2 ปี “ทะเลจร” กับก้าวที่ไกลกว่า “รองเท้ารีไซเคิล”
เรียนรู้การผ่านร้อนหนาวตลอด 2 ปีของ ทะเลจร ธุรกิจรองเท้าจากทะเลที่วันนี้พวกเขาไปไกลกว่าคำว่า "กำจัดขยะให้หมดไปจากทะเล" แล้ว
วันนี้ คนในแวดวงอนุรักษ์น้อยคนที่จะไม่รู้จัก "ทะเลจร" แบรนด์รองเท้ารีไซเคิลรองเท้าเก่าจากทะเลที่เปิดดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมการสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลมาได้ 2 ปีแล้ว
ฝ่ายผลิตทะเลจร (จากซ้าย) อีบรอเฮง ปริญญา อารีย์ และมราดี บากา
ไม่ผิด... ถ้าบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาจะทำให้ ทะเลจร “เปลี่ยนไป”
“เปลี่ยนไปหมดครับ” แม้แต่คนต้นคิดอย่าง อ.อาร์ม - ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย เองก็ยอมรับ
บ่ายแก่ๆ ในอาคารเรียนภาคปฏิบัติของสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์หนุ่มกำลังขมักเขม้นกับเครื่องจักรที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตรองเท้า บนโต๊ะใกล้ๆ กันนั้นมีกองรองเท้า แผ่นยาง พลาสติก และวัสดุอีกสารพัดอย่างวางรวมกันอยู่ เรียกว่า ที่นี่เป็นบ้านเกิดของทะเลจรก็ไม่ผิดนัก
“เราทำวัสดุที่นี่ก่อนจะส่งไปให้ชุมชนประกอบอีกที” เขาชี้ให้ดูอาคารอีกหลังที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ในนั้น สมาชิกของทะเลจรที่มี ปาร์ค หรือ ปริญญา อารีย์ บัณฑิตจากสายพอลิเมอร์ มอ.ปัตตานีรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกำลังรันสายพานการผลิตอยู่
แผ่นพื้น และแผ่นยางคละสีแผ่นแล้วแผ่นเล่ากำลังถูกอัดบล็อกให้กลายเป็นส่วนประกอบของรองเท้าที่มีเรื่องเล่าจากทะเล ว่ากันตามวงจรธุรกิจ ไม่ว่าจะการมีพาร์ทเนอร์ร่วมทุน ผูกปิ่นโตกับห้างใหญ่ใจกลางกรุงอย่างสยามเซ็นเตอร์ รวมทั้งออเดอร์สินค้าที่ถูกส่งมาชนิดหัวกระไดไม่แห้ง ล้วนสามารถพูดได้เต็มปากว่า วันนี้ ทะเลจร เป็น SE (Social Enterprise) หรือ กิจการเพื่อสังคม ที่ติดตลาดแล้ว
จากเท้าสู่ทะเล จากทะเลสู่เท้า
ถ้าลองจินตนาการถึงรองเท้าแตะขนาด 8,000 กิโลกรัม จะนึกภาพออกไหม
ปาร์ค เล่าให้ฟังว่า มันคือกองรองเท้าสูงขนาดต้นมะพร้าวย่อมๆ หรือถ้ายังนึกไม่ออก เขาบอกให้นึกถึง รองเท้าแตะที่อัดแน่นเต็มหลังรถสิบล้อ 1 คัน นั่นแหละ วัสดุที่พวกเขาใช้ผลิตรองเท้าส่งลูกค้า ที่จนถึงวันนี้กว่า 2 ปีแล้ววัสดุล็อตนี้ก็ยังใช้ไม่หมด
รองเท้าแตะ ที่พวกเขาได้มาจาก Trash Hero Thailand ที่เก็บได้จากเกาะอาดัง ราวี และหลีเป๊ะ จ.สตูลในช่วงระยะเวลา 3 เดือน เมื่อ 2 ปีก่อน
มันเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณขยะกว่า 27 ล้านตัน (ต่อปี) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในจำนวนนี้ มีขยะกว่า 10 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล โดยมีพลาสติก (หรือพอลิเมอร์) เป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุด
และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมประเทศไทยถึงติดอันดับ 6 ของผู้ผลิตขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก จนทำให้ขยะทะเลกลายเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ในฐานะคนที่อยู่กับกระบวนการส่วนต้นของปัญหาจึงทำให้ อ.อาร์ม วางงานพอลิเมอร์สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนแตกแขนงออกเป็น Upcycling หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุในอุตสาหกรรมเพื่อลดการเกิดวัสดุเหลือใช้ที่จะไปตกในกองขยะให้น้อยที่สุดขึ้นมาด้วย ขณะเดียวกันก็หาวิธีการนำไม่ว่าจะเป็น เศษล้อยาง รองเท้า ขวดพลาสติก กลับมาใช้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง
แผ่นยางที่ได้จากการเปิดผิวใหม่ของรองเท้าเก่า
“แผ่นพื้นยางปูสนามเด็กเล่น” คือสิ่งที่ได้ในช่วงแรกๆ เขา และเครือข่ายจึงนำไปใช้งานเพื่อสื่อสารเรื่องขยะทะเลกับชุมชน แต่เส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
“เรารู้สึกว่า ทำเป็นแผ่นพื้นหรือไป อบต. มันทำงานยาก” สิ่งที่เขาหมายถึงก็คือ คนซื้อไม่มี ก็ต้องแจกตลอดเวลา คนฟังก็ถูกเกณฑ์มา จนเมื่อได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ one young world 2015 รองเท้าจากทะเลก็เริ่มต้นขึ้น
“ลองผิดลองถูกมาเรื่อย” ตั้งแต่การปรับแต่งตัวผลิตภัณฑ์ ส่งทีมไปเรียนทำรองเท้า จนได้ออกสื่อทั้งท้องถิ่น และส่วนกลาง เกิดการบอกต่อในสังคมออนไลน์ กระทั่งเข้าไปวางโชว์อยู่บนห้างกลางใจเมือง
“มันก็เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบนะ เมื่อก่อน ทำเพื่อให้ขยะตรงนี้หมด แล้วเวลามีขยะใหม่มาถ้าเราทำขายไปเยอะๆ มันก็จะหมด” เขาพูดถึงรองเท้าแตะนับแสนข้างที่ได้มา แน่นอน สารตั้งต้น กับดอกผลที่เกิดล้วนเป็นไปได้จริง ปริมาณขยะลดจริง ชาวบ้านได้รายได้จริง
แต่แรงกระเพื่อมที่ออกไปนั้น กลับไม่ใช่อย่างที่ตัวเขา และทีมงานคิดเอาไว้ตั้งแต่แรก...
มีขยะ เห็นปัญหา
ขั้นตอนการทำงานของทะเลจรจะเริ่มจากนำกองรองเท้ามา “เปิดเนื้อใหม่”ก่อนจะนำมาอัดเข้ารูปเป็นแผ่นตามขนาดที่ต้องการ แล้วค่อยเข้าสู่ขั้นตอนปั๊มพิมพ์ ให้กลายมาเป็น พื้นรองเท้า แผ่นยาง สายหูรองเท้า ส่วนขั้นตอนการประกอบร่างนั้น ถึงส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของชุมชนเป็นคนดูแล
จังหวะของมือในการ “อัดเบ้า” สอดประสานไปกับเสียงเครื่องยนต์ที่กำลังทำงาน นี่เป็นสิ่งที่ มราดี บากา หรือที่คนในทีมเรียกว่า ดี ฝึกฝนจนชำนาญตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เขาได้มาเป็นส่วนหนึ่งในฝ่ายผลิตของทะเลจร
“ที่ต้องระวังก็คือขั้นตอนการอัดแผ่นพลาสติกครับ แรกๆ ตอนที่ทำก็ไม่ค่อยชำนาญ อัดเสียไปก็เยอะ แต่ปาร์คเขาบอกว่าไม่เป็นไร เพราะของเสียก็เอามาเปิดเนื้อ แล้วลองอัดใหม่ได้” เขาอธิบาย
เปล่า, เขาไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับพลาสติก เพราะวิชาที่ร่ำเรียนมาออกจะกระเดียดไปทางประมงเสียด้วยซ้ำ แถมยิ้มเขินแทนคำตอบเมื่อถูกถามว่าทำไมถึงสนใจงานทำรองเท้า แต่ถึงอย่างนั้น หนุ่มตานีคนนี้ยอมรับว่า การได้มาทำงานตรงนี้ทำให้ตัวเขาเปลี่ยนมุมมองจากขยะที่พบเห็นได้ทั่วไปเป็นเรื่อง “ไม่ทั่วไป” แล้ว
แผ่นพื้นสีดำติดโลโก้ "ทะเลจร"
อีบรอเฮง หรือ อาแว เพื่อนร่วมทีมของปาร์กอีกคนก็เหมือนกัน เขาพยักหน้าเห็นด้วยเมื่อพูดถึงการมีขยะแทรกเป็นส่วนหนึ่งของทัศนียภาพนั้น “ผิดปกติ”
หรือแม้แต่ ชุมชนที่รับงานต่อจากกลุ่มอย่าง กลุ่มซายัง บ้านคลองมานิง ในตัวเมืองปัตตานี ที่มีสมาชิกมาร่วมด้วยช่วยกันนับ 10 ชีวิต ในการประกอบรองเท้า และเย็บถุงผ้าปาเต๊ะ เป็นรายได้เสริมให้คนในหมู่บ้านยอมรับว่า วันนี้ ทุกคนต่างก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาในเรื่องของการดูแลความสะอาดภายในบริเวณหมู่บ้าน และยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของขยะมากขึ้นด้วย
"อยากให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อบ้านเมืองของเราค่ะ” กะฮะห์ - สุพัตรา คําตั๋น ประธานกลุ่มซายังย้ำเรื่องขยะในมือ
นี่เป็นสิ่งที่ปาร์คเรียกว่า ตัวชี้วัดรูปธรรมของโครงการ ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการ “ลดขยะ” “สร้างเครือข่าย” “สร้างอาชีพ” โดยมีรองเท้าเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน
“คนรับรู้ว่ามีขยะ มีปัญหา” นั่นคือ “สาร” ที่คนสัมผัสได้ผ่านรองเท้า แทนที่จะเป็นการ “ลดปริมาณขยะ” อย่างที่ตัว อ.อาร์มตั้งใจเอาไว้ จึงนำไปสู่รูปแบบ และวิธีการทำงานหลังจากนี้
"พอได้รองเท้ามา มันเยอะจริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้อยากได้รองเท้าอย่างเดียวแล้ว ก็ต้องไปลองเก็บดู จะได้เข้าใจว่าทำไมมันเยอะ เลยคุยกับทาง Trash Hero เป็นเครือข่ายเก็บขยะกัน ทุกวันนี้ก็เลยกลายเป็นเก็บขยะเป็นงานหลัก ทะเลจรเป็นงานเสริม หรือไม่ก็ใช้ทะเลจร ใช้รองเท้าเพื่อดึงคนเข้ามาหาปัญหาขยะแทน"
สองปีอีกแสนไกล
ขึ้นชื่อว่ารองเท้า หลายคนอาจมองหาวัสดุคุณภาพเพื่อความคุ้มค่าในการสวมใส่ บางคนอาจมองเห็นดีไซน์ความล้ำสมัยมาเป็นเรื่องหลัก หรือบางคนคิดว่าเรื่องราวของการเดินทางมาสู่รองเท้าที่ตัวเองสวมอยู่นั่นต่างหากที่สำคัญ ไม่ต่างอะไรกับเม็ดยางหลากสีสันที่ประกบตัวยึดกันแน่นเป็นเนื้อเดียวที่สะดุดตาให้เกิดคำถามเพื่อนำไปสู่การพูดคุย
“หลายคนซื้อเพราะอยากช่วยครับ” ปาร์คพูดถึงลักษณะการขายรองเท้าที่ผ่านมาของพวกเขา แน่นอน การมองหาไซส์ที่เข้ากับเท้าตัวเองจะมาเป็นตัวเลือกแรกๆ แต่ก็บ่อยที่เรื่องราวของขยะทะเลทำให้ใครต่อใครหยิบรองเท้าติดมือกลับบ้านไปฝาก หรือกระทั่งรับไปเล่าเรื่องต่อ
ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในการแก้ปัญหา ?
“ไม่แก้ปัญหาหรอกครับ ยังไงก็เก็บไม่หมดในชั่วชีวิตเราอยู่แล้ว” อ.อาร์มตอบเสียงดังฟังชัด
เขายกตัวอย่างข่าวชิ้นหนึ่งที่เคยมีนักวิทยาศาสตร์ออกมาประเมินว่า ไม่เกินปี ค.ศ.2050 พลาสติกในทะเลจะมีมากกว่าปลาในมหาสมุทรเสียอีก
"นึกภาพแล้ว แม่ง เก็บยังไงหมดล่ะ (หัวเราะ) สมมติเราพูดต่อไปอีกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ลอยอยู่ 80 เปอร์เซ็นต์จม แล้วจะเก็บยังไงล่ะ ยิ่งไมเครพลาสติก ไมโครไฟเบอร์ ไม่ต้องพูดถึงเลย รับสภาพอย่างเดียว"
อ.อาร์ม - ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย เจ้าของโครงการ
ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่อยากให้มองพลาสติกเป็นผู้ร้ายอยู่ฝ่ายเดียว แต่ “วัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง” ที่ทำให้คนร่วมด้วยช่วยกันทิ้งต่างหากที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง นั่นจึงเป็นการ “เปลี่ยนวิธีคิด-วิธีสื่อสาร” ในเรื่องของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยไม่ต้องสร้างขยะชิ้นใหม่ขึ้นมา ขณะเดียวกัน การลดปริมาณขยะในพื้นที่สาธารณะก็เป็นเรื่องที่ควรทำควบคู่ไปด้วย
"เราก็เลือกที่จะทำให้มันดีที่สุดแล้วกัน มีคนบอกว่าต้องแก้จิตสำนึกก่อนจะมานั่งเก็บไม่เวิร์กหรอก แต่ขยะตรงหน้ากู 5 ชิ้น ถ้าเก็บหมดมันก็สะอาดตรงนั้น จิตสำนึกช่างหัวไป ทำที่ทำได้ก่อน เราก็มีความสุขดี แล้วมันก็สะอาดขึ้นนะ"
เขายืนยันความสำเร็จในมุมนี้ผ่านผู้คนที่เข้ามาในชีวิตประจำวันของเขาที่พยายามปรับ และเปลี่ยนพฤติกรรมการก่อขยะเท่าที่จะทำได้ หรือแม้แต่เรื่องของการให้ความรู้กับสังคมให้มองเห็น "ขยะ" เป็น "ขยะ" เป็นของที่ต้องคิดต่อมากกว่าการโยนทิ้งตรงไหนก็ได้ นั่นก็เป็นความพยายามอีกทางหนึ่ง
ถ้าถามแรงงานภาคปฏิบัติอย่างปาร์ค ดี หรืออาแว พวกเขาก็ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจก็คือ การสื่อสารเรื่องขยะทะเล และหลังจากนี้ก็จะยังเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ออกไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากถามถึงเป้าหมายในการเดินทางของทะเลจร ปาร์คตอบด้วยความภูมิใจว่า วันที่โรงงานทะเลจรไม่มีวัสดุให้ผลิตแล้ว จนต้องปิดโรงงานนั่นแหละจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะแสดงว่า “ขยะทะเล” จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว
“เวลาไปแข่งแผนธุรกิจที่ไหนแล้วไม่เคยชนะกับเขาเลยก็เพราะตอบแบบนี้นั่นแหละครับ” หนุ่มพอลิเมอร์คนเดิมทิ้งทวนบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะ