ถึงเวลาเปลี่ยนผ่านวงการนิตยสารไทย
การปรับตัวเพื่อรองรับกระแสของสื่อออนไลน์นั้น เราต้องอ่านและสังเกตความต้องการของผู้อ่านให้ขาด ต้องรู้ให้ได้ว่าพวกเขาไปอยู่ตรงไหน
การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) อันสืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการรับข่าวสารของผู้บริโภค ได้ก่อให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ของผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการนิตยสารในบ้านเรา จากเดิมที่เคยมีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ด้วยจำนวน 300-400 หัวบนแผงหนังสือ ปัจจุบันลดเหลือเพียง 200 หัว และเป็นที่คาดการณ์กันว่า อาจจะลดเหลือเพียง 60-70 หัวในอนาคตอันใกล้นี้
ฉายภาพความเปลี่ยนแปลง
นิตยสาร Image ส่งสัญญาณตั้งแต่ต้นปี 2558 ว่านิตยสารแฟชั่นที่วางแผงมากว่า 27 ปีฉบับนี้ จะปิดตัวลงเนื่องจากเจ้าของ อย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM แบกรับต้นทุนการผลิตต่อไปไม่ไหว แต่นับเป็นข่าวดีในเวลาต่อมา เมื่อบริษัท ซีทรู จำกัด ของ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เข้ามาซื้อกิจการต่อ ในแง่ของการลงทุนส่วนตัว โดย คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งนิตยสารอิมเมจ ถึงกับออกปากยกย่องให้เป็น ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ทางนิตยสารอิมเมจ ได้หยุดพิมพ์เพื่อปรับโครงสร้างภายใน ระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2558 ก่อนจะกลับมาวางแผงให้แฟนๆ ได้ซื้ออ่านต่อไป
ทางด้านนิตยสารดิฉัน ซึ่งวางแผงมากว่า 38 ปี ได้ปรับระยะเวลาวางแผงใหม่ จากรายปักษ์เป็นรายเดือน เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ส่วน ศักดิ์ชัย กาย ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Lips ประกาศในงานครบรอบ 15 ปีของนิตยสาร Lips ว่า จะออกฟรีก็อปปี้ 3 ฉบับ คือ Lips LOVE, Lips GARCON และ Lips PALETTE เพื่อเป็นช่องทางหารายได้จากโฆษณาเพิ่ม ในภาวะที่สื่อออนไลน์ทำให้คนอ่านสื่อกระดาษลดลง
สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ประกาศยุติพิมพ์นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ รวมถึงการ์ตูนรวมเล่มหลายๆ เรื่อง อ้างปัญหาการผลิตและสภาพเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ ในปี 2557 ทาง NMG เคยหยุดพิมพ์นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์อันดับหนึ่งของประเทศอย่าง Boom มาแล้ว จากปัญหาคนหันไปอ่านการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์
นิตยสารเปรียว ตีพิมพ์ฉบับเดือนธันวาคม 2558 เป็นฉบับสุดท้าย หลังอยู่คู่วงการสิ่งพิมพ์ไทยมา 35 ปีเต็ม
ด้านนิตยสารวรรณกรรม Writer ประกาศหยุดพิมพ์ หลังทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 เช่นเดียวกับ นิตยสารทีวีพูล และนิตยสาร Spicy ของบริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด วางแผนจะเปลี่ยนเป็นฟรีก็อปปี้ ในช่วงต้นปี 2599
นอกจากนี้ ยังมีนิตยสารเกม อย่าง Play ประกาศยุติการพิมพ์เมื่อสิ้นปี 2558 และมุ่งหน้าสู่ดิจิตัลเต็มตัว
นิตยสารทางเลือก Way ประกาศผ่านแฟนเพจว่า จะปรับวิธีการทำงาน ย้ายคอลัมน์หลักไปไว้บนเว็บไซต์ และจะเปลี่ยนเวลาวางแผนจากทุกเดือนเป็นทุก 4 เดือน เพื่อให้เป็นหนังสือที่มีอายุการอ่านนานขึ้น โดย อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way กล่าวไว้ในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อ่านว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด “เป็นเพียงการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด มีโอกาสเติบโตบนเงื่อนไขข้อเท็จจริง และมีอนาคต”
ทั้งนี้ มีบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่ง หันมาทำสิ่งพิมพ์แจกฟรี หรือ free copy มากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ หลังเห็นความสำเร็จจากหนังสือพิมพ์แจกฟรี M2F ที่สามารถทำกำไรให้แก่เครือหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
มุมมองของผู้สันทัดกรณี
นรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสกุลไทย กล่าวถึงนิตยสารปัจจุบันว่า มีจำนวนมากและหลากหลายตามรสนิยมของผู้อ่าน เมื่อจำนวนมากย่อมมีการแข่งขันสูง ทั้งในแง่เนื้อหา หรือการหาโฆษณา ส่วนนิตยสารฉบับไหนจะอยู่ได้หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายการผลิตของนิตยสารแต่ละฉบับ
ในส่วนนิตยสารสกุลไทย ซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมา 60 ปีนั้น มีนโยบายการทำงาน และนโยบายในการสร้างเนื้อหาที่ชัดเจน คือ หนึ่ง- เป็นนิตยสารที่ส่งเสริมงานวรรณศิลป์ จะเห็นว่าในสกุลไทยจะมีนวนิยายตีพิมพ์ฉบับละ 10 เรื่อง สอง- มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาคอลัมน์ต่างๆ ตามยุคสมัย จะเห็นว่าคอลัมน์ในสกุลไทยจะมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา สาม- มีนโยบายเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ และสี่- ส่งเสริมและอนุรักษ์งานเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น กวีนิพนธ์ หรือโคลงฉันท์ กาพย์กลอนต่างๆ
“นี่เป็นจุดยืนหรือนโยบายการทำนิตยสารสกุลไทยของเรา นอกจากนี้แล้ว เรายังต้องฟังเสียงเรียกร้องของคนอ่านด้วย และอีกประการหนึ่งก็คือ การวิธีการทำงานของเรา เราจะไม่เพิ่มปริมาณการพิมพ์ที่เกินตัว หรือแตกแขนงไปทำอย่างอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางของเรา”
“สำหรับกลุ่มคนอ่านของสกุลไทยนั้น ต้องบอกว่ามีหลากหลายอาชีพ ข้าราชการ ครูบาอาจารย์ แม่บ้าน ไปจนกระทั่งถึงเด็กรุ่นใหม่ด้วย เพราะสกุลไทยถือเป็นหนังสือครอบครัวที่คนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพสามารถจะอ่านได้”
ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่า เป็นเพราะสื่ออินเทอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อนิตยสารนั้น นรีภพ บอกว่า ในส่วนของสกุลไทยยังไม่ได้รับผลกระทบตรงนั้นชัดเจนนัก เพราะทางสกุลไทยมีการปรับเนื้อหาตลอดเวลา และฟังเสียงคนอ่าน ทั้งยังเกาะกระแสไปกับสื่อออนไลน์ด้วย คือ สกุลไทย มีทั้งเว็บไซต์ ทั้งเฟชบุ๊ค และมีการซื้อขายทางออนไลน์ทั้งหนังสือสำนักพิมพ์ และนิตยสารสกุลไทย
ขณะที่ วรรคสร โหลทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามสปอร์ต ดิจิตอล มีเดีย จำกัด อธิบายว่าสื่อออนไลน์มีผลกระทบต่อสื่อนิตยสารอย่างมาก สังเกตได้จากพฤติกรรมของผู้อ่านปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก จากซื้อนิตยสารก็หันไปเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ และการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้อ่านหันไปเสพข้อมูลในแพลตฟอร์มเหล่านี้แทน ส่งผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสาร ทำให้หนังสือจำนวนมากต้องปิดตัวลง รวมทั้งด้านผลกระทบของเม็ดเงินโฆษณาในภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะสื่อนิตยสารที่มียอดลดลง ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เจ้าของนิตยสารต้องปรับตัวให้ทันกระแสโลกออนไลน์
