‘สภาพัฒน์’ ชี้แจกเงิน 10,000 ดัน GDP ไตรมาส 4 จับมือ คลัง เร่งประเมินผลต่อ ศก.
"สภาพัฒน์" คาดแจกเงิน 10,000 บาท ไปยังกลุ่มเปราะบาง มีผลต่อจีดีพี ไตรมาสสุดท้ายปี 2567 แต่ยังไม่แน่ใจกระตุ้นแค่ไหน หลังแจกเงินสดเช็กยากกว่าจ่ายให้ตามระบบเดิม
วันนี้ (18 สิงหาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ไปยังกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยจะต้องประเมินเงินที่ลงไปในระบบเศรษฐกิจอีกครั้งว่าจะมีผลอย่างไร
“ช่วงแรกที่จ่ายเงิน 10,000 บาทลงไปกว่าเงินเข้าระบบต้องสำรวจ และประเมินอีกครั้งว่า นำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แค่ไหน
เพราะต้องไปดูรูปแบบการใช้จ่ายก่อน เนื่องจากการจ่ายออกไปเป็นเงินสด จะประเมินผลต่อเศรษฐกิจได้ยาก ว่านำไปใช้จ่ายอะไร จึงต้องสำรวจ ซึ่งล่าสุด สศช. ร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ได้ออกสำรวจกลุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าเงินที่ได้ไปใช้จ่ายอะไร และส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ในการประเมินเบื้องต้น การแจกเงินกลุ่มเปราะบาง 10,000 บาทในช่วงที่ผ่านมา เงินส่วนนี้จะมีต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2567 ส่วนการดำเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องหรือไม่นั้น คงต้องรอข้อสรุปจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นี้ อีกครั้งว่าจะมีมติออกมาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในช่วงที่เหลือของปี 2567 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ สศช. ตั้งไว้ 2.6% และในปี 2568 ขยายตัว 2.8% นั้น สศช. มองว่า สิ่งสำคัญคือ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพุ่งเป้ามากขึ้น
โดยต้องพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ให้รอบคอบ และต้องหารือถึงแนวทางการดำเนินมาตรการให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์