เศรษฐศาสตร์การ‘ทิ้ง’

เศรษฐศาสตร์การ‘ทิ้ง’

ว่าด้วยพฤติกรรมการ(ไม่)แยกขยะของคนไทยที่ไม่ใช่แค่..นิสัย

‘ขยะล้นเมือง’ เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานาน หลายภาคส่วนพยายามแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ขยะยังคงเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2561 ขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.60 จากปีก่อนหน้า ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณขยะ ก็คือ ‘การคัดแยกขยะ’ ทว่าจนถึงวันนี้ หลายคนยังมีคำถามว่า...ทำได้จริงหรือ?

 

114

 

เหตุแห่งความขี้เกียจ

ก่อนจะกล่าวโทษถึงความมักง่ายว่าเป็นนิสัยดั้งเดิม นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำหลักเศรษฐศาสตร์มาศึกษาทดลองเรื่องพฤติกรรมการแยกขยะ เพื่อหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วอะไรคือเหตุปัจจัยให้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นิยมแยกขยะก่อนทิ้ง

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ว่า ปัญหาขยะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ส่วนปัญหาการแยกขยะเป็นเรื่องของ ‘พฤติกรรม’

 

222

 

“ผมทำเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องคอรัปชั่น เรื่องการออม เรื่องสุขภาพ ซึ่งดูไม่ค่อยมีความหวังเลย แต่เรื่องขยะดูจะมีความหวังมากที่สุด เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ พอเราเอาแว่นของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมามอง ปัญหาการไม่แยกขยะเป็นปัญหาเล็กๆ ในสังคม แต่พอรวมกันมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เราต้องแก้ที่จุดเล็กๆ ที่คนไม่แยก แล้วเล็กๆ รวมกัน ก็จะแก้เรื่องใหญ่ๆ ได้”

เนื่องจากกระบวนการทำงานของสมอง มนุษย์มักไม่คิดอะไรซับซ้อน ถ้าเลือกขี้เกียจได้ก็จะขี้เกียจ ซึ่งเมื่อถามคนทั่วไปว่า ทำไมไม่แยกขยะ คำตอบที่ได้ก็คือ ‘ขี้เกียจ’ ในมุมของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ขี้เกียจคือผล การศึกษานี้จึงต้องการหาว่า เหตุคืออะไร

“เราพบว่ามีเหตุผลสองอย่าง หนึ่งคือ ยุ่ง เขาต้องเลือกว่าอันไหนจะแยกไปไหน ต้องมาขยับตัว เขาไม่อยากทำ พอเขามีความตั้งใจจะแยกขยะแล้วก็ ยาก พอจะไปทิ้ง ดูป้ายขยะ ดูประเภทถัง แล้วถังขยะแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกันเลย ซับซ้อน ปัญหาคือยุ่ง เมื่อเจออะไรที่ต้องเคลื่อนไหวเยอะๆ แล้วก็ยากตรงที่แยกไม่ได้ นี่คือโจทย์สำคัญที่ทำให้ขี้เกียจ เป็นปัญหาเล็กมากๆ ทำให้คนไม่อยากแยกขยะ”

เมื่อคำตอบอยู่ในคีย์เวิร์ด ‘ยุ่ง’ กับ ‘ยาก’ การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องจัดการความยุ่งยากในแต่ละขั้นตอน ซึ่งดร.ธานี ได้เริ่มโครงการทดลองที่คณะเศรษฐศาสตร์ โดยการเก็บข้อมูลถังขยะไว้ แล้วลองเปลี่ยนถังขยะเป็นรูปแบบต่างๆ เพื่อดูว่าสามารถช่วยให้เกิดการแยกขยะเพิ่มขึ้นหรือไม่

แม้จะเห็นพฤติกรรมบางอย่างแต่เนื่องจากพื้นที่ศึกษายังคงจำกัด ดังนั้นเมื่อบริษัทโคคา-โคล่า ซึ่งมีแนวคิด World Without Waste ได้ติดต่อกับศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมฯ พร้อมด้วยความร่วมมือจากบริษัทแสนสิริ ให้ดำเนินการศึกษากับผู้อยู่อาศัยใน T77 Community (THE BASE Park West, hasu HAUS และ mori HAUS) รวม 246 ห้องชุด ระยะเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2562) การศึกษาเพื่อหาแนวทางในการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะบนหลักการด้านเศรษฐศาสตร์จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“เรามุ่งมั่นส่งมอบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เรา Concern เรื่องพฤติกรรมการแยกขยะ นโยบาย Sansiri Green Mission มี Waste Management เป็น 1 ใน 4 คำมั่นสัญญาหลัก เพื่อจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณขยะให้น้อยที่สุด ผลการทดลองที่ได้มาในวันนี้จะนำมา combine ทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น ไม่อยากเรียกว่าขยะ ถ้ามันอยู่ถูกที่ถูกทางไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นขยะ” จริยา จันทร์เจิดศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้

