"เพาะช่าง" ตักศิลาศิลปะร้อยปี

"เพาะช่าง" ตักศิลาศิลปะร้อยปี

โรงเรียนเพาะช่าง (School of Arts & Crafts) เป็นโรงเรียนศิลปะแห่งแรกของไทยและสร้างผลิตผลคนศิลปะมายาวนานถึงร้อยปี

เพาะ เชื้อเติมไฟใส่วิญญ์

ช่าง ศิลป์สร้างสรรค์ศึกษา

สร้าง รากสร้างฐานปัญญา

คน กล้าคนแกร่งคนดี

หากคิดถึงวิชาศิลปะ ครูสอนศิลปะ และสถาบันที่สอนศิลปะ เชื่อเถิดว่าคงคิดถึง "โรงเรียนเพาะช่าง" ก่อนอื่นใด เพราะโรงเรียนเพาะช่าง (School of Arts & Crafts) เป็นโรงเรียนศิลปะแห่งแรกของไทยและสร้างผลิตผลคนศิลปะมายาวนานถึงร้อยปี

เมื่อแรกตั้งมุ่งหวังสร้างให้มีโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับวิชาช่างได้เกิดขึ้นในประเทศก่อนอื่นใดและสืบสานวิชาของไทยแต่โบราณให้ดำรงอยู่มิให้สูญหาย ดังกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ในวันเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พุทธศักราช 2456 ความว่า...

“แท้จริงวิชาช่างเป็นวิชาพื้นเมือง จะคอยแต่เอาอย่างคนอื่นฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะความงามของเขา ไม่เหมาะแก่ตาเราและฐานะของเขาและของเราต่างกัน ที่ถูกนั้นเราควรจะแก้ไขพื้นวิชาของเราให้ดีขึ้นตามความรู้และวัตถุอันเกิดขึ้นใหม่ตามสมัย ในข้อนี้สมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงปรารภอยู่มาก และเพื่อจะทรงบำรุงวิชาช่างของไทยเราที่มีมาแต่โบราณให้ถาวรอยู่สืบไป จึงได้ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้นให้ปรากฏเป็นแบบอย่างไว้ เราเห็นชอบด้วยตามกระแสพระราชดำรินั้น และได้เคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จฯและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย การศึกษาที่จะใช้วิชาช่างของไทยของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเรา และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงามดีกว่าที่จะเอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน โดยความประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จฯ มาขอชื่อโรงเรียน เราได้ระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่าโรงเรียนเพาะช่าง”

และนับแต่นั้นมา โรงเรียนเพาะช่างได้ปลูกช่างให้เจริญเติบโตผลิดอกออกผลงอกงาม สมดังพระราชปณิธานมาด้วยการสร้างสรรค์คนสร้างศิลป์และงานศิลป์ในแนวของช่างไทยที่เป็นเส้นทางการอนุรักษ์วิชาช่างศิลปกรรมของไทยไว้ และสร้างสรรค์ศิลปกรรมเส้นทางร่วมสมัยให้เกิดขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างครูศิลปะและคนทำงานศิลปะที่สำคัญแห่งหนึ่ง ถึงขนาดมีศิลปินแห่งชาติได้ผ่านการเรียนรู้จากโรงเรียนเพาะช่างถึง 30 คน มากกว่าแหล่งอื่นใด

หากมองวิวัฒนาการของโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อมองที่ความเป็นสถาบัน ย่อมเปลี่ยนแปลงมาตามกาลสมัยนับแต่เมื่อเป็นโรงเรียนสร้างคนให้มีความรู้เรื่องศิลปะของไทยและสากลในเบื้องต้นระดับพื้นฐาน ต่อมายกระดับเป็นวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่างในปัจจุบัน ในการเติบโตแต่ละช่วงนั้น นามเพาะช่างจะดำรงอยู่ในทุกระดับไม่มีการเปลี่ยนแปลง ด้วยเป็นนามพระราชทาน

