ลูนูกันกา...บ้านที่แสง เงา และธรรมชาติรวมเป็นหนึ่งเดียว

ลูนูกันกา...บ้านที่แสง เงา และธรรมชาติรวมเป็นหนึ่งเดียว

เวลาที่คุณดีไซน์คุณนึกถึงอะไร ระหว่างการอนุรักษ์ หรือ เอกลักษณ์ ?

เจฟฟรีย์ บาวา สถาปนิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของศรีลังกา เจ้าของลักษณะงาน Tropical Modernism ที่ให้แรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกหลายคน ตอบง่ายๆ ว่า

"ไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านั้นเลย คิดแต่เรื่องของความสบายในชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรจะให้มนุษย์เราอยู่กับธรรมชาติได้อย่างรื่นรมย์"

ลูนูกันกา (Lunuganga) บ้านหลังแรกที่ เจฟฟรีย์ บาวา ลงมือออกแบบตกแต่งทั้งบ้านและสวน สถานที่ซึ่งเป็นทั้งที่พำนัก สร้างแรงบันดาลใจ และห้องทดลองทางความคิดย่อมๆ

กรุงเทพวันอาทิตย์ชวนคุณไปทำความรู้จักกับ เจฟฟรีย์ บาวา ผ่าน ลูนูกันกา ที่เมืองเบนโตตา ประเทศศรีลังกา โดยมี วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ สถาปนิกคนไทยที่เคยร่วมงานกับบาวาในช่วงปลายชีวิตร่วมนำทาง

สวนปริศนา

ลัดเลาะไปตามถนนสายแคบๆ ในเมืองเบนโตตา ถนนที่มุ่งหน้าสู่บ้านของเจฟฟรีย์ บาวา น่าจะเรียกว่า "ทาง" มากกว่า เพราะทั้งแคบแถมยังเป็นทางดินจนไม่ต้องคิดเลยว่าหากมีรถยนต์วิ่งสวนมาจะแก้ปัญหากันอย่างไร อย่างไรก็ดีทางที่โอบล้อมไปด้วยป่าอบเชยและสวนยาง นำพาเราข้ามทะเลสาบเดดดูว่า แล้วมุ่งหน้าสู่ประตูบ้านที่รู้จักกันในนาม ลูนูกันกา

หลังจากสั่นระฆังทองเหลืองหน้าบ้านได้สักครู่ ผู้ดูแลบ้านจะออกมาเปิดประตูให้พร้อมกับนำทางเข้าสู่ภายใน

วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ เล่าว่าเขามาที่นี่หลายครั้งแล้ว ส่วนใหญ่เมื่อมาจะมาพักอยู่บริเวณ "บ้านสะพาน" ชั้นล่างเปิดโล่งสำหรับให้รถยนต์จอดได้ ชั้นบนเป็นห้องพักและห้องทำงาน ตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกับสะพาน โดยด้านหนึ่งเชื่อมต่อกับเนินเขาเล็กๆ มีอาคารหลักชั้นเดียวตั้งอยู่บนเนินที่สามารถมองเห็นสวนได้ทั้ง 4 ทิศ อันมีทัศนียภาพไม่ซ้ำกันเลย

ใกล้ๆ กันมีอาคารหลังเล็กๆ เรียกว่า แกลลอรี ตั้งอยู่ อาคารหลังนี้จะมีระเบียงด้านหน้า โดดเด่นด้วยการใช้เสาไม้แกะสลักศิลปะที่เห็นโดยทั่วไปในบ้านพักอาศัยของคนศรีลังกา มุงด้วยกระเบื้องดินเผาพื้นเมืองที่ดูกลมกลืนกับอาคารสไตล์โคโลเนียล

เพดานสูง ช่องหน้าต่างประดับกระจกที่ยาวจากเพดานจนถึงพื้นไม่เพียงแต่จะเปิดรับแสงที่สาดมาเต็มพื้นที่ หากยังเปิดให้เห็นถึงความร่มรื่นของพรรณไม้ใหญ่รายรอบ พื้นกระเบื้องสีดำสลับขาวดูเหมือนจะเป็นสไตล์ของบาวาที่เราพบเห็นใน เดอะ วิลล่า รีสอร์ทริมทะเลในเมืองเบนโตตาอีกหนึ่งผลงานออกแบบของสถาปนิกผู้โด่งดัง

