เรื่อง "โคมลอย"

อย่าปล่อยให้ประเพณีที่ดีงามถูก "กระแสแฟชั่น" กลบบัง จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมแบบไม่รู้ตัว

"ไหม้หมดเลย กำลังดกแท้ๆ ว่าจะเก็บไปขาย มาโดนแบบนี้ก็อดกันพอดี" ยายบุญชู อภิวัฒนาวา นั่งรำพึงเสียดายพริกขี้หนูต้นใหญ่ที่ถูกครอบไว้ด้วยซากโคมไฟ เป็นเหตุให้พริกทั้งต้นถูกรมไฟจน "ตายนึ่ง" ไปหมด

ยายบุญชู วัย 86 ปี บอกว่า ยังดีที่ไหม้แค่ต้นพริก เพราะถ้าโคมไฟปลิวขยับไปอีกนิด บ้านไม้ทั้งหลังของยายที่พิษณุโลกก็คงไหม้เป็นเถ้าถ่าน

เหตุการณ์ไฟไหม้อันมีต้นตอมาจากการลอยโคม(ไฟ)เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และแทบทุกครั้งก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ยากจะลืมเลือน

"บอกตรงๆ ว่าใจจะสลายที่ทำอะไรไม่ได้เลย ... มองกลับไปคือเห็นไฟมันพุ่งๆ มาลนคุณตาครับ ในลักษณะที่แกนอนดิ้นๆ เหมือนจะขาดใจ ทำได้แค่พยายามสาดน้ำเข้าไปให้ไฟมันดับบ้าง แล้วก็หาทางจะเข้าไปช่วยต่อ เสียงแกแผ่วลงๆ ไฟก็ยังคงสูงและลามอยู่อย่างนั้น มันโหดร้ายมากที่เราทำได้แค่ไม่หลบตา มองดูแกอย่างนั้น พยายามกันอยู่นานกว่าจะสามารถกลับไปช่วยแกได้อีก พอหามคุณตาออกมาได้ก็สายไปแล้วครับ แกไปแล้ว" คำบอกเล่าจาก สมาชิกหมายเลข 925292 ในกระทู้พันทิป ยืนยันได้ถึงความเจ็บปวดที่ได้รับ

ไม่เพียงแค่คุณตา ซึ่งเป็นชายชราที่มีโรคประจำตัวเป็นอัมพฤกษ์เท่านั้น หากแต่เหตุการณ์ไฟไหม้เต็นท์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่ท่าน้ำนนท์ยังคร่าชีวิตชายพิการทางการพูดและการได้ยินไปอีก 1 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โดยมีต้นเหตุมาจาก "โคมลอย" หรือที่แท้คือ "โคมไฟ" เครื่องมือลอยเคราะห์ของคนยุคใหม่ที่นิยมใช้ในวันลอยกระทง

ความสวยงามของโคมไฟเมื่อลอยคว้างอยู่กลางท้องฟ้าอันมืดมิดเป็นเสน่ห์ชวนโรแมนติกอยู่ไม่น้อย แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า "โคมไฟ" เหล่านี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับประเพณีลอยกระทงเลยสักนิด

........................

ว่ากันว่า จุดเริ่มต้นของการลอยโคมมาจากประเพณียี่เป็งของเมืองเหนือล้านนา ถือเป็นประเพณีพื้นบ้านที่จัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง แต่การลอยโคมของชาวล้านนานั้นไม่ใช่การลอยโคมไปตามสายน้ำแบบชาวไทยในพื้นที่อื่นๆ หากแต่เป็นการปล่อยโคมให้ลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อปลดความทุกข์โศกต่างๆ ให้หลุดพ้น

อย่างไรก็ตาม โคมที่ชาวล้านนาปล่อยในช่วงยี่เป็งนั้น ไม่ใช่โคมไฟแบบที่ชาวไทยนิยมกันอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็น "โคมลอย" หรือ "โคมควัน" ที่อาศัยแรงอัดจากควันไฟส่งให้โคมนั้นลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ที่สำคัญเป็นการลอยโคมในเวลากลางวันก่อนเที่ยง ไม่ใช่ยามค่ำคืนเหมือนทุกวันนี้