“สำหรับการปรับตัวเพื่อรองรับกระแสของสื่อออนไลน์นั้น เราต้องอ่านและสังเกตความต้องการของผู้อ่านให้ขาด ต้องรู้ให้ได้ว่าพวกเขาไปอยู่ตรงไหน และเราก็ต้องรีบปรับตัวไปอยู่ในพื้นที่นั้น พื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับสารในทุกๆ มิติ”
“นอกจากนี้ ต้องนำเสนอเนื้อหาที่ผู้อ่านชื่นชอบต้องการ มีความหลากหลาย รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่ตอบรับกับพฤติกรรมผู้อ่าน เน้นกิจกรรมที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ความชอบของผู้อ่านเป็นหลักด้วย”
แม้จะเป็นนิตยสารตลาด และมีฐานแฟนคลับแน่นพอตัว แต่ ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ยืนยันว่า นิตยสารเล่มนี้ ต้องปรับตัวขนานใหญ่เหมือนกัน
“สำหรับนิตยสาร a day นั้น เรามีการปรับเปลี่ยนอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน ส่วนแรกคือตัวนิตยสารที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เราพยายามปรับเนื้อหา และรูปแบบการจัดหน้าตา รวมทั้งภาพประกอบ นอกจากนี้นี้แล้ว ต้องคัดเลือกเรื่องที่จะนำมาตีพิมพ์ด้วย เป้าหมายอีกอย่างก็คือ เราพยายามจะปรับให้เป็นนิตยสารที่น่าเก็บน่าสะสม เหมือนกับเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่งนั่นแหละ และอีกอย่างหนึ่งที่เราจะทำมากขึ้น คือการโปรโมททางออนไลน์ เพื่อให้คนที่สนใจเรื่องต่างๆ ตามมาอ่านในเล่มนิตยสาร”
ส่วนที่ 2 คือโฆษณา ทรงกลดอธิบายว่า ต้องคิดว่า a day จะไม่ใช่นิตยสารอีกต่อไป แต่จะเป็นครีเอทีฟคอนเทนต์ เซ็นเตอร์ หรือเป็นคนที่สร้างเนื้อหาที่สร้างสรรค์ เหมือนเป็นนักออกแบบเนื้อหา และไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่บนหน้ากระดาษ อยู่ในสื่อต่างๆ ทุกรูปแบบ และทำงานร่วมกับเอเจนซี่โฆษณาได้ ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ คือเข้าถึงทุกสื่อทุกรูปแบบ
ส่วนออนไลน์หรือในรูปแบบ อี-แมกกาซีน บก. a day เปิดเผยว่าจะทำ a day magazine.com ขึ้นใหม่ทั้งหมด เป็น a day ฉบับออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะเริ่มเปิดในวันที่ 1 มีนาคมที่จะถึงนี้ เน้นคอนเนื้อหาสร้างสรรค์ และจะไม่เหมือนกับฉบับที่พิมพ์ด้วยกระดาษ
ผ่าทางตันวงการนิตยสาร
จากการสำรวจของ ‘กรุงเทพธุรกิจ-จุดประกาย’ พบว่าผู้ประกอบการนิตยสารจำนวนไม่น้อย ไม่พร้อมจะให้ข้อมูล โดยมีเหตุผลหลักๆ เช่น เป็นเรื่องภายในองค์กร และค่อนข้างอ่อนไหว บางแห่งเป็นบริษัทมหาชน การประกาศว่าจะปิดตัวนิตยสาร ย่อมจะส่งผลกระทบต่อองค์กร และผู้ถือหุ้น เพราะเป็นข่าวด้านลบ ดังนั้น บางแห่งจึงเลือกจะปิดตัวนิตยสารลงอย่างเงียบๆ ไม่มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าว ถือเป็นเรื่องภายในองค์กรนั้น
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการนิตยสาร มีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกัน คือ
