตัวตนในฐานะ “นักแต่งรถ” ปรากฏว่าพรสวรรค์นี้ของเขาถูกซ่อนเร้นมานาน ในช่วงหลายปีที่เขายังทำงานอยู่เขาหลงลืมไปว่าเขาเคยแต่งรถเก่า ลงสนามแข่งรถ เคยแข่งขันในรายการแรลลี่ และรู้สึกเพลิดเพลินไปกับมิตรภาพในชุมชนคนแข่งรถด้วย ปัจจุบัน เจย์ ลาออกจากงานประจำแต่ยังคงทำงานพาร์ทไทม์หกเดือนต่อปี เขาซื้อรถฮอตโรดและเริ่มปรับแต่งมัน นี่ถือเป็นก้าวสำคัญในการค้นหาว่า “เขาเป็นใคร” อย่างแท้จริง โดยที่งานไม่ใช่บริบทหลักในชีวิตของเขาอีกต่อไป

ในขณะที่ ไอรีน หลังจากเกษียณอายุในที่สุด เธอก็ย้ายไปอยู่กับสามีที่ยังทำงานอยู่ที่บ้านพักตากอากาศบนแหลมเคปคอด และดูแลการปรับปรุงซ่อมแซม ภายในเวลาหนึ่งปี เธอเข้าร่วมกลุ่มอนุรักษ์มหาสมุทรและเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน เธอได้พัฒนาตัวตนใหม่สู่การเป็น “คนรักมหาสมุทร” 

ในท้ายที่สุด นักจิตวิทยาย้ำว่าเมื่อคุณเริ่ม “วางแผนเกษียณอายุ” ไม่เพียงต้องวางแผนด้านการเงินเท่านั้น แต่ให้พิจารณาว่า “คุณเป็นใคร” ในชีวิตการทำงานของคุณ ส่วนใดของตัวตนในการทำงานของคุณที่คุณสามารถนำติดตัวไปด้วยได้ และส่วนใดที่คุณต้องการทิ้งไว้เบื้องหลัง จากนั้นปล่อยให้ตัวเองจินตนาการอย่างกว้างไกล คุณอาจอยากพัฒนาตัวตนใหม่ๆ ในช่วงชีวิตหลังเกษียณต่อจากนี้ไป แล้วคุณจะพบกับการเกษียณอายุที่น่าพึงพอใจมากขึ้น