วรวิมล ชัยรัต ชาวบ้านวัดเกตุ สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนาที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน โดยคำว่า ยี่ ในภาษาล้านนา หมายถึง สอง ส่วนคำว่า เป็ง แปลว่า พระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนสอง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของชาวไทยนั่นเอง

"แต่ก่อนมีแต่โคมลอย ทางเหนือเฮาฮ้องว่า "โกมลอย" ทำจากกระดาษสีๆ เอามาแปะต่อๆ กัน แล้วก็ใส่ควันเข้าไป พอแรงดันได้มันก็จะลอยขึ้นไป ไม่เคยเกิดเหตุไฟไหม้ เพราะมันมีแต่ควัน จะมีประทัดเล็กๆ ร้อยเป็นสายติดไปด้วย แต่แป๊บเดียวมันก็ดับ แล้วเวลาเฮาปล่อยโคม เฮาก็จะบอกว่าปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก แล้วถ้าโคมไปตกที่บ้านใครก็ถือว่าโชคร้าย โชคไม่ดี ต้องนิมนต์พระมาถอน ตอนหลังเลยมีการเขียนชื่อลงไป จะได้ตามได้ว่าใครเป็นเจ้าของเคราะห์นั้น" วรวิมล เล่าปนหัวเราะ

สำหรับโคมลอย นอกจากจะปล่อยเพื่อลอยเคราะห์ให้ห่างไกลแล้ว กระบวนการทำโคมนั้นยังถือเป็นการเชื่อมความสามัคคีของคนในชุมชนให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในศรัทธาเดียวกัน วรวิมล บอกว่า ในอดีตชาวล้านนาจะมาร่วมกันทำโคมที่วัด ใครมีกระดาษสีอะไรก็เอามาออม(รวม)กัน แล้วช่วยกันติดแป้งเปียกเป็นรูปโคม อาจจะทำโคมลอยกลุ่มวัดละ 1 ลูก หรือหลายลูกก็ได้ แล้วใช้ลอยร่วมกันในวันยี่เป็ง ซึ่งจะลอย 2 วัน คือวันขึ้น 14 ค่ำ และวันขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่

"สมัยนี้ที่ปล่อยกันเปิ้ลฮ้องว่า "โคมไฟ" หรือว่าวไฟ เฮาเพิ่งจะเคยเห็นมาเมื่อ 20 ปีนี้นะ รู้สึกว่าจะมาจากต่างประเทศ มาทางแม่สาย มาจากพม่า แต่ก็มาดูๆ แล้ว พม่าเขาก็ไม่ลอยกัน ก็ไม่รู้มาได้ยังไง ตอนเข้ามาใหม่ๆ มันเป็นโครงไม้ ใช้กระดาษจุดไฟ ไหม้ไม่นาน แต่ตอนหลังมีการประยุกต์ให้มันติดไฟนานขึ้น มีการใช้ลวดแทนโครงไม้ พอมันตกลงมาพาดสายไฟก็เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้ ไหม้ไปเยอะแล้ว กาดวโรรสนั่นดังมากๆ เสียหายเยอะ"

ถามว่า การจุดโคมลอย(ไฟ)แบบนี้ทางเหนือล้านนามีความเชื่อว่าเป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ด้วยหรือไม่ สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมืองคนเดิมบอก ไม่เคยได้ยินมาก่อน อาจจะเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อเพิ่มพลังแห่งศรัทธาก็เป็นได้

"เฮาว่าเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาให้ดูมีความศรัทธา เพราะอยู่มากันเป็นร้อยปีไม่เคยมีเรื่องนี้ พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีอะไรไปถามคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่เคยเห็น สมัยก่อนโคมไฟก็ไม่มีลอยด้วย มีแต่โคมลอย เมื่อก่อนตอนมาใหม่ๆ มันเป็นแค่เนื้องอก เฮาฮ้องว่า เนื้องอกประเพณี แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นมะเร็งแล้ว ไม่รู้จะรักษาหายมั้ย เมื่อก่อนลูกละ 100 เดี๋ยวนี้ 3 ลูก 100 มันเป็นความสวยงามที่หาง่ายแต่อันตรายมาก

เมื่อก่อนเราออกไปลอยกระทงที่แม่น้ำปิง แล้วก็กลับมาจุดผางประทีปที่กู่บรรพชน แต่พอมีโคมไฟเราไม่กล้าออกจากบ้านเลย กลัวไฟจะไหม้บ้าน เราต้องต่อน้ำขึ้นหลังคา หล่อน้ำให้เปียกหลังคาไว้ตลอด แล้วก็วิ่งขึ้นไปที่สูงๆ ไปดูไฟจะตกที่บ้านเรามั้ย เพราะแม่น้ำปิงปล่อยกันเยอะมาก คนมาแอ่วมันม่วน แต่ความม่วนคือความทุกข์ของเฮา แล้วเดี๋ยวนี้มีประทัดยักษ์ด้วย อะไรด้วย ยิ่งระแวงไปหมด เฮาก็ทุกข์กันทุกปี ทุกข์เพราะว่าดีบ่ดีเฮาจะบ่มีบ้านอยู่"

ที่ผ่านมา เชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้จากการจุดโคมลอย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลลอยกระทง ชาวบ้านจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะกระแสการจุดโคมลอยนั้นจุดติดแล้วในแวดวงการท่องเที่ยว และถือสินค้าทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวร่วมปล่อยโคมในคืนวันลอยกระทงนับหมื่นลูก

ไม่เพียงแค่ไฟไหม้บ้านเรือนเท่านั้น แต่การปล่อยโคมลอยยังให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดับ ไฟไหม้ป่า ขยะเกลื่อนเมือง และที่สำคัญเป็นอันตรายต่อระบบการบินของเครื่องบิน จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลจากบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย รายงานข่าวการพบโคมลอยในระดับที่กระทบต่อการบินมากกว่า 1,000 ครั้ง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานกังวล และหาทางแก้ปัญหากันมาทุกปี แต่ที่ทำได้ก็คือการหลีกเลี่ยงการบินในช่วงเวลากลางคืนของวันลอยกระทง ซึ่งแม้จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ก็ทำให้สูญเสียรายได้มหาศาล

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงเร่งขอความร่วมมือจากชุมชนและประชาชนรอบท่าอากาศยาน โดยเฉพาะท่าอากาศยานในภาคเหนือ และรวมถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ สงขลา ให้ปล่อยโคมลอยขนาดมาตรฐานในช่วงเวลาที่ไม่กระทบต่อการบิน

ด้าน อภิชาติ ชอบทำเหมือน ผู้อำนวยการส่วนบริการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลยี่เป็ง 2557 ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2557 มีสายการบินภายในประเทศแจ้งเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินก่อนเวลา 18.00 น. จำนวน 30 เที่ยวบิน และแจ้งยกเลิกไม่ทำการบิน 96 เที่ยวบิน ในส่วนของสายการบินต่างประเทศมีการปรับเปลี่ยนเวลาบิน 20 เที่ยวบิน ยกเลิกการบิน 16 เที่ยวบิน ซึ่งจะมีผู้โดยสารหายไปจากการยกเลิกเที่ยวบินเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 6,000 คน และระหว่างประเทศ 2,400 คน ทำให้ท่าอากาศยานสูญเสียรายได้หลายล้านบาท แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเครื่องบิน และเป็นการสืบสานประเพณี

อย่างที่บอกว่าโคมลอยกลายเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว และได้รับความนิยมจนกลายเป็นแฟชั่น ไม่ว่าจะงานอะไรก็มักเรียกหาโคมลอยไปใช้เพื่อสร้างบรรยากาศ เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจาก อัมพร จันทร์ถา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโคมลอย ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่บอกว่า ไม่ว่าผลิตโคมลอยออกมาจำนวนมากเท่าไรก็จำหน่ายหมดไม่มีเหลือ

"มีกี่แสนก็หมดนะ เพราะเขาเอาไปใช้หลายเทศกาล ไม่เฉพาะลอยกระทง งานมงคลทุกงาน วันเกิด งานแต่ง รับปริญญา ฉลองพัดยศ มีหมดแหละ แบบพ่อค้าแม่ค้าสั่งมา เอาไปขายทั่วประเทศ ต่างประเทศก็มี เราส่งหมด โดยเฉพาะทางยุโรปเขาจะชอบมาก"

อัมพร ยอมรับว่า เล่นกับไฟย่อมอันตราย แต่ที่เสี่ยงที่สุดคงเป็นการทำโคมลอยแบบที่ไม่ได้มาตรฐาน

"ถ้าเป็นโคมขนาดมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดมันจะไม่มีปัญหาเรื่องไฟไหม้ เพราะผ่านการทดลอง และรองรับมาตรฐานแล้ว แต่ที่ไม่มาตรฐานถามว่ามีมั้ย ก็มีอยู่เยอะ ที่เราลองดูในท้องตลาดผู้ผลิตโคมแบบที่ได้มาตรฐานมีแค่ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ผลิตโคมลอยที่ทำแบบสอนต่อๆ กันมา ไม่มีใบ มผช.(มาตรฐานผลิตภันฑ์ชุมชน) แบบที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งถ้าจะให้ปลอดภัยจริงๆ รัฐบาลต้องออกกฎอนุญาตเฉพาะผู้ผลิตที่มีใบ มผช. เท่านั้น ถึงจะควบคุมได้"

สำหรับข้อกำหนดขนาดมาตรฐานโคมลอย ต้องมีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซ็นติเมตร หรือสูงไม่เกิน 140 เซ็นติเมตร ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษ ส่วนโครงทำจากไม้ไผ่ เชื้อเพลิงทำจากกระดาษชุบเทียนขี้ผึ้ง พาราฟิน น้ำหนักไม่เกิน 55 กรัม โดยมีเวลาเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่เกิน 8 นาที และจะยึดกับตัวโคมด้วยเชือกทนไฟหรือลวดอ่อนเบอร์ 24 จำนวน 2 เส้น ยาวเส้นละไม่เกิน 30 เซ็นติเมตร

ถึงจะได้มาตรฐาน แต่การลอยโคมนั้นก็มีองค์ประกอบร่วมหลายอย่าง ทั้งสภาพลมฟ้าอากาศ รวมถึงความผิดพลาดจากการจุดโคมไฟ ทำให้สามารถเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ถึงจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี สุดท้ายภาพ "ขยะเกลื่อนเมือง" ก็มีให้เห็นทุกปี ซึ่งขยะเหล่านี้ควบคุมทิศทางไม่ได้ และเก็บไม่ง่ายเหมือนกระทงในแม่น้ำ ทำให้บางครั้งพบข่าวโคมลอยติดค้างบนเสาไฟ บนต้นไม้ หรือในอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง

"ร่วมรณรงค์ ไม่จุดโคมลอยบนเขาค้อ อ้อ... อย่าทะลึ่งเอามาขายด้วยนะครับ อันตรายครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน...เรื่องของเรื่องก็คือ เขาค้อเนี่ย ห่างจากทุ่งแสลงหลวงแค่นิดเดียว ที่นั่นมีทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งฤดูหนาวจะแห้งมาก แค่ไม้ขีดก้านเดียวก็ลามไปหลายกิโลแล้ว" หนึ่งเสียงสะท้อนจาก นที เริงสอาด ทีมงานเขาค้อเอ็กซ์พลอเรอร์ เขียนระบายไว้ในโซเชียลมีเดีย

เช่นเดียวกับ วรวิมล ชัยรัต ชาวบ้านวัดเกตุ ที่บอกว่า การจุดโคมลอยของธุดงคสถานล้านนา แม้จะยังไม่เคยทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ แต่ซากโคมลอยที่มาหล่นในย่านวัดเกตุปีละ 20-30 ลูก กลายเป็นขยะที่ชุมชนไม่ได้ก่อขึ้นเหมือนกัน

ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็ตาม แต่การลอยโคมที่มีเพลิงไฟเป็นเชื้อชนวนนั้นค่อนข้างอันตราย อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ทุกเมื่อ ไม่เฉพาะแค่ทรัพย์สินอสังหาเท่านั้น แต่บางครั้งอาจหมายถึงชีวิตของผู้บริสุทธิ์บางคนด้วย