ขณะที่ นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัทโคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า “โค้กมี Commitment เรื่องบรรจุภัณฑ์ เราพยายามไปเก็บบรรจุภัณฑ์ของเรากลับมาให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนปี 2030 ซึ่งมีเวลาอยู่ 10 กว่าปี ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่มีผลจำกัดอยู่แค่ในชุมชน ในสถานที่ๆ เราไปทำ โอกาสที่จะทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์แทบไม่มีเลย ปัญหาหลักคือ คนไทยไม่ได้มีพฤติกรรมการแยกขยะอย่างชัดเจน ทำให้ขยะที่รีไซเคิลได้ปะปนอยู่ทำให้ขยะเยอะกว่าที่ควรจะเป็น

ผมมองหาคนในเมืองไทยที่จะช่วยผมได้ในเรื่องนี้ก็ได้มาพบกับ อ.ธานี แล้วได้ผู้บริหารแสนสิริที่เข้าใจ มีสถานที่เอื้ออำนวยให้ทดลองทำ ได้ผลมาก็จะเอาไปใช้ ซึ่งผลการศึกษานี้ไม่ควรจำกัดอยู่แต่ที่ทางโค้ก ทางจุฬา และแสนสิริ มันมีประโยชน์ ก็อยากจะแชร์ อยากจะแบ่งปัน อยากจะส่งต่อ ให้กับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ให้กับบุคคลที่สามารถใช้ความรู้ตรงนี้ไปสร้างประโยชน์ของการแยกขยะได้ ต้องให้ทั้งสังคมตระหนักร่วมกันว่านี่เป็นเรื่องที่สำคัญ เราจะจับมือแล้วเดินไปสู่เป้าหมายร่วมกัน”

113

ทาง ‘สว่าง’ การแยกขยะ

หลังจากได้พื้นที่ศึกษาเป็นอาคารสูงหลายชั้น ดร.ธานี นำถังขยะที่แตกต่างกันทั้งรูปแบบและจำนวนมาวางไว้ในแต่ละชั้น เพื่อดูว่าแบบไหนแก้ปัญหาความยุ่งและความยากได้มากที่สุด

“แต่ละชั้นจะมีถังขยะแต่ละรูปแบบและจำนวนถังขยะไม่เหมือนกัน ป้ายไม่เหมือนกัน เราวัด 3 อย่าง หนึ่งดูความตั้งใจของเขา สองดูความรู้ในการแยกขยะ สามเราเก็บข้อมูลขยะ เพื่อจะดูว่าขยะแบบไหนเยอะหรือน้อยในชั้นไหน ทั้งที่คณะเศรษฐศาสตร์และแสนสิริ มีความตั้งใจสูงมาก ความรู้ดี บอกว่าแยกขยะถังไหนตอบได้หมด เรามีคนที่มีความตั้งใจแล้วก็มีความรู้ แต่เขาไม่แยกขยะ ปัญหาก็มาอยู่ที่ถังขยะดีไม่พอ ตัวถังขยะไม่จูงใจไม่สื่อสารให้อยากแยก”

โดยทั่วไปในคอนโดทุกแห่งจะมีถังขยะอยู่ 2 ประเภท คือ ‘ขยะแห้ง’ กับ ‘ขยะเปียก’ ถ้าถามว่า กินหมูทอด ข้าวเหนียว ห่อใบตอง เป็นขยะแห้งหรือขยะเปียก หลายคนเริ่มไม่รู้แล้วว่าจะแยกอย่างไร

“เราทำถังขยะที่มีรายละเอียดให้เขา ขยะเหลือทิ้งเศษอาหาร บางที่มีรูป บางที่มีรูปกับเฮดไลน์ บางที่มีป้ายแล้วมีโบชัวร์ให้ด้วย บางที่มีถังขยะ 2-3-4 เมื่อเอาหลายๆ ตึกมาหาค่าเฉลี่ยพบว่า มี 2 เรื่องที่เราต้อง Concern หนึ่งคือ ห้ามใช้คำว่า ‘ขยะ’ โดยเฉพาะภาษาไทย คำว่า ‘ขยะ’ จูงใจให้คนโยน ขยะจะมากับคำว่า ‘ทิ้ง’ ต้องรีบเอาออกจากตัว รู้สึกว่ามันสกปรก ฉะนั้นคำว่า ‘ขยะ’ ต้องเอาออก

