แปงกอง...ทะเลสาบแห่งฝันและศรัทธา

แปงกอง...ทะเลสาบแห่งฝันและศรัทธา

“ที่นี่งดงามราวกับความฝัน” ความรู้สึกแรกบอกเช่นนั้น

นี่คือทะเลสาบสีเทอร์ควอยซ์ในอ้อมกอดของหุบเขาหลายสี เมื่อมองจากเส้นทางโดดเดี่ยวเวิ้งว้างด้านบน ภาพของทะเลสาบแปงกอง (Pangong Lake) ค่อยๆเปิดเผยตัวเองทีละน้อยๆ ก่อนผืนน้ำสีฟ้าใสราวกระจกขนาดมหึมาจะปะทะกับสายตาแบบเต็มๆ ภาพนั้นงามเกินกว่าความจริง...

ทะเลสาบแปงกอง คือทะเลสาบน้ำกร่อยกลางทะเลทรายบนเทือกเขาหิมาลัย ความสูง 4,350 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หนึ่งในสามของพื้นที่ทะเลสาบตั้งอยู่ในแคว้นลาดักห์ รัฐจัมมู-แคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ส่วนที่เหลืออยู่ในฝั่งทิเบต นี่คือทะเลสาบชายขอบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซุกซ่อนอยู่ภายในภูมิประเทศที่แห้งแล้งแสนกันดาร

จากช่องเขาสูงสู่ทะเลสาบสีเทอร์ควอยซ์

ฉันมาถึงเมืองเลห์ เมืองหลวงของเขตลาดักห์หลายวันแล้ว เช้านี้จึงร่วมแชร์รถไปกับเพื่อนใหม่ชาวเกาหลีอีก 6 ชีวิตสู่ทะเลสาบแห่งความฝัน Pangong Lake

9 นาฬิกาคือเวลานัดหมายออกเดินทางจากย่านจางสปาในเมืองเลห์ เรามีโปรแกรมว่าวันแรกจะไปชมธรรมชาติที่สวยงามของทะเลสาบหลากสี ค่ำนี้จะพักค้างคืนที่หมู่บ้าน Spangmik หมู่บ้านเล็กๆ ริมทะเลสาบ ถิ่นของชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน Changpa หมู่บ้านสุดท้ายที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวค้างแรม แล้วค่อยเดินทางกลับสู่เมืองเลห์ สายๆ ของวันถัดไป

ระยะทาง 160 กิโลเมตรจากเมืองเลห์ ณ จุดกึ่งกลางกิโลเมตรที่ 83 ต้องผ่านช่องเขาสูงชัง-ลา (Chang la) บนความสูง 5,360 เมตรจากระดับน้ำทะเล ช่องเขานี้ถูกอ้างว่าเป็นช่องเขาสูงอันดับ 3 ของโลก นั่นหมายถึงบรรยากาศออกซิเจนเบาบาง แต่วันนั้นดูเหมือนว่า “ชิลล์ๆ” นับตั้งแต่การผจญภัยบน คาร์ดุง-ลา(Khardung -La) บนความสูง 5,606 เมตรผ่านพ้นมาได้ เพราะร่างกายปรับสภาพกับบรรยากาศบนพื้นที่สูงเรียบร้อยแล้ว

แต่ความหนาวเย็นดูจะเป็นภาระหนักกว่า เมื่อรถจอดลง ณ ช่องเขาสูงน้ำแข็งบริเวณนั้นยังละลายไม่หมด ไอเย็นส่งผ่านบรรยากาศมาสัมผัสร่างกาย ยามนั้นทั้งหนาวสะท้านและสดชื่น แต่หากใครเกิดอาการแพ้ความสูงเฉียบพลันขึ้นมา ที่นี่มีการเตรียมพร้อมทั้งอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และยาที่จำเป็น แถมยังมีโรงน้ำชาเล็กๆ เสริฟ์ชาร้อนๆ ฟรีให้กับนักท่องเที่ยวผู้ผ่านทาง เป็นบริการของกองทัพอินเดียเพราะถนนสายนี้เป็นเส้นทางไปสู่ชายแดนจีน

หลังจากที่รัฐบาลอินเดียตัดสินใจเปิดให้กับนักท่องเที่ยว จากนั้นจึงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกบนเส้นทางโดยอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพอินเดีย เส้นทางสายนี้จึงเปิดตลอดทั้งปี แต่ในฤดูหนาวการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากจึงมีนักท่องเที่ยวบางตากว่าฤดูร้อนในแต่ละปี

