ท่านผู้หญิงสิริกิติยา ตามรอยร.5 ไปนอร์เวย์

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา  ตามรอยร.5 ไปนอร์เวย์

ไม่ใช่นิทรรศการที่โชว์ภาพถ่ายสวยๆ แต่เป็นเรื่องราวที่เชื่อมร้อยศิลปะ ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและมนุษย์

 

 “...ในปีพุทธศักราช 2450 บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินสู่จุดเหนือสุดของทวีปยุโรป ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เสด็จเยือนเกาะต๊อร์คแฮตเตน (Torghatten) และคงจะทรงตื่นเต้นและทรงพระเกษมสำราญกับแสงธรรมชาติที่สวยงามยิ่ง ดังที่ทรงเปรียบเปรยผืนดินผืนฟ้าและลำน้ำของอาณาจักรนอร์เวย์ไ้ว้ว่า ดินฟ้าอากาศแลน้ำ เหมือนรูปเขียนเมืองนอร์เวย์ที่เขาเขียน ซึ่งเราไม่เห็นจริง มันใสแจ่มกว่าปรกติมาก

ภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ของนอร์เวย์นั้นน่าเกรงขามยิ่ง บรรยากาศเปี่ยมมนต์ขลังเช่นนี้ ดูราวกับว่าแม่พระธรณี อาจเผยให้เห็นความงดงามหรือความโหดร้ายของธรรมชาติก็ได้ทั้งสองอย่าง แต่ครั้นธรรมชาติแสดงแสนยานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์ เราจึงได้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ แก่นสารนี้เองที่เชื่อมโยงระหว่างข้าพระพุทธเจ้าและใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท..."

 

ส่วนหนึ่งของจดหมายที่ คุณใหม่-ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เขียนถึงรัชกาลที่ 5 ในนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ณ  ศุลกสถาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เจริญกรุง36 ใน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (BKKDW 2020)  โดยใช้เวลาเดินทาง 11 วันเมื่อเดือนสิงหาคม 2562  เพื่อตามรอยรัชกาลที่ 5  เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ เมื่อปีพ.ศ.2450

 

ในวันเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย คุณใหม่พาคณะสื่อมวลชนเดินชมรอบละ 20 คน อธิบายที่มาที่ไป และเล่าประสบการณ์การเดินทางที่เน้นตลอดว่า มนุษย์ตัวเล็กนิดเดียว  ท่ามกลางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ 

 

คุณใหม่ ย้ำว่า นิทรรศการภาพถ่ายตามรอยรัชกาลที่ 5 ไปนอร์เวย์ ไม่ได้เน้นภาพถ่ายที่สวยงาม แต่เน้นประสบการณ์ เพื่อที่จะเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ที่ห่างกันกว่าร้อยปี แม้จะต่างยุค ต่างสมัย แต่มีจุดเชื่อมโยงบางอย่างในฐานะมนุษย์ 

 

“...ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงประสบสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าประทับใจ เช่นนี้คล้ายกับที่ข้าพระพุทธเจ้าพบ แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะในพระราชหัตถเลขา ทรงบันทึกถึงความทรหดอดทนและยืดหยุ่นของชาวนอร์เวย์ไว้ว่า พวกเขาใช้ชีวิตอันเปี่ยมความหมายร่วมกับแม่พระธรณีอย่างไร 

 

ก่อนถึงแหลมเหนือ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงแวะที่เกาะต๊อร์คแฮตเตน และตรัสถามหญิงชาวท้องถิ่นด้วยคำถามที่เกือบจะเป็นคำถามเดียวกับที่ข้าพระพุทธเจ้าเอ่ยถามฮันส์...” ส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณใหม่เขียน  

 

ฮันส์ ก็คือเพื่อนใหม่ชาวนอร์เวย์ของท่านผู้หญิง ที่พาท่านและคณะไปที่เกาะเล็กๆ นอกชายฝั่ง หมู่บ้านชาวประมง โดยฮันส์จะคอยตอบข้อสงสัยให้คุณใหม่ทราบ โดยเฉพาะเรื่องการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดูโหดร้าย

 

