เมื่อคนดนตรี ยุค’80s คืนเวที
คอนเสิร์ตโดยศิลปินจากยุคอดีตที่ทยอยขึ้นเวทีแสดงสดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นำมาสู่การตีความหมายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
อาจจะไม่ใช่เรื่องวงการเพลงไทยขาลง แต่อย่างน้อยๆ การที่ศิลปินเพลงจากยุคอดีตกลับมาขึ้นเวทีคอนเสิร์ตบ่อยครั้งในระยะนี้ หลายคนเชื่อว่า น่าจะมีความหมายบางประการซ่อนอยู่
ไม่ต้องพูดถึงการกลับมาของ ‘เพลงประภาส 2’ ของ ประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งบัตรคอนเสิร์ตทั้ง 4 รอบขายหมดเกลี้ยงไปเรียบร้อยก่อนหน้าการแสดงหลายวัน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือกลุ่มศิลปินที่เคยโลดแล่นในยุคเอชท์ตีส์ (ทศวรรษ 1980s) หรือเมื่อราว 30 ปีก่อน อย่าง จิรพรรณ อังศวานนท์ (24 ตุลาคม) , ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ (23-24 ตุลาคม) และ วงตาวัน (31 ตุลาคม) ต่างมีกำหนดเวทีคอนเสิร์ตในช่วงเวลาใกล้ๆ กันอีกด้วย
อย่างน้อยๆ ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะมีคำตอบจากผู้สันทัดกรณีบ้างกระมัง
“ผมว่าคงเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าครับ ก็อาจจะใจตรงกัน... ” วินิจ เลิศรัตนชัย ผู้บริหาร เฟรช แอร์ ผู้จัดคอนเสิร์ต The Symphonic of Wong Tawan Live ตอบอย่างง่ายๆ ชนิดไม่มีสมการ หรือทฤษฎีใดๆ ทั้งสิ้น ก่อนจะเสริมต่อว่า “... คนดนตรีย่อมมีจังหวะเวลา และคงมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหญ่ๆ”
ด้านคนทำอีเวนท์รุ่นใหม่ อย่าง ญาณกร อภิราชกมล กรรมการบริหาร บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์ จำกัด ผู้จัดงาน Season of Love Song สวนผึ้ง ราชบุรี ในเดือนพฤศจิกายน ที่ปัจจุบันขายบัตรไปแล้วกว่าหมื่นใบแล้ว วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะวงการเพลงไทยในวันนี้ยังไม่มีอะไรแปลกใหม่มากนัก
“เป็นช่วงที่ตกผลึกและลงตัวพอดี ไม่ว่าจะเป็นคนทำเพลงจากยุค '80s หรืออายุของคนฟังเพลง ต่างกำลังอยู่ในช่วงที่มีกำลังซื้อ และโหยหาแนวเพลงที่คุ้นหู แนวเพลงที่มีความทรงจำดีๆ ไม่ใช่แนวเพลงที่ตลาดเกินไป หรือสมัยใหม่เกินไป กอรปกับศิลปินแต่ละราย ก็ห่างหายจากคอนเสิร์ตใหญ่มานาน ทั้งๆ ที่มีกลุ่มแฟนเพลงที่ชัดเจน จึงเป็นการกลับมาให้หายคิดถึง ซึ่งผมเชื่อว่า รายชื่อของศิลปินและคอนเสิร์ตคงจะยังไม่หมดแค่นี้”
กลับมาเพราะถวิลหา
ในความเป็นจริงนั้น กระแสโหยหาอดีต ด้วยการให้ศิลปินย้อนกลับมาปรากฏตัวในแบบ Retrospective มีมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว เพียงแต่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันเยี่ยงกรณี 3 คอนเสิร์ตที่กล่าวมาข้างต้น