1. ปิดตัวเองไปเลย (พนักงานจะถูกเลิกจ้างไปโดยปริยาย หัวหนังสือหายไปจากแผง) โดยนิตยสารที่มีกำหนดปิดตัว หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (เหตุที่ต้องปิดตัวหลังจากเดินกุมภาพันธ์ เพราะมีการขายโฆษณาวันวาเลนไทน์ไว้ล่วงหน้าแล้ว) มีอยู่ 2-3 ฉบับ เช่น เปรียว, เพนท์เฮ้าส์ภาษาไทย, Volume เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีนิตยสารหัวนอกบางฉบับ ซึ่งอาจจะไม่มีการต่อสัญญาเมื่อครบอายุสัญญากับทางต่างประเทศ โดยทางผู้ประกอบการตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นหัวหนังสือใหม่ ภายใต้ทีมงานเดิม ดังกรณีของนิตยสารเนื้อหาเกี่ยวกับแม่และเด็กของค่ายนิตยสารรายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่มีนโยบายเช่นนั้น
2. ปิดตัวเฉพาะฉบับส่วนที่พิมพ์ด้วยกระดาษ แล้วแปลงไปเป็น ‘อี-แม็กกาซีน’ หรือนำเสนอเนื้อหาทางออนไลน์ (ลักษณะทางออกนี้ ผู้ประกอบการจะคงรักษาพนักงานบางส่วนไว้ แต่เป็นวิธีการทำงานแบบ อี-แม็กกาซีน) หรือปรับกลยุทธ์เป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ในแพลทฟอร์มต่างๆ
3. ลดขนาดของธุรกิจลง เช่น ลดจำนวนหน้า หรือลดความถี่ในการออกเผยแพร่ (จากรายปักษ์ เป็นรายเดือน หรือจากรายเดือนเป็น รายสองเดือน รายสามเดือน) หรือนำไปแทรกอยู่กับฉบับอื่นๆ อย่างเช่น สยามดารา ลดจำนวนหน้าลง แล้วนำไปแทรกอยู่ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬาในเซ็คชั่นบันเทิง (แบบนี้พนักงานส่วนหนึ่งยังคงอยู่ เพื่อทำฉบับกระดาษ สำหรับพนักงานบางส่วนจะโยกไปทำสื่ออื่นๆ เช่น ทีวี)
4. เปลี่ยนจากนิตยสารทำขาย มาเป็นนิตยสารแจกฟรี ดังเช่นกรณีของนิตยสาร Hamburger เป็นต้น
ทั้งนี้ ยกเว้น กรณีของนิตยสาร Mother & Care ในเครือจีเอ็มกรุ๊ป ที่ใช้วิธีการทั้ง 3 และ 4 ผสมผสานกัน แต่ในแบบสวนทาง กล่าวคือ เปลี่ยนจากรายเดือนมาเป็นรายปักษ์ (มีความถี่มากขึ้น) แต่ลดจำนวนหน้าลง จาก 160 หน้า มาเป็น 40 หน้า และในเวลาเดียวกัน ยังแปลงโฉมมาเป็น Free Copy อีกด้วย
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้นิตยสารต้องปิดตัว ได้รับคำตอบหลักๆ ดังนี้ คือ
1. ภาวะเศรษฐกิจในบ้านเราซบเซา ทำให้ส่งผลต่อกำลังซื้อนิตยสารลดลง
2. จากสาเหตุข้อที่ 1 ส่งผลทำให้รายได้จากโฆษณาสินค้าต่างๆ พลอยลดลงไปด้วย โดยเฉพาะนิตยสารแฟชั่นต่างๆ
3.พฤติกรรมการอ่านหนังสือของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มคนอ่านหนุ่มสาวและกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ได้หันไปหาสื่อออนไลน์มากขึ้น
4. ต้นทุนการผลิตนิตยสารสูงขึ้น โดยเฉพาะนิตยสารหัวใหญ่ๆ ที่เน้นการนำเสนอเรื่องแฟชั่น และความสวยความงามเป็นหลัก ที่จำเป็นต้องพิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดี และต้องพิมพ์สี่สีตลอดทั้งเล่ม ต้องลงทุนสูงมาก ในขณะที่รายได้
จากโฆษณาที่เคยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยลดลง จึงทำให้ดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ และต้องปิดตัวเอง หรือไม่ก็แปลงไปเป็นฉบับอี-แม็กกาซีน เพราะใช้ต้นทุนการผลิตน้อยลง โดยเฉพาะไม่ต้องเสียค่ากระดาษที่มีราคาแพง
5. เจ้าของกิจการต้องการนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น เช่น บางบริษัทที่แต่เดิมผลิตนิตยสารมากมายและมีผลกำไรจากนิตยสารสูงมาก เมื่อหันไปประมูลทำช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก และคาดหวังผลกำไรที่จะตามมา จึงส่งผลต่อการผลิตนิตยสารโดยปริยาย (ประเด็นนี้สังเกตได้ว่า นิตยสารหลายหัว ที่อยู่กับบริษัทที่หันไปทำทีวีดิจิทัล จะทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ เพราะต้องเอาเงินไปใช้กับทีวีดิจิตัล ทั้งที่โดยสภาพธุรกิจยังไม่มีทางออกที่สดใสเท่าใดนัก)
