Gen Z เรียกร้อง พนักงานหญิงควรมีสิทธิลางานเมื่อปวดประจำเดือน

ผลสำรวจชี้ 78% ของ Gen Z หนุน “วันลาหยุดเมื่อมีประจำเดือน” เป็นสิทธิที่ควรมีในที่ทำงาน มองว่าเป็นการสนับสนุนสุขภาพที่จำเป็น และควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
KEY
POINTS
- Gen Z หนุน “วันลาห
รู้หรือไม่? อาการข้างเคียงจากการมีประจำเดือนของพนักงานหญิง ไม่ได้มีแค่ปวดท้อง ปวดหลัง ไม่สบายตัว แต่สำหรับผู้หญิงบางคนยังพ่วงมาด้วยอาการ PMS และ PMDD ในทุกๆ เดือน บางกรณีจำเป็นต้องลางาน ลาป่วย หากคนที่ทำงานไม่เข้าใจ ก็อาจกระทบต่องานและการใช้ชีวิตประจำมากกว่าที่คิด ล่าสุด..ก็มีเคสของดาราสาวไทยชื่อดัง ที่ออกมาเปิดเผยถึงอาการ PMDD ของเธอผ่านรายการ "PrimeCast" ที่รุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเองด้วย
สำหรับ PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ที่ส่งผลต่อร่างกาย พฤติกรรม และอารมณ์จิตใจ โดยไม่ได้มีปัญหาด้านจิตเวชมาก่อน อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงก่อนรอบเดือนจะมา และจะหายไปในช่วงที่มีประจำเดือน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ เหนื่อยง่าย, นอนไม่หลับ, กินเยอะหรือน้อยผิดปกติ, กระสับกระส่าย, โกรธง่าย, ร้องไห้ง่าย, วิตกกังวล, เครียด, อารมณ์แปรปรวนง่าย, ไม่มีสมาธิ ฯลฯ อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน
ขณะที่ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) เป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง อาการจะคล้ายกับ PMS แต่รุนแรงมากกว่า (อาการทางจิตเวชเด่นชัด) จนส่งผลกระทบต่อการงาน สังคม และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น อาการที่สำคัญ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวนอย่างมาก เศร้าหรือร้องไห้ง่าย, ไวต่อการถูกปฏิเสธ, หงุดหงิด โกรธง่าย มีปากเสียงกับคนรอบข้างมากขึ้น, รู้สึกซึมเศร้าอย่างมาก รู้สึกสิ้นหวัง หรือคิดว่าตัวเองด้อยค่า, วิตกกังวล ตึงเครียด หรือกระวนกระวายใจอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก อาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ การทำงาน และอาจมีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองได้
สำหรับอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหากพบว่าป่วยจริงก็ต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตาม แม้แต่พนักงานหญิงที่ไม่มีอาการ PMS หรือ PMDD ในช่วงก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือนก็ตาม แต่อาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ในวันนั้นของเดือนก็ส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ประเด็นเรื่อง "การลางาน" ในช่วงมีประจำเดือน ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยๆ ในสังคมการทำงาน
วัยทำงาน Gen Z เรียกร้องวันหยุดในวันนั้นของเดือน โดยไม่หักเงินเดือน
ล่าสุดประเด็น "วันลาหยุดประจำเดือน (Menstrual Leave)" กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้งในกลุ่มวัยทำงานคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ที่เชื่อว่าบริษัทควรให้สิทธิ์นี้เป็นสิทธิ์พื้นฐานแก่พนักงานหญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน เพื่อให้ได้พักโดยไม่ต้องใช้วันลาป่วยหรือวันหยุดประจำปี ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนยังคงมองข้ามในที่ทำงาน
ยืนยันด้วยผลสำรวจใหม่จาก Edubirdie (แพลตฟอร์มให้บริการด้านการเขียนวิจัย) ที่สำรวจความเห็นจากกลุ่มวัยทำงาน Gen Z จำนวน 2,000 คน พบว่า 78% ของพวกเขาเชื่อว่าบริษัทควรให้วันลาหยุดประจำเดือนแก่พนักงานหญิง
ขณะที่ 25% ของคนรุ่นใหม่มองว่าสวัสดิการนี้คือการดูแลสุขภาพที่จำเป็น, ถัดมา 53% มองว่าควรให้สิทธิ์นี้ในรูปแบบตัวเลือกของบริษัท, สำหรับผู้ชายในเจนซี 28% มองว่านี่คือการรองรับสุขภาพที่จำเป็น, 50% มองว่าบริษัทควรมีตัวเลือกในการให้สิทธิ์นี้ สำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง และ 22% ของพวกเขามองว่าไม่ควรให้เพราะไม่จำเป็น
สำหรับวัยทำงานคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีและความครอบคลุม สิทธินี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ขยายวงกว้างขึ้นในเรื่องของสิทธิในการตัดสินใจเรื่องร่างกายและความเท่าเทียมในที่ทำงาน
วันลาหยุดในช่วงมีประจำเดือนถือเป็นการให้ทางเลือกแก่พนักงานหญิงในการลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างในจำนวนวันที่กำหนดในแต่ละปี เพื่อจัดการกับอาการปวดประจำเดือน ในบางบริษัทยังให้ความยืดหยุ่นในการทำงานจากระยะไกลในช่วงวันที่มีอาการรุนแรงที่สุด
หลายประเทศให้สวัสดิการ "ลางานในวันที่มีประจำเดือน" มานานแล้ว