ศิลปินรุ่นหลัง อย่าง ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์ ในฐานะสมาชิกวง ‘พราว’ และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ สาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่า ทั้งหมดนี่้น่าจะเป็นเรื่องของการถวิลหาเป็นหลัก (Nostalgia) ผนวกกับความเป็นตำนานของวงการเพลง ที่ไม่อาจปฏิเสธได้
“กระแสการแสดงดนตรีจากยุคเก่าเริ่มมาในช่วง 3-4 ปีนี้ เริ่มมีให้เห็นเป็นระยะๆ อยู่แล้ว เข้าใจว่าคนรุ่นๆ 35-50 อาจจะไม่ได้เสพงานดนตรีสมัยใหม่มากนัก ดังนั้น คนยุคนี้จึงมีความถวิลหา รวมถึงมีกำลังซื้อเพียงพอสำหรับการชมคอนเสิร์ต แต่ถ้าจะให้สังเกตถึงช่วงหลังๆ ในเวลาอันใกล้ เราจะเริ่มเห็นศิลปินที่เป็นระดับคุณภาพ หรือเป็นตำนานของวงการดนตรีในสมัยก่อนกลับมารวมตัวกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นระดับครูบาอาจารย์ หรือเป็นต้นแบบของศิลปินในยุคปัจจุบัน ที่น้องๆ เหล่านี้มักจะให้การยอมรับนับถือและกล่าวถึงเสมอ”
“ผมคิดว่าการฟังดนตรีของคนทั้งโลกมีความคล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่ง ตรงที่เวลาเราฟังเพลงของใคร แล้วรู้สึกชอบมากๆ เราก็อยากจะรู้จักที่มาที่ไป แนวทางและแนวคิดที่มีมาก่อนหน้านั้น เช่น สมัยผม เวลาฟังเพลงของวงดนตรีที่คลั่งไคล้มากๆ จากอังกฤษ เราจะย้อนกลับไปฟังศิลปินที่เราเกิดไม่ทันฟังด้วย อย่าง The Beatles ; Rolling Stones เหมือนกัน ดังนั้น การกลับมาของพี่ๆ วงตาวัน หรือพี่เอก ธเนศ เราจึงเห็นว่ามีเด็กๆ ส่วนหนึ่ง มีนักศึกษาที่กำลังพูดถึง หรือให้ความสนใจอย่างมากทีเดียว เพราะแม้แต่สื่อที่นำเสนอดนตรีแนวอินดี้ อย่าง ‘แคทเรดิโอ’ ก็ยังโปรโมทเพลงของพี่เอก ธเนศเลยนะครับ”
นอกจากนี้ ชัยบรรณฑิต ยังอธิบายด้วยว่า เหตุผลด้านหนึ่งยังมาจากการที่ดนตรีในยุคก่อน ‘จับต้อง’ ได้ง่ายกว่าเพลงสมัยปัจจุบันที่มีจำนวนค่อนข้างมาก และผ่านหูผ่านตาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเงื่อนไขที่กลุ่มผู้เสพย์งานจะให้ยอมรับและติดตามผลงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“ด้วยฐานความสนใจที่ชัดเจนกว่า นี่จึงเป็นการกลับมาพร้อมกันแบบที่ไม่ได้นัดหมาย ตรงกับจุดที่คนกำลังคิดถึงและถวิลหาอยู่พอดี” สมาชิกวงพราวกล่าว
เช่นเดียวกันกับ พรหมมินทร์ สุนทระศานติก สถาปนิกอิสระ และคอลัมนิสต์ดนตรี ที่อธิบายถึงคุณค่าของการถวิลหาจากประสบการณ์ของตนเอง
