ถ้าเธอคิดจะลืมเขา.. เธออย่าฟังแต่เพลงเศร้าอีกเลย
ถ้า "เพลง" เป็นดัชนีบ่งชี้ความสุขของคนเรา.. แล้วผลสำรวจที่พบว่า โลกเรามีเพลง "เศร้า" มากขึ้นนั้น บ่งบอกอะไรได้บ้าง ?
อะไรจะดีกว่าการฟังเพลงเศร้าในวันฝนตก หรือร้องไห้ไปกับเพลงป๊อบซึ้งๆ ขณะเดินทางคนเดียวในสัปดาห์ที่คุณรู้สึกอยากพัก
เพราะดนตรีมีความสามารถพิเศษที่ทำให้คุณปลดปล่อยอารมณ์สับสนลึกๆ ออกมาได้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนชอบฟังเพลงเศร้าเอามากๆ
ไม่น่าแปลกใจและสอดคล้องงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ระบุว่า เพลงป๊อป "เศร้า" มากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
จากรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเออร์ไวน์ ได้ทำการสำรวจเพลง 500,00 เพลงที่ได้รับการเผยแพร่ในสหราชอาณาจักร ระหว่างปี 1985 ถึง 2015 และจัดประเภทเพลงเหล่านั้นตามโทนอารมณ์ของเพลง
ในขณะที่ ท่วงทำนองของ “‘ความสุข’ ลดลง..
โทนอารมณ์ของ ‘ความเจิดจ้า’ ก็ลดลง..
แต่เพลงที่แฝง ‘ความเศร้า’ กลับเพิ่มมากขึ้น
แน่นอนว่า การที่ทีมวิจัยให้ความสำคัญกับ การลดลงของเพลงที่มีเนื้อหาเรื่องความสุข ไม่ได้หมายความว่า เพลงที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดในปี 1985 เป็นเพลงเกี่ยวกับความสุข หรือเพลงทั้งหมดที่ประสบความสำเร็จในปี 2015 เป็นเพลงเศร้า และไม่ใช่เพลงทั้งหมดจากยุคต่างๆ จากถูกจัดประเภทได้ด้วยอารมณ์แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น
ทีมวิจัยตระหนักถึงข้อนี้ดีจึงได้เลือกพิจารณาตาม ‘อารมณ์ที่ใช้อธิบายเสียงดนตรี’ เช่นเดียวกับคุณสมบัติทางเสียงที่มีแนวโน้มว่าจะสดใสหรือไม่
ในขณะที่ ท่วงทำนองของ “‘ความสุข’ ลดลง.. โทนอารมณ์ของ ‘ความเจิดจ้า’ ก็ลดลง แต่เพลงที่แฝง ‘ความเศร้า’ กลับเพิ่มมากขึ้น
"แต่ในขณะเดียวกัน เพลงที่ออกมาก็ดูชวนให้เต้นรำและเป็นแนวเปิดในปาร์ตี้มากขึ้นด้วย” นาตาเลีย แอล โคมาโรวา ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว
เพลงที่มีดัชนีความสุขต่ำในปี 2014 มีทั้ง Stay With Me ของ แซม สมิธ Whispers จาก พาสเซนเจอร์ หรือ ไมเคิล เดวิด โรเซนเบิร์ก และ Unmissable จาก กอร์กอน ซิตี้
ส่วนเพลงจากปี 2014 ที่มีดัชนีความสุขสูง มีทั้ง Glory Days ของ บรูซ สปริงทีน Would I Lie to You? ของวงยูรีธมิคส์ และ Freedom ของวง Wham!
“แม้คนทั่วไปดูจะชอบเพลงที่มีความสุขมากกว่า แต่เพลงเศร้ากลับออกมาใหม่มากขึ้นทุกปี” ทีมวิจัยยังพบว่า เพลงที่ได้รับความสำเร็จสูงสุดเป็นเพลงแดนซ์และเพลงป๊อบ ขณะที่ความสำเร็จของเพลงร็อกมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 เป็นต้นมา
แนวโน้มโดยรวมของอารมณ์ในเพลงได้สะท้อนการศึกษาอื่นๆ ที่ได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเพลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาพบว่า การใช้อารมณ์แง่บวกในเพลงลดลง ส่วนอารมณ์เหงาและการโดดเดี่ยวตัวเองออกจากสังคมกลับเพิ่มขึ้น
“มันก็เลยดูเหมือนว่า ขณะที่อารมณ์เพลงกลายเป็นสุขน้อยลง ผู้คนก็อยากลืมมันให้หมดแล้วก็ออกไปเต้นรำ”
โคมาโรวา เขียนรายงานฉบับนี้ร่วมกับ ไมรา อินทรีอาโน คัมยาร์ คาเซมิ ลิเจีย หวัง จีเนียน หยาง และจ้าวเซี่ย หยู
ขณะที่มีงานวิจัยบอกว่าเพลงป๊อบเศร้ามากขึ้น ก็มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า วัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน
งานวิจัยจาก Blue Cross Blue Shield บริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ในสหราชอาณาจักร ได้แสดงให้เห็นว่า อัตราการวินิจฉัยพบโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2013 ถึง 2016
“และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มวัยรุ่น (เพิ่มขึ้น 63 เปอร์เซ็นต์) และกลุ่มมิลเลนเนียลส์ หรือคนที่เกิดในระหว่างปี 1980-2000 (เพิ่มขึ้น 47 เปอร์เซ็นต์)”
กลับมาที่งานวิจัยเพลงป๊อบ – ทางทีมยังระบุในรายงานว่า ขณะที่ความเศร้าเพิ่มขึ้น ความเป็นชายของหลายๆ เพลงก็ได้ลดลงในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาด้วย
“เพลงที่ประสบความสำเร็จมาจากศิลปินหญิงมากกว่าเมื่อเทียบกับเพลงทั้งหมด” ทีมนักวิจัยเขียนไว้ในรายงานดังกล่าว
การสำรวจนี้ทำขึ้นในช่วงเวลาที่มีการพูดถึงความเท่าเทียมกันทางเพศในวงการดนตรีที่ผู้ชายครองพื้นที่ทั้งศิลปินและนักแต่งเพลง
ความเศร้าในเพลง และความเศร้าที่ได้รับความนิยม อาจกำลังสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ในใจ ‘พวกเธอ’ มาตลอดสามสิบปีก็ได้