ที่น่าสนใจคือ ในบริษัทหรือองค์กรของบางประเทศมีสวัสดิการนี้มาหลายสิบปีแล้ว เช่น ญี่ปุ่นที่เปิดตัววันลาหยุดประจำเดือนระดับชาติในปี 1947 และอินโดนีเซียก็เปิดตัวสิทธิเดียวกันนี้ในปี 1948 แต่กลับยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ผู้สนับสนุนการให้สิทธินี้กล่าวว่า การไม่มีนโยบายนี้ในที่ทำงาน ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ซ่อนความทุกข์ในที่ทำงาน โดยจากการสำรวจในปี 2019 ของมหาวิทยาลัย Radboud ใน "เนเธอร์แลนด์" พบว่า เกิดการสูญเสียผลผลิตจากอาการปวดประจำเดือนเฉลี่ย 9 วันต่อปีต่อพนักงาน 1 คนที่มีประจำเดือน เพราะพวกเขาต้องทำงานต่อไปทั้งที่มีอาการปวดแทนการลาหยุด
ในขณะที่ "ออสเตรเลีย" กำลังมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพประจำเดือนของพนักงานหญิง บางบริษัทก็เริ่มนำวันลาหยุดประจำเดือนมาใช้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น The Victorian Women's Trust ที่ได้เปิดตัวสิทธิลาหยุดเมื่อมีประจำเดือน จำนวน 12 วันต่อปีในปี 2016 โดยผู้บริหาร แมรี ครูกส์ (Mary Crooks) บอกว่าพนักงานของเธอรู้สึก "ได้รับความเคารพอย่างลึกซึ้ง" และมีผลผลิตที่ดีขึ้นจากการได้รับสิทธินี้
ด้าน แมเรียน เบิร์ด (Marian Baird) ศาสตราจารย์ด้านเพศและความสัมพันธ์การจ้างงานจาก University of Sydney’s Business School มองว่า "หากบริษัทดูแลลูกจ้างได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้พนักงานหญิงมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น มีความมุ่งมั่นและความภักดีเพิ่มขึ้น และบริษัทก็จะได้ประโยชน์"
อีกทั้งการศึกษาปี 2019 โดย เจสซิกา แอล. บาร์นัค-ทาวลาริส (Jessica L. Barnack-Tavlaris) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก College of New Jersey พบว่า 45% ของผู้คนในสหรัฐฯ จะสนับสนุนวันลาหยุดประจำเดือน และอีก 16% จะสนับสนุนหากมีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ( เช่น ให้วันลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างและหากอาการประจำเดือนจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์) อย่างไรก็ตาม บางคนก็มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นธรรมของนโยบายนี้ต่อลูกจ้างเพศชาย
ส่วนทางด้าน นาเดีย โอกาโมโตะ (Nadya Okamoto) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ด้านการดูแลประจำเดือนที่เน้นกลุ่ม Gen Z โดยเฉพาะ บอกว่า บริษัทของเธอมุ่งเน้นไปที่การทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับประจำเดือนในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติ "บางทีนี่อาจจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่" เธอบอกกับ Forbes โดยชี้ว่า การทำให้บริษัทมีความโปร่งใสและมีความเท่าเทียมทางสุขภาพทางเพศ ถถือเป็นมาตรฐานพื้นฐานสำหรับบริษัทที่มุ่งหวังจะดึงดูดผู้บริโภควัยรุ่น
ขณะที่ Nuvento บริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกเป็นอีกบริษัทที่ให้สิทธิลาหยุดในวันมีประจำเดือน จำนวน 12 วันต่อปีแก่พนักงานในสหรัฐอเมริกา นโยบายนี้ถูกนำมาใช้ในปี 2022 เพื่อให้ผู้หญิงได้พักในช่วงวันที่มีอาการรุนแรงและกลับมาทำงานได้เต็มศักยภาพ
ผู้เชี่ยวชาญ HR ชี้ สิทธิวันลาเมื่อมีประจำเดือน บริษัทควรใส่ใจอย่างยิ่ง
ไบรอัน ดริสโคลล์ (Bryan Driscoll) ที่ปรึกษาด้าน HR กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่แนวคิดที่สุดโต่ง แต่เป็นการยอมรับความจริงทางชีววิทยาที่ว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเป็นแรงงานหญิง การสนับสนุนพนักงานหญิงผ่านสิทธิการลางานนี้ ช่วยให้พนักงานลดความทรมานจากอาการป่วยในวันนั้นของเดือนได้
Gen Z ไม่ยอมทนกับมาตรฐานการทำงานที่ล้าสมัยที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนแรงงานเพศชายเพียงอย่างเดียว พวกเขากล้าหาญที่จะเรียกร้องนโยบายที่มีความเมตตาและมนุษยธรรม พวกเขามีความเปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และยอมท้าทายแนวคิดที่ว่าผลผลิตต้องมาก่อนสุขภาพ
เมื่อพนักงานคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานและเริ่มเปลี่ยนแปลงมัน ความต้องการวันลาหยุดประจำเดือนอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบาย HR มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาในการรักษาพนักงานรุ่นใหม่ ถ้าบริษัทฉลาด พวกเขาควรใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น Gen Z กำลังเปลี่ยนแปลงที่ทำงานพวกเขากำลังเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้บริษัทต้องคิดใหม่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดี ความเท่าเทียม และการสนับสนุนพนักงานในฐานะมนุษย์ที่สมบูรณ์
อ้างอิง: Newsweek, Edubirdie, CNN, sk.sagepub, BBC, Mahidol Channel