“มันเป็น nostalgia ครับ อะไรที่ผ่านมา 30-40 ปี เราก็จะโหยหาถึงมัน อยากให้มันกลับมาอีก เรื่องแบบนี้ เด็กๆ อาจจะไม่เข้าใจ เหมือนตอนผมเด็กๆ ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงชอบมีดนตรีระลึกถึงเอลวิส (เพรสลีย์) อยู่เรื่อยๆ เราเป็นเด็ก ก็รู้สึกรำคาญมาก แต่พอเราถึงอายุแล้ว เราอยากดู Sherbet เราอยากดู Blondie อยากดู The Police มันถึงมีคอนเสิร์ตของวงพวกนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ลองนับเวลาดูประมาณนี้ 30-40 ปี พอมาตอนนี้ จึงได้เวลาของยุค 80s พอดี”
“Nostalgia ในช่วงเวลาที่เราเป็นวัยรุ่น พอผ่านมา 30-40 ปี มันจะกลับมาคุกรุ่น ได้เวลาพอเหมาะพอดีให้เราโหยหา เดือนที่แล้ว ผมยังเอาอัลบั้ม ‘แป๊ะเจียะ’ ของ นุภาพ สวันตรัจฉ์ กลับมาฟังอยู่เลยครับ ผ่านมาเดือนเดียว ได้ข่าวว่าเขาจะมีคอนเสิร์ต ของ ธเนศ ก็เหมือนกัน ผมหยิบอัลบั้ม ‘คนเขียนเพลง’ มาฟังอยู่เสมอ นี่ก็ได้เวลาของธเนศพอดี” พรหมมินทร์ กล่าว
สร้างสีสันให้วงการบันเทิง
ไม่เพียงคำอธิบายในมิติของการถวิลหาเท่านั้น แต่ยังมีคำอธิบายอื่นๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อมองจากการดำรงอยู่ของธุรกิจบันเทิง
พัฒน์ฑริก มีสายญาติ อาร์ตไดเร็คเตอร์กองถ่ายภาพยนตร์ และเจ้าของร้านบราวน์ชูการ์ สาธยายว่า
“หนึ่ง – มันเป็นทางออกของภาคเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของยุค 80's ที่ปัจจุบันยังมีพาวเวอร์อยู่ สอง - หลังยุค 80's จนถึงปัจจุุบัน ภาคเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทั้งโลกยังเกาะกลุ่มกันไม่แน่นเท่า สาม- ตลาดคนฟังวัย 40 อัพยังคงมีอยู่ อาจจะไม่แน่นเหมือนเมื่อก่อน แต่มีแน่ๆ แต่การที่ธุรกิจบันเทิงจะขยายตลาดใหม่คงลำบาก เพราะคนสมัยใหม่จริงๆ ที่ชอบอาจน้อย”
“ไม่เหมือนแจ๊ส เพราะแจ๊สมีความร่วมสมัยของมันอยู่ เมื่อวาน ผมเอาผลงานของ Miles Davis ยุคทศวรรษ 1950s มาฟัง มันยังสดใหม่เสมออยู่เลย แต่สำหรับดนตรียุค 80's มันเหมือนเฮือกสุดท้าย เหมือนปลาวาฬกระโจนเหนือน้ำ ไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่รู้จะทำตอนไหน ทั้งผู้ทำและผู้ดู”
ในมุมมองของ พัฒน์ฑริก ใช่ว่ากระแสดนตรียุค 1980s จะตอบโจทย์ได้เสมอไป บางครั้งก็พบว่าดำเนินไปอย่างแกนๆ แต่โดยภาพรวม เขายังพอยอมรับธรรมชาติของมันได้
“ผมดูคอนเสิร์ต (วงร็อก) Grand Funk Railroad เวอร์ชั่นปัจจุบัน หรือ (วงร็อก) Led Zeppelin เวอร์ชั่นใหม่ ลูกชายของ John Bonham มาตีกลองแทนพ่อ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มันแห้งแล้งอย่างไรไม่รู้ แต่ปรากฏการณ์นี้ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและสวยงามของวงการดนตรี ทำให้วงการภาคเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีสีสันขึ้นมาอีก นอกเหนือจากกระแสดนตรีอินดี้ที่ดังสนั่นเมือง และเพลงจี๊ดที่ดังสนั่นผับแถวทองหล่อ-เอกมัย”
ตลาดคนฟังเปลี่ยน
วงการเพลงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ แต่ยังมีองค์ประกอบและบริบทต่างๆ รายล้อม ดังนั้น การหวนคืนเวทีหรือการรียูเนียนของศิลปินยุค ‘80s จึงมีที่มาที่ไป ดังมุมมองของ รักษิต รักการดี ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเสิร์ต-กิจกรรมพิเศษ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ผู้จัดคอนเสิร์ต ‘ชีวิตเพื่อดนตรี 50 ปี จิรพรรณ อังศวานนท์’ ที่สะท้อนว่า
“คิดว่ามันครบรอบวงของยุคนะครับ คือศิลปินยุคที่ห่างหายจากวงการไปสักระยะ” รักษิต กล่าว และขยายความว่า “จริงๆ ผมว่าเป็นปัญหาของศิลปินไทยที่ไม่สามารถมีอัลบั้มต่อเนื่องได้ แต่ไม่อยากเรียกว่าขาลง ผมว่าตลาดผู้บริโภคดนตรีมันเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และสื่อกระแสหลักมีผลน้อยลง”
ขณะที่ ปีเตอร์ กัน นักการตลาด อดีตผู้บริหารค่ายเพลงโซนี มิวสิค ประเทศไทย ร่ายภาพที่เกิดขึ้นเป็นสูตร 1 ชุดว่า
“หนึ่ง - เป็นไซเคิลทุกๆ 10 ปีกระมังครับ สอง – โลกนี้เต็มไปด้วยเพลงคัฟเวอร์ เมื่อไม่มี innovation (นวัตกรรมใหม่) retrospective (การย้อนยุค) ก็กลับมา สาม – รายการ Reality ต่างๆ ี่มีการคัฟเวอร์เพลง ในด้านหนึ่งก็เป็นการปลุกเพลง original ขึ้นมาย้อนทวน สี่ – เพื่อสร้าง Content ให้แก่ดิจิตัลทีวี ห้า - การแข่งขันในตลาดผู้บริโภคสูง สินค้าแบรนด์ต่างๆ ต้องการอีเวนท์ ที่มีฐานแฟนเบสที่เข้มแข็งเพียงพอ”
สอดรับกับมุมมองของ ชัชวาลย์ สุรเดช เจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Reco Room เอกมัยซอย 10 กล่าวสรุปอย่างเรียบง่ายว่า
“ในมุมของผม น่าเป็นเรื่องของธุรกิจ เรื่องของการสร้างงานอีเวนท์ ที่มีความเป็นไปได้สูง เพราะแฟนเพลงของศิลปินในยุคนั้น ('80s) ตอนนี้เริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว เรื่องราคาบัตรจึงไม่ใช่ปัญหา แรงกระตุ้นอีกอย่างน่ามาจากการที่มีการนำเพลงของศิลปินเหล่านั้นมาคัฟเวอร์ในรายการ TV Show หลายๆ รายการ ที่เปิดโอกาสให้คนฟังได้ดูได้เห็น หรืออาจเกี่ยวกับเทรนด์ในการฟังเพลงจากแผ่นเสียง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่มีความเป็นไปได้ครับ”
ไปให้ถึงความสุนทรีย์
บทเพลงเป็นศิลปะที่สื่อถึงอารมณ์และความรู้สึก มีความละเอียดอ่อนในการเข้าถึง และรับใช้มนุษยชาติมาช้านาน แม้ข้อเท็จจริงเบื้องหลังบทเพลงหนึ่งๆ หรือคอนเสิร์ตหนึ่งๆ อาจจะเป็นเต็มไปด้วยความคร่ำเคร่ง เคร่งเครียด หรือเต็มไปด้วยผลประโยชน์และความไร้สุนทรีย์อย่างที่สุดก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ บทเพลงของยุคสมัย ก็ยังมีตัวแทนของคนร่วมยุค ที่แสดงความศรัทธาและชื่นชม
เจ้าของนามแฝง Pluto The Dog ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ระบายความในใจต่อปรากฏการณ์การกลับมาของศิลปินยุคเอชท์ตีส์ว่า
“ฟองสบู่เพลงยุคปี 2000 แตกครับ ไม่เหลืออะไรให้สุนทรีย์อีกแล้ว เพราะสำหรับคนยุค ‘80s เพลงของลูก ไม่ใช่เพลงของตัวเอง เพลงโหลดริงโทน มันก็เต้นไม่ได้ ไม่เหมือนไปพาเลซ ศิลปิน ‘80s เหล่านี้ รู้ว่ามีแฟนโหยหา มีพรายกระซิบ ผนวกกับการได้กลับมาเล่นในสิ่งที่รัก แถมมีโอกาส เป็นช่องทางในการหารายได้ และเรียกความภาคภูมิใจในอดีตของตัวเองกลับมาอีกครั้ง คนฟังของเค้าก็พร้อมที่จะกลับมาฟัง”
“แล้วก่อนหน้านั้น เอาหูไปลงทุนเพลงอัลเทอร์เนทีฟก็ขาดทุน ลงทุนหู จ่ายกับเพลงยุค 2000 ก็ไม่มีกำไรสักเท่าไหร่ จนคอนโดเพลงยุคใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งสร้างงานแบบสั่วๆ ไม่มีคุณภาพ สร้างได้ครึ่งเดียวเจ๊ง และเป็นธรรมดาของคนทุกยุค ที่มักกลับไปหาความสุขจากความทรงจำของตัวเอง ดังนั้น ฟองสบู่เพลงแตกรวมกับความทรงจำในอดีตอันแสนหวานของคนยุค ’80s คอนเสิร์ตเหล่านี้ก็พอให้พวกเค้าได้มีรอยยิ้มทางหูกันอีกครั้ง แม้จะเป็นระยะสั้นๆ ก็ตาม”
ส่วน พรหมมินทร์ สะท้อนด้านลบของปรากฏการณ์นี้อย่างน่ารับฟังว่า บางครั้ง การจัดคอนเสิร์ตโดยที่มีศิลปินรุ่นใหม่หรือแขกรับเชิญมากมาย มาลดทอนความเข้มข้นหรือตัวตนของศิลปินหลัก ก็ถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับคนฟังเพลงตัวจริงอย่างเขา โชคดีที่อย่างน้อย วงตาวัน ไม่นำเสนอในส่วนนี้ ยกเว้นเพียงการเพิ่มภาคออร์เคสเตรชั่นเข้าไป เพื่อให้การแสดงสดมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“ผมมีข้อคิด 2 ประการ คือบัตรราคาแพงมาก อย่างวงตาวัน ผมอยากไปดูมากเลยครับ แต่พอเห็นราคาบัตรแล้ว ต้องขอบายด้วยความเสียดาย ส่วนของ ธเนศ ผมชอบของเขาอัลบั้มเดียว คือ ‘คนเขียนเพลง’ พอเห็นเขามีแต่แขกรับเชิญเต็มไปหมด เลยตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า จะไม่ไปดู”
“ตอนชรัสกับมาลีวัลย์ก็เหมือนกัน ผมชอบอัลบั้มชุดนี้มากๆ พอรู้ว่ามีคอนเสิร์ตก็ดีใจมากๆ แต่พอเห็นรายชื่อแขกรับเชิญแล้ว เกิดอาการเซ็งไปเลย ตัดใจว่าไม่ไปดูดีกว่า ผมว่าคนที่เขาจัดคอนเสิร์ตประเภทนี้ เขาเข้าใจและรู้ว่าพลังของ nostalgia ยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่เขาเอา marketing เข้ามาจับเสียจนเนื้อหาของงานเละไปหมด แต่ผมว่านะ ถึงอย่างไรก็มีคนดู มันเพียงแค่ไม่ตรงกับรสนิยมของผมเท่านั้น แต่ไม่เป็นไรหรอกครับ เพราะชีวิตผมก็ได้ดูมาหลายคอนเสิร์ตแล้ว โดยเฉพาะตอนช่วงเวลาที่นักดนตรีพวกนี้กำลังรุ่ง”
บทเพลงเดียวกัน และศิลปินเดียวกัน แต่แง่มุมความสุนทรีย์ของแต่ละคนยังแตกต่างออกไปอย่างหลากหลาย นี่คือความท้าทายอีกบทหนึ่งในการนำศิลปินจากอดีตยุค ‘80s มาฟื้นคืนชีพบนเวที
จะสำเร็จหรือไม่ คงต้องอดใจรอ.