สอง พื้นที่ทิ้งขยะต้องสว่าง เพราะถ้ามืดเขาจะรีบเข้ารีบออก ไม่มีใครมาสนใจจะแยก ไม่จูงใจ แต่ถ้าอยู่ในที่สว่างเรารู้สึกว่าต้องทำ ถ้าเราอยู่ในที่มืดเราแอบทำสิ่งที่ผิดได้ ความสว่างจึงสำคัญ” ดร.ธานี กล่าวถึงการทดลองที่ผ่านมา ทว่ามากไปกว่านั้นการทำให้คนแยกขยะยังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย

“วิธีการที่จะทำให้คนสนใจอยากแยกขยะ มีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง หนึ่งคือ ‘ป้าย’ มีการทดลองทำป้ายหลายอย่าง ทั้งตัวอักษรเยอะๆ รายละเอียดเยอะๆ มีรูปวาดบ้าง รูปจริงบ้าง ผลสรุปออกมาว่าป้ายที่เป็น ‘คำ’ จะดีที่สุด เพราะถ้าคนทิ้งมองป้ายมีรูป สมองก็ต้องคิดกลับมาว่ารูปนั้นคืออะไร ถ้าเป็นรูปขวดพลาสติกแต่ไม่ตรงกับขวดที่จะทิ้งก็ต้องคิดอีก แต่ถ้าเขียนว่า ‘ขวดพลาสติก’ คำเดียวเขาทิ้งเลย ‘คำ’ จึงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ส่วน ‘รูป’ เป็นตัวสนับสนุน รูปไม่ต้องเยอะ แค่ให้เห็นว่าคืออะไร”

องค์ประกอบที่สองคือ ‘ถัง’ ดร.ธานี ขยายภาพให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้าเราถือถุงขยะไปหนึ่งถุงแล้วเจอถัง 8 ถังวางเรียงกัน บางคนจะรู้สึกว่ามันยาก บางทีอาจเปลี่ยนใจหอบขยะกลับไปทิ้งที่บ้านง่ายกว่า

“จากการทดลองแบบ 2 ถัง จะมีคนทิ้งผิด 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ละถังผิดอย่างละครึ่ง เมื่อเพิ่มถังที่ 3 คนจะทิ้งผิดปะปนมาแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เราก็เพิ่มถังไปเรื่อยๆ จนพบว่า จำนวนที่ดีที่สุดคือ 3 ถัง เยอะสุดไม่เกิน 4 ถัง ถ้าเกิน 4 เขาจะมั่วทุกถัง เพราะยากไป สอดคล้องกับวิธีการจำของสมองมากสุดคือ 3 ถ้ามี 4-5 พอได้, 6-7 เริ่มยาก”

องค์ประกอบที่สาม ‘ตัวขยะ’ สื่อสารได้ นึกภาพถือถุงมีเศษอาหาร ถ้าเจอถังที่มีการแยกขยะไว้แล้ว ครั้นจะโยนลงไปก็รู้สึกผิด เหมือนว่าขยะที่อยู่ในถังมันสื่อสารบอกว่าสังคมที่ทำมาก่อนหน้าคุณเขาทำอย่างไร

 “ที่สำคัญห้องต้องสว่าง ถ้ามืดไม่มีใครเห็นเขาก็โยนอีก ในทางกลับกันเมื่อลองให้คนทิ้งปะปนกันไปในถังบางถัง หลังจากนั้นเละทุกถัง เพราะเขารู้แล้วว่าไม่มีใครทำ พอไม่มีใครทำ ฉันก็ไม่ทำ ฉันไม่รู้สึกผิด”

สรุปคือ การออกแบบป้าย ‘คำ’ สำคัญที่สุด ส่วนจำนวนถังขยะควรเป็น 3-4 ถัง แล้วควรมีตัวขยะต้นแบบที่แยกแล้วอยู่ในถัง (วิธีที่ง่ายคือเวลาเก็บขยะให้เหลือไว้ก้นถัง 4-5 ขวด) 3 องค์ประกอบนี้จะทำให้คนทั่วไปสนใจแยกขยะมากขึ้น