อนาคตยังมีหวัง
“ตลาดแม็กกาซีน มีมูลค่าเม็ดเงินโฆษณา 6 พันล้านบาท กับจำนวนหัวหนังสือ 300-400 หัว ตอนนี้อาจจะลดเหลือ 200 หัว เชื่อว่าในอนาคต คงเหลือราวๆ 60-70 หัว ดังนั้น หากเม็ดเงินจะสูญหายไปครึ่งหนึ่ง อาจเหลือ 3 พันล้าน หรือเหลือเพียง 2 พันล้านบาท แต่ส่วนที่รอดมา ก็ยังคงอยู่ได้สบาย เพราะตัวหารน้อยลง”
นั่นคือคำกล่าวที่สะท้อนวิสัยทัศน์ ของ ปกรณ์ พงษ์วราภา ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ จีเอ็ม กรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม ปกรณ์ ยอมรับว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการนิตยสารมานานกว่า 30 ปี ปีที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ลำบากอย่างมาก แม้กระทั่งทาง จีเอ็ม กรุ๊ป ซึ่งที่มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกำลังเตรียมตัวเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์จึงมีการตั้งสำรองในเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก
“เราพยายามไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เราชัดเจนในกลุ่มเป้าหมาย ในเวลาเดียวกัน เราก็ปรับตัวหารายได้ใหม่ เช่น ลงทุนผลิตคอนเทนท์ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งคงจะได้เห็นกันในเร็วๆ นี้ หรือนำคอนเทนท์ที่มีอยู่ ปรับไปใช้ในรูปแบบงานหรือกิจกรรมอื่นๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตร”
ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของภูมิทัศน์สื่อเช่นนี้ ปกรณ์ ทำนายว่า นิตยสารรวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายยังไม่ตาย แต่คงจะเหลืออยู่ไม่กี่ราย และเชื่อว่าส่วนมากคงหนีไม่พ้นกลุ่มทุนที่มีสายป่านยาว หากเป็นกลุ่มทุนเล็ก ก็คงต้องทำงานหนักในการปรับตัวอย่างมาก
ประธานจีเอ็มกรุ๊ป อธิบายว่า จากการศึกษาตัวเลขเฉลี่ยของการดำเนินธุรกิจนิตยสาร ต้องมีรายได้ 1.5 ล้านเท่าคูณด้วยจำนวนพนักงาน เช่น จีเอ็มกรุ๊ป มีพนักงาน 200 คน ก็ต้องมีรายได้อย่างน้อยๆ 300 ล้านบาทต่อปี นั่นคือเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ ถึงจะอยู่รอดได้ ดังนั้น ถ้าเป็นองค์กรขนาดเล็ก หากมี 10 คน ก็ต้องหาบิลลิ่งให้ได้สัก 15 ล้านบาท
“ผมไม่อยากเป็น last man standing เพราะนั่นหมายถึงการอยู่คนเดียว แต่ในอนาคต ผมอยากมีเพื่อน อย่างน้อยๆ ก็ควรมี four หรือ five men standing ตอนนี้ บางคนหันไปทำทีวีดิจิตัล ซึ่งทำให้มีสภาพแย่หนักลงไปอีก จนต้องออกมาเรียกร้องของความช่วยเหลือจากภาครัฐ”
“แต่คุณสังเกตมั้ยว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คนวงการหนังสือ เรากัดฟันต่อสู้และยืนบนลำแข้งของตัวเองมาโดยตลอด เราไม่เคยขอความช่วยเหลือจากภาครัฐแม้แต่สตางค์แดงเดียว ดังนั้น กับสถานการณ์แบบนี้ เราก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กันไป มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ แม้ถึงที่สุดแล้ว ผมเองก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตของเรื่องนี้จะจบลงอย่างไรก็ตาม”
ผู้สันทัดกรณีแห่งวงการนิตยสารทิ้งท้ายไว้อย่างคมคายว่า
“ถ้าไม่มีความยากลำบากเป็นอุปสรรคท้าทายเลย แล้วเราจะเอาลิ้มรสหอมหวานของความสำเร็จได้อย่างไร”