บนช่องเขาแห่งนี้มีวัดเล็กๆ โบราณที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่ Baba Changla สาธุหรือนักบวชฮินดู ว่ากันว่านี่คือที่มาของชื่อช่องเขาชัง-ลา ประตูไปสู่ที่ราบสูง Changthang ในเทือกเขาหิมาลัย ถิ่นของชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน Changpa ซึ่งพบในทิเบต และหุบเขาในแถบลาดักห์ โดยเฉพาะภูมิภาค Zanskar ในแคว้นเดียวกัน คือจัมมูและแคชเมียร์

เมื่อรถขับลงจากช่องเขาชัง-ลา สักพักจะผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ตามรายทาง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่เกิดจากลำธารใสที่ละลายมาจากหิมะบนเขาสูง สภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทุ่งดอกไม้นานาพันธุ์อาบคลุมอยู่ทั่วผืนดิน สักพักรถวิ่งผ่านทุ่งหญ้าขนาดใหญ่เห็นฝูงม้า ฝูงแพะและฝูงแกะ กำลังยืนเล็มหญ้าอย่างอิสระและเบิกบาน

จนกระทั่งมาถึงหมู่บ้านตังเซ่ (Tangste) จุดตรวจหนังสือเดินทางและเอกสารการขออนุญาตเข้าพื้นที่ชายแดนก่อนเดินทางสู่ทะเลสาบสีฟ้า หลังจากนั้นภูมิประเทศเปลี่ยนจากทุ่งหญ้ากว้างเป็นหุบเขาสีน้ำตาลเวิ้งว้าง แห้งแล้งภายใต้ท้องฟ้าสีคราม เกินกว่าจะจินตนาการได้ว่าจะมีทะเลสาบแสนสวยตั้งอยู่

เมื่อรถวิ่งผ่านเส้นทางหิน-กรวดขรุขระ เต็มไปด้วยน้ำที่ละลายมาจากหิมะสู่ลำธารจนเอ่อล้นมาทับเส้นทาง บรรยากาศตอนนั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้น คอยลุ้นอยู่ว่าเราจะรอดมั๊ย? ต้องปรบมือให้กับโชเฟอร์ผู้ช่ำชองที่ประคองชีวิตของพวกเราจนภาพแห่งความฝันได้ปรากฏขึ้นเป็นจริง

เกือบ 6 ชั่วโมงกับการเดินทาง วันนั้นทุกอย่างเป็นใจ แดดสวย อากาศใส ท้องฟ้าสีคราม ลมเย็นพัดผ่าน ทุกคนกระโดดลงจากรถอย่างไม่รีรอ...เพื่อชื่นชมมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ ถ้ามีดวงตามองลงมาจากเบื้องบน ทะเลสาบแห่งนี้ก็เปรียบเสมือนดวงตาที่มองไปยังฟากฟ้าเช่นกัน

แปงกอง ทะเลสาบบน Trans-Himalayan

แปงกอง คือทะเลสาบในหุบเขาของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของแม่น้ำสินธุ ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของระบบนิเวศทะเลทราย Trans-Himalayan ทะเลสาบแห่งนี้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนระหว่างลาดักห์และทิเบต ภายใต้สนธิสัญญาที่ลงนามระหว่าง Tingmosgang กษัตริย์แห่งลาดักห์ และ Deldan Namgyal ผู้สำเร็จราชการแห่งทิเบต เมื่อปี 1684 ณ วันนี้จึงถูกใช้ร่วมกันโดยจีนและอินเดีย

ผืนน้ำกว้างใหญ่ที่มองเห็นนี้มีขนาด 700 ตารางกิโลเมตร มีความยาว 130 กิโลเมตร กว้าง 6-7 กิโลเมตร 30 เปอร์เซ็นต์ของทะเลสาบอยู่ในเขตลาดักห์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องสู่ที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ประเทศจีน

เนื่องจากตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศค่อนข้างรุนแรง อุณหภูมิของน้ำในทะเลสาบจึงแตกต่างกันอย่างมากตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิผิวน้ำ 19 องศาเซลเซียส ส่วนด้านล่าง 8 องศาเซลเซียส ฉันทดสอบด้วยการเอามือจุ่มลงไป เย็นเฉียบ...จนดึงกลับแทบไม่ทัน ส่วนฤดูหนาวปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนเมษายน ทะเลสาบแห่งนี้จะกลายเป็นน้ำแข็ง

แปงกอง ได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบหลากสี โดยมีอิทธิพลมาจากลำแสงของดวงอาทิตย์ที่ตกสะท้อนสู่ยอดเขาสูง-ต่ำด้านหลังที่เปรียบเสมือนปราการที่โอบล้อมทะเลสาบไว้ ส่งผลให้สีของน้ำในทะเลสาบล้อเล่นไปกับแสงของดวงตะวัน จากยามเช้าที่บางเบาใสในแบบคริสตัล สู่เขียวเทอร์ควอยซ์ ฟ้า และน้ำเงินเข้มในเวลาเย็นย่ำ ที่นี่ยังเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นทะเลสาบแห่งความสงบ ใสสะอาด และไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเธอหายเข้าไปในดินแดนทิเบต

คนลาดักห์เรียกที่นี่ว่า Pangong Tso มาจากภาษาทิเบต หมายถึง “ผืนน้ำที่อยู่บนพื้นที่สูง” หนุ่มลาดักห์เจ้าของบริษัททัวร์ในย่านจางสปา เล่าให้ฟังว่า คนลาดักห์ให้ความเคารพนับถือทะเลสาบแปงกองมาก เป็นความเคารพในธรรมชาติที่มีอยู่ในจิตใจของชาวลาดักห์

“แม้แปงกองจะตั้งอยู่ในแผ่นดินที่แห้งแล้ง กันดาร แต่น้ำในทะเลสาบจะไม่มีการนำมาใช้ หรือไม่อนุญาตให้ลงไปว่ายและนำเรือลงไป และไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวรมากมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จะมีก็เพียงเต๊นท์อาหาร และแคมป์พักแรม ซึ่งจะถูกรื้อเมื่อฤดูร้อนผ่านไป ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อต้องการรักษาความใส สะอาด และความสงบของทะเลสาบไว้”

วันนั้นขณะที่เดินชื่นชมความงามของแปงกอง ฉันเห็นสัญลักษณ์หนึ่งซึ่งสะท้อนถึงศรัทธาของคนลาดักห์ตั้งอยู่ที่แนวชายหาด ภาพของกองหินที่ตั้งวางเป็นชั้นๆ พร้อมธงมนตร์ปักอยู่ด้านบน แม้สิ่งนี้จะเรี่ยติดพื้นแต่สร้างขึ้นจากความเคารพ ยังไม่ทันละสายตาจากกองหิน เพื่อนร่วมทางบางคนกระโดดขึ้นไปเหยียบด้านบน โพสต์ท่าเตะธงมนตร์เพื่อถ่ายรูป...ภาพนั้นยังติดตา

ฉันเองไม่ใช่ชาวพุทธ แต่ก็สลดใจกับภาพที่เห็น... เพราะการเคารพในศรัทธาที่แตกต่างก็คือการเคารพในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมิใช่หรือ สำหรับคนลาดักห์แปงกองมีความหมายมากกว่าความงาม ที่นี่คือทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์

ชนเผ่าเร่ร่อนกับแพะ Pashmina

จากจุดชมวิวของทะเลสาบแปงกองไปทางใต้ 7 กิโลเมตรคือที่ตั้งของหมู่บ้าน Spangmik หมู่บ้านสุดท้ายชายแดนของประเทศอินเดีย นักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้พักค้างแรมได้ ฉันเลือกนอนเต๊นท์พักแรมแทนกระท่อมก่ออิฐดินหลังเล็กๆ 2-3 หลังที่เปิดต้อนรับแขกต่างแดน

หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนแนวแคบๆ ของชายหาดที่ปกคลุมด้วยหินกรวดขรุขระ บริเวณนี้ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาและทะเลสาบ เป็นบ้านของชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน Changpa ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ครอบครัวอาศัยอยู่ในกระท่อมก่ออิฐดิน ตั้งอย่างกระจัดกระจาย พวกเขาดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงแพะ Pashmina ปลูกข้าวบาร์เลย์และถั่วในช่วงฤดูร้อนสั้นๆ

ส่วนเต๊นท์พักแรมนั้นเป็นของชาวลาดักห์จากหมู่บ้านอื่นที่อยู่ไกลออกไป พวกเขาจ่ายเงินค่าเช่าพื้นที่ให้กับทางการ เพื่อมาประกอบธุรกิจที่พักและร้านอาหารในบริเวณนี้เฉพาะในช่วงหน้าร้อน ฤดูกาลท่องเที่ยว

เวลานี้ฉันอยู่ท่ามกลางความสงบเงียบของ Spangmik เพราะน้อยคนนักจะพักค้างแรม ส่วนใหญ่มักจะเดินทางไป-กลับภายในวันเดียว มุมงามๆ ของ Spangmik จึงไม่ถูกรบกวน แต่การนอนเต๊นท์ทำให้ต้องเผชิญกับความหนาวสะท้านจากลมทะเลสาบที่โหมกระหน่ำเข้ามา ชาอุ่นๆ ช่วยคลายหนาวได้ดี

แม้จะอยู่ใกล้ทะเลสาบแค่เอื้อม แต่น้ำที่นี่ขาดแคลนเพราะชาวบ้านต้องบรรทุกน้ำมาจากภายนอก น้ำในทะเลสาบห้ามแตะต้อง คืนนั้นจึงไม่มีใครอาบน้ำ เพราะเรามีน้ำไว้ใช้เท่าที่จำเป็นสำหรับปลดหนัก ปลดเบาเท่านั้น

คืนนี้มีอาหารเย็นง่ายๆ ที่เจ้าของเต๊นท์พักแรมเป็นแม่ครัวด้วยตัวเอง อย่าง จาปาตี ดาล (แกงถั่ว) และโมโม่ เสริฟ์พร้อมชาและกาแฟ ส่วนมื้อเช้าอิ่มท้องด้วยไข่เจียว และจาปาตีทาแยม สำหรับฉันแค่นี้ก็อยู่รอดแล้ว แต่...

บางคนอาจเรียกร้องโน่น...นี่...นั่น อย่างเช่น ผักสดๆ โปรดลืมไปได้เลย เพราะพื้นที่นี้แค่ข้าวบาเล่ย์และถั่วที่ชาว Changpa ปลูกในฤดูร้อนยังให้ผลผลิตไม่ดีเลย เพราะภูมิประเทศแห้งแล้ง อากาศหนาวจัด ผักสดๆ จึงไม่งอกงาม ส่วนการเดินทางไม่สะดวกพอจะไปสรรหาผักสดมาให้นักท่องเที่ยวได้ทุกวัน ฉันทำได้แค่ปลอบใจเพื่อนร่วมทาง เธออัธยาศัยน่ารัก แต่...

เช้าวันใหม่แสงแดดอุ่นๆ มาทักทายให้คลายหนาว วิวของธารน้ำแข็งสีขาวบนยอดเขาหิมะทางทิศเหนือโดดเด่นสง่างามท่ามกลางท้องฟ้าและทะเลสาบสีครามแสนสงบ เรียกร้องให้บันทึกภาพแบบลืมเวลา

ก่อนจะแวะเยี่ยมเยียนกระท่อมของชาว Changpa ครอบครัวของพวกเขาเป็นเจ้าของแพะ Pashmina ที่ดึงดูดพ่อค้ามาจากทั่วทุกพื้นที่ทางภาคเหนือของอินเดีย เพื่อซื้อขนแพะ Pashmia ส่งไปยังเขตแคชเมียร์และรัฐหิมาจัลประเทศ วัตถุดิบนี้เป็นที่รู้จักกันดีเมื่อถักทอเป็นผ้าคลุมไหล่ขนสัตว์คุณภาพดี ราคาแพง ผ้า Pashmina นั่นเอง

ในเวลากลางวันพวกเขาจะต้อนแพะไปเลี้ยงในทุ่งหญ้า ส่วนในช่วงค่ำคืนแพะเหล่านี้จะถูกขังไว้ในคอกหินเรียงต่อกันเป็นชั้นๆ ใกล้กับกระท่อมของแต่ละครอบครัว ส่วนในฤดูหนาวพวกเขาจะโยกย้ายถิ่นไปในดินแดนที่อุ่นกว่าในแถบลาดักห์ นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของวิถีชีวิตทั้งหมดของชาว Changpa ที่ฉันได้สัมผัส...

ก่อนเดินทางกลับสู่เมืองเลห์ อยากฝากผู้ผ่านทางทั้งหลายว่า แปงกอง คือความงามในความยากไร้ แห้งแล้ง และขาดแคลน ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่การเรียกร้องเกินควรของนักท่องเที่ยวอาจต้องใคร่ครวญ เคยมีคนตั้งนิยามของคนเดินทางไว้หลากหลาย แต่...

ไม่ว่าเราจะเรียกตัวเองว่า “นักท่องเที่ยว” หรือ “นักเดินทาง” ไม่สำคัญไปกว่าความเคารพในแผ่นดิน ผู้คน ธรรมชาติ วัฒนธรรม และศรัทธาของท้องถิ่นที่เราเหยียบย่างเข้าไป สิ่งนี้ต่างหากคือเป้าหมายปลายทาง