ไม่ไกลเป็นทางลงสวนเล่นระดับที่ต้องเดินลงบันไดไป มีโต๊ะเก้าอี้ชุดหนึ่งตั้งอยู่มุมก่อนลงบันได จากมุมนี้มองลงไปจะเห็นสระน้ำรูปผีเสื้ออยู่ด้านล่าง และนี่คือมุมทำงานที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ มากมาย

แรงบันดาลใจจากสวนอังกฤษ

วรพันธุ์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจหลักที่บาวานำมาออกแบบบ้านหลังนี้ว่ามาจากสวนสไตล์อังกฤษและทะเลสาบในอิตาลี

"เจฟฟรีย์ บาวา (ค.ศ.1919 - 2003) เป็นหนุ่มสังคม เป็นปาร์ตี้แมน หนุ่มสังคม เอนจอยกับชีวิต ดื่มไวน์ เป็นผู้นำในวงสนทนา เขาเป็นทนายมาจนอายุ 38 มาเป็นสถาปนิกด้วยความบังเอิญ มีความฝันที่จะไปอยู่อิตาลี ชอบบรรยากาศทะเลสาบที่นั่น จุดเปลี่ยนคือ พ่อเสียชีวิตต้องมารับทอดการดูแลสวนยางกิจการของที่บ้าน พ่อก็เป็นทนายมีชื่อเสียงเหมือนกัน เป็นครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย

เขามีพี่ชายอีกคนชื่อว่า เบวิส บาวา เป็นทหารที่มีความสามารถในการแต่งสวน พี่น้องคู่นี้หน้าตาดีเพราะว่า พ่อมีเชื้อสายเปอร์เชีย อาหรับ อังกฤษ แม่เป็นชาวสก็อตต์ที่มีเชื้อสายเยอรมัน พี่น้องคู่นี้เก่งและเป็นเกย์ทั้งคู่

เนื่องจากเป็นคนที่มีรสนิยม ชอบอยู่ท่ามกลางความสวยงาม งานแรกที่ทำคือ การปรับบ้านให้สวยงาม โดยมีแรงบันดาลใจจากสวนอังกฤษ ผสานกับแลนด์สเคปของทะเลสาบในอิตาลี"

สวนในสไตล์อังกฤษเน้นแลนด์สเคปที่เป็นเนินเขาเล่นระดับ โอบล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียว โดยมีอาคารสีขาวอยู่ด้านใน วรพันธุ์ อธิบายถึงการนำแนวคิดนี้มาปรับในการออกแบบลูนูกันกาให้มีสเปซกว้างโอบล้อมตัวบ้านหลักซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวตั้งอยู่บนเนิน ในขณะเดียวกันก็ออกแบบสระน้ำรูปผีเสื้อให้เป็นเสมือนบ่อน้ำระหว่างทางเดินในสวนที่เปลี่ยนมาเป็นพรรณไม้เมืองร้อน ได้แก่ มะม่วง ลั่นทม ขนุน และ ต้นไม้ประจำชาติศรีลังกา ได้แก่ Ironwood (ไม้เนื้อแข็งใบอ่อนสีแดง ดอกใช้ทำยาสมุนไพร สบู่ น้ำหอม เชื่อกันว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาศรีลังกาได้ปลูกต้นไม้นี้ไว้ และพระศรีอารยเมตตรัยจะตรัสรู้ใต้ต้นไม้นี้)

แน่นอนว่า ความฝันที่จะอยู่ในอิตาลี เขาออกแบบให้มีเทอร์เรซสำหรับนั่งชมทิวทัศน์ของทะเลสาบเดดดูว่าจากบนบ้าน โดยริมท่าเรือมีประติมากรรมรูปสิงโตหมอบอยู่ริมน้ำ กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างแลนด์สเคปแบบตะวันตกด้วยทัศนียภาพของพฤกษาเมืองร้อนที่มีความเขียวขจี

อยู่กับธรรมชาติอย่างรื่นรมย์

เหตุเพราะต้องกลับมารับมรดกที่ศรีลังกา ทำให้บาวาตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากทหารมาเป็นสถาปนิก เขาเดินทางกลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทางด้านสถาปัตยกรรม

" บาวาเป็นนักเรียนที่แก่ที่สุด (อายุ 34 ในขณะนั้น) ทุกคนจำแกได้หมดเพราะว่าเป็นคนช่างพูดช่างคุย อังกฤษเหมือนบ้านแกจบกฎหมายที่นี่ มีไลฟ์สไตล์แบบคนอังกฤษอยู่แล้ว พอกลับมาทำงานเป็นสถาปนิกที่บ้านเกิด ก็มีงานเยอะมาก ผมมองว่าไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนเด่นดัง หรือว่าเคยเป็นทนายมาก่อน แต่เป็นเพราะว่า แกเป็นคนมีรสนิยม งานแรกๆเป็นงานเล็กๆ ทำบ้านเป็นส่วนใหญ่"

วรพันธุ์ แบ่งผลงานของบาวาออกเป็น 3 ยุค กล่าวคือ ยุคโคโลเนี่ยล ยุคคอนกรีต และ ยุคเหล็ก

"ผลงานในช่วงสิบปีแรกเป็นแบบ โคโลเนียล เห็นได้ชัดจนในลูนูลังกา ในงานทำงานของเขา จะมีลักษณะของเสาบัว เสาหิน มีการนำเอาสัญลักษณ์ เช่น บานประตูหน้าต่างแบบโคโลเนียลมาใช้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีในเรื่องคอนกรีตเข้ามา

สีดำ ขาว ได้แรงบันดาลใจมาจากสวนอังกฤษ เป็นสวนเรียบงง่าย เน้นสเปซ มีแต่มีเขียว ส่วนตัวอาคารมักจะเป็นส่วนผสมของสถาปัตยกรรมผสมระหว่างดัตช์ โปรตุกีส และอังกฤษ จุดเด่นของเขาคือความโอ่โถงสบาย โดยหยิบเอารูปแบบขององค์ประกอบทั่วไปที่เห็นในบ้านของคนศรีลังกามาผสมผสานในงานออกแบบ

การนำองค์ประกอบเรียบง่าย ทำให้งานของเขาอยู่เหนือกาลเวลา ไม่ใช่ว่าต้องมาซ่อมทุกห้าปี สเปซที่สวยที่สุดของเขาคือ เทอร์เรซ บัลโคนี จุดที่ให้คนชื่นชมกับธรรมชาติ "

ส่วนงานในยุคคอนกรีตและเหล็กนั้น วรพันธุ์อธิบายว่าเป็นการเปลี่ยนวัสดุที่นำมาใช้ ขณะเดียวกันก็ลดทอนรายละเอียดให้เป็นมินิมอลลิสต์ ลักษณะเด่นคือ เสาที่ใช้จะบาง และยังคงรักษาสาระของสถาปัตยกรรมในการเชื่อมธรรมชาติเข้ากับตัวอาคารได้อยู่

จุดเด่นอีกอย่างของบาว่าที่ผมชอบมากคือ เขาจะเปลี่ยนพาร์ตเนอร์บ่อยๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้น ช่วงทำงานยุคคอนกรีตมีพาร์ทเนอร์เป็นเอนจิเนียร์ มาช่วยคำนวณโครงสร้าง ยุคเหล็กมีพาร์ทเนอร์เป็นสถาปนิกหนุ่ม เพราะต้องการให้งานของเขามีความเป็นคนรุ่นใหม่ สิ่งที่เขารักษาไว้คือ คอนเทนต์ของการเบรนด์ตึกให้เข้ากับธรรมชาติ"

สิ่งที่สถาปนิกคนอื่นทำไม่ได้

ผลงานออกแบบที่มีชื่อเสียงของบาวา มีตั้งแต่อาคารรัฐสภาของศรีลังกา ศาลาริมน้ำวัดคงคาราม เบนโตตา บีช รีสอร์ท ธนาคาร State Mortgage และ รีสอร์ทหลายแห่งที่บาหลี จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายกลุ่ม

"ผลงานของเขาแทบจะไม่มีสถาปนิกคนไหนทำได้เลย นั่นคือ ขอทานชอบ คนธรรมดาชอบ เศรษฐีชอบ คุณไม่ต้องรู้เรื่องอะไรเลยคุณก็ชอบงานเขา ในขณะที่งานสถาปัตยกรรมส่วนมากคุณต้องรู้ที่มาแล้วถึงจะชื่นชมได้

ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบรีสอร์ทและบ้านเป็นจำนวนมาก เพราะว่าเข้าถึงความเป็นมนุษย์

งานของบาวามีตั้งแต่ออกแบบรัฐสภา ไปจนถึงบ้านคนฐานะปานกลางมากๆ ไม่ได้ทำงานให้เฉพาะเศรษฐีเท่านั้น ทุกงานไปตามมาตรฐานเดียวกัน คือ การใช้แสงเงา

ผมมองว่าสิ่งนี้แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของเขา การนำแสงเงาธรรมชาติเข้ามาใช้มันก้าวข้ามเรื่องเทคโนโลยี วัสดุการก่อสร้าง เรื่องช่างฝีมือในการก่อสร้าง ปกติสถาปนิกในบ้านเรา เวลางานออกมาไม่ดี มักจะบอกว่า งบน้อย วัสดุไม่ดี เจ้าของก็โง่ ผู้รับเหมาก็ห่วย

แต่งานของบาวามันพิสูจน์เลยว่าศรีลังกาเมื่อตอนนั้นไม่มีอะไรสักอย่าง มีแต่สงคราม วัสดุก่อสร้างก็ไม่มี งบก็น้อย เจ้าของก็คงไม่ได้ฉลาดไปกว่าคนไทย ช่างฝีมือก็เป็นช่างของเกาะเล็กๆ มันจะดีหรือจะแย่ แต่งานของบาวาก้าวข้าวสิ่งเหล่านั้น เพราะเขาใช้เครื่องมือที่ไม่ต้องซื้อเลย คือ สเปซ แสง เงา นี่คือ หัวใจในการทำงาน

เขารู้จักการเชื่อมธรรมชาติเข้ากับตัวบ้าน ต่างกับสถาปนิกบางคนที่เริ่มต้นที่วัสดุ หินอ่อนต้องมาจากอิตาลีนะ โคมไฟประมาณนี้นะ ของเขาก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้หมด

นอกจากนี้ บาวา ยังเป็นผู้ที่ช่วยพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมของศรีลังกา จากเดิมที่อยู่กันแบบชาวบ้าน บาวาสามารทำให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชีวิตสมัยใหม่ สามารถมีบ้านที่ไม่แพง มีสาระที่คนสามารถชื่นชมได้กับธรรมชาติ มีสเปซที่มีคุณภาพเข้าไปแล้วอยู่สบาย

งานของเขาช่วยให้คนไปถึงแล้วรู้เลยว่าเป็นที่ๆ น่าอยู่ เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนได้มานั่งคุยกัน " วรพันธุ์ สรุปได้อย่างเห็นภาพ

เราเดินมาถึงเทอร์เรซที่บาวาจะมานั่งรับประทานอาหารเช้า บริเวณอาคารหลัก ณ ตรงนี้เราสามารถเพลิดเพลินกับสนามกว้างบนเนินเขาที่ลดระดับลงไป มองเห็นซินเนมอน เฮ้าส์ หรือ เรือนอบเชยที่บาวาใช้เป็นเรือนนอนในช่วงปลายของชีวิต หากมองไปสุดสายตาเราจะมองเห็นเจดีย์ในหมูบ้านอยู่ไกลๆ

ลูนูกันกา ช่างเป็นบ้านที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติอย่างแท้จริง รู้สึกว่าอยากจะนั่งคุยกับต้นไม้ แสงแดด และท้องฟ้าตรงนี้นานๆ

(หมายเหตุ : ลูนูนกันกา เปิดให้ชม 9.00 - 17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 1,200 รูปีศรีลังกา (ประมาณ 300 บาท) สอบถามรายละเอียดได้ที่ [email protected] , สนับสนุนการเดินทางโดยการบินไทยสไมล์)