“ผมเติบโตที่นี่มาตลอดชีวิต ทุกอย่างมีดุลยภาพของมัน ความงามอันน่าทึ่งกับความโหดร้ายทารุณของธรรมชาติอยู่คู่กันเสมอ แต่สิ่งนี้เองกำหนดวิถีทางที่ทุกอย่างเป็นไป” ฮันส์ ตอบไว้ที่จดหมายที่คุณใหม่เขียน

  20200201180148657

(ป่ากลางออสโล นอร์เวย์ ใช้แสงธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ)

-1-

     ก่อนออกเดินทางไปนอร์เวย์ คุณใหม่หาความรู้ทางประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 จากนักประวัติศาสตร์และหนังสือ โดยเฉพาะพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ภาคภาษาอังกฤษ มีโอกาสอ่าน 6-7 รอบ และเมื่อจะจัดนิทรรศการภาพถ่าย ก็เลือกศุลกสถาน เนื่องจากมีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับพระองค์ท่าน และหลังจากนิทรรศการจบลง สถานที่ดังกล่าวจะปิดบูรณะเป็นเวลา 5-6 ปี โดยบริษัทยูซิตี้ ในกลุ่มบีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้ง เพื่อทำเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว

 

คุณใหม่ บอกว่า ตอนที่รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ก็มีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับการกลับบ้านที่ศุลกสถาน

 

“สมัยรัชกาลที่ 5  มีระบบภาษีปรับเป็นแบบตะวันตก คือ รวมสถานที่เก็บภาษีไว้ที่เดียว ประเทศต่างๆ ที่มาค้าขายกับประเทศไทยต้องเสียภาษี”

 

ว่ากันว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการริเริ่มโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าหนีภาษีและการจัดเก็บภาษีไม่ทั่วถึง สร้างอาคารใหม่ศุลกสถานเป็นอาคารขนาดใหญ่สามชั้น และอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ทางทิศเหนือและใต้ อาคารทั้งสามหลังมีสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ออกแบบโดยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi);สถาปนิกสัญชาติฝรั่งเศส 

 

เหมือนเช่นที่เกริ่นไว้ว่า นิทรรศการครั้งนี้คุณใหม่ไม่ได้ต้องการโชว์ภาพถ่ายสวยๆ ที่นอร์เวย์ จึงเลือกใช้กล้องฟิลม์ จะได้ควบคุมสีและแสงได้ ซึ่งเป็นงานทดลองอีกชุดหนึ่ง

 

"ภาพแลนด์สเคปเป็นแก่นของงาน ธรรมชาติมีความพิเศษ บางครั้งดูสวยงาม เกื้อกูลมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็มีมิติการทำลายล้างชีวิตคนและอารยธรรม ที่นอร์เวย์ทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นมนุษย์ตัวเล็กนิดเดียว” คุณใหม่เล่า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเดินทางมาหลายประเทศ ทั้งเอธิโอเปีย และอินเดีย ก็ไม่ได้รู้สึกว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่เหมือนครั้งนี้

 

“แม้การเดินทางจะห่างกันเกินกว่าศตวรรษ แต่ภูมิทัศน์ดินแดนไวกิ้งอันแสนงาม ยังดูลึกลับและทรงพลัง เป็นประจักษ์พยานให้มนุษย์ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ยืนหยัดข้ามกาลเวลา ตอนที่ไปนอร์เวย์ก็เห็นมุมมองบางอย่างที่ขาดไป อย่างความคิดเห็นของคนท้องถิ่นนอร์เวย์ที่คอยรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ในยุคนั้น และตอนที่อ่านไกลบ้าน พระองค์ทรงเชื่อมโยงสองประเด็น คือ ทรงสนพระทัยความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ยังมียากลำบากและความน่ากลัว เหมือนมีสองมิติในเรื่องเดียวกัน"

IMG_9703_1  (ชั้น 3 นิทรรศการ ที่ศุลกสถาน)

-2-

คุณใหม่ เล่าว่า ตอนแรกที่จะจัดนิทรรศการ ก็คิดว่าจะนำจดหมายของพระองค์ท่านมาวางให้อ่านอย่างเดียว แต่ในฐานะโหลน ก็เลยเขียนจดหมายถึงพระองค์ท่าน เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น 

 

"นิทรรศการชั้นแรกของตึก อยากให้คนดูรู้สึกเหมือนเดินทางไปนอร์เวย์ รูปภาพจะออกโทนคูลๆ สีเขียวฟ้า และเทา ไม่ใช่ความลึกลับน่ากลัว แต่อยากให้รู้สึกว่า ธรรมชาติที่ห้อมล้อม ทำให้รู้สึกสงบ และการทำงานกับโบราณสถานต้องระวังไม่ให้เรื่องราวสถานที่หายไป  การตามรอยเส้นทางที่พระองค์ท่านเสด็จ เราไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย เราพยายามจะเชื่อมโยงเรื่องราวสมัยรัชกาลที่ 5 กับตัวเราและคนดูงาน”

 

การเดินทางไปนอร์เวย์ครั้งนั้น คุณใหม่ บอกว่า วันแรกลำบากนิดหน่อย ตอนขึ้นไปที่แหลมเหนือ ก็หวังว่าจะเห็นทุกอย่าง แต่สุดท้ายไม่ได้เห็นอะไร เพราะสภาพอากาศไม่ดี 

20200201175801773

"มีคนถามว่า คุณใหม่เสียดายไหมที่อากาศเป็นแบบนี้ เราก็บอกว่า ไม่เสียดาย ถ้าอากาศโปร่งใส อาจไม่ได้รู้สึกแบบนี้ พอมาจัดนิทรรศการ เราใช้เวลาหลายสัปดาห์ปรับโทนสีภาพนิดเดียวให้เข้ากับตึก เพื่อให้คนดูรู้สึกว่า ภาพเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เอาภาพมาจัดตั้ง อย่างภาพป่ากลางออสโล ถ้าอยู่บริเวณนั้นจะรู้สึกถึงความสงบ นุ่มนวล อ่อนน้อม และนี่คือเหตุผลที่องค์ประกอบตึกเน้นการใช้แสงธรรมชาติ และแนะนำให้มาดูภาพนี้ตอนกลางคืน จะเห็นแสงอีกอารมณ์หนึ่ง”

 

ส่วน ใจทิพย์ ใจดี ฝ่ายกำกับศิลป์ และออกแบบนิทรรศการ เสริมว่า เราพยายามไม่ยัดเยียดเนื้อหาของงาน  อยากให้ตัวงานและ space ส่งเสริมซึ่งกันและกัน พื้นที่ทั้งสามชั้น อาจจะให้โทนอารมณ์ไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาเกี่ยวเนื่องกัน 

 

นิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้ จึงไม่ได้เน้นภาพเยอะๆ เรียงรายตามฝาผนัง แต่เลือกภาพ แสง สี ให้เข้ากับบรรยากาศตึก โดยไม่เจาะหรือปกปิดพื้นที่ให้ดูดีทุกกระเบียดนิ้ว แต่เลือกที่จะให้เห็นโครงสร้างตึกและเรื่องราว  โดยพื้นที่ชั้นสองของนิทรรศการจะเปิดโล่ง มีฉากบางๆ บังแสง เพื่อให้พื้นที่แสดงงานมีแสงธรรมชาติที่ดูนุ่มนวล ส่วนนี้มีความเป็นคุณใหม่มากที่สุด

 

คุณใหม่ เล่าว่า  ถ้าใครเคยอ่านพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เมื่อครั้นพระองค์เสด็จเมืองกู๊ดวังเงน (Gudvangen) ทรงสนพระราชหฤทัยในประวัติชื่อเมืองนี้ ในจดหมายของเรา เขียนไว้ว่า สิ่งที่ทำให้ทรงสงสัยคือ รอยอดีตที่หลงเหลืออยู่ในรูปแบบของโรงแรมที่ชื่อ วีกกิ้งวัง (Vikingvang) เมืองเดิมก็ชื่อ Vikingvang จากนั้นเปลี่ยนเป็น Gudvangen และคำว่า vangen หมายถึง ลำธารปลายอ่าวฟยอร์ด

 

"มีคนอธิบายว่า เคยมีคนที่ใช้ชีวิตแบบไวกิ้งอยู่ที่ปลายสุดของอ่าวฟยอร์ด กระทั่งศาสนาคริสต์แผ่ขยายเข้ามาที่นอร์เวย์ ชื่อเมืองจึงถูกเปลี่ยนเป็นกู๊ดวังเงน(Gudvangen)ศาสนาเข้ามาในพื้นที่ทำให้ความหมายชื่อเมืองเปลี่ยน กลายเป็นพระเจ้าสถิตอยู่ที่ปลายอ่าวฟยอร์ด

 

 ถ้าใครตามงานวังน่านิมิต และวังหน้านฤมิต ก็จะรู้ว่า เรามักจะพูดถึงประวัติศาสตร์ที่มีช่วงเวลาที่ซ้อนกัน แต่มีชีวิต ในการตามรอยครั้งนี้ อีเวอร์ มัคคุเทศก์ นำทางที่นั่นบอกว่า พระองค์ท่านไม่ได้ประทับโรงแรมแห่งนี้ แต่ถ่ายรูปหน้าโรงแรม และตอนนี้เป็นโรงแรมร้างไปแล้ว"

  lores_20200201180149005 (1)

(ศุลกสถาน ตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์จะบูรณะเป็นโรงแรมใช้เวลาไม่ต่ำกว่าห้าปี) 

 

-3-

“อยากให้ทุกคนเห็นว่า งานนิทรรศการนี้เชื่อมโยงกับทั้งหมด ทั้งจดหมายของพระองค์ท่าน และจดหมายของใหม่" ท่านผู้หญิงสิริกิติยา กล่าว เมื่อเดินขึ้นชั้น 3 ห้องนี้จะออกโทนสีอมเขียว โดยออกแบบโต๊ะวางจดหมายให้แตกต่างกัน ถ้าเป็นจดหมายของรัชกาลที่ 5 เป็นโต๊ะไม้ ส่วนจดหมายของคุณใหม่เป็นโต๊ะอะคริลิค ชั้นนี้มีจอโปรเจกเตอร์ภาพถ่ายรัชกาลที่ 5 เมื่อตอนเสด็จเยือนประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเกี่ยวโยงกับภาพถ่ายของคุณใหม่ 

 

“นิทรรศการของเรา จะไม่ปกปิดร่องรอยในตึก เปิดให้เห็นช่วงเวลาของรัชกาลที่ 5 และหลังจากนั้นตำรวจน้ำมาพัก อยากให้คนเห็นทั้งหมด เพราะประวัติศาสตร์ประกอบด้วยเรื่องราวหลายๆ มุมมอง บนฝาผนังตึกก็มีคำต่างๆ ที่คนยุคนี้เขียนไว้ตอนเครียดๆ ก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง

 

เมื่อภาพและจดหมายทำหน้าที่แล้ว ก็กระตุ้นให้คนดูกลับไปหาข้อมูลเอง อยากให้คนดูเข้ามาแล้วรู้สึกอบอุ่นและเข้าใจ เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เราพูดเสมอว่า นี่ไม่ใช่นิทรรศการภาพถ่าย แต่เป็นการเล่าประสบการณ์การเดินทาง จึงพยายามคิดเรื่ององค์ประกอบสีและแสงธรรมชาติ เพราะอยากให้คนรู้สึกในเชิงลึก” คุณใหม่ เล่า และบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่คนดูจะได้เห็นโครงสร้างตึกก่อนบูรณะเป็นโรงแรม แต่เวลาการเข้าชมค่อนข้างจำกัด

 

เมื่อถามว่า ประทับใจส่วนไหนของการเดินทางไปนอร์เวย์มากที่สุด คุณใหม่บอกว่า จำได้ว่า ตอนเดินไปที่ถนนสายหนึ่ง ท้องฟ้ามืดครึ้ม อากาศไม่ดีเลย 

 "ตอนนั้นผมปัดไปปัดมา ทำให้รู้สึกว่า ตัวเราเล็กนิดเดียว ธรรมชาติยิ่งใหญ่มาก”

....................

นิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between จัดแสดงในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (BKKDW 2020) ตั้งแต่วันนี้– 9 กุมภาพันธ์ 2563 เปิดทุกวันตั้งแต่ 11.00 - 21.00 น.ณ ศุลกสถาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 (ชมได้รอบละ 20 คน เนื่องจากเป็นอาคารเก่า) ผู้สนใจต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านออนไลน์ที่ www.zipeventapp.c่om/e/Hundred-Years-Between