อักขระมนตราทิเบต
ในพระสูตร Chen-re-sik กล่าวถึงพระดำรัสของพระพุทธเจ้าเอาไว้ว่า หลังจาก 500 ปีผ่านไป เราจะปรากฎรูปเป็นตัวอักษร จงเชื่อและน้อมรับอย่างเคารพ
จัมยัง ดอร์จิ ชาคริชาร์ ศิลปินชาวทิเบตวัย 60 ปัจจุบันพำนักอยู่ที่รัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย กล่าวถึงหัวใจของการเขียนอักขระมนตราอันเป็นที่มาและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเขาทุกวันนี้
ตัวอักษรีทิเบตถือกำเนิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดย โทนมี สมโภตา หลังจากเข้าไปสืบค้นข้อมูลทางพุทธศาสนาตามพระประสงค์ของพระเจ้าซรอนซันกัมโป กษัตริย์ทิเบตใต้ มีตัวอักษรเทวนาครีเป็นต้นแบบ
ศิลปินกล่าวว่า ครูอาจารย์สมัยโบราณมักจะสอนเรื่องการภาวนาและเรื่องของจิตเป็นหลัก ในเรื่องของการสื่อความหมายออกมาเป็นภาพ หรือ รูปแบบศิลปะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญทำให้มีคนทำไม่มากนัก
การเขียนอักษรแบบโบราณของทิเบตให้กลายมาเป็นงานศิลปะแบบร่วมสมัยนั้น มีพระอาจารย์เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ ในมลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาจนเป็นที่รู้จัก น่าเสียดายที่หลังจากท่านล่วงลับไปแล้วขาดผู้สานต่อ
จัมยัง ดอร์จิ ชาคริชาร์ จึงมีความพยายามที่จะสืบสาน ขณะเดียวกันก็ได้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะการเขียนอักขระมนตราจนมีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง
“คนทิเบตเชื่อในเรื่องกาย วาจา ใจ ภาพที่ใช้สื่อความหมายถึงกาย คือ ภาพบุคคล ใจ แทนด้วย รูปทรงของสถูป แล้วคำพูดที่เป็นวาจาล่ะ ? ทำอย่างไรเราถึงจะสื่อถึงวาจาของพระพุทธเจ้าได้จากเดิมที่ใช้สัญลักษณ์ของหนังสือแทน”ศิลปินตั้งคำถาม
อันเป็นที่มาของผลงานจิตรกรรมแสดงภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ของศาสนาพุทธแบบวัชรยาน ที่เกิดจากการร้อยเรียงตัวอักษรจากบทสวดมนต์ขนาดเล็กจิ๋ว (จนต้องใช้แว่นขยายส่องถึงจะมองเห็น)กลายเป็นรูปเคารพที่หลอมรวมไปกับอักขระมนตรา
จากตัวอักษรขนาดเล็กๆ พัฒนามาเป็นผลงานในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าอักขระมนตรา เขียนด้วยพู่กันที่ต้องอาศัยสมาธิในการเขียนเพื่อให้สำเร็จลุล่วงในเวลาฉับพลันทันใด
“การทำงานไม่ต่างจากทำสมาธิ จิตเหมือนลิงวิ่งไปมา เราต้องทำจิตให้นิ่ง ชิ้นไหนที่พลาดก็ทิ้งไปเลย บทสวดมนต์บางบทถ้าผมเขียนผิดคุณก็อ่านไม่ออก แต่ถ้าเป็นพระมาเห็นเข้าก็จะรู้ทันทีเลยว่าผิด ดังนั้นผมไม่สามารถเขียนอะไรที่ผิดได้เลย”
“ทุกคนล้วนภูมิใจในภาษา ในตัวอักษรของตัวเอง คนในโลกรู้จักอักษรจีน อิสลาม ญี่ปุ่น ไทย เราก็อยากบอกให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าเรามีตัวอักษรทิเบต อักขระมนตราที่สืบทอดกันมายาวนาน เราอยากจะบอกให้รู้ว่าเรามีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม” ศิลปินบอกกับเรา
กุณฑ์ สุจริตกุล ผู้ก่อตั้งมูลนิธิปัจจยา กล่าวถึงการนำผลงานของ จัมยัง ดอร์จิ ชาคริชาร์ มาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการ Calligraphy Art of Tibet ที่เซรินเดีย แกลลอรี (วันนี้ – 30 กันยายน ศกนี้)ว่าเกิดจากความชื่นชมในผลงานของศิลปิน
“ผลงานของเขาดูแล้วเหมือนเป็นปริศนา เป็นตัวหนังสือ หรือเป็นรูปพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เป็นการท้าทายความคุ้นชินของคนเรา
พระโพธิสัตว์จะมีหลายองค์ แต่ละองค์เป็นตัวแทนของสภาวะธรรมหรือข้อธรรมบางข้อ เช่น เมตตา ปัญญา ความโกรธที่แทนภาพอาการดุร้าน เป็นตัวแทนข้อธรรมที่อยู่ในจิตใจเรา เป็นกุศโลบายที่พุทธทิเบตทำได้ดีในการสื่อสาร กับ ภาวนา
ผมชอบงานของเขาเพราะเป็นการผสมผสานงานประเพณีกับร่วมสมัยเข้าด้วยกันโดยไม่ได้ละทิ้งรากฐานเดิม
ศิลปะของเขาเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับการภาวนา เห็นได้ชัดถึงมิติที่ลึกในงานของเขา อยากให้คนไทยได้เห็นถึงความร่วมสมัยในการสื่อสารกับโลกปัจจุบัน”
เป็นนิทรรศการที่ดีต่อใจ ร่วมสมัยและพาเราไปสัมผัสมนตราของดินแดนในหิมาลัยพร้อมกัน