112

จูงใจ ไม่ ‘บังคับ

เพราะความตระหนักเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลจึงสำคัญไม่น้อย เพื่อให้การแยกขยะเกิดขึ้นตั้งแต่ในห้องหรือในบ้าน วิธีที่ได้ผลกว่าการให้ข้อมูลตัวเลข ก็คือการนำเสนอภาพที่มีผลต่อความรู้สึกสะเทือนใจ เช่น ภาพเต่าทะเลที่มีหลอดเสียบอยู่ หรือสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะขยะพลาสติก เป็นต้น

ดร.ธานี เสนอว่าเมื่อได้ผลการทดลองมาแล้ว การปฏิบัติจริงต้องให้เวลา ให้โอกาสคนได้เรียนรู้และซึมซับอีกระยะหนึ่ง  “เช่นเมื่อวางถังขยะให้แยกไว้ 3 ถัง อาจต้องมีถังรวมไว้ให้อีก 1 ถัง ถ้าท่านไม่แยก ทิ้งถังสุดท้ายก็ได้ (ถังรวม) อย่าเพิ่งไปบังคับเขาครับ เขาทิ้งถังรวมก็ถือว่าเท่าทุน เหมือนเดิมที่ผ่านมา ให้เขาทำไปก่อน สักพักเดี๋ยวเขาจะอยากแยกขึ้น ลองนึกภาพถ้ามีถังขยะที่แยกยากมากๆ แยกแล้วไม่รู้ว่าถูกหรือผิด เขาไม่อยากผิดก็เลยไม่แยก 

การละเลย ไม่สนใจ ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมันเกิดจากว่าสิ่งนั้นมันซับซ้อนเกินไป เราต้องให้เขาลองผิดได้ มีถังสุดท้าย ถ้าคุณไม่แยกใส่ถังนี้ ถ้าวันไหนคุณจะแยกช่วยใส่ถังตามนี้”

ในความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กุญแจสำคัญที่ทำให้คนอยากแยกขยะมี 3 อย่าง คือ หนึ่ง สำนึกต่อสิ่งแวดล้อม สอง ความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ สาม การรับรู้ว่าคนอื่นก็ทำเหมือนกัน “การให้ตัวขยะเป็นตัวสื่อสารว่าคนอื่นแยก อันนี้สำคัญ ถ้าผมแยกคนเดียวแล้วคนอื่นไม่แยก ผมก็ไม่อยากทำ การเชื่อใจคนอื่นในสังคมเป็นสิ่งสำคัญในการแยกขยะเยอะขึ้น”

ยิ่งกับคนไทยซึ่งเป็นคนที่ “เห็นใครทำสำเร็จเราจะทำตาม” วิธีการจึงต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายก่อนแล้วทำให้สำเร็จ จากนั้นก็ประกาศออกไปให้คนรู้ เมื่อที่แห่งนั้นเป็น Influencer แล้ว จะเป็นต้นแบบให้คนอื่นๆ อยากทำตาม

“ข้อสังเกตเล็กๆ ที่พบอีกอย่างคือ อะไรที่เป็นสาธารณะ คนไทยไม่อยากจับ ฉะนั้นการออกแบบถังขยะสาธารณะจึงควรจะให้ทิ้งด้านบน ไม่ต้องสอด ไม่ต้องเปิดฝา น่าจะดีกว่า แล้วต้องมีการประชาสัมพันธ์ต่อ ว่าหลังจากที่เขาแยกขยะแล้วเอาไปทำให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง จะทำให้คนอยากแยกขยะต่อไปอีกเรื่อยๆ"

สุดท้ายแม้จะยังแยกได้ไม่ดีที่สุด แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี นำไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมในเรื่องอื่นๆ “ถ้าเอาเร็ว การบังคับด้วยกฎหมายก็เร็วกว่า แต่สำนึกจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจริตคนไทยเมื่อไรก็ตามที่บังคับ เราก็จะแหกกฎลับๆ อยู่นิดหนึ่ง สรุปว่า ต้องมี Standard list มาตรฐานเดียวกัน ทั้งสีและคำ คีย์หลักคือต้องเปิดโอกาสให้เขาผิดได้ ประชาสัมพันธ์ดีๆ พอเขาเห็นคนอื่นทำ เดี๋ยวก็จะค่อยๆ ทำเอง”

ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบทิ้งไม่เลือกที่ให้เป็นแยกขยะก่อนทิ้ง สร้างมาตรฐานใหม่ในสังคมไทย