ในปีที่ครบรอบหนึ่งศตวรรษที่ด้านหน้าของโรงเรียนด้านถนนตรีเพชร จัดให้มีการแสดงภาพเรื่องราวความเป็นมาของโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะตั้งแต่ยุคแรกๆ ตราบจนปัจจุบัน เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าด้านในของโรงเรียนที่ "หอศิลป์เพาะช่าง" ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีสืบมาแต่ยุคแรกๆ ของโรงเรียน ในทุกวันเกิดจะมีการจัดแสดงผลงานของนักเรียนนักศึกษาได้จัดแสดงฝีมือความรู้ทางด้านศิลปะให้เป็นที่ปรากฏ ได้จัดแสดงผลงานทั้งทางด้านจิตรกรรม ทั้งจิตรกรรมไทย จิตรกรรมสากล ประติมากรรม และยังมีงานออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ได้ชื่นชม ณ หอศิลป์ของชาวเพาะช่างนั่นเอง งานหลากหลายแต่ในด้านคุณค่าความงามและฝีมือที่ปรากฏล้วนแสดงถึงความก้าวหน้าในเชิงวิชาการและความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาผู้เรียนในยุคปัจจุบัน และยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการทำงานเชิงอนุรักษ์ความรู้วิชาช่างไทยไว้เป็นอย่างดี

แม้จะจัดแสดงด้วยในเวลาอันไม่นานนักเพราะมีงานใหญ่เพื่อการฉลองร้อยปีอยู่ข้างหน้าในวันที่ 21 - 23 มกราคม 2556 คือ “โครงการปฏิบัติการทางทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติ” ซึ่งมีทั้งศิลปินไทยครูอาจารย์ของเพาะช่างเองศิษย์เก่าและศิลปินต่างชาติมาร่วมปฏิบัติการทำงานศิลปะพิเศษเนื่องในวาระสำคัญนี้ มีศิลปินต่างชาติตอบรับมาร่วมทำงานศิลปะถึง 70 คนนับว่ามากเป็นพิเศษกว่าทุกปี นอกจากเป็นการสาธิตแสดงผลงานอันสำคัญแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนรักศิลปะนักศึกษาได้เรียนรู้ถึง ทักษะเทคนิควิธีการแนวคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ของศิลปินแต่ละคนด้วย ซึ่งนับเป็นหัวใจของงานอันสำคัญยิ่ง

และในวันที่ 21 มีนาคม 2556 จะมีงานที่สำคัญคือการจัดแสดงนิทรรศการผลงานอันแสดงถึงวิวัฒนาการของศิลปินไทยที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติซึ่งได้เคยเรียนที่เพาะช่างมาจำนวน 30 ท่าน และศิลปินศิษย์เก่า ครูอาจารย์ร่วมกันอีกครั้ง นัยว่าจะสะท้อนถึงวิวัฒนาการของศิลปะที่ผ่านสกุลช่างเพาะช่างแห่งนี้และสังคมไทยได้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง จักเป็นการแสดงให้เห็นถึงการผลิดอกผลของการตั้งโรงเรียนเพาะช่างแห่งนี้ เมื่อย้อนรอยไปถึงร้อยปีในอดีตสมดังพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ความว่า

“ขอให้โรงเรียนเพาะช่างของไทย ซึ่งได้เริ่มทำการเพาะปลูกช่างขึ้นแล้วนี้ งอกงามและแตกกิ่งก้านสาขาผลิดอกออกผล ทำความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมืองเราตลอดไปในบัดนี้ละเมื่อหน้าเถิด”

เมื่อหน้าของพระองค์ท่านคือร้อยปีในวันนี้นั้น ผลงานจะเป็นเครื่องชี้วัดให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยตัวของงานเองจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่าได้หรือไม่ ใช่หรือไม่ คนคอศิลปะควรต้องพินิจสืบต่อไปอย